ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN รายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 1/64 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งพบว่ามีรายได้จากการขาย 919.9 ล้านบาท ลดลง 17.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กำไรสุทธิทำได้ 55.9 ล้านบาท ลดลง 34.8%
แม้จะสามารถทำ ‘กำไร’ ได้ก็จริง แต่ดูเหมือนว่ากลุ่มนักลงทุนจะ ‘ไม่ปลื้ม’ กับผลประกอบการที่ออกมา ซึ่งลดลงทั้งในแง่ของรายได้และกำไร แม้ว่าเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านั้นคือไตรมาส 4/63 รายได้เพิ่มขึ้น 4.2% และกำไรเพิ่มขึ้นกว่า 367.8% ก็ตาม เพราะเมื่อสิ้นสุดวันแล้วราคาของหุ้นได้ลดลงมากถึง 16.39% ทุบราคาจาก 9.05 บาท เป็นราคา 7.65 บาท
‘จัสท์ดริ้งค์’ ช่วยอุ้มตลาดภายในประเทศ
กระนั้นในมุมมองของ อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TKN ผู้ที่ปลุกปั้นบริษัทที่เริ่มจาก 0 จนวันนี้มีมูลค่า ‘หลักหมื่นล้าน’ ได้กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ตัวเขาค่อนข้างพึงพอใจกับผลประกอบการในไตรมาส 1 ที่เกิดขึ้น
อิทธิพัทธ์อธิบายว่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้ของเถ้าแก่น้อยยังมีกลุ่มนักท่องเที่ยวมาช่วย ซึ่งปกติแล้วจะอยู่ที่ราว 500 ล้านบาทด้วยกัน ดังนั้นเมื่อเทียบกับปีนี้ซึ่งไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเลย รายได้ที่ลดลงจึงไม่ได้เป็นเรื่องแปลก แต่หากมองเข้าไปในผลกระกอบการจริงๆ จะพบว่ารายได้จากในประเทศนั้นเรียกว่า ‘ฟื้นตัว’ แล้ว ด้วยตัวเลขรายได้เพิ่มขึ้น 23.7% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/63
Hero Product ที่เข้ามาอุ้มรายได้ภายในประเทศของเถ้าแก่น้อยคือ ชานมสูตรไต้หวัน ‘จัสท์ดริ้งค์’ (Just Drink) ซึ่งเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์อย่างมากเมื่อเปิดตัวในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2563 โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะสามารถเพิ่มการกระจายสินค้าในช่องทางร้านสะดวกซื้อ จาก 6,000 สาขาเมื่อปลายปี 2563 เป็น 12,000 สาขา เรียบร้อยแล้ว ณ เดือนมีนาคม 2564
“จัสท์ดริ้งค์มียอดขายไปแล้ว 6 ล้านขวด ซึ่งหากคิดเป็นยอดขายจะอยู่ที่ราวๆ 100 กว่าล้านบาท”
อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN
ต่างประเทศยอดขายลดลง โดยเฉพาะที่ ‘จีน’
‘ต่างประเทศ’ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรายได้กว่า 60% จากทั้งหมด เป็นกลุ่มที่อิทธิพัทธ์ยอมรับว่ายอดขายลดลงจริงๆ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสภาวะขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งยังมีผลต่อเนื่องอยู่ จึงทำให้การส่งสินค้าลดลงในระดับ 2 ดิจิด้วยกัน
ขณะที่จีนเองซึ่งคิดเป็นสัดส่วยรายได้ 40% จากรายได้ทั้งหมดนั้น ก็เจอความท้าทายเข้ามาหลากหลายด้าน โดยเฉพาะการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น จากการที่แบรนด์จีนเองก็หันมาทุ่มตลาดภายในประเทศเช่นกัน
“อุปสรรคที่สำคัญในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาในตลาดจีนคือการประสานงานกับบริษัท โอริออน คอร์ป ซึ่งเป็นดิสทริบิวเตอร์อย่างเป็นทางการที่นั่น ด้วยที่ผ่านมาบริษัทดังกล่าวสินขายสินค้าแมสมาตลอด แต่เมื่อมาจับสินค้าที่พรีเมียมขึ้นมาอย่างเถ้าแก่น้อยจึงต้อง Educated กันพอสมควร
“ยิ่งตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2563 ที่จีนได้รับผลกระทบจากโควิดทำให้โอริออนหันไปโฟกัสสินค้าหลักของตัวเอง สินค้าของเถ้าแก่น้อยจึงถูกลดความสำคัญลง ยอดขายจึงได้ประผลกระทบพอสมควร”
ปรับเกมใหม่ที่จีน
ทว่าในตลาดจีนที่เถ้าแก่น้อยครองส่วนแบ่งกว่า 10% อิทธิพัทธ์มองว่ายังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เพียงแต่ต้องปรับกลยุทธ์กันใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มทำมาแล้ว แต่จะเห็นทิศทางอย่างชัดเจนในไตรมาส 2 นี้ โดยมีเป้าหมายที่จะเจาะช่องทาง Traditional Trade หรือช่องทางกระจายสินค้าแบบการตลาดดั้งเดิม และช่องทาง E-Commerce ให้มากขึ้น
แม่ทัพเถ้าแก่น้อยอธิบายว่า จุดที่ต้องแก้ไขเป็นอันดับแรกคือข้อมูลของตลาด ที่ผ่านมาทีมการตลาดมักจะบินไปดูอยู่เสมอ หากนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ทีมไม่สามารถบินไปได้ สิ่งที่ขาดไปจึงเป็นข้อมูลของตลาดที่เกิดขึ้นจริงๆ ดังนั้น นอกจากเรื่องข้อมูลในตลาดจีนที่จะลงทุนเพิ่มขึ้นแล้ว จึงจะมีการตั้ง General Manager หรือ GM เพื่อดูแลตลาดจีนโดยเฉพาะ
“เชื่อว่าผลของการปรับตัวจะเห็นได้ชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง” อิทธิพัทธ์กล่าว พร้อมกับขยายความว่า จะมีการเพิ่มรายได้ที่จีนด้วยการจับมือกับบริษัทขนาดใหญ่ของไทยที่ต้องการสินค้าไปขายที่จีน
โดยอิทธิพัทธ์ย้ำว่า ไม่ได้วางตัวเองเป็นดิสทริบิวเตอร์ แต่มองเป็นคู่ค้ามากกว่า โดยเถ้าแก่น้อยจะใช้ Know-how ตลอดจนประสบการณ์ที่ล้มจริง เจ็บจริง มาใช้ในการนำสินค้าดังกล่าวเข้าไปวางขาย
“ถ้าเราต้องการโตในจีนระดับ 30% ที่เคยทำได้ การขายแค่สินค้าตัวเองไม่เพียงพออีกแล้ว ดังนั้นเราจึงต้องหาสินค้าใหม่ๆ ที่ยังมีช่องวางในตลาดและอยากบุกจีนเสริมเข้าไป ช่วงแรกอาจจะเป็นการนำสินค้าเข้าไปวางขายก่อน หลังจากนั้นอาจจะร่วมกันพัฒนาสินค้า ซึ่งในที่สุดอาจจะตั้งเป็นกิจการร่วมค้า หรือ Joint Venture เกิดขึ้นได้”
ตอนนี้มีคุยกับเรียบร้อยแล้ว 2 ราย เป็นบริษัทสแน็กและเครื่องดื่มอย่างละ 1 บริษัท โดยเร็วสุดจะสามารถนำสินค้าเข้าไปในจีนภายในปีนี้ ช้าสุดอาจเป็นต้นปีหน้า
ขยายโปรดักต์ไลน์ของ ‘จัสท์ดริ้งค์’
ด้านตลาดภายในประเทศ หลังจากความสำเร็จของ ‘จัสท์ดริ้งค์’ ที่เข้ามาช่วยชดเชยรายได้จากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ปกติแล้วจะอยู่ที่ราว 40 ล้านบาทต่อเดือน โดยช่วงที่ผ่านมานั้นยอดขายของจัสท์ดริ้งค์อยู่ที่ราว 30 ล้านบาทต่อเดือน จึงถือว่าเข้ามาชดเชยได้ระดับหนึ่ง
โดยหากผลงานยังรักษาโมเมนตัมเอาไว้ได้ คาดว่าจัสท์ดริ้งค์อาจทำยอดขายได้ถึง 300 ล้านบาทในปีนี้ ทำให้แบรนด์ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากไต้หวันนี้กลายเป็นความหวังที่จะกอบกู้รายได้ภายในประเทศของเถ้าแก่น้อยในทันที
โดยอิทธิพัทธ์ได้วางแผนที่จะเปิดตัวสินค้าใหม่ภายใต้แบรนด์จัสท์ดริ้งค์อีก 2-3 เอสเคยู โดยจะเห็นแน่ๆ 2 เอสเคยูด้วยกัน
“ตัวแบรนด์จริงๆ ที่ไต้หวันมีสินค้ากลุ่มยอดนิยม 4-5 ตัวด้วยกัน ซึ่งเราจะนำเข้ามาทั้งหมด โดยทยอยเปิดตัวไปเรื่อยๆ โดยสินค้าแรกที่จะเห็นเร็วๆ นี้คือ กาแฟลาเต้”
ยืนยันไม่ขายกิจการในช่วง 2-3 ปีนี้แน่นอน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้มีข่าวลือว่า ‘อิทธิพัทธ์’ ซึ่งเป็นผู้ปลุกปั้นเถ้าแก่น้อยมากับมือได้เตรียมขายบริษัท หลังจากที่มีข้อมูลพบว่า ครอบครัวพีระเดชาพันธ์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้รายงานการขายหุ้น TKN ระหว่างวันที่ 20-22 มกราคม 2564 ออกมารวม 11.75 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวม 138.31 ล้านบาท
“ผมยังไม่มีความคิดว่าจะขายบริษัทเถ้าแก่น้อยแน่นอน อย่างน้อยก็ในช่วง 2-3 ปีนี้ ครอบครัวเราคุยกับว่า จะโฟกัสให้บริษัทกลับมาให้แข็งแรงเสียก่อน”
โดยคำว่า ‘แข็งแรง’ ของอิทธิพัทธ์นั้น หมายถึงการทำให้เถ้าแก่น้อยกลับมามี Market Cap ระดับ ‘3 หมื่นล้านบาท’ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2559 ซึ่งปัจจุบันนั้นความมั่งคั่งดังกล่าวได้ลดลงเหลือระดับ 1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ซึ่งการจะพลิกกลับไปสู่ระดับเดิมก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน
อิทธิพัทธ์ยอมรับกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ที่ผ่านมามีบริษัทอาหารยักษ์ใหญ่ของโลกติดต่อเข้ามาเพื่อซื้อกิจการเหมือนกัน แต่อิทธิพัทธ์ก็ยืนยันว่า “ยังไม่ขาย” แต่หากเป็น ‘การร่วมลงทุน’ ก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถคุยกันลงตัวหรือไม่ ซึ่งช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็มีบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ เข้ามาคุยอยู่เรื่อยๆ
เป้าหมายในวันนี้ของอิทธิพัทธ์คือการทำให้เถ้าแก่น้อยแข็งแรงในระดับโลกเสียก่อน อิทธิพัทธ์มองว่า ‘สาหร่าย’ ซึ่งเป็นรายได้หลักของบริษัทกว่า 90% ยังไม่หมด ‘ความเซ็กซี่’ แต่สิ่งที่ต้องทำคือการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายไปให้ไกลกว่าที่เป็นอยู่
“เรายอมรับว่าในระดับ Regional เราทำได้แข็งแรงแล้วทั้งใน CLMV หรือจีนก็ตาม แต่การจะทำให้ธุรกิจสาหร่ายไปไกลกว่านี้ ต้องมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่มากกว่านี้ โดยต้องเป็นช่องทางที่เป็นเมนสตรีมของต่างประเทศ และเข้าถึงไม่ใช่แค่คนเอเชีย แต่เป็นลูกค้ากลุ่มอื่นๆ ด้วย”
เป้าหมายในปี 2564 ของอิทธิพัทธ์คือการทำให้เถ้าแก่น้อยยังสามารถรักษายอดขายและกำไรให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2563 โดยที่ยังไม่หวังไกลถึงขั้นเติบโต แต่ในปี 2565 ที่สถานการณ์กลับมาคลี่คลายแล้ว อิทธิพัทธ์ก็หวังว่า ‘เถ้าแก่น้อย’ จะสามารถกลับมาเติบโตในระดับ 2 ดิจิได้อีกครั้ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ตระกูลพีระเดชาพันธ์ เทขายหุ้น ‘เถ้าแก่น้อย’ เก็บเงินเข้ากระเป๋ากว่า 138 ล้านบาท
- เถ้าแก่น้อยปัดข่าวเตรียมถอนหุ้นออกจากตลาดหลักทรัพย์ ย้ำการหาพันธมิตรใหม่ยังไม่คืบหน้า
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล