เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส – เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ (KBTG) กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันทำให้ธุรกิจธนาคารต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เมื่อธนาคารกสิกรไทยต้องทรานส์ฟอร์ม เพื่อเชื่อมบริการของธนาคารกับเทคโนโลยี ขณะเดียวกันต้องร่วมมือกับพันธมิตรในหลายรูปแบบเพื่อเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ KBTG มีเป้าหมายการเป็นบริษัทเทคโนโลยีอันดับหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี 2565 ดังนั้น ภายในปี 2563 ทางธนาคารอยู่ระหว่างการเตรียมยื่นขออนุญาตในการจัดตั้ง ไคไต้ เทค (KAITHAI Tech) ณ เมืองเซินเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เป็นเหมือน Silicon Valley ของจีน เพื่อที่กสิกรไทยจะเข้าสู่ Ecosystem ด้านเทคโนโลยีของจีน
ขณะเดียวกันจะตั้ง KASIKORN X (KX) เพื่อทำหน้าที่เป็น New S-Curve Factory พันธกิจของ KX คือการสร้าง ฟินเทค ยูนิคอร์น บริษัทแรกของประเทศไทย โดยบริษัทนี้จะแตกไลน์ธุรกิจใหม่ เป็นแหล่งรายได้ใหม่ๆ ให้กับกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารกสิกรไทย จุดเด่นคือ KX จะดำเนินธุรกิจอย่างเป็นอิสระจากธนาคารกสิกรไทย และ KBTG เหมือนกับบริษัทสตาร์ทอัพ
อย่างไรก็ตาม แผนงานหลักของ KBTG ปี 2020 จะมุ่งเน้นการวางรากฐานสถาปัตยกรรม และโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยียุคใหม่ (Modern Architecture and Infrastructure) ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่
1) ระบบคลาวด์ที่ผสมผสานการทำงานระหว่าง Private Cloud และ Public Cloud ได้อย่างรวดเร็ว (Hyper and Hybrid Multi Cloud)
2) การวางรากฐานสถาปัตยกรรมใหม่ โดยยึดระบบการจัดเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัยขั้นสูงสุด (Security and Data Privacy Uncompromised)
3) การทำโครงสร้างด้วยโค้ดเพื่อการปรับเปลี่ยนอย่างคล่องตัว (Infrastructure-as-Code) การวางรากฐานและโครงสร้างใหม่นี้จะรองรับได้ถึง 3 เท่าของธุรกรรมสูงสุด รับมือกับการขยายตัวของการให้บริการแก่ลูกค้าของธนาคาร 20 ล้านคน ซึ่งในปี 2563 คาดว่าจะมีปริมาณธุรกรรมผ่านระบบจำนวนรวม 12,000 ล้านรายการ โดยเป็นธุรกรรมทางการเงินมากกว่า 3,000 ล้านรายการ
นอกจากนี้ หัวใจหลักคือการผสมผสานแพลตฟอร์มของข้อมูล และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน (Data and AI Pipeline) และกระบวนการจัดการนวัตกรรม (Innovation) เพื่อเร่งการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ รวมถึงการทำ API เพื่อเชื่อมต่อระหว่างพันธมิตรและธนาคารได้มากขึ้น
ที่ผ่านมากสิกรไทยเชื่อมต่อหลายบริการ เช่น บริการชำระเงิน Pay with K PLUS (Pay with K PLUS API) เชื่อมต่อเข้าสู่บริการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด (QR API), เชื่อมต่อเพื่อยืนยันตัวตน (Authentication API), เชื่อมต่อบริการอี-วอลเล็ต (E-Wallet API) เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันมีพันธมิตรเชื่อมต่อ API กับระบบธนาคารกว่า 50 บริษัท
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์