เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญภายในสโมสรเชลซี หลังจากที่ โรมัน อบราโมวิช เจ้าของสโมสรได้ประกาศมอบสิทธิ์ในการบริหารและดูแลกิจการสโมสรให้แก่มูลนิธิการกุศลของสโมสรเอง ก่อนหน้าที่ทีมจะลงแข่งขันนัดชิงชนะเลิศฟุตบอล คาราบาว คัพ ในคืนนี้กับลิเวอร์พูล
19 ปีนับจากที่ โรมัน อบราโมวิช มหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยติดอันดับโลกเข้ามาเทกโอเวอร์กิจการของทีมเชลซี และพาทีมกวาดครบทุกถ้วยโดยรายการล่าสุดที่ได้คือรายการฟีฟ่าคลับเวิลด์คัพหรือศึกชิงแชมป์สโมสรโลกเมื่อไม่นานมานี้ แต่ ‘จักรวรรดิโรมัน’ กำลังถูกสั่นคลอนอย่างหนักจากผลกระทบที่รัสเซียตัดสินใจบุกยึดประเทศยูเครนตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว
โดยนอกเหนือจากการถูกคว่ำบาตรและการแทรกแซงต่างๆ จากนานาชาติ อบราโมวิชต้องเผชิญกระแสโจมตีอย่างรุนแรงอีกครั้งเมื่อมีการเปิดเผยในการประชุมสภาอังกฤษ ว่าทีมดังจากลอนดอนซึ่งเป็นสโมสรที่มีเจ้าของโดยบริษัท Fordstam ได้กู้ยืมเงินจำนวน 1.5 พันล้านปอนด์จากบริษัท Camberley International ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในอาณัติของอบราโมวิชและตั้งอยู่ที่เกาะบริติชเวอร์จิน
ผลกระทบจากเรื่องทั้งหมดทำให้มีการจับตามองอนาคตของอบราโมวิชกับเชลซี ซึ่งแม้แต่ โธมัส ทูเคิล ผู้จัดการทีมเชลซี ยอมรับในการแถลงข่าวก่อนหน้าที่จะลงสนามพบลิเวอร์พูลในคืนนี้ที่เวมบลีย์ว่า ขณะนี้เกิดความไม่แน่ใจภายในทีมเกี่ยวกับอนาคตและทิศทางของสโมสร
ขณะที่อบราโมวิชได้มีความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่โดยออกแถลงการณ์เกี่ยวกับอำนาจในการบริหารสโมสรว่า “ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผมเป็นเจ้าของทีมเชลซีมา ผมมองตัวเองในฐานะผู้ดูแลของสโมสรเสมอ ซึ่งมีหน้าที่ในการทำให้สโมสรประสบความสำเร็จเหมือนที่เราเป็นอยู่ในทุกวันนี้และสร้างรากฐานสู่อนาคต และในขณะเดียวกันก็มีบทบาทในการพยายามทำให้ชุมชนของเราดีขึ้นด้วย
“ผมตัดสินใจทุกเรื่องโดยยึดผลประโยชน์ของสโมสรเป็นสำคัญ ผมยังคงยึดมั่นต่อคุณค่าเหล่านี้ และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้วันนี้ผมจึงขอให้มูลนิธิการกุศลของเชลซีเป็นผู้ดูแลสิทธิประโยชน์ของสโมสร
“ผมเชื่อว่าในเวลานี้ นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดในการดูแลผลประโยชน์ของสโมสร ผู้เล่น สตาฟฟ์ และแฟนๆ”
อย่างไรก็ดี อบราโมวิชไม่ได้มีกล่าวถึงกรณีที่รัสเซียบุกยูเครน และยังไม่แน่ชัดว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของอบราโมวิชเป็นส่วนหนึ่งของการที่รัฐบาลอังกฤษได้พยายามทำการแทรกแซงรัสเซีย
อบราโมวิชจะวางมือ?
ก่อนหน้านี้เคยมีกระแสข่าวว่าอบราโมวิชจะตัดใจขายเชลซีหลังจากที่ถูกปฏิเสธวีซ่านักลงทุนในการเข้าประเทศอังกฤษและมีการชะลอการลงทุนกับสโมสรในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่ทุกอย่างจะคลี่คลายลงในเวลาต่อมา แต่จากความเคลื่อนไหวล่าสุดเป็นสิ่งที่น่าจับตามองว่านี่คือสัญญาณการยกธงขาวอีกครั้งหรือไม่?
เรื่องนี้ทางด้าน BBC รายงานว่า ขณะนี้เชลซียังไม่ใช่สโมสรที่มีการเตรียมประกาศขายแต่อย่างใด และเงินจำนวน 1.5 พันล้านปอนด์ที่เจ้าของสโมสรให้ยืมนั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
ทั้งนี้ แม้จะมีการประกาศว่าจะให้มูลนิธิเชลซี (Chelsea Foundation) เป็นผู้ดูแลกิจการหลังจากนี้ แต่มหาเศรษฐีชาวรัสเซียผู้ที่เชื่อกันว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียยังคงมีสถานะเป็นเจ้าของสโมสรอยู่
คีแรน แม็กไกวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ฟุตบอล ผู้จัดรายการพอดแคสต์ The Price of Football ได้วิเคราะห์ถึงความเคลื่อนไหวของอบราโมวิชในครั้งนี้ว่ามีความน่าสนใจ โดย ‘ถ้อยคำ’ ที่เลือกใช้นั้นไม่ใช่คำที่จะมีการใช้ปกติในมุมของกฎหมาย
ตามคำของอบราโมวิช การยกอำนาจให้มูลนิธิของสโมสรดูแล แปลว่าจะไม่ใช่คนที่ทำหน้าที่ในการตัดสินใจขั้นสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงบประมาณการทำทีม การเลือกผู้จัดการทีม หรือการตัดสินใจอื่นๆ นอกจากนี้ในทางบัญชี เชลซีเองยังเป็นหนี้บริษัทของเขาที่เกาะบริติชเวอร์จินด้วย
นั่นหมายถึงโดยโครงสร้างของสโมสรเชลซียังคงมีความซับซ้อน และไม่นับการที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าหลังจากนี้มูลนิธิเชลซีจะได้รับทุนอย่างไร
สิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุดในความเคลื่อนไหวครั้งนี้คือการ ‘ล้อมคอก’ ของอบราโมวิชที่มีความกังวลอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลอังกฤษจะพยายามยึดสินทรัพย์ของเขา ซึ่งรวมถึงเชลซีหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อสโมสรในระยะยาว โดยเฉพาะผลกระทบเกี่ยวกับการลงทุนในสโมสร
การผ่องถ่ายอำนาจให้แก่มูลนิธิเชลซีซึ่งอบราโมวิชไม่ได้มีชื่อเป็นผู้ดูแล จึงเป็นการปกป้องเชลซีไม่ให้ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้
7 สิงห์แห่ง Chelsea Foundation
สำหรับมูลนิธิเชลซีซึ่งจะเป็นผู้ดูแลกิจการของสโมสรหลังจากนี้ มีผู้ที่ได้รับการมอบหมายให้ดูแลหลายคน
คนแรกคือ บรูซ บัค นักธุรกิจชาวอเมริกันวัย 75 ปี ซึ่งมีบทบาทเป็นประธานสโมสรและเป็นคนใกล้ชิดที่ทำงานร่วมกับอบราโมวิชมาตั้งแต่ครั้งตั้ง บริษัทเชลซี ลิมิเต็ด เพื่อเข้าเทกโอเวอร์กิจการของสโมสรมาตั้งแต่ปี 2003
บัคแม้จะเป็นชาวอเมริกันแต่เป็นแฟนเชลซีมายาวนานนับตั้งแต่ย้ายจากสหรัฐอเมริกามาอยู่ที่ลอนดอนเมื่อปี 1983 และเป็นผู้ถือตั๋วปีของสโมสรตั้งแต่ปี 1991
นอกจากบัคแล้วยังมี จอห์น เดอไวน์ ซึ่งเป็นทนายความผู้เชี่ยวชาญทางกีฬา, เอ็มมา เฮย์ส ผู้จัดการทีมฟุตบอลหญิงของเชลซีที่เป็นหนึ่งในทีมฟุตบอลระดับชั้นนำของโลก, เพียร์รา โพวาร์ อดีตซีอีโออง Kick It Out และปัจจุบันเป็นผู้บริหารขององค์กรต่อต้านการเหยียดสีผิวที่ชื่อว่า FARE
อีก 3 รายคือ พอล รามอส ผู้บริหารด้านการเงินของสโมสรซึ่งอยู่ในตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2018 แต่ดูแลการเงินของสโมสรมามากกว่า 20 ปี และ เซอร์ ฮิวจ์ โรเบิร์ตสัน นักการเมืองและผู้จัดการแข่งกีฬาที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงในประเทศอังกฤษ โดยเป็นหนึ่งในคีย์แมนในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกฤดูร้อนเมื่อปี 2012 และคนสุดท้ายคือ เซบาสเตียน โค ประธานกรีฑาโลก
อ้างอิง: