×

‘กสิกรไทย’ มองเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2023 คาดกระทบไทยผ่านการส่งออก

02.11.2022
  • LOADING...

KBank Private Banking และ Lombard Odier มองเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2023 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผย เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบโดยเฉพาะภาคส่งออก แนะกระจายลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด พาพอร์ตมุ่งสู่ความยั่งยืน

 

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ตลอดปี 2022 ตลาดลงทุนมีความกังวลต่อเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง กดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบรุนแรงและรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนลากยาวต่อเนื่องและยังไม่มีท่าทีว่าจะจบลง ราคาพลังงานในยุโรปขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้น 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ขณะเดียวกัน แม้จีนยังไม่มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยเหมือนกับประเทศอื่นๆ แต่นโยบายการเปิดประเทศแบบค่อยเป็นค่อยไป และการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง มีแนวโน้มจะช่วยให้เศรษฐกิจจีนเติบโตได้แต่ก็ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ KBank Private Banking ในฐานะที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน แนะให้ลูกค้ากระจายการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด ทั้งหุ้นนอกตลาด ตราสารหนี้ และอสังหาริมทรัพย์นอกตลาด เพื่อลดความผันผวนของพอร์ต นอกจากนั้นยังแนะนำลดสัดส่วนของกองทุนรวมหุ้น และถือเงินสดเพิ่มเติมราว 5-15% ของพอร์ตเพื่อลดความผันผวน และรอจังหวะเข้าลงทุนในอนาคตเมื่อสถานการณ์ชัดเจนขึ้น

 

ด้าน เชาว์ เก่งชน Executive Chairman ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้มุมมองว่า เมื่อเศรษฐกิจหลักของโลกเผชิญภาวะถดถอย เศรษฐกิจไทยย่อมได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการส่งออกที่ต้องเผชิญกับการเติบโตที่ลดลงในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ในด้านการเติบโตของ GDP จะขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยคาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะยังฟื้นตัวต่อเนื่อง ช่วยประคองให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความท้าทายจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกที่คาดว่าจะต่ำตลอดปี 2023 ทำให้เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2024 รวมถึงปีต่อๆ ไปด้วย

 

ขณะที่ Lombard Odier สรุปมุมมองต่อเศรษฐกิจโลกเป็น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 

 

ประเด็นแรก คือ การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed เพื่อสกัดเงินเฟ้อสหรัฐฯ เป้าหมายสำคัญคือการทำให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ ปรับตัวลงมาอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ โดยการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed มีโอกาสสูงที่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย จากการประเมินของ Lombard Odier เชื่อว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนพฤศจิกายน และอีก 0.5% ในเดือนธันวาคม และจบด้วยการขึ้น 0.25% ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ซึ่งจะเป็นจุดสูงสุดของดอกเบี้ยในวัฏจักรรอบนี้ที่ 4.75% 

 

ด้านแนวโน้มเงินเฟ้อเชื่อว่าจะค่อยๆ ปรับตัวลงมาอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ภายในกลางปีหน้า โดยปัญหาห่วงโซ่อุปทานล่าช้า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และค่าใช้จ่ายการขนส่งที่ดูดีขึ้น จะทำให้เงินเฟ้อที่มาจากราคาสินค้าปรับตัวลง นอกจากนี้ ตลาดอสังหาที่ดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านสูงขึ้น ประกอบกับราคาบ้านที่สูงขึ้น เริ่มกดดันให้ความต้องการซื้อบ้านชะลอลง แต่ยังต้องจับตา 2 ตัวแปรสำคัญ คือ 

 

  1. เงินเฟ้อที่มาจากราคาบริการยังไม่คลี่คลาย 

 

  1. ตลาดแรงงาน แม้ว่าจะมีการปรับตัวลงมาบ้างแล้วแต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูง 

 

ทั้งนี้ อัตราการว่างงานต้องสูงขึ้นกว่านี้ เพื่อดึงเงินเฟ้อให้ปรับลดลงอีก อย่างไรก็ดี ปัจจัยพื้นฐานรวมถึงความแข็งแกร่งภาคธนาคาร ภาคครัวเรือน และภาคเอกชนในปีนี้ แตกต่างจากการเกิดวิกฤตในปี 2008 จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงวิกฤตทางการเงินได้ แม้ว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ตาม

ประเด็นที่สอง คือ จีน ต่อเนื่องจากการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป เชื่อว่าจีนยังต้องการผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโต หลังประธานาธิบดีสีจิ้นผิงรวบรวมอำนาจเบ็ดเสร็จไปเรียบร้อยแล้ว โดยมองว่ามี 2 เส้นทางที่จะผลักดันให้จีนเติบโตได้ คือ 

 

  1. การเปิดประเทศ ซึ่งจีนเลือกที่จะเปิดประเทศแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยจะเห็นแนวโน้มชัดเจนขึ้นในปีหน้า 

 

  1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง นอกจากนี้ ยังมีนโยบายการเงินที่ยังช่วยหนุนอยู่ ด้วยเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ จีนจึงเป็นประเทศเดียวที่อยู่ในทิศทางการลดดอกเบี้ย ซึ่งเป้าหมายก็คือการประคับประคองภาคอสังหาโดยเร่งการปล่อยสินเชื่อบ้าน ซึ่งเพียงพอให้จีนสามารถหลีกเลี่ยงฮาร์ดแลนดิ้ง และหนุนให้แนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาสต่อจากนี้ดีขึ้นได้

 

ประเด็นที่ 3 คือ วิกฤตราคาพลังงานในยุโรป จากการที่ราคาพลังงานในยุโรปพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ราคาพลังงานเริ่มปรับตัวลงแล้ว โดยมีหลายปัจจัยที่กระทบต่อความผันผวนของราคาพลังงานในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นอากาศที่ไม่ได้หนาวมากในยุโรป ทำให้ภาคครัวเรือนยังไม่ได้ต้องการใช้พลังงานในการทำความร้อน 

 

นอกจากนี้ รัฐบาลต่างๆ ในยุโรปก็มีความพยายามในการกักเก็บพลังงานสำรอง กระจายแหล่งที่มาของพลังงาน เช่น การขยายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และโรงไฟฟ้าถ่านหิน และที่สำคัญที่สุดคือการหันมาใช้พลังงานทางเลือกให้มากขึ้น โดย Lombard Odier มองว่านโยบายของยุโรปโดยรวม แม้ว่าจะไม่สามารถทำให้หลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ แต่อย่างน้อยก็น่าจะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising