×

เคนดริก ลามาร์ สุดยอดแรปเปอร์ที่คุณต้องทำความรู้จัก!

โดย Homesickalienn
25.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • เคนดริก ลามาร์ เด็กหนุ่มผู้มีประวัติการเรียนดีเวอร์เบอร์ 4.00 จาก Centennial High School รัฐแคลิฟอร์เนีย เขาเติบโตมาจากครอบครัวที่ดำรงชีพด้วยเงินช่วยเหลือจากสวัสดิการรัฐ
  • เคนดริกเลือกที่จะกลั่นเนื้อร้องออกมาจากประสบการณ์ จินตนาการ วิสัยทัศน์เกี่ยวกับการใช้ชีวิต หรือแม้กระทั่งเกร็ดประวัติศาสตร์ทางชาติพันธุ์ที่ไม่ควรถูกลืมเลือน กลายเป็นว่างานเพลงของเขาเปรียบเสมือนบทกวีที่ว่าด้วยเรื่องราวในสังคม การผูกปมเล่าประเด็นอันเป็นที่วิพากษ์ถกเถียง
  • อดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา ถึงกับออกตัวผ่านสื่อว่าตนเป็นแฟนตัวยงของเคนดริก ลามาร์ ถึงขั้นเชิญให้ไปทำการแสดง ณ ทำเนียบขาว ในปี 2016
  • ชื่อของเคนดริกยังถูกบรรจุเข้าไปอยู่ในรายชื่อ ‘100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก’ สำหรับการจัดอันดับในปี 2016 โดยนิตยสาร Time
  • เพลง Alright ของเคนดริก ได้กลายเป็นหนึ่งในสื่อกลางรูปแบบดนตรีที่กลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องเรื่องสิทธิมนุษยชนเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันนำมาใช้ขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ

“ดนตรีของผม เอาจริงๆ มันระบุประเภทไม่ได้หรอก เพราะมันเป็นดนตรีของ ‘มนุษย์’ ”

– เคนดริก ลามาร์, 2012

     ชื่อเสียง เงินทอง ยาเสพติด ปาร์ตี้ สร้อยคอเส้นเป้งพร้อมจี้เพชรขนาดเท่าบ้าน และเนื้อเพลงที่มีเนื้อหาวนเวียนอยู่กับการอวยตนเอง สาวอกบึ้มในบิกินี่ตัวจิ๋ว หรือวิถีชีวิตแบบแก๊งสเตอร์ ดูเหมือนจะเป็นอัตลักษณ์ของเพลงแรปที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่เข้าใจ และปฏิเสธไม่ได้ว่ากว่า 80% ของเนื้อหาเพลงแรปที่ครองตลาดอยู่ในปัจจุบันนั้นเหมือนเป็นการพายเรือวนในอ่างอยู่กับเรื่องราวที่กล่าวมาข้างต้นแทบทั้งสิ้น

     ท่ามกลางการแข่งขันที่จะสร้างฐานแฟนคลับของศิลปินเพลงแรปทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ที่มีผลงานในตลาดขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่คุณโชว์ความสามารถให้คนทั้งโลกเห็นได้โดยไม่ต้องเสียเงินโปรโมต หรือแม้แต่ขวนขวายหาต้นสังกัดมาสนับสนุนการจัดจำหน่าย ไม่ว่าจะผ่านช่องทางอย่าง Youtube หรือ Twitter แต่อะไรคือวิธีที่จะทำให้ตนเองไม่จมหายไปกับคำจำกัดความว่า ‘แค่ศิลปินเพลงแรปคนหนึ่ง’ แต่กลายเป็นที่จดจำและถูกพูดถึงในฐานะ ‘แรปเปอร์ที่เก่งที่สุดในยุคปัจจุบัน’ หรือ ‘ศิลปินปรมาจารย์แห่งการเล่าเรื่องผ่านปลายปากกา’ นี่คือส่ิงที่ เคนดริก ลามาร์ (Kendrick Lamar) แรปเปอร์หนุ่มจากแคลิฟอร์เนียทำสำเร็จได้ด้วยวัยเพียงแค่ 30 ปี หลังจากโลดแล่นอยู่ในวงการมาได้เพียงหนึ่งทศวรรษเศษๆ เท่านั้น

 

จากซ้ายไปขวา: อัลบั้มแรก Section.80, อัลบั้มสอง Good Kid, M.A.A.D City,

อัลบั้มสาม To Pimp a Butterfly และอัลบั้มล่าสุด Damn


     เคนดริก ลามาร์ เด็กหนุ่มผู้มีประวัติการเรียนดีเวอร์เบอร์ 4.00 จาก Centennial High School มลรัฐแคลิฟอร์เนีย เขาเติบโตมาจากครอบครัวที่ดำรงชีพด้วยเงินช่วยเหลือจากสวัสดิการรัฐ เคนดริกเริ่มเข้าสู่วงการเอ็มซี (Emcee) ด้วยความหลงใหลในวัฒนธรรม Gangsta Rap ยุค 90s โดยเฉพาะแรงบันดาลใจที่เขาได้รับมาจากผลงานปลายปากกาของ ทูพัก ชาเคอร์, The Notorious B.I.G., Method Man และ Snoop Dogg นั่นทำให้เคนดริกเลือกที่จะดำเนินรอยตามด้วยความคิดเริ่มต้นแค่เพียงว่า ‘มันน่าจะเท่ดี’

     เขาบ่มเพาะทักษะการเขียนท่อนแรปและพยายามสร้าง mixtapes ผ่านต้นสังกัดท้องถิ่น สั่งสมชื่อเสียงทีละเล็กทีละน้อย กระทั่งได้เข้าไปร่วมงานกับแรปเปอร์เบอร์ใหญ่อย่าง The Game และ Lil’ Wayne จนศักยภาพของเคนดริกไปเตะหูเตะตาศิลปินและนักปั้นมือเทพอย่าง Dr. Dre ซึ่งกรุยทางให้เขาได้เข้าไปเซ็นสัญญากับต้นสังกัดใหญ่อย่าง Aftermath Entertainment ในที่สุด

 


     ลำพังการเขียนเพลงที่มีเนื้อหาว่าด้วยความมึนเมาจากการดวดแชมเปญ รถพอร์ชคาเยน อันธพาลวิถี และความลำบากของชีวิตในวันวาน อาจจะนำมาซึ่งผลงานที่ทะยานขึ้นไปถึง Top 20 ของบิลบอร์ดชาร์ตได้ไม่ยาก แต่เคนดริกเลือกที่จะกลั่นเนื้อร้องออกมาจากประสบการณ์ จินตนาการ วิสัยทัศน์เกี่ยวกับการใช้ชีวิต หรือแม้กระทั่งเกร็ดประวัติศาสตร์ทางชาติพันธุ์ที่ไม่ควรถูกลืม

     กลายเป็นว่างานเพลงของเขาเปรียบเสมือนบทกวีที่ว่าด้วยเรื่องราวในสังคม การผูกปมเล่าประเด็นอันเป็นที่วิพากษ์ถกเถียง ทำให้เพลงแรปของเคนดริกไม่ได้เป็นเพียงแค่ผลงานที่ผู้ฟังสามารถโยกไปกับจังหวะอันติดหู หรือท่อนแรปและการเล่นคำที่ไหลลื่นเฉียบคม ซึ่งสิ่งนี้ล้วนส่งผลต่อเสียงสรรเสริญชื่นชมจากบรรดานักวิจารณ์ทั่วโลก หรือแม้แต่อดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา ยังเคยออกตัวผ่านสื่อว่าตนเป็นแฟนตัวยงของเคนดริก ลามาร์ ถึงขั้นเชิญให้ไปทำการแสดง ณ ทำเนียบขาว ในปี 2016

     ในปีเดียวกัน เคนดริกเดินสายกวาดรางวัลทางดนตรี การันตีด้วยการเป็นผู้ชนะ 7 รางวัลแกรมมี่อวอร์ด ทั้งยังเป็นเจ้าของสถิติศิลปินเพลงแรปที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่อวอร์ดสูงสุดในปี 2016 (11 สาขา) นอกจากนั้นชื่อของเคนดริกยังถูกบรรจุเข้าไปอยู่ในรายชื่อ ‘100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก’ สำหรับการจัดอันดับในปี 2016 โดยนิตยสาร Time ซึ่งทำให้เขาเป็นแรปเปอร์เพียงแค่ไม่ถึง 20 คนในประวัติศาสตร์วงการดนตรีที่เคยได้รับเกียรตินี้

 


     ไม่ใช่แค่เรื่องบังเอิญหรือโชคชะตาที่นำพาโอกาสทองมาสู่ตัวเขาอย่างแน่นอน ศิลปินเอ็มซีแต่ละคนย่อมมีเอกลักษณ์เฉพาะตนที่แตกต่างกันออกไป เหนือสิ่งอื่นใด คาแรกเตอร์เหล่านั้น เมื่อประกอบกับพรสวรรค์ทางด้านดนตรี พ่วงด้วยจังหวะขึ้นลงของวงการเพลงที่อำนวย การที่ผลงานจะไปได้สวยในตลาดเพลงกระแสหลักจึงไม่ได้เหนือความคาดหมาย

     จินตนาการถึงอีโก้ที่สูงลิบลิ่วของคานเย เวสต์ มันสมองอันชาญฉลาดในการทำเพลงควบคู่กับธุรกิจของเจย์-ซี อัจฉริยภาพในการร้อง แรป และเล่นดนตรีของลอรีน ฮิลล์ ไหวพริบและลูกเล่นสุดพลิ้วในการประดิษฐ์คำของมิสซี เอลเลียต หรือการตีแผ่วิถีแก๊งสเตอร์ผ่านปลายปากกาและเสียงทุ้มต่ำของ The Notorious B.I.G. คุณสมบัติทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมานั้นไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้ศิลปินคนหนึ่งก้าวขึ้นมาเป็นขวัญใจ ครอบครองทั้งเงิน ทั้งกล่อง หากปราศจากทักษะในการ ‘อยู่ให้เป็น’ ‘เข็นตนเองให้ขึ้น’ และ ‘ไม่ฝืนธรรมชาติด้วยภาพลักษณ์อันฉาบฉวยและเสแสร้งมากเกินไป’ เหล่านี้เป็นคุณลักษณะที่เคนดริกมีแทบทั้งสิ้น โดยที่ตัวเขาเองก็ยืนยันว่าไม่เคยแอนตี้การทำตัวกร่าง การสวมเสื้อตัวโคร่งพร้อมสร้อยคอบลิงก์ๆ แบบสมาชิกแก๊งผิวสีผู้มีอันจะกินในลอสแอนเจลิส และเขาไม่เคยมีปัญหากับใครก็ตามที่ทำตัวเช่นนั้น เพราะเคนดริกเชื่อเสมอว่า “ธรรมชาติของแต่ละคนล้วนเป็นเสน่ห์ที่น่าเคารพยกย่อง และทุกๆ คนมีสิทธิ์ที่จะแสดงออกใดๆ ตราบเท่าที่ใจต้องการ”

 

 


     มนต์เสน่ห์แห่งปลายปากกาที่มาพร้อมความสามารถในการเล่าเรียงเรื่องราวต่างๆ ผ่านวิสัยทัศน์ส่วนตัวของเขา ทำให้บทเพลงของเคนดริกนั้นเป็นเปรียบดังกระจกเงาสะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างเฉียบแหลม มีสไตล์ ไม่คร่ำครึ ทว่าเข้ากับยุคสมัย ตั้งแต่ mixtapes แรก ไล่ยาวขึ้นเป็นกราฟมาจนถึงตัวอัลบั้มล่าสุด Damn ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ฟังสามารถนำตัวเองเข้าไปอยู่ในจุดที่ ‘อิน’ กับเนื้อเพลงได้ และเปิดช่องว่างให้คนได้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างเพลงแรปของเขา

     ตัวอย่างเช่น ท่ามกลางกระแส Black Lives Matter ที่คุกรุ่นในปี 2015 เพลง Alright ของเคนดริก จากผลงานสตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 3 To Pimp a Butterfly ได้กลายเป็นหนึ่งในสื่อกลางของรูปแบบดนตรีที่กลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องเรื่องสิทธิมนุษยชนเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันนำมาใช้ขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ด้วยเนื้อหาที่กล่าวถึงความไม่เสมอภาคของพลเมืองผิวสีและผิวขาวในสหรัฐอเมริกา การเลือกปฏิบัติ รวมไปถึงเกร็ดประวัติศาสตร์ทางด้านความเป็นมาของชุมชนแอฟริกัน-อเมริกันในอเมริกา จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มผู้เคลื่อนไหวนำมาใช้เป็นคีย์เมสเสจ เช่นเดียวกับเพลง Formation ของบียอนเซ เป็นต้น

 

นิตยสาร GQ Style ถ่ายภาพโดย Paolo Kudacki


     ในวันที่แรปเปอร์และแฟนเพลงฮิปฮอปหลายคนได้ออกมาแสดงความเคลือบแคลงใจ เมื่อนิตยสาร Billboard ยกให้เคนดริกเป็น 1 ใน 10 ศิลปินเพลงแรปที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาลในปี 2015 นั้น ตัวเขาเองคงไม่จำเป็นต้องพยายามหาข้อโต้แย้งใดๆ มาพิสูจน์เกียรติภูมิดังกล่าว นอกจากผลงาน 4 สตูดิโออัลบั้มขวัญใจนักวิจารณ์ในระยะเวลาที่อยู่ในวงการ (อย่างเป็นทางการในสายตาสื่อ -นับตั้งแต่อัลบั้มแรกในปี 2011) มาได้เพียง 7 ปีเศษ พ่วงด้วย 7 รางวัลแกรมมี่อวอร์ด และการก้าวข้ามไปเป็นแรปเปอร์รับเชิญให้กับศิลปินป๊อปชื่อดังในวงการมากมาย เช่น เทย์เลอร์ สวิฟต์, Imagine Dragons หรือแม้แต่ Sia

     ถึงแม้ดนตรีอาจจะถูกประยุกต์ให้เข้ากับศิลปินแต่ละรายซึ่งเป็นไปตามกลไกของตลาดบ้าง แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปก็คือความฉลาดหลักแหลม แยบยลคมคาย และข้อคิดที่กลั่นออกมาจากวิสัยทัศน์ผ่านปลายปากกาของหนึ่งในแรปเปอร์ที่ ‘เก่ง’  ที่สุดในยุคปัจจุบัน ‘เคนดริก ลามาร์’

     ซึ่งก็อาจจะจริงตามประโยคที่เคนดริกเคยพูดเอาไว้ขณะให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Acclaim ในปี 2012 “ผมไม่ได้อยากจะเป็นคนที่มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ผมขอเลือกที่จะให้ผลงานดนตรีของผมนั้นมีชีวิตอยู่เสมอ ซึ่งนั่นจะเป็นสิ่งที่คงอยู่ตลอดไป มิใช่เพียงความป๊อปปูลาร์แค่ชั่วข้ามคืน”

 


อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X