หลังเผยผลประกอบการที่แม้จะเติบโตก็จริง แต่หุ้นของ Kering หนึ่งในยักษ์ใหญ่ด้านแบรนด์หรู กลับลดลงมากถึง 7% ในระหว่างการซื้อขายช่วงเช้าวันที่ 22 เมษายน ที่ปารีส โดยสาเหตุของการร่วงแรงอย่างหนักนั้นมาจากแบรนด์ดาวเด่นอย่าง Gucci
ภาพรวมผลประกอบการของเครือ Kering ในช่วง 3 เดือนสิ้นสุดในเดือนมีนาคม อยู่ที่ 4.96 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้น 21% และสูงกว่าที่คาดการณ์โดยนักวิเคราะห์เล็กน้อย ซึ่งมองว่าจะมีรายได้รวมอยู่ที่ 4.69 พันล้านยูโร
ทว่า ยอดขายของ Gucci สร้างรายได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของ Kering ในช่วงไตรมาสดังกล่าว เพิ่มขึ้นประมาณ 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่กระนั้นตัวเลขกลับน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบ 19%
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- ชาวจีนแห่ซื้อ ‘สินค้าหรู’ เพราะ ‘โควิดไม่ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนรวย’
- ยอดขายของ Hermès เพิ่มขึ้นสูงถึง 33% ในไตรมาสแรกของปี 2022
- LVMH รายงานว่ายอดขายไตรมาสแรกของปี 2022 เพิ่มขึ้นสูงถึง 29%
Gucci มีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในสหรัฐอเมริกา ยุโรปตะวันตก และญี่ปุ่น ในขณะที่การล็อกดาวน์จากโควิดทำให้ธุรกิจในจีนแผ่นดินใหญ่เกิดการชะลอตัว
ลูกา ซอลกา นักวิเคราะห์ของ Bernstein กล่าวว่า รายได้ในไตรมาสนี้ของ Kering เติบโตกว่าที่คาด 5.6% แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ Gucci กำลัง ‘One Step Behind’ หรืออาจแปลได้ว่า มนตร์เสน่ห์เริ่มจางลงหรือไม่?
“จุดอ่อนของ Gucci ส่วนใหญ่มาจากการที่แบรนด์พึ่งพาตลาดในแดนมังกรมากขึ้น เมื่อเกิดการล็อกดาวน์จึงส่งผลกระทบต่อธุรกิจ” นักวิเคราะห์จาก Deutsche Bank กล่าว ขณะที่ผู้บริหารของ Kering ก็ยอมรับว่า สถานการณ์การปิดเมืองในปัจจุบันของจีนนั้นรุนแรงกว่าเมื่อเทียบกับฤดูร้อนปีที่แล้ว และทำให้พวกเขาเข้าถึงลูกค้าอายุน้อยได้ลดลง
“พื้นฐานของตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยในจีนยังคงไม่เปลี่ยนแปลง” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ Kering กล่าว พร้อมเสริมว่า บริษัทได้สังเกตความยืดหยุ่นของผู้บริโภคชาวจีนหลังช่วงวิกฤต ตลอดจนชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น และความต้องการซื้อสินค้าหรูที่ยังมีอย่างมากมาย
ถึงผลงานของ Gucci อาจไม่สร้างความประทับใจให้กับนักลงทุนเท่าไรนัก แต่แบรนด์อื่นๆ ในเครือกลับเติบโตมากทีเดียว โดย Yves Saint Laurent เติบโต 37.2% ในขณะที่ยอดขาย Bottega Veneta เพิ่มขึ้น 16.3% ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนในการสื่อสารและการตลาด ตลอดจนขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์
นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่แปลกใจกับผลงานของ Kering เพราะเมื่อเทียบกับแบรนด์หรูรายอื่นๆ อย่างเครือ LVMH และ Hermès ก็มีรายได้ที่เติบโตต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดได้รับประโยชน์จากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวในยุโรปและอเมริกาเหนือ
ขณะเดียวกันการล็อกดาวน์ในจีน ตลอดจนสงครามในยูเครน ทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อและซัพพลายเชนมีเพิ่มมากขึ้น แต่ผู้บริหาร Kering ก็มองว่า ยังเร็วเกินไปที่จะวัดผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อที่มีต่อความต้องการซื้อสินค้าและต้นทุนของสินค้าหรู
โดยพวกเขาสังเกตว่า ยังมีที่ว่างสำหรับการขึ้นราคาในบางยี่ห้อ ซึ่งรวมถึง Gucci ซึ่งขึ้นราคาบางส่วน 1-5% ไปแล้วในช่วงปลายไตรมาสที่ผ่านมา
ภาพ: Budrul Chukrut / SOPA Images / LightRocket via Getty Images
อ้างอิง: