×

คามาลา แฮร์ริส ว่าที่รองประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐฯ ผู้ถือคบเพลิงความหวังของสตรีและกลุ่มชาติพันธุ์

11.11.2020
  • LOADING...
คามาลา แฮร์ริส ว่าที่รองประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐฯ ผู้ถือคบเพลิงความหวังของสตรีและกลุ่มชาติพันธุ์

HIGHLIGHTS

8 mins. read
  • คามาลา แฮร์ริส ว่าที่รองประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐฯ วัย 56 ปี ได้ ‘ทลายเพดานแก้ว’ มาแล้วหลายครั้ง
  • ลูกครึ่งอินเดีย-จาเมกา พ่อแม่เป็นผู้อพยพเข้าเมือง ถูกเลี้ยงดูแบบวัฒนธรรมคนผิวดำ
  • บทบาทรองประธานาธิบดีของแฮร์ริสจะถูกจับตา เพื่อพิสูจน์ ‘แม่แบบ’ ผู้หญิงทรงอำนาจอันดับ 2 ของประเทศ
  • ผู้สังเกตการณ์วิเคราะห์ โจ ไบเดน เป็น ‘เทรนเนอร์’ ประธานาธิบดี จากสมัย บารัก โอบามา มาวันนี้เขาจะเทรนแฮร์ริสเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต
  • การปฏิรูปตำรวจ คุมเข้มจำหน่ายปืนอย่างหนัก และให้สถานะพลเมืองผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย เป็นนโยบายที่หลายฝ่ายคาดหวังกับแฮร์ริส

ใต้ท้องฟ้าที่ไร้เพดานบดบังประกายดาวยามค่ำคืน เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เสียงของสตรีผู้หนึ่งดังขึ้นอย่างแจ่มชัด หนักแน่น แต่แฝงด้วยความอ่อนโยน

 

“แม้ฉันจะเป็นผู้หญิงคนแรกที่เข้ารับตำแหน่ง (รองประธานาธิบดี) แต่ฉันจะไม่ใช่คนสุดท้าย เพราะเด็กผู้หญิงทุกคนในค่ำคืนนี้ได้เห็นแล้วว่า นี่คือประเทศแห่งความเป็นไปได้” 

 

เมื่อสิ้นสุดคำพูด เสียงตะโกนดังกึกก้องจากฝูงชนหน้าเวที ทั้งที่คำปราศรัยของ คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐฯ เป็นเพียงการ ‘อุ่นเครื่อง’ ก่อนเปิดตัว โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป ภายหลังทั้งคู่เอาชนะ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันมาได้ แบบลุ้นระทึกมาราธอนนาน 4 วัน 4 คืน

 

ชัยชนะของไบเดนคือความปีติยินดีของชาวอเมริกัน ที่รู้สึกว่า 4 ปีภายใต้รัฐบาลทรัมป์อเมริกามีแต่ ‘ถอยลง’ แต่การขึ้นเป็นรองประธานาธิบดีหญิงคนแรกของพญาอินทรี มันคือชัยชนะที่อาจ ‘สำคัญยิ่งกว่า’ ในเชิงเพศภาวะ เชิงอัตลักษณ์ และเชิงสัญลักษณ์ เพราะแฮร์ริสคือส่วนผสมอันลงตัวของ ‘ความฝันอเมริกัน’ (American Dream) ของเหล่ากลุ่มชาติพันธุ์ และการสานฝัน ‘ทลายเพดานแก้ว’ (Break the Glass Ceiling) ที่ ฮิลลารี คลินตัน เมื่อ 4 ปีก่อน และ เจรัลดีน เฟอร์เรโร ผู้สมัครชิงรองประธานาธิบดีเมื่อ 36 ปีก่อน ทำไม่สำเร็จ

 

โจ ไบเดน ประธานาธิบดี หรือเทรนเนอร์?

 

บทบาทต่อจากนี้ของสตรีผู้ทรงอำนาจที่สุดอันดับ 2 แห่งแดนพญาอินทรีจะเป็นที่จับตาไม่แพ้ตัวประธานาธิบดี ทำไมประชาชนและสื่อสหรัฐฯ ให้ความสนใจกับผู้หญิงคนนี้มากขนาดนี้ THE STANDARD จะชวนผู้อ่านมาวิเคราะห์ และทำความรู้จักเธอคนนี้แบบเจาะลึก

 

หญิงเหล็กจอมทลายเพดาน

ตลอดชีวิตของว่าที่รองประธานาธิบดีหญิง วัย 56 ปี ล้วนเต็มไปด้วยสถานะ ‘คนแรก’ มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น

 

  • อัยการเขตหญิงคนแรกของนครซานฟรานซิสโก 
  • อัยการสูงสุดหญิงคนแรกของรัฐแคลิฟอร์เนีย 
  • วุฒิสมาชิกหญิงอินเดียน-อเมริกันคนแรก 
  • ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียคนแรกในพรรคใหญ่ที่ลงสมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี 

 

และอีกไม่นานเธอจะคว้าสถานะ ‘คนแรก’ ที่ 5, 6 และ 7 ด้วยการเป็น ‘ผู้หญิงคนแรก’ ‘คนผิวดำคนแรก’ และ ‘คนเชื้อสายเอเชียใต้คนแรก’ ที่ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของสหรัฐฯ 

 

ชัยชนะของแฮร์ริสเป็นสิ่งที่ผู้หญิงอเมริกัน โดยเฉพาะสตรีผิวดำรอคอยมานานกว่า 200 ปี และกว่า 100 ปี นับแต่การปรับเพิ่มบทบัญญัติรัฐธรรมนูญครั้งที่ 19 (19th Amendment) ที่ให้สิทธิผู้หญิงในการลงคะแนนเลือกตั้ง แต่สำหรับวุฒิสมาชิกหญิงจากรัฐแคลิฟอร์เนีย มันเป็นเพียงอีกกำแพงที่เธอก้าวข้ามได้สำเร็จเท่านั้น

 

ประธานาธิบดีวัย 77 ปี กับรองประธานาธิบดีหญิง อายุ 56 ปี

 

ส่วนจะไปถึง ‘ประธานาธิบดีหญิงผิวดำคนแรกของสหรัฐอเมริกา’ ในปี 2024 ได้หรือไม่นั้น เป็นอนาคตที่เราต้องดูกันต่อไป เพราะผู้สังเกตการณ์คาดการณ์ว่าไบเดนจะดำรงตำแหน่งเพียงสมัยเดียว ด้วยเหตุผลด้านอายุ เพราะในวันที่เขาสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดี วันที่ 20 มกราคม 2021 เขาจะอายุ 78 ปีแล้ว หมายความว่าหากเขาลงเลือกตั้งสมัยที่ 2 ในปี 2024 เขาจะอายุ 81 ปีเลยทีเดียว

 

แต่สถานะ ‘คนแรก’ แม้เป็นคำด้านบวก สำหรับแฮร์ริส ผู้หญิงคนอื่นๆ และกลุ่มชาติพันธุ์แล้ว มันคือถ้อยคำที่กดทับและข่มเน้นความไม่เท่าเทียมในสังคมอเมริกัน 

 

“ตอนที่ฉันลงสมัครเลือกตั้ง นี่เป็นสิ่งที่ฉันต้องทนแบกรับ กับการถูกบีบอยู่ในคำจำกัดความที่คนอื่นสร้างขึ้น” แฮร์ริสให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Washington Post เมื่อปีที่แล้ว

 

“ฉันก็คือตัวของฉัน… คุณอาจต้องหาคำตอบเอง แต่ฉันพอใจกับตัวฉันในตอนนี้” เพราะสำหรับแฮร์ริสแล้ว เธอเรียกตัวเองเพียง ‘สถานะ’ เดียว นั่นคือ ‘คนอเมริกันที่ภาคภูมิใจ’ (Proud American)

 

ชาติกำเนิด 2 ชาติพันธุ์ เลี้ยงดูแบบพหุวัฒนธรรม

มารดาของแฮร์ริสมีเชื้อสายอินเดียเผ่าทมิฬ ส่วนบิดาเกิดในประเทศจาเมกา เป็นแอโฟร-จาเมกัน ทั้งคู่เป็นผู้อพยพเข้าเมือง (Immigrant) ทำให้รองประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐฯ เป็นชาวอเมริกันที่สืบเชื้อสายเอเชียใต้-แอฟริกัน ที่ได้สัญชาติจากการเกิดในสหรัฐฯ 

 

การเติบโตของแฮร์ริสยังน่าสนใจ เพราะภายหลังมารดาและบิดาหย่าร้างตอนที่เธออายุเพียง 5 ปี มารดาของแฮร์ริสกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีอิทธิพลต่ออนาคตทางการเมืองของบุตรสาวอย่างมาก 

 

ชามาลา โกปาลัน มารดาของแฮร์ริสเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านชีววิทยาทางการแพทย์ อีกทั้งเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมือง เธอเลี้ยงดูแฮร์ริสและน้องสาวที่บ้านในเมืองโอ๊กแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ด้วยการรับเอาวัฒนธรรมครอบครัวแบบคนผิวดำผสมผสานกับความเชื่อในศาสนาฮินดู ทำให้แฮร์ริสไม่เพียงมีชาติกำเนิดหลากชาติพันธุ์ แต่ถูกปลูกฝังความเป็นพหุวัฒนธรรมมาตั้งแต่เด็ก และการเลี้ยงดูของมารดานี้เอง ทำให้แฮร์ริสสนใจด้านการเมือง โดยเฉพาะการเมืองด้านสีผิว

 

โกปาลันพาแฮร์ริสกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่เมืองเจนไน เมืองหลวงของรัฐทมิฬนาฑูของอินเดียอยู่บ่อยครั้ง จวบจนเมื่อถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งลำไส้ แฮร์ริสก็เป็นคนนำอัฐิของมารดากลับไปเมืองเจนไน และลอยอังคารบนผืนมหาสมุทรอินเดีย

 

รากเหง้าสองชาติพันธุ์กับการเลี้ยงดูแบบพหุวัฒนธรรม ทำให้แฮร์ริสเข้าถึงอัตลักษณ์ชาวอเมริกันที่หลากหลาย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในเชิงการเมือง เพราะกลุ่มชาติพันธุ์ในอเมริกาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะคนแอฟริกัน-อเมริกัน ลาติน-อเมริกัน และเอเชียน-อเมริกัน ในขณะที่ประชากรคนผิวขาวมีจำนวนน้อยลง

 

สมัยประธานาธิบดีโอบามา มีคนมากมายที่ตั้งข้อสงสัยถึงชาติกำเนิดของเขา หนึ่งในนั้นไม่ใช่ใครอื่น โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เรียกร้องให้โอบามาเปิดเผยสูติบัตร แฮร์ริสเองเผชิญสถานการณ์คล้ายกัน เพราะทันทีที่เธอได้รับเลือกเป็นคู่ชิงตำแหน่งของไบเดน เหล่าผู้เหยียดเชื้อชาติทางชาติกำเนิดและนักทฤษฎีสมคบคิดพุ่งเป้าโจมตีถึง ‘ความเหมาะสม’ ของแฮร์ริส 

 

ดักลาส เอ็มฮอฟฟ์ ว่าที่สุภาพบุรุษหมายเลข 2 คนแรกของสหรัฐฯ

 

นิตยสาร Newsweek ตีพิมพ์บทความเชิงแสดงความคิดเห็น (Op-Ed) ว่า แฮร์ริส “ไม่เหมาะสมตามหลักรัฐธรรมนูญ” ที่จะเป็นประธานาธิบดี (ในอนาคต) เพราะพ่อแม่ของเธอเป็นผู้อพยพเข้าเมือง แต่หากว่ากันในทางนิตินัย แฮร์ริสเกิดในสหรัฐฯ และได้สัญชาติอเมริกันอย่างถูกต้อง เธอจึงมีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะขึ้นเป็นผู้นำประเทศ

 

ความคาดหวังที่มากล้น

“พลังอันยิ่งใหญ่มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง” ประโยคติดหูจากภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ Spider-Man คงใช้กับ ‘พลัง’ ที่แฮร์ริสครอบครองอยู่ได้เป็นอย่างดี เพราะชัยชนะอันยิ่งใหญ่ทั้งเชิงสัญลักษณ์และอัตลักษณ์ มาพร้อมกับ ‘ความรับผิดชอบ’ ที่มากล้น เพราะสิ่งที่เธอจะทำต่อจากนี้ จะเป็นบทพิสูจน์ศักยภาพของสตรีเพศในรัฐบาลที่ทรงพลังที่สุดในโลก

 

ทุกก้าวย่างของเธอจะเป็นที่จับตา เป็นข่าว ถูกวิจารณ์มากกว่าชื่นชม ไม่แพ้ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 เพราะยิ่งกว่าบทบาทเชิงนโยบาย แฮร์ริสกำลังแบกรับ ‘ความคาดหวัง’ ของผู้หญิงทั้งประเทศเลยก็ว่าได้

 

อเล็กซานเดรีย โอกาซิโอ-กอร์เตส หรือ เอโอซี (AOC) ส.ส. พรรคเดโมแครต ที่มีเชื้อสายลาตินชี้ว่า “ผู้หญิงอย่างเราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่ใช้อารมณ์มากเกินไป และประเทศนี้ไม่เคยเลือกประธานาธิบดีผิวดำ”

 

เอโอซีชนะการเลือกตั้ง ส.ส. นครนิวยอร์ก

 

เอโอซีกล่าวต่อว่า การได้เห็น บารัก โอบามา ชนะเลือกตั้งเมื่อปี 2008 เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่แล้ว แต่การได้เห็นผู้หญิงผิวดำขึ้นสู่อำนาจสูงสุดอันดับ 2 ของแผ่นดินมันสำคัญยิ่งกว่า โดยเฉพาะต่อคนรุ่นใหม่

 

“คุณเป็นสิ่งที่คุณไม่เคยเห็นไม่ได้ (You cannot be what you cannot see.)” แต่มาวันนี้ เด็กหญิงตัวเล็กๆ จะเติบโตขึ้นโดยได้เห็นรองประธานาธิบดีหญิงผิวดำ และหวังว่าในอนาคตข้างหน้า การมีผู้หญิงดำรงตำแหน่งสูงทางการเมือง จะไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป

 

แม้กระทั่งผู้ประกาศข่าวหญิงของ Fox News สื่อที่เอียงขวาตลอด 4 ปีของทรัมป์ ยังอดไม่ได้ที่จะประกาศว่า ชัยชนะของแฮร์ริสคือชัยชนะของผู้หญิงและกลุ่มชาติพันธุ์ 

 

ดานา เพริโน ผู้ประกาศข่าว Fox News

 

“ฉันอยากขอเวลาสักครู่หนึ่ง” ดานา เพริโน ผู้ประกาศข่าว Fox News เอ่ยขึ้นกลางรายการ เมื่อวันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน หลังข่าวชัยชนะของไบเดนและการไม่ยอมประกาศยอมแพ้ของทรัมป์เริ่มเบาบางลง

 

“ชัยชนะของ คามาลา แฮร์ริส เป็นห้วงเวลาประวัติศาสตร์ของอเมริกา ของผู้หญิงในอเมริกา ของคนผิวดำในอเมริกา ของคนอินเดียน-อเมริกัน มันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก และเราต้องยอมรับมัน” เมื่อพูดเสร็จ เธอปาดมือเช็ดน้ำตาที่ไหลกลางจออย่างไม่อาย

 

สิ่งที่ต้องจับตาเชิงนโยบาย

สมัยรัฐบาลโอบามานั้น นักวิชาการมองว่า โจ ไบเดน ทำหน้าที่เหมือนพี่เลี้ยงให้กับประธานาธิบดีวัย ‘ไม่ถึงกลางคน’ ทำให้ผู้สังเกตการณ์ตั้งข้อสังเกตว่า บทบาท ‘พี่เลี้ยง’ ของไบเดนยังไม่จบ และช่วงปี 2021-2024 จะเป็นชั้นเรียน ‘ประธานาธิบดี 101’ ให้กับแฮร์ริส ซึ่งระหว่างนั้นรองประธานาธิบดีหญิงอายุ 56 ปี ก็จะทำหน้าที่สะพานเชื่อมนักการเมืองรุ่นปู่อย่างไบเดนกับสมาชิกเดโมแครตเลือดใหม่

 

จุดยืนของแฮร์ริสค่อนข้างสอดคล้องไปกับหลักการของพรรคเดโมแครต แต่ด้วยแนวทางเชิงหัวก้าวหน้าหรือเสรีนิยมมากกว่า ยกตัวอย่าง เดโมแครตอยากตัดงบประมาณกรมตำรวจ จากกรณีการสังหาร จอร์จ ฟลอยด์ ที่จุดไฟแห่งการเคลื่อนไหว Black Lives Matters ให้กลับมาอีกครั้ง แต่แฮร์ริสต้องการปฏิรูปแนวทางการทำงานของตำรวจทั่วประเทศมากกว่า

 

ว่าที่รองประธานาธิบดีคนต่อไปยังสนับสนุนการควบคุมการจำหน่ายอาวุธปืนให้เข้มงวดมากขึ้นถึงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อาจถึงขั้นสนับสนุนมาตรการ ‘ซื้อปืนคืน’ แบบภาคบังคับ บีบให้ผู้ครอบครองอาวุธปืนแบบจู่โจมต้องยอมสละปืนให้กับภาครัฐ

 

นอกเหนือจากนโยบายเกี่ยวกับตำรวจแล้ว สิ่งที่ต้องจับตาความเคลื่อนไหวของแฮร์ริสคือสิทธิสตรีและผู้อพยพเข้าเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้สนับสนุนเดโมแครตค่อนข้างคาดหวังในตัวเธอ เพราะมองว่าเธอคือตัวแทนของผู้หญิงและผู้อพยพในตัวคนเดียว 

 

แฮร์ริสเคยประกาศสนับสนุนการทำแท้งที่รัฐออกเงินให้ ด้วยเหตุผลว่าจะช่วยชีวิตผู้หญิงที่มีรายได้น้อย แต่จำเป็นต้องทำแท้งได้ ไม่เพียงเท่านั้น ยังเสนอให้นายจ้างยอมให้พนักงานสามารถลางานได้สูงสุด 6 เดือนแบบจ่ายเงินเต็มจำนวน ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางครอบครัว ส่วนบุคคล หรือการแพทย์ รวมถึงกรณีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวด้วย ซึ่งอย่างหลังนี้ ผู้หญิงจะได้ประโยชน์อย่างมาก

 

ในฐานะบุตรของผู้อพยพเข้าเมือง แฮร์ริสประกาศจะเปิดโอกาสให้ผู้อพยพเข้าเมืองหลายล้านคนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย สามารถดำเนินเรื่องขอสถานะพลเมืองได้อย่างถูกต้อง ยกเลิกบทลงโทษทางอาญาต่อผู้ที่ข้ามพรมแดนอย่างไม่ถูกต้อง และมอบประกันสุขภาพให้กับผู้อพยพเข้าเมืองที่ไม่มีเอกสารรองรับอีกด้วย

 

คบเพลิงแห่งความเทียมเท่า

ทีมข่าวการเมืองของ CNN ชี้ว่า ความสำเร็จของแฮร์ริสกลายเป็นอีกก้าวของความเท่าเทียมของอิสตรีในเชิงการเมือง แต่หากไม่ใช่แฮร์ริส แต่เป็นหญิงผิวดำเชื้อสายอินเดีย-จาเมกาคนอื่น อเมริกาคงยังไม่มีรองประธานาธิบดีหญิง

 

มันก็เหมือน ‘คบเพลิง’ ที่จะไปถึงเส้นชัยไม่ได้เลย หากไม่ได้ ‘คนถือ’ ที่เก่งและวิริยะ มันคือการคัดสรรสตรีผู้เพียบพร้อม พื้นเพที่ตรงโจทย์ สติปัญญาอันหาได้ยาก ความเพียรอุตสาหะและใจสู้อย่างไม่ท้อถอย ซึ่งในห้วงเวลานี้ คามาลา แฮร์ริส อาจเป็นเพียงคนเดียวที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ครบถ้วน 

 

พลิกมาที่เหรียญอีกด้าน จากสถานะ ‘คนแรก’ มากมายกับตำแหน่งรองประธานาธิบดีของแฮร์ริส ในอนาคตข้างหน้า มันอาจเปลี่ยนเป็นคำว่า ‘ผู้หญิงคนสุดท้าย’ ‘หญิงผิวดำคนสุดท้าย’ และ ‘คนเชื้อสายเอเชียใต้คนสุดท้าย’ ที่ขึ้นเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ได้ หากประตูที่แฮร์ริสได้แง้มเปิดให้กับผู้หญิงและเด็กหญิงมากมายถูกดันปิด-สลักกลอนแน่น 

 

 “ฉันจะไม่ใช่คนสุดท้าย”

 

แต่นั่นเป็นเรื่องของอนาคต และมารดาผู้ล่วงลับของแฮร์ริสก็เชื่อว่าเธอจะไม่ยอมให้ ‘ประตูบานนั้น’ ต้องปิดลง 

 

“คามาลา ลูกอาจเป็นคนแรกในหลายๆ สิ่ง แต่อย่ายอมให้ลูกต้องกลายเป็นคนสุดท้ายเด็ดขาด” ถ้อยคำอันทรงพลังจาก ชามาลา โกปาลัน ถึง คามาลา แฮร์ริส และกำลังถ่ายทอดไปสู่ผู้หญิงอเมริกันทุกคนว่า “ความฝันเป็นจริงได้ในอเมริกา”

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising