ปรากฏการณ์ป่วยทิพย์ของมนุษย์วิเศษชั้น 14 ที่ต้องโทษจำคุก 8 ปี ลดโทษเหลือ 1 ปี แต่สามารถไปรื่นรมย์สำราญอยู่บนห้องสวีทชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจอย่างต่อเนื่องกันถึง 6เดือน ไม่มีการติดคุกจริงแม้แต่เพียงวันเดียว ด้วยข้ออ้างสารพันที่ทิ้งรอยพิรุธตามรายทางเกลื่อนไปหมด เป็นประจักษ์คดีที่หยามหยันระบบยุติธรรมไทยทั้งกระบวน ที่ไม่มีใครยอมรับได้ยกเว้นพวกเดียวกันเอง เป็นการปรามาสว่า เงินและอำนาจอยู่เหนือทุกสิ่งอย่าง เพื่อตอบสนองปรารถนาของคนคนเดียว ท่ามกลางความคับข้องใจของสาธารณชนทั่วทั้งสังคมในเวลานี้
กรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยกคำร้องของ ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ในคดีนักโทษชั้น 14 เพราะ ‘ผู้ร้องไม่ใช่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชั้นบังคับตามคำพิพากษา จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลนี้’
แต่อย่างไรก็ตาม ‘เมื่อความปรากฏต่อศาลว่าอาจมีการบังคับตามคำพิพากษาที่ไม่เป็นไปตามหมายจำคุก เมื่อคดีถึงที่สุดของศาลนี้ ศาลย่อมมีอำนาจไต่สวนและมีคำสั่งตามที่เห็นสมควร’
แล้วศาลได้สั่งให้ส่งสำเนาคำร้องไปถึงโจทก์และจำเลย รวมถึงส่งให้ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายแพทย์ใหญ่แห่งโรงพยาบาลตำรวจ ให้ส่งคำชี้แจง แสดงหลักฐานกลับมาภายใน 30 วัน และศาลยังให้นัดพร้อมเพื่อไต่สวน ในวันที่ 13 มิถุนายน 2568 เวลา 09.30 น. แปลว่างานนี้ศาลได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการไต่สวนเองโดยตรง
กรณีนี้มีคำวิจารณ์ไปหลายกระแสของนักกฎหมาย บ้างว่าการยกคำร้องแปลว่าศาลถือว่าคดีเป็นอันยุติแล้ว ถือว่าจำเลยได้รับโทษตามคำพิพากษาแล้ว บ้างก็ว่ากรมราชทัณฑ์บังคับคดีแล้วจะไปลงโทษซ้ำอีกไม่ได้
บ้างก็ว่านี่คือการทำหน้าที่ผดุงความยุติธรรมของศาลเพื่อรักษาระบบยุติธรรม ด้วยการเรียกคืนความยุติธรรม และยืนหลักมั่นคงในระบบยุติธรรมไทยให้ดำรงไว้ต่อไป บ้างถึงขั้นเรียกว่า ‘ตุลาการรัฐประหาร’
ความจริงสองครั้งก่อนศาลยกคำร้องไปแล้ว ดังนั้นครั้งนี้หากศาลจะยกคำร้องครั้งนี้ก็สามารถทำได้ หากศาลเห็นว่าไร้ประโยชน์ แต่ศาลเขียนว่า
“เมื่อความปรากฏต่อศาลว่า อาจมีการบังคับตามคำพิพากษาที่ไม่เป็นไปตามหมายจำคุก”
ศาลจึงเข้ามารับผิดชอบไต่สวนเสียเอง นับเป็นปรากฏการณ์ประวัติศาสตร์ของศาลก็ได้
เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นหรือไม่
นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรัฐมนตรี และอดีต สส. พรรคประชาธิปัตย์ บันทึกในเฟซบุ๊กว่า ปี 2553 มีการชุมนุมของคนเสื้อแดง ตอนนั้นแกนนำคนเสื้อแดง 2 คนมีพฤติกรรมข่มขู่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยปราศรัยระบุชื่อที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ของตุลาการ และให้คนเสื้อแดงไปที่บ้านของตุลาการ
“ผมไปยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาถอนประกัน มีคนวิจารณ์เยอะว่าทำได้ไหม แต่ศาลก็รับไว้ โดยให้เหตุผลว่าความปรากฏต่อศาล จากคำร้องของ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ก็สั่งไต่สวน และมีคำสั่งถอนประกันบุคคลทั้งสอง”
เรื่องการขอถอนประกันนี้อาจนำมาเทียบเคียงได้ในเรื่องของศาลรับไต่สวนเอง แต่เรื่องนี้มีขอบเขตการไต่สวนเฉพาะเรื่องของการถอนประกัน
หากแต่คำร้องของ ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ครั้งนี้ มีผลสะเทือนที่กว้างไกลยิ่งกว่า จึงเป็นคดีสาธารณะที่ผู้คนจับตาติดตามอย่างใกล้ชิด และที่ศาลวินิจฉัยเช่นนี้ แทนที่จะยกคำร้องเช่นสองครั้งแรก ก็เพราะคุณชาญชัยได้ส่งมอบเอกสารเพิ่มเติม เช่น รายงานสรุปของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ตั้งข้อสงสัยว่าอาจไม่มีอาการป่วยจริงตามรายงาน มีการส่งหลักฐานของแพทยสภาและเอกสารรายงานของกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภาชุดก่อน ที่เป็นไปในทางเดียวกันว่ามีข้อพิรุธมากมายที่เป็นเหตุแห่งความไม่น่าจะเป็นตามที่กรมราชทัณฑ์แถลง
‘ความปรากฏต่อศาล’ เช่นนี้ ศาลจะนิ่งดูดายอยู่ไม่ได้ ทำให้ศาลก้าวเข้ามาเป็นคู่กรณีกับจำเลย
ปัญหามีอยู่ว่า ศาลทำเช่นนี้ได้หรือไม่
เพื่อให้ข้อเท็จจริงจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เปิดเผยออกมาอย่างรอบด้านและครบถ้วน ศาลจึงทำหน้าที่รับผิดชอบการไต่สวนเสียเอง มีศัพท์ละตินภาษากฎหมายคำหนึ่งว่า ‘Ex Officio’ หมายถึงการมีอำนาจหน้าที่ คือศาลมีทั้งอำนาจและหน้าที่ไปด้วยกัน
อำนาจหมายถึง ทำได้
หน้าที่ คือภารกิจที่ต้องทำ
ศาลจึงสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องไปให้ โจทก์ จำเลย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ชี้แจงกลับมา และศาลก็ทำหน้าที่ไต่สวน ซักถาม ซักค้าน เพื่อให้เกิดข้อยุติตามวิธีพิจารณาของศาล ใจกลางการพิจารณา คือ
- ตามคำพิพากษาถึงที่สุด ให้นักโทษเด็ดขาด ต้องจำคุก 1 ปีนั้น มีการจำคุกจริงหรือไม่
- ตามข้ออ้างของจำเลยที่ว่าป่วยนั้น ป่วยจริงหรือป่วยทิพย์
การพิจารณาไต่สวนโดยเปิดเผย จะล้อมรอบ 2 ประเด็นนี้ เพื่อนำไปสู่การพิพากษาคดี
คำแถลงของแพทยสภาเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 โดย ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภา ชี้ว่า ‘ไม่ได้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ามีภาวะวิกฤตเกิดขึ้น เป็นเหตุให้พักใบอนุญาตแพทย์ 2 คน และตักเตือนแพทย์ 1คน’ เป็นประจักษ์พยานล่าสุดที่ข้อเท็จจริง ไม่อาจบิดเบือนได้
ไทยเป็นรัฐชาติมา 700-800 ปีมาแล้ว ยังไม่เคยมีปรากฏการณ์ที่ใครคนใดมีอิทธิฤทธิ์อิทธิเดช สามารถจะกดข่มกระบวนการยุติธรรมให้จำนนต่อปรารถนาของคนคนเดียวได้ จนผู้คนตั้งคำถามกันทั่วบ้านทั่วเมืองว่า
เป็นไปได้อย่างไรที่องค์กร หน่วยงาน องคาพยพ และบุคคลต่างขานรับและตอบสนองกันเป็นทอดๆ อย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อยอมให้กับใครเฉพาะคน
แม่พระธรณี พระสยามเทวาธิราช และสรรพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวง จึงแข็งขืนต่ออำนาจอยุติธรรม เปิดทางให้ศาลสถิตยุติธรรมทำหน้าที่เผยให้เห็นหลักฐานพยานเชิงประจักษ์ต่อสาธารณะว่า ที่ป่วยนั้น ป่วยจริงหรือป่วยทิพย์ ว่าที่คุมขังนั้น ขังจริงหรือขังลวงโลก ว่ากฎเกณฑ์ราชทัณฑ์ อยู่เหนือหรืออยู่ใต้คำสั่งศาล ว่าใครหรือองค์กรใด ที่สมยอมให้แก่อยุติธรรมบัญชาต่อหน้าศาลสถิตยุติธรรม ที่พิพากษาภายใต้พระปรมาภิไธยของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ใครให้สัจจะต่อศาลย่อมรับผลแห่งความปีติด้วยตน ใครให้การเท็จต่อศาล ต้องกล่าวเท็จตลอดทาง โดยคาดหวังให้พ้นผิด ก็จะได้รับผลสนองตอบด้วยตนดุจกัน ประวัติศาสตร์แห่งวิถียุติธรรมไทยกำลังจารึกว่า ยุติธรรมสถิต เพราะศาลสถิตยุติธรรม