หากมองไปบนท้องฟ้า สิ่งที่เห็นคือความขมุกขมัวของฝุ่น PM2.5 ที่รอวันจางหาย เช่นเดียวกับร่างกฎหมายอากาศสะอาด แม้ทุกฝ่ายจะเห็นพ้องในการผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว แต่ก็มีหลายเรื่องที่แต่ละร่างฯ ยังคงมองมุมต่างกัน ทั้งหลักการ แนวคิด และวิธีปฏิบัติที่รอวันชัดเจนของร่างกฎหมายฉบับจริง
ที่ผ่านมาประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งมีมาตรการหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรง รวมถึงยังมีกฎหมายอื่นที่กำหนดมาตรการจัดการมลพิษ เช่น กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข กฎหมายว่าด้วยโรงงาน และกฎหมายว่าด้วยสุขภาพแห่งชาติ
ต่างกฎหมาย ต่างแนวคิด
แต่ รศ.ดร.สุรศักดิ์ บุญเรือง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ระบุว่า มีหลายฝ่ายที่มีความเห็นตรงกันว่ากฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหามลพิษทางอากาศที่ทวีความรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา จึงจำเป็นต้องมีการเสนอร่างกฎหมาย ได้แก่ ‘ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด’ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรถึง 7 ฉบับ และที่ประชุมได้มีมติรับหลักการไปแล้ว
บางร่างได้กำหนดนิยาม ‘อากาศสะอาด’ หมายถึงอากาศที่ไม่มีสารมลพิษ หรือมีสารมลพิษเจือปนอยู่ในปริมาณที่ไม่เกินมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด
ขณะที่บางร่างฯ ระบุว่า ‘อากาศสะอาด’ หมายความว่า อากาศที่ไม่มีสารมลพิษหรือไม่มีสารมลพิษเจือปนอยู่ในปริมาณที่สูงกว่าระดับปกติเป็นเวลานานพอที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ พืช หรือทรัพย์สินต่างๆ อันเป็นที่ยอมรับทางวิชาการระดับสากล หรือตามที่คณะกรรมการกำกับประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการร่วม
การกำหนดนิยามดังกล่าวมุ่งที่จะให้มีความแตกต่างจากแนวคิด การจัดการมลพิษทางอากาศที่มีอยู่เดิมในกฎหมายหลายฉบับ โดยเฉพาะการมุ่งที่จะให้มีการกำหนดมาตรการบริหารจัดการเพื่อนำไปสู่สภาวะอากาศสะอาด
สั่งการข้ามหน่วยงาน-บูรณาการงบประมาณตามภารกิจ
รศ.ดร.สุรศักดิ์ ได้ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมาตรการในร่างกฎหมายเรื่องดังกล่าวว่า ควรมีการพิจารณาว่าจะเชื่อมโยงมาตรการในร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด กับกฎหมายอื่นที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตลอดจนหน่วยงานและภารกิจเดิมที่อยู่ภายใต้หน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศให้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างไร จึงจะช่วยให้เกิดความคล่องตัวและไม่ตัดภารกิจหรือบทบาทของหน่วยงานเดิมทั้งหมด ในขณะเดียวกันก็ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาความซับซ้อนโดยไม่ต้องตั้งหน่วยงานขึ้นใหม่
เพิ่มการมีส่วนร่วมในชุมชนและเปลี่ยนทัศนคติ
เหนือสิ่งอื่นใดต้องตระหนักด้วยว่า สาเหตุส่วนหนึ่งของปัญหามลพิษทางอากาศมาจากต้นทางที่มีทางเลือกในการจัดการทรัพยากรค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรและการจัดการพื้นที่เพาะปลูก กฎหมายฉบับนี้จะวางหลักการอย่างไรให้กลุ่มคน ซึ่งเป็นผู้ก่อมลพิษจากภาคการเกษตร ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นจำเลยและเป็นต้นเหตุของการออกกฎหมายฉบับนี้
จึงควรมีการสร้างเครื่องมือหรือกลไกการมีส่วนร่วมในระดับชุมชน เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและทัศนคติในการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตร หามาตรการส่งเสริมให้มีการลดหรือเปลี่ยนวิธีการในการจัดการกับเศษวัสดุทางการเกษตร หรืออาจจำเป็นต้องหาแนวทางที่เปลี่ยนการประกอบอาชีพจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวไปเกษตรอินทรีย์และเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น
ภาครัฐต้องช่วย ลดการใช้เครื่องยนต์สันดาป
ขณะที่ภาครัฐอาจจำเป็นต้องให้หน่วยงานเริ่มใช้กระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีส่วนลดการกรองฝุ่นละออง เช่น การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว จัดซื้อจัดจ้างยานพาหนะที่ใช้สำหรับหน่วยราชการโดยใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการใช้ยานยนต์ที่มีระบบสันดาป
“กฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาดเพียงฉบับเดียวอาจไม่ใช่เครื่องมือที่จะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด อาจต้องมีการทบทวนด้วยว่าจะมีการปรับปรุงกลไกทางกฎหมายและนโยบายที่อยู่ในกฎหมายอื่น ให้ผสานเชื่อมโยงและตอบรับกับการบริหารจัดการปัญหามลพิษทางอากาศให้มากขึ้นได้หรือไม่เพียงใด เช่น ปรับปรุงมาตรการเกี่ยวกับการประกาศกำหนดเขตควบคุมมลพิษ เพื่อให้สามารถควบคุมการก่อมลพิษได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” รศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าว
รศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ไม่ใช่เพียงแต่การกำหนดเขตควบคุมมลพิษ เพื่อจัดทำนโยบายและแผนลดและจัดการมลพิษเพียงอย่างเดียว อาจจำเป็นต้องมีมาตรการกำหนดให้รายงานข้อมูลจากผู้ก่อมลพิษ และมาตรการเชิงลงโทษหรือดำเนินการอย่างอื่นตามความเหมาะสมด้วย