×

ชูลส์ ริเมต์ ผู้ให้กำเนิดฟุตบอลโลก แต่ในชีวิตไม่เคยเตะฟุตบอล

07.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ชูลส์ ริเมต์ ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘บิดาแห่งฟุตบอลโลก’ แต่ในชีวิตไม่เคยเตะฟุตบอล
  • ตลอดระยะเวลา 33 ปีที่ริเมต์ดำรงตำแหน่งประธานฟีฟ่า วงการฟุตบอลพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความไร้ระเบียบเป็นความมีระเบียบ จากที่ไม่ได้รับการยอมรับก็เป็นกีฬาที่ได้รับการยอมรับ ความนิยมก็แพร่กระจายอย่างรวดเร็วจนฟุตบอลกลายเป็นกีฬาของคนทั้งโลก
  • ริเมต์ประกาศเจตนารมณ์ที่แข็งกร้าวในปี 1928 ว่าเขาต้องการที่จะทำให้เกิดการแข่งขันฟุตบอลนานาชาติ ‘ในระดับอาชีพ’ ขึ้นอย่างเป็นทางการ แม้ว่าจะเกิดความขัดแย้งกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอย่างหนักหน่วงก็ตาม
  • ในปี 1956 ชื่อของเขาได้รับการเสนอให้ขึ้นรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่สุดท้ายคณะกรรมการปฏิเสธจะมอบรางวัลให้

ในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ชื่อว่าเตอเลย์-เลส์-ลาวงกูร์ ทางตะวันออกของฝรั่งเศส มีอนุสาวรีย์เล็กๆ ตั้งอยู่

 

อนุสาวรีย์นั้นมีไว้รำลึกถึงชายคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้เปลี่ยนแปลงโลกโดยไม่ได้ใช้อาวุธ ความรุนแรง หรืออำนาจทางการเงิน

 

เขาใช้เพียงลูกกลมๆ กับความฝันและความเชื่อว่าลูกกลมๆ ของเขานั้นจะทำให้โลกใบนี้ดีขึ้นกว่าเก่า

 

อนุสาวรีย์แห่งนั้นมีชื่อจารึกไว้ว่า ชูลส์ ริเมต์ (Jules Rimet) ชายชาวฝรั่งเศส ผู้ที่พิชิตโลกทั้งใบได้ในแบบที่จอมพลบันลือโลกอย่างนโปเลียน โบนาปาร์ต เองก็ทำไม่ได้

 

ชูลส์ ริเมต์ เกิดและเติบโตในครอบครัวร้านขายของชำที่ยากจน ก่อนที่จะโยกย้ายถิ่นฐานกันจากเตอเลย์-เลส์-ลาวงกูร์ มาอยู่ที่ปารีสในวัย 11 ปี และได้ร่ำเรียนวิชากฎหมาย เป็นทนายความคนหนุ่มซึ่งดูๆ ไปไม่น่าจะมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับเกมฟุตบอลได้เลย

 

ความจริงตัวเขาเอง ‘ไม่เคยเล่นฟุตบอล’ เลยด้วย!

 

แล้วเขามาเป็น ‘บิดาแห่งฟุตบอลโลก’ ได้อย่างไร

 

แน่นอนว่าทุกเรื่องราวนั้นย่อมมีจุดเริ่มต้นของมัน…

 

เพราะกีฬาลดช่องว่างระหว่างชนชั้น

ในยุคสมัยที่ริเมต์เกิดและเติบโต ฝรั่งเศสและโลกทั้งใบไม่ได้เต็มไปด้วยเสรีภาพและความเสมอภาคมากนัก

 

ช่องว่างระหว่างชนชั้นนั้นมีอยู่จริง ชัดเจน และไม่ใช่เพียงรู้สึก แต่มันสามารถสัมผัสได้

 

สำหรับนักกฎหมายหนุ่มที่พยายามร่ำเรียนอย่างหนัก พื้นฐานครอบครัวจากร้านของชำที่ยากจนทำให้เขาคิดที่จะทำอะไรสักอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้

 

สิ่งที่ริเมต์เห็นเป็นสิ่งเดียวกับที่บารอน ปิแอร์ เดอ กูแบร์แต็ง บิดาแห่งกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่เห็น นั่นคือการใช้เกมกีฬาทลายช่องว่างระหว่างชนชั้นของสังคมให้ได้

 

ในวัยแค่ 24 ปี ริเมต์ตัดสินใจก่อตั้งสโมสรกีฬาที่ชื่อว่าเรดสตาร์ หรือดาวแดง ซึ่งมีจุดยืนที่ชัดเจนว่าในสโมสรกีฬาแห่งนี้จะไม่มีการ ‘เหยียด’ กันระหว่างชนชั้นของสมาชิก ทุกคนที่เป็นสมาชิกของดาวแดงนั้นเท่าเทียม

 

ผลปรากฏว่ากิจการของสโมสรกีฬานั้นเป็นไปด้วยดี และท่ามกลางกีฬาหลากหลายประเภทที่เปิดให้เล่นนั้น กีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างสูงคือฟุตบอล

 

ฟุตบอลในเวลานั้นเป็นกีฬาที่กำลังได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วยุโรปและทั่วโลกในเวลาต่อมา เนื่องจากความง่ายในการเล่น กติกาที่ไม่ซับซ้อน ความจริงมีเพียงลูกกลมๆ ลูกหนึ่ง สนามโล่งๆ ที่หนึ่งก็สามารถเล่นกันได้แล้ว

 

แต่ถึงจะเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยม ก็ไม่ได้หมายความเป็นกีฬาที่ได้รับการยอมรับ

 

ในฝรั่งเศส ณ เข็มนาฬิกานั้น ฟุตบอลถือเป็นกีฬาของชนชั้นต่ำที่แม้กระทั่งชนชั้นกลางของฝรั่งเศสยังดูแคลนว่าเป็นกีฬาของนักเลง พวกคนงาน และคนอังกฤษ (เพราะฝรั่งเศสและอังกฤษมิใช่ชาติที่รักใคร่กันนัก)

 

เพียงแต่เขามองเห็นอะไรบางอย่างที่หลายคนอาจจะมองไม่เห็น หรือไม่กล้าที่จะทำ

 

เขาเชื่อว่าฟุตบอลเป็นเกมกีฬาที่มีมนต์สะกด

 

มันสามารถเป็น ‘กีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ’ ได้เหมือนที่โอลิมปิกเป็น

 

และเพื่อทำให้มันเป็นที่ยอมรับในสากล เขาจำเป็นต้องทำอะไรบางอย่าง

 

สโมสรฟุตบอลเรดสตาร์ที่ริเมต์ก่อตั้ง ลงสนามปะทะปารีส เอฟซี ท่ามกลางผู้ชมแน่นขนัด

Photo: Wikimedia Commons

 

กำเนิด FIFA และฟุตบอลโลก

ในปี 1904 ปีที่เกมฟุตบอลได้รับความนิยมแพร่หลายอย่างรวดเร็ว มีโปรแกรมการแข่งขันจัดขึ้นอย่างมากมาย แต่ไม่เป็นระเบียบ ระเกะระกะ ใครใคร่จะทำอะไรก็ทำ ใครใคร่จะคิดอะไรก็คิด แนวคิดในการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อควบคุมเกมฟุตบอลในระดับนานาชาติและเพื่อจัดการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ให้ฟุตบอลได้กลายเป็นที่ยอมรับเป็นสากลจึงเกิดขึ้น

 

สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า จึงถือกำเนิดขึ้นด้านหลังของสำนักงานใหญ่สหภาพนักกีฬาของฝรั่งเศส ที่ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 229 ถนนแซงต์ ออนอเร ในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 1904

 

ชูลส์ ริเมต์ เป็นหนึ่งในคณะผู้ที่ให้กำเนิดฟีฟ่าขึ้นมา

 

เวลานั้นชาติสมาชิกเริ่มต้นประกอบไปด้วย เบลเยียม, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, สเปน, สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์ ขณะที่เยอรมนีไม่ได้ร่วมลงนามในวันแรก แต่ก็ส่งโทรเลขมาในวันนั้นว่ามีความสนใจที่จะเข้าร่วมด้วย

 

ฟีฟ่าเริ่มต้นได้สวยกับการผลักดันให้ฟุตบอลอยู่ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 1908 ที่กรุงลอนดอนได้สำเร็จ ถึงแม้จะเป็นการแข่งขันรายการสมัครเล่นก็ตาม ซึ่งนับเป็นก้าวแรกที่ดี

 

แต่สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดคือมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ขึ้นเมื่อปี 1914 นั่นหมายถึงไม่มีใครจะสามารถไล่หวดลูกฟุตบอลในสนามได้อีก ทุกคนมีหน้าที่ต้องจับดาบจับปืนไปสู้รบในสมรภูมิ รวมถึงริเมต์ เองที่ต้องเข้าร่วมรบกับเขาด้วยเช่นกัน ซึ่งเขาก็ทำหน้าที่ได้สมชายชาติทหารจนได้รับเหรียญกล้าหาญ (Croix de Guerre)

 

และหลังจากสงครามโลกจบลงในปี 1919 ชื่อของ ชูลส์ ริเมต์ ก็ได้รับการเสนอให้เป็นประธานสหพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศสคนแรกในประวัติศาสตร์ ก่อนที่ในอีก 2 ปีต่อมาเขาจะกลายเป็นประธานฟีฟ่าคนที่ 3 ต่อจากโรแบร์ เกแร็ง ชาวฝรั่งเศส และดาเนียล เบอร์ลีย์ วูลฟอล ชาวอังกฤษ

 

วันเวลาที่รุ่งโรจน์ของฟีฟ่าและเกมฟุตบอลจึงเริ่มขึ้นจากจุดนั้นนั่นเอง

 

ตลอดระยะเวลา 33 ปีที่ริเมต์ดำรงตำแหน่งประธานฟีฟ่า วงการฟุตบอลพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความไร้ระเบียบเป็นความมีระเบียบ จากที่ไม่ได้รับการยอมรับก็เป็นกีฬาที่ได้รับการยอมรับ ความนิยมก็แพร่กระจายอย่างรวดเร็วจนฟุตบอลกลายเป็นกีฬาของคนทั้งโลก

 

แต่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเขาคือการผลักดันให้เกิดการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งแรกขึ้น

 

ชูลส์ ริเมต์ ประกาศเจตนารมณ์ที่แข็งกร้าวในปี 1928 ว่าเขาต้องการที่จะทำให้เกิดการแข่งขันฟุตบอลนานาชาติ ‘ในระดับอาชีพ’ ขึ้นอย่างเป็นทางการ แม้ว่าจะเกิดความขัดแย้งกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอย่างบารอน ปิแอร์ เดอ กูแบร์แต็ง (และเหล่านักเตะสมัครเล่นฝ่ายทหาร) และสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (ซึ่งในช่วงหลังจบสงครามโลก พวกเขาเคยแยกตัวจากฟีฟ่าเพราะไม่ต้องการที่จะ ‘สมาคม’ ร่วมกับอดีตศัตรู อีกทั้งหยามว่าเกมที่เจอกับทีม ‘ต่างชาติ’ นั้นคู่แข่งอ่อนด้อยกว่า ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ไม่ตรงประเด็นเลย)

 

ความตั้งใจนั้นเกิดจากการที่ได้มองเห็นทิศทางว่าเกมฟุตบอลไม่ได้เพียงแค่ได้รับความนิยมอย่างสูงทั่วโลก หากแต่ยังเกิดการพัฒนาการเล่นอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในแถบลาตินอเมริกา

 

เมื่อชาติที่เป็นแชมป์ฟุตบอลโอลิมปิกถึง 2 สมัยติดต่อกันอย่างอุรุกวัย (1924 และ 1928) กำลังจะฉลองวาระสำคัญครบรอบ 100 ปีแห่งอิสรภาพเสนอตัวเป็นชาติเจ้าภาพฟุตบอลโลกครั้งแรกในปี 1930 โดยรัฐบาลอุรุกวัยพร้อมรับรองค่าใช้จ่ายในการเดินทางของชาติที่เข้าร่วมการแข่งขัน ก็ทำให้ริเมต์ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

 

ฟุตบอลโลกต้องเกิด ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม

 

ชูลส์ ริเมต์ บนโต๊ะทำงานของเขา

Photo: Wikimedia Commons

 

ตัวตนและความฝันของบิดาแห่งฟุตบอลโลก

ความเด็ดเดี่ยวของริเมต์ที่ตัดสินใจทุบโต๊ะต้องให้จัดฟุตบอลโลก ซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นมหกรรมกีฬาที่สำคัญที่สุดของมวลมนุษยชาติไม่แพ้กีฬาโอลิมปิก เกิดจากตัวตนของเขาที่เป็นคนที่หนักแน่นอย่างมาก

 

อีฟส์ ริเมต์ หลานชาย เคยให้สัมภาษณ์กับ The Independent เล่าถึงเรื่องราวของบิดาแห่งฟุตบอลโลกว่า “คุณปู่ของผมท่านเป็นสุภาพบุรุษ แต่ก็เป็นคนที่หนักแน่นมาก” ก่อนจะขยายความต่อว่า “ท่านเป็นทนาย ดังนั้นการโต้เถียงกับท่านเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะท่านไม่มีวันยอมแพ้”

 

ถึงแม้ว่าจะถูกวิพากษ์อย่างหนักหน่วงที่ฟุตบอลโลกในปี 1930 ไม่ประสบความสำเร็จในแง่ของคุณภาพการแข่งขันและรายได้ และเสียงโจมตียิ่งดังขึ้นอีกในอีก 4 ปีต่อมากับฟุตบอลโลกที่อิตาลีที่กลายเป็นรอยด่างพร้อย เพราะถูกมองว่ามีส่วนเอื้อกับการใช้เป็นเวทีประชาสัมพันธ์ให้ลัทธิฟาสซิสต์

 

แต่เสียงวิจารณ์เหล่านั้นก็ทำให้เจตจำนงของริเมต์เปลี่ยนแปลงไม่ได้

 

เขาตั้งใจที่จะใช้เกมฟุตบอลเพื่อทำให้โลกใบนี้ดีขึ้นกว่าเก่า

 

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฟุตบอลโลก 1950 ที่ประเทศบราซิล คือสัญลักษณ์ของความสันติสุข โดยสังเกตได้ง่ายจากการที่ชาติจากสหราชอาณาจักรตัดสินใจส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันด้วย

 

ฟุตบอลคือกีฬาของทุกชน ทุกชาติ ทุกสีผิว ทุกเผ่าพันธ์ุ

 

4 ปีต่อมา ชูลส์ ริเมต์ ในวัย 81 ปี อำลาตำแหน่งประธานฟีฟ่า หลังดำรงตำแหน่งนาน 33 ปี

 

อีก 2 ปีถัดมาในปี 1956 ชื่อของเขาได้รับการเสนอให้ขึ้นรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่สุดท้ายคณะกรรมการปฏิเสธจะมอบรางวัล โดยคาดว่ามีเหตุผลจากฟุตบอลโลกที่อื้อฉาวในปี 1934 สุดท้ายในปีนั้นจึงไม่มีใครได้รับรางวัลโนเบลสาขานี้

 

และในปีนั้นเอง หลังวันเกิดอายุครบ 83 ปีได้แค่ 2 วัน ชูลส์ ริเมต์ ก็จากทุกคนไป

 

ในความทรงจำที่รางเลือนของหลานชายคนโปรด อีฟส์กลับไม่มีเรื่องราวและเรื่องเล่าของสิ่งที่ปู่ทำให้กับฟีฟ่าและโลกใบนี้ในฐานะ ‘ประมุขลูกหนัง’ ผู้ยิ่งใหญ่มากนัก เพราะสิ่งที่เขาจำได้คือภาพของคุณปู่ผู้เงียบขรึมที่มักจะจับมานั่งตรงตักและอ่านบทกวี เล่าเรื่องหนังสือ บทเพลง หรือบรรยายความงดงามของธรรมชาติให้ฟัง

 

“เขาไม่เคยพูดอะไรเกี่ยวกับฟุตบอล และไม่เคยพูดถึงความสำเร็จของเขากับฟีฟ่าสักครั้ง”

 

จากฟุตบอลโลกครั้งแรกมาถึงวันนี้ เหลืออีกไม่กี่วัน ฟุตบอลโลก ครั้งที่ 21 ที่ประเทศรัสเซียจะเริ่มต้นขึ้น โลกลูกหนังหมุนเวียนและเปลี่ยนไปจากจุดเริ่มต้นในวันแรกมากมายนัก

 

เชื่อว่ามันเป็นโลกลูกหนังที่ ชูลส์ ริเมต์ อาจจะไม่สบอารมณ์นักหากได้เห็น เพราะมันช่างดูฉาบฉวยและเต็มไปด้วยเงินทองที่เข้ามาข้องเกี่ยวไปเสียทุกอย่าง

 

มันต่างจากสิ่งที่เขาเคยทำนายว่าฟุตบอลจะสามารถปลุกจิตวิญญาณในแบบของเหล่าอัศวินผู้กล้าหาญที่สง่างาม มีน้ำใจ และการเสียสละ

 

แต่อย่างน้อยในความฝันของเขาที่เชื่อว่า ‘กีฬาจะทำให้โลกเป็นหนึ่งเดียวได้’ ก็มีเค้าของความจริง

 

เพราะในช่วง 30 วันนับจากการเขี่ยบอลครั้งแรกไปจนถึงเสียงนกหวีดสุดท้าย โลกทั้งใบจะหายใจในจังหวะเดียวกัน

อ้างอิง:

FYI
  • ชูลส์ ริเมต์ เชื่อว่ากีฬาทำให้โลกเป็นหนึ่งเดียวได้ แต่ต้องเป็น ‘กีฬาอาชีพ’ เท่านั้นจึงจะได้รับการยอมรับที่แท้จริง ได้รับความสนใจอย่างแท้จริง และมีผลทางการเมืองอย่างแท้จริง และจากฟุตบอลโลก 20 สมัยที่ผ่านมาพิสูจน์ได้แล้วว่าสิ่งที่เขาคิดก็น่าจะจริง
  • จากวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งประธานฟีฟ่าถึงวันสุดท้าย ฟีฟ่ามีจำนวนชาติสมาชิกเพิ่มจาก 12 เป็น 85 ชาติ
  • ในฟุตบอลโลก 1930 เขาเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเพื่องไปอุรุกวัย โดยได้พกเอาโทรฟีเล็กๆ ใบหนึ่งติดกระเป๋าไปด้วย โทรฟีนั้นได้ถูกขนานนามหลังเขาเสียชีวิตว่า ชูลส์ ริเมต์ เพื่อเป็นเกียรติแห่งบิดาของฟุตบอลโลก
  • กีฬาโปรดของริเมต์จริงๆ แล้วคือฟันดาบและวิ่ง
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising