×

เมื่อ Tesla เตรียมลุยไทย เป็นไปได้ไหมที่เราจะได้เห็น ‘ราคา’ รถยนต์ไฟฟ้ายอดฮิตเริ่มต้นที่ ‘ล้านกลางๆ’ ?

26.05.2022
  • LOADING...
Tesla

HIGHLIGHTS

  • หากพิจารณาดูถึงวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งบริษัทและทุนจดทะเบียนของ ‘เทสลา (ประเทศไทย)’ สามารถวิเคราะห์ได้มุมเดียวว่า เป็นการจัดตั้งขึ้นเพื่อจำหน่ายรถยนต์สำเร็จรูป โดยมิได้มีการประกอบรถยนต์แต่อย่างใด 
  • หัวใจสำคัญคือ การเลือกรุ่นรถเข้ามาทำตลาด ประเด็นนี้คือสิ่งสำคัญที่ทำให้ Tesla ให้ความสนใจในการทำตลาดเมืองไทย เนื่องจากไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้รถพวงมาลัยขวา ซึ่งมีสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับรถพวงมาลัยซ้าย 
  • ที่ผ่านมา Tesla ที่นำเข้ามาขายในไทยเป็นการนำเข้าผ่านผู้นำเข้าอิสระหรือเกรย์มาร์เก็ต ที่จะซื้อผ่านโควตาของประเทศอังกฤษหรือฮ่องกงเป็นหลัก ต้องเสียภาษีที่สูง ทำให้ราคารถที่ขายจริงพุ่งขึ้นไปมากกว่า 1 เท่าตัว
  • แต่หาก Tesla เข้ามาขายด้วยตัวเอง จากการคำนวณคร่าวๆ ทำให้เราเห็นว่า มีโอกาสเป็นไปได้ที่เราจะได้เห็น ‘ราคา’ รถยนต์ไฟฟ้ายอดฮิตเริ่มต้นที่ ‘ล้านกลางๆ’

กลายเป็นประเด็นร้อนแรงของผู้ที่อยู่ในแวดวงยานยนต์ของไทย เมื่อมีข้อมูลเปิดเผยว่า Tesla ได้เข้ามาจดทะเบียนบริษัทฯ เพื่อดำเนินธุรกิจในประเทศไทยอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้วในชื่อ ‘บริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด’ พร้อมแต่งตั้งผู้บริหารที่เชี่ยวชาญตลาดเกิดใหม่เข้ามาดูแล 

 

แน่นอนว่า ประเด็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งคือ Tesla จะเริ่มขายรถยนต์เมื่อใด และราคาจะเป็นเท่าไร ความจริงคงต้องรอเนื่องด้วยปัจจัยหลายประการ ทั้งเรื่องของการวางแผนดำเนินธุรกิจ และเงื่อนไขของภาครัฐที่จะเป็นตัวชี้ชะตาว่า Tesla จะเข้ามาลุยเมืองไทยด้วยรูปแบบใด 

 

ทั้งนี้หากวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้จากหลากหลายประเทศที่ Tesla ได้เข้าไปทำตลาดแล้ว THE STANDARD WEALTH จึงพอจะฉายภาพให้เห็นถึงแนวทางในการเข้ามาขายรถในประเทศไทยดังบทความนี้ 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

Tesla

 

เน้นขายก่อน ยังไม่ประกอบ

ถ้าหากพิจารณาดูถึงวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งบริษัทและทุนจดทะเบียนของ ‘เทสลา (ประเทศไทย)’ สามารถวิเคราะห์ได้มุมเดียวว่า เป็นการจัดตั้งขึ้นเพื่อจำหน่ายรถยนต์สำเร็จรูป โดยมิได้มีการประกอบรถยนต์แต่อย่างใด 

 

ส่วนจะเริ่มขายเมื่อใดนั้น ยังไม่สามารถระบุได้ เพราะในบางประเทศที่ Tesla เข้าไปทำตลาดมีการจดทะเบียนบริษัทในลักษณะเช่นนี้ไว้ก่อนนานนับหลายปีกว่าจะเริ่มต้นขายอย่างเป็นทางการ

 

การเริ่มขายช้า ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากรอความพร้อมของตลาด รวมถึงต้องรอปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่สามารถรองรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างสะดวก ซึ่งเมื่อมองถึงประเด็นนี้ เราจะเห็นได้ชัดเจนว่าประเทศไทยกำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางที่สร้างสังคมรถยนต์ไฟฟ้าให้ใช้งานได้สะดวกมากขึ้น ด้วยจุดชาร์จไฟฟ้าที่กระจายครอบคลุมทั่วประเทศ 

 

เหนือสิ่งอื่นใด การที่รัฐบาลไทยได้ออกมาตรการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรม ส่งผลอย่างชัดเจนต่อความเชื่อมั่นของค่ายรถที่จะมาลงทุน ประกอบกับการส่งสัญญาณของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง และผู้นำด้านพลังงานของไทยอย่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ลงมาขยายโครงข่ายการชาร์จไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ทิศทางการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามีความสดใสชัดเจน

 

Tesla

 

ดังนั้นเราจึงมีความมั่นใจว่า Tesla จะเข้ามาทำตลาดในไทยอย่างแน่นอนด้วยการนำเข้าสำเร็จรูปก่อน แต่ห้ามตัดในส่วนของการประกอบในประเทศทิ้งไป 

 

เพราะต้องไม่ลืมว่าปกติแล้วบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทุกรายจะแยกส่วนของบริษัทที่จัดจำหน่ายกับบริษัทผู้ผลิตหรือประกอบรถยนต์ เนื่องจากโครงสร้างทางภาษีและเงื่อนไขตามข้อกฎหมายของประเทศไทย ทำให้จำเป็นต้องแยกบริษัทฯ เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงาน 

 

จะเกิดอะไรบ้างหาก Tesla เปิดตัว 

อย่างที่ทราบกันดีว่าการจัดจำหน่ายรถยนต์ Tesla ในต่างประเทศจะมิได้มีโชว์รูมรถยนต์แบบที่เราคุ้นชินในเมืองไทย แต่จะเป็นการจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ 100% 

 

ส่วนที่เราเห็น Tesla Store จะเป็นเหมือนสถานที่ให้ความรู้และได้สัมผัสรถคันจริง แต่การจองซื้อจะต้องทำผ่านระบบออนไลน์เท่านั้น ส่วนการเซอร์วิสจะเป็นการให้บริการแบบ Mobile Service ถึงบ้านลูกค้า ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องลงทุนในจุดนี้มากเท่าไร 

 

หัวใจสำคัญคือการเลือกรุ่นรถเข้ามาทำตลาด ประเด็นนี้คือสิ่งสำคัญที่ทำให้ Tesla ให้ความสนใจในการทำตลาดเมืองไทย เนื่องจากไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้รถพวงมาลัยขวา ซึ่งมีสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับรถพวงมาลัยซ้าย 

 

ดังนั้นกว่าที่ Tesla จะพร้อมในการผลิตพวงมาลัยขวาจึงต้องรอเวลา เนื่องจากจำเป็นต้องผลิตรุ่นพวงมาลัยซ้ายป้อนตลาดทั่วโลกให้เพียงพอเสียก่อน ซึ่งโดยปกติรถพวงมาลัยขวาจะผลิตที่โรงงานในสหรัฐอเมริกา

 

โรงงาน Tesla Shanghai Gigafactory ในเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน มีรายงานว่าโรงงานแห่งนี้มีกำลังผลิตรถยนต์ในอัตราประมาณ 4.5 แสนคันต่อปี (ภาพ: Xiaolu Chu / Getty Images)

 

จนกระทั่งล่าสุดในปีนี้ เราได้เห็นรถพวงมาลัยขวาผลิตออกมาจากโรงงานที่ประเทศจีน ผ่านการรายงานข่าวของสื่อต่างประเทศทั้งอังกฤษและฮ่องกง ที่ชอบตรวจดูรถว่าผลิตมาจากประเทศใด นั่นหมายความว่าโรงงานแห่งใหม่ของ Tesla ในประเทศจีนได้เริ่มต้นผลิตรถพวงมาลัยขวาเรียบร้อยแล้ว (ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลด้านการผลิตจาก Tesla) 

 

สอดคล้องกับการวางแผนดำเนินงานในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนที่ Tesla เริ่มเปิดมาตลาด เพราะการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนจะได้รับการยกเว้นภาษีอากรนำเข้าเหลือ 0% (ภายใต้ข้อตกลงจีนและอาเซียน) จากปัจจุบันที่ต้องเสียในอัตราที่สูงถึง 80% เนื่องจากเป็นการนำเข้าผ่านผู้นำเข้าอิสระหรือเกรย์มาร์เก็ต ที่จะซื้อผ่านโควตาของประเทศอังกฤษหรือฮ่องกงเป็นหลัก

 

ราคารถจะหายไปราว ‘ครึ่งหนึ่ง’

เมื่อมองไปที่รุ่นรถที่ผลิตจากโรงงานในจีน ‘Model 3 และ Model Y’ รุ่นพวงมาลัยขวาดูจะมีความเป็นไปได้สูงในการเป็นตัวบุกเบิกการทำตลาด Tesla ในประเทศไทย ปัจจุบันราคาจำหน่ายของทั้งสองรุ่นในไทยอยู่ที่ประมาณ 3.29-4 ล้านกว่าบาท ตามแต่สเปกของตัวรถ

 

หาก Tesla ทำตลาดในไทยและเลือกทั้งสองรุ่นดังกล่าวมาขายภายใต้เงื่อนไขสิทธิประโยชน์ภาษีอากรนำเข้า 0% โดยคงสัดส่วนกำไรตามมาตรฐานของ Tesla จะทำให้ราคาขายเมื่อเทียบกับเกรย์มาร์เก็ตลดลงไปได้ราวครึ่งหนึ่ง เนื่องจากตัวคูณภาษีตั้งต้นนั้นเปลี่ยนไป 

 

ตัวอย่างง่ายๆ Tesla Model 3 รุ่นเริ่มต้น ราคาจำหน่ายที่ฮ่องกง 315,800 ดอลลาร์ฮ่องกง คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1,357,000 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 4.3 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ฮ่องกง) 

 

หากนำเข้าปกติจะต้องเสียภาษีนำเข้า 80% ของราคาจำหน่ายบวกค่าขนส่ง (สมมติค่าขนส่ง 43,000 บาท/คัน) เท่ากับเสียภาษีอากรนำเข้าประมาณ (1,357,000 + 43,000 = 1,400,000 x 80%) 1,120,000 บาท

 

นำราคารถทั้งหมดรวมภาษีอากรนำเข้า 2,520,000 (1,400,000 + 1,120,000) มาคำนวณภาษีสรรพสามิตที่อัตรา 8% พร้อมด้วยภาษีมหาดไทย 10% ของภาษีสรรพสามิตร เท่ากับจะต้องเสียภาษีเพิ่มอีก (2,520,000 x 8% = 201,600 x 10% = 20,160) = 221,760 บาท นั่นหมายความว่า ราคาต้นทุนของตัวรถจะเท่ากับ 2,741,760 บาท แต่ยังไม่จบเพียงเท่านี้ 

 

ภาษีสุดท้ายที่ต้องนำมาคำนวณคือ VAT อีก 7% โดยยังไม่รวมกำไรและต้นทุนแฝงของผู้ประกอบการ จะได้เท่ากับต้นทุน (2,741,760 x 7% = 191,923) ที่เป็นราคา 2,933,683 บาท 

 

Tesla

 

แต่หากเป็นการนำเข้าโดยได้รับยกเว้นอากรนำเข้า จะเสียภาษีเพียง 3 ตัวเท่านั้น คำนวณได้ดังนี้ (1,400,000 x 8% = 112,000 x 10% = 11,200) = 123,200 บาท เท่ากับต้นทุนตัวรถก่อนคำนวณ VAT คือ 1,523,200 บาท และเมื่อรวมกับ VAT 7% จะกลายเป็นราคา (1,523,200 x 7% = 106,624) 1,629,824 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ Tesla มีกำไรขั้นต้นเรียบร้อยแล้ว 

 

อย่างไรก็ตาม การคำนวณดังกล่าวเป็นเพียงการประมาณราคาเบื้องต้น เนื่องจากยังมีส่วนของต้นทุนแฝงในการดำเนินกิจการอีกหลากหลายรายการ รวมถึงการแจ้งราคาต้นทุนต่อหน่วยงานรัฐ ซึ่งเป็นความลับของกิจการ ฉะนั้นจึงไม่สามารถนำไปอ้างอิงใดๆ ได้ 

 

กล่าวโดยสรุป การเข้ามาจัดตั้งบริษัทของ Tesla ในคราวนี้ ส่งผลบวกต่อผู้บริโภคและจะส่งผลดีต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยด้วย 

 

ส่วนค่ายรถยนต์อื่นๆ ที่ทำตลาดอยู่ก่อนแล้ว ย่อมต้องได้รับผลกระทบอย่างไม่ต้องสงสัยเพราะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น แต่จะมากหรือน้อยเพียงใด ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ นาทีนี้คงได้แต่ลุ้นว่า Tesla จะเปิดตัวในเร็ววัน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X