คณะนักดาราศาสตร์ได้ใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ตรวจพบมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ K2-18 b เป็นครั้งแรกที่มีการพบโมเลกุลทั้งสองในบรรยากาศของดาวเคราะห์เขตเอื้อต่อการอยู่อาศัยของชีวิต
คณะนักดาราศาสตร์ นำโดยศาสตราจารย์นิกกุ มาธุสุธาน จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ พบว่าดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ K2-18 b ที่มีมวล 8.6 เท่าของโลก เป็นดาวเคราะห์แบบ ‘sub-Neptune’ ที่โคจรรอบเขต Habitable Zone อาจปกคลุมด้วยมหาสมุทรบนพื้นผิว มีชั้นบรรยากาศที่ประกอบด้วยไฮโดรเจนเป็นส่วนมาก
การศึกษาดาวเคราะห์ดวงนี้มีมาตั้งแต่สมัยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล แต่ข้อมูลองค์ประกอบในบรรยากาศของ K2-18 b ยังไม่เป็นที่แน่ชัด จนกระทั่งกล้องเจมส์ เว็บบ์ ได้ใช้อุปกรณ์สเปกโตกราฟ NIRISS หรือ Near-Infrared Imager and Slitless Spectrograph กับ NIRSpec หรือ Near-Infrared Spectrograph และพบการมีอยู่ของมีเทนกับคาร์บอนไดออกไซด์เป็นจำนวนมาก
ซาฟวาส คอนสแตนตินู หนึ่งในทีมวิจัยระบุว่า “ข้อมูลการค้นพบครั้งนี้มาจากการสำรวจดาว K2-18 b เพียง 2 ครั้งเท่านั้น แปลว่างานของเราเป็นการแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของกล้องเจมส์ เว็บบ์ ในการศึกษาดาวเคราะห์ในเขต Habitable Zone”
ทั้งนี้ ยังมีการค้นพบไดเมทิลซัลไฟด์ ที่บนโลกเราสามารถพบโมเลกุลดังกล่าวได้จากชีวิตอย่างแพลงตอน ซึ่งอาจหมายถึงการพบร่องรอยของชีวิตนอกโลกได้ อย่างไรก็ตาม มาธุสุธานอธิบายว่าการพบไดเมทิลซัลไฟด์ยังไม่เป็นที่แน่ชัด “การศึกษาจากกล้องเจมส์ เว็บบ์ ในครั้งถัดไป จะช่วยยืนยันได้ว่าบรรยากาศของ K2-18 b มีไดเมทิลซัลไฟด์เป็นองค์ประกอบอยู่จริงหรือไม่”
ถึงแม้ K2-18 b จะโคจรอยู่ในเขตเอื้อต่อการดำรงอยู่ของชีวิต และมีโมเลกุลที่เป็นองค์ประกอบของชีวิตในบรรยากาศ แต่ไม่ได้แปลว่าดาวดวงนี้จะมีชีวิตอยู่เสมอไป เนื่องจากเป็นดาวที่มีรัศมี 2.6 เท่าของโลก และแม้จะมีมหาสมุทรอยู่บนพื้นผิว ก็มีความเป็นไปได้ที่ผิวน้ำจะร้อนเกินกว่าให้ชีวิตอยู่อาศัยได้
นอกจากนี้ ในระบบสุริยะของเรา ทั้งดาวศุกร์และดาวอังคารต่างโคจรอยู่ในเขต Habitable Zone แต่ก็มีสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้เอื้อต่อชีวิตเหมือนกับบนโลก ทำให้ไม่สามารถสรุปได้ว่าการค้นพบในครั้งนี้เท่ากับการพบชีวิตบนดาวดวงอื่น
มาธุสุธานสรุปปิดท้ายว่า “เป้าหมายสูงสุดของเราคือการระบุหาชีวิตบนดาวเคราะห์นอกระบบที่อยู่อาศัยได้ ซึ่งจะเปลี่ยนความเข้าใจและมุมมองที่เรามีต่อจักรวาล โดยการค้นพบครั้งนี้ของเราถือเป็นก้าวสำคัญสู่การเข้าใจดาวเคราะห์แบบนี้ได้ดียิ่งขึ้น”
ภาพ: esawebb.org
อ้างอิง: