×

ส่งเฮลิคอปเตอร์ KA-32 ดับไฟป่าภาคเหนือ ปภ. บูรณาการทุกภาคส่วนเพิ่มความเข้มข้นแก้หมอกควัน ฝุ่น PM2.5

โดย THE STANDARD TEAM
09.03.2021
  • LOADING...
ส่งเฮลิคอปเตอร์ KA-32 ดับไฟป่าภาคเหนือ ปภ. บูรณาการทุกภาคส่วนเพิ่มความเข้มข้นแก้หมอกควัน ฝุ่น PM2.5

วันนี้ (9 มีนาคม) บุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า หลายพื้นที่ในภาคเหนือเกิดสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 อย่างต่อเนื่อง กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ได้บูรณาการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อย่างเต็มกำลัง โดยในส่วนของพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ตลอดจนพื้นที่จังหวัดในภาคอื่นๆ ที่มีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า ได้กำชับให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 ให้สอดคล้องตามแผนเฉพาะกิจ เพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ภายใต้มาตรการ ‘4 พื้นที่ 5 มาตรการบริหารจัดการ’ โดยเน้นการบูรณาการแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 

 

โดยในห้วงเดือนมกราคม-เมษายน 2564 ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกับกองทัพภาคที่ 3 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังและติดตามแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ขณะนี้ได้เพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติการ โดยจัดทีมประเมินสถานการณ์ติดตามและประเมินสถานการณ์เป็นประจำทุกวัน รวมถึงประชุมผ่านระบบประชุมทางไกลกับศูนย์อำนวยการประสานงานกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองภาคเหนือเป็นประจำทุกวันศุกร์ เพื่อชี้เป้าการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ประสานจังหวัดดำเนินการตามกฎหมายและแผนว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยเฉพาะการจัดทำแผนเผชิญเหตุ การติดตามสถานการณ์และแจ้งเตือน การป้องกันการเกิดมลพิษที่ต้นทาง

 

พร้อมกำชับพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และพื้นที่ที่มีพื้นที่ป่าให้ถือปฏิบัติตามมาตรการ ‘4 พื้นที่ 5 มาตรการบริหารจัดการ’ อย่างเคร่งครัด รวมถึงได้เพิ่มความเข้มงวดในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยเฉพาะมาตรการควบคุมการเผาในพื้นที่โล่งทุกประเภท บูรณาการข้อมูลและใช้เทคโนโลยีเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบจากไฟป่า โดยกระทรวงมหาดไทยได้ประสานสั่งการให้ 17 จังหวัดภาคเหนือใช้ระบบบัญชาการดับไฟป่าผ่านทาง Line Chatbot ‘FiremanTH’ ตามแนวทางของสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี เพื่อเพิ่มช่องทางในการบัญชาการดับไฟป่าของผู้บัญชาการเหตุการณ์ทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ รวมถึงยังเป็นการเสริมประสิทธิภาพในการเผชิญเหตุของผู้ปฏิบัติงานดับไฟป่าในพื้นที่ ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า ฝ่ายปกครอง หน่วยทหาร อาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสาใน 17 จังหวัดภาคเหนือลงทะเบียน รวม 17,859 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 8 มีนาคม)  

 

นอกจากนี้ ทาง ปภ. ได้เพิ่มช่องทางในการแจ้งเหตุสาธารณภัย ผ่าน Official Line ‘ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784’ พร้อมทั้งประสานให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแจ้งเหตุไฟป่า การจุดไฟเผาต่างๆ เพื่อให้การระงับเหตุเป็นไปอย่างทันท่วงที สนับสนุนทรัพยากรเครื่องจักรกลพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการแก้ไขไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง โดยปฏิบัติการทางอากาศได้จัดส่งเฮลิคอปเตอร์ KA-32 จำนวน 2 ลำ พร้อมชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) ปฏิบัติการดับไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าบนภูเขาสูง หน้าผาลาดชัน โดยปฏิบัติการร่วมกับกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า ซึ่ง KA-32 ทั้ง 2 ลำ ได้ประจำการอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่มาตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงปัจจุบันได้ขึ้นบินดับไฟป่าแล้วจำนวนกว่า 109 เที่ยวบิน ปริมาณน้ำดับไฟ 327,000 ลิตร 

 

ทั้งนี้ เฮลิคอปเตอร์ KA-32 จะประจำการอยู่ในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการดับไฟป่าต่อเนื่องจนสิ้นสุดฤดูกาล ขณะที่ปฏิบัติการภาคพื้นดิน ได้ระดมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กำลังพลรวม 96 นาย และเครื่องจักรกลสาธารณภัย ประกอบด้วยยานยนต์ดับเพลิง (LUF60) รถบรรทุกน้ำช่วยดับเพลิง 10,000 ลิตร และรถดับไฟป่ารวม 72 คัน กระจายกำลังประจำพื้นที่ที่คาดว่าจะเป็นพื้นที่เสี่ยงเกิดไฟป่า เพื่อสนับสนุนการการดับไฟป่า อัคคีภัยในพื้นที่ การฉีดพ่นเพิ่มความชุ่มชื้น ลดฝุ่นละอองในพื้นที่ เป็นต้น 

 

บุญธรรมกล่าวเพิ่มเติมว่า ปภ. ได้ประสานการปฏิบัติการผ่านกลไกของกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกระดับ ภายใต้แนวทางการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ โดยให้จังหวัดเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการและประสานข้อมูลการปฏิบัติงานจากทุกหน่วยงาน นำข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาวิเคราะห์และวางแผนการปฏิบัติการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งเน้นย้ำการปฏิบัติการผ่านระบบ Line Chatbot FiremanTH อย่างเข้มข้น 

 

นอกจากนี้ ได้ประสานให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนการบริหารจัดการทรัพยากรให้สอดคล้องกับข้อมูลพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถชี้เป้าพื้นที่ปฏิบัติการในเชิงป้องกันและวางแผนเตรียมความพร้อมเข้าปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพหากเกิดไฟป่า รวมถึงได้ประสานจังหวัดให้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมจัดทีมประเมินสถานการณ์เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึก โดยให้มอนิเตอร์ข้อมูลจุดความร้อน (Hotspot) ตามวงรอบ การรายงานข้อมูลดาวเทียมของ GISTDA ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถวางแผนการบริหารจัดการในเชิงพื้นที่ และเสริมประสิทธิภาพการติดตามข้อมูลและการบัญชาการเหตุการณ์แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising