พรุ่งนี้ (10 มีนาคม) ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ และญี่ปุ่น จะรายงานตัวเลขและนโยบายที่สำคัญทางเศรษฐกิจ โดยในช่วงเช้าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะแถลงเกี่ยวกับนโยบายการเงินของประเทศ พร้อมด้วยการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ
ตามมาด้วยการรายงานตัวเลข GDP ของอังกฤษ ในเวลา 14.00 น. ตามเวลาไทย ก่อนที่ในช่วงเวลา 20.30 น. สหรัฐฯ จะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร รวมทั้งตัวเลขอัตราการว่างงาน ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการประชุมวันที่ 22 มีนาคม เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา การลงทุนทั่วโลกกลับมาผันผวนหนักอีกครั้ง หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ออกมาส่งสัญญาณว่า การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อจะยังคงดำเนินต่อไป ทำให้นักลงทุนกลับมากังวลว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่าครั้งละ 0.25% ซึ่งจะกดดันบรรยากาศการลงทุนทั่วโลก
ขณะเดียวกันนักลงทุนส่วนมากที่เคยคาดหวังว่าจะเห็นธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในปีนี้ กลับกลายเป็นมุมมองที่ว่าจะยังไม่เห็นการลดดอกเบี้ยของประเทศส่วนใหญ่ โดยอาจมีเพียงสหรัฐฯ และสวีเดนที่อาจเห็นการลดดอกเบี้ยเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งระหว่างเดือนกันยายน 2023 – มีนาคม 2024
แคเธอรีน หยาง ผู้อำนวยการด้านการลงทุนของ Fidelity International กล่าวว่า “ณ ทางแยกของการตัดสินใจนี้ดูเหมือนว่าธนาคารกลางแต่ละแห่งยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไปเมื่อเทียบกับแนวโน้มเงินเฟ้อ (Behind the Curve) และยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก เพื่อจะก้าวให้ทันเงินเฟ้อ”
หลังจากที่ เจอโรม พาวเวลล์ ออกมาแถลงในสัปดาห์นี้ ทำให้นักเศรษฐศาสตร์หลายแห่งต้องปรับมุมมองต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยโดยทันที อย่างกรณีของ Goldman Sachs Group ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยว่าจะไปจบที่ระดับ 5.5-5.75% เพิ่มขึ้นจากเดิม 0.25%
ขณะเดียวกันนักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจะเห็นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารกลางยุโรปเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4% จากปัจจุบันที่ 2.5% ขณะที่ โรเบิร์ต โฮลซ์แมนน์ สมาชิกสภากรรมการของธนาคารกลางยุโรป มองว่า อัตราดอกเบี้ยอาจจะต้องขึ้นไปถึง 4.5%
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกธนาคารกลางจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าว สำหรับธนาคารกลางแคนาดา เมื่อวันพุธที่ผ่านมาตัดสินใจไม่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 9 การประชุมที่ผ่านมา แต่ก็มีการส่งสัญญาณว่ายังคงเปิดกว้างที่จะกลับมาขึ้นดอกเบี้ยได้อีกครั้งหากจำเป็น
เช่นเดียวกับธนาคารกลางออสเตรเลียที่ส่งสัญญาณว่าจะหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วๆ นี้ ส่วนสวีเดนซึ่งเศรษฐกิจน่าจะย่ำแย่ที่สุดในยุโรปสำหรับปีนี้ เป็นผลจากตลาดที่อยู่อาศัยที่ชะลอตัว
ลุยจิ สเปแรนซา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ BNP Paribas กล่าวว่า “เราคิดว่าธนาคารกลางแต่ละแห่งมีงานต้องทำอีกมาก เรายังคงเชื่อว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยโดยธนาคารกลางสำคัญแต่ละแห่งจะยังไม่เกิดขึ้นตลอดทั้งปีนี้”
บทความที่เกี่ยวข้อง
- กูรูแนะกลยุทธ์นักลงทุนในปี 2023 ศึกษาตลาด อย่าหวั่นไหว และรู้ข้อจำกัดตนเอง
- สินทรัพย์ไหนรุ่ง/ร่วง? เปิด 5 คำทำนายจากผู้จัดการกองทุนต่างๆ สำหรับปี 2023
- โปรดระวังดอลลาร์ ‘กลับทิศ’ กระทบเศรษฐกิจโลก
อ้างอิง: