รมช.คลัง ปัดสาเหตุบอนด์ยีลด์รัฐบาลไทยดีด ยันไม่ได้เป็นผลมาจากดิจิทัลวอลเล็ตไร้ความชัดเจน แต่มาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก มองอัตราปัจจุบันไม่ได้แพงผิดปกติ พร้อมเตรียมออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศ ดึงความสนใจนักลงทุนต่างชาติ หลังเงินไหลออกตลาดบอนด์ YTD แล้ว 1.47 แสนล้านบาท
วันนี้ (24 ตุลาคม) จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความคิดเห็นต่อกรณีอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบหลายปี เป็นผลมาจากปัจจัยต่างประเทศหรือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของประเทศมหาอำนาจเป็นหลัก รวมถึงสหรัฐอเมริกาด้วย ไม่เกี่ยวกับเรื่องความไม่ชัดเจนของโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต พร้อมทั้งมองว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีอยู่ในกรอบที่เหมาะสม ไม่ได้สูงผิดปกติ
ในวันนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี เคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 3.37% หลังจากเมื่อเดือนที่ผ่านมาเคยขึ้นไปถึงกว่า 3.38% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ปี 2557
ทั้งนี้ ตามข้อมูลจากสมาคมตราสารหนี้ไทยวันนี้ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมากระแสเงินทุนของต่างชาติ (Non-Resident Net Flows) ไหลออกจากตลาดบอนด์ไทยสุทธิ 147,808 ล้านบาทแล้ว (Net Sell)
“การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ระดับ 5.5% แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทยเมื่อวันพุธที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา ขยับขึ้น 0.25% มาอยู่ 2.5% ฉะนั้นจึงย่อมมีผลกระทบอยู่แล้ว และปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขยับดอกเบี้ยขึ้นในช่วงท้ายๆ ไม่ใช่เป็นเพราะเรื่องของเงินเฟ้อ แต่เป็นเรื่องของเม็ดเงินไหลออก เนื่องจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย”
THE STANDARD WEALTH ได้ถามต่อว่า คิดว่าประเด็นเรื่องความไม่ชัดเจนของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีผลทำให้เงินไหลออกจากตลาดบอนด์ไหม จุลพันธ์ตอบว่า ไม่มีผล โดยเรามีความเชื่อมั่นว่าเมื่อเรามีข้อสรุปทั้งหมดแล้วจะเป็นผลดีต่อตลาดด้วยซ้ำ เนื่องจากความชัดเจนที่จะเกิดขึ้นนั้นจะอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนและวินัยการเงินการคลัง
และเมื่อผู้สื่อข่าว THE STANDARD WEALTH ถามอีกว่า กังวลการปรับตัวของยีลด์รัฐบาลจะกระทบต้นทุนของเอกชนหรือไม่ เนื่องจากยีลด์ของรัฐบาลถือเป็น Benchmark ของภาคเอกชน จุลพันธ์ตอบว่า “โดยสภาพปฏิเสธไม่ได้ว่าต้นทุนของภาคเอกชนต้องขยับตามตลาด ไม่มีใครจะตรึงอยู่ได้ ขณะที่ดอกเบี้ย Fed ปรับขึ้นมาขนาดนี้”
จุลพันธ์กล่าวต่ออีกว่า รัฐบาลวางแผนที่จะออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศเพื่อดึงความสนใจ (Attention) กลับมาที่ประเทศไทย และเป็นความจำเป็นในการสร้างเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) สำหรับบริษัทไทย เพื่อสนับสนุนให้บริษัทไทยไปตลาดโลกมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยจะกลับมาสร้างจุดยืนบนเวทีโลก สะท้อนจากการที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อดึงเม็ดเงินลงทุนต่างๆ เข้ามา
อย่างไรก็ตาม การออกต้องออกในจังหวะเวลา (Timing) ที่มีความเหมาะสม โดยต้องดูปัจจัยและกรอบต่างๆ อาทิ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ไม่ให้เป็นผลกระทบของประเทศไทย
จุลพันธ์กล่าวต่อว่า พร้อมเดินหน้า Sustainability-Linked Bond เนื่องจากได้รับความสนใจจากประเทศทั่วโลกสูงมาก โดยหากออกสำเร็จ ไทยจะกลายเป็นประเทศแรกของภูมิภาค ดังนั้นเรื่องสำคัญที่สุดคือ ประเทศไทยต้องมองหาโครงการยั่งยืนเพื่อมารองรับเม็ดเงินนี้
ส่วนการประชุมอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีกำหนดการประชุมวันนี้ 24 ตุลาคมนี้ ก็ถูกเลื่อนออกไปอีกครั้ง ‘อย่างไม่มีกำหนด’