×

“การออกกำลังกายคือการบอกรักตัวเอง” จุ๊บแจง นักวิจัยสาวที่วิ่งมาราธอนเพื่อฝึกสมาธิในห้องทดลอง

01.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 MINS READ
  • จุ๊บแจง-ศรีสกุล ใจชุ่ม ผู้ช่วยวิจัยที่ศูนย์วิจัยโรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ และเป็นนักวิ่งที่มีประสบการณ์ 5 มาราธอน จากการวิ่งทั้งหมด 3 ปี
  • ทำเวลาต่ำกว่า 4 ชั่วโมงได้ในการลงฟูลมาราธอนครั้งแรกด้วยเวลา 3.49 ชั่วโมง หรือทำ Sub4 ได้สำเร็จ
  • จุ๊บแจงให้สัมภาษณ์ถึงแรงบันดาลใจที่เป็นจุดสตาร์ทให้ออกมาออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมการทำงานในห้องแล็บ ซึ่งการวิ่งของเธอไม่ใช่เพียงช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรง แต่ยังช่วยในการทำงานด้านการทดลองต่างๆ อีกด้วย

ช่วงต้นปี 2018 ที่ผ่านมา เราได้เห็นแบรนด์ผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาชั้นนำของโลกทั้ง Adidas, Nike, Under Armour และ Asics ต่างเปิดตัวรองเท้าวิ่งที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นรองเท้าแฟลกชิปของแบรนด์ออกมาสู่ตลาดอย่างคับคั่ง แม้กระทั่งแบรนด์ไทยอย่าง Warrix ก็ได้เปิดไลน์การผลิตอุปกรณ์สำหรับนักวิ่งตั้งแต่รองเท้า รวมถึงชุดสำหรับนักวิ่ง ทำให้เราสามารถคาดการณ์ได้ว่ากระแสความนิยมการวิ่งจะเติบโตขึ้นไปอีกจากรูปแบบการบุกตลาดวิ่งของแบรนด์อุปกรณ์กีฬาเหล่านี้

 

การวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากความสะดวกของการออกกำลังกายที่มีเพียงแค่รองเท้าและชุดที่เหมาะสมกับการวิ่ง คุณก็สามารถเริ่มต้นออกกำลังกายได้ด้วยตนเอง

 

 

แต่สิ่งที่มักจะเป็นปัญหาคาใจหลายๆ คนอาจไม่ใช่การเลือกซื้ออุปกรณ์หรือการเลือกหาสถานที่วิ่ง เพราะในโลกที่ผู้คนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ข้อมูลเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ทั้งแบรนด์และเพจกลุ่มคนที่รักในการวิ่งพร้อมให้ข้อมูลอย่างเต็มที่ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาหรือการตัดสินใจผลักดันตนเองให้ก้าวเท้าออกไปวิ่งได้อย่างสม่ำเสมอ

 

วันนี้ THE STANDARD เดินเข้าสู่สนามเทพหัสดินเพื่อนัดสัมภาษณ์กับหญิงสาววัย 26 ปี ที่มีเรื่องราวการเริ่มต้นก้าวออกไปวิ่งและหลงใหลกับมันมาเป็นเวลากว่า 3 ปี เธอมีชื่อว่า จุ๊บแจง-ศรีสกุล ใจชุ่ม ผู้ช่วยวิจัยที่ศูนย์วิจัยโรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันทำหน่วยวิจัยเกี่ยวกับโรคไต

 

 

จุดเริ่มต้นของการวิ่งมาจากห้องทดลอง

“เริ่มวิ่งมา 3 ปีกว่า 5 มาราธอน เพิ่งมาเริ่มจริงจังช่วง 2-3 ปีหลัง ก่อนหน้านั้นก็เริ่มบ้าง แต่ยังไม่จริงจัง ยังไม่ได้ทำตาราง”

 

เป็นคำตอบที่เราได้รับเมื่อถามถึงระยะเวลาและประสบการณ์บนการเดินทางด้วยสองเท้าเมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่งจุ๊บแจงได้เผยว่าแรงบันดาลใจในการวิ่งของเธอนั้นเกิดขึ้นในห้องทดลอง

 

“ตอนที่จุ๊บแจงเรียนปริญญาโทอยู่ที่สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ สาขา Applied Biological Sciences มีอาจารย์ที่เคารพชื่อ ศ.ดร.กวี รัตนบรรณางกูร อาจารย์อาวุโสจากภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ท่านแนะนำว่าการที่อยากเป็นนักวิจัยที่เก่งหรืออยากเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ต้องทุ่มเทใช้เวลาเกือบจะ 100% ในการทำสิ่งนั้น และต้องรู้จักการใช้ Life Balance หนึ่งในนั้นก็คือการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นการส่งเสริมทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ทำให้ฮอร์โมนเกี่ยวกับความสุขหลั่ง เสริมความแข็งแรง และฝึกความอดทนในการทำงานทุกอย่าง

 

แต่เรื่องราวที่ทำให้เธอตัดสินใจก้าวสู่สนามวิ่งครั้งแรกจริงๆ แล้วเกิดจาก…

 

 

“เคยเล่าไปแล้วขำๆ คือวิ่งตามผู้ชายค่ะ (หัวเราะเบาๆ) คือมีรุ่นพี่ที่สถาบันชวน เราก็เห็นเขาวิ่ง แล้วเราอยากออกไปวิ่งด้วย อยากจะลองดู ปลื้มเขา เขาน่ารัก ก็เลยลองออกไปวิ่งดูครั้งแรก เขาก็วิ่งเร็ว ตามเขาไม่ทัน เหตุการณ์เกิดขึ้นที่สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ซึ่งพี่เขาก็น่าจะรู้ตัวไปแล้วด้วย เคยเมาท์ไปแล้ว เขาวิ่งกับหนูแค่ครั้งเดียว แล้วก็ไม่วิ่งด้วยอีกเลย

 

“แต่พอครั้งแรกที่เราได้ออกไปวิ่งก็รู้สึกดี เพราะปกติแล้วเป็นคนที่แทบจะไม่ออกกำลังกายเลย เฉพาะวิชาพละเท่านั้นที่ได้เสียเหงื่อ หลังจากนั้นก็เริ่มเอารองเท้าออกมาวิ่ง”

 

 

จากห้องทดลอง สู่การวิ่งมาราธอน

“จริงๆ ไม่เคยคิดเลยว่าวันหนึ่งจะวิ่งได้ 42 กิโลเมตร และวิ่งมาถึง 5 มาราธอนแล้ว เคยวิ่ง 500 เมตรแล้วเจ็บเข่า จึงค่อยๆ ตั้งเป้าให้ทำได้ดีกว่าเมื่อวาน คนอื่นทำได้ เราก็น่าจะทำได้ ค่อยๆ เพิ่มจากระยะ 2 กิโลเมตร ขยับขึ้นไปเรื่อยๆ”

 

 

เธอเริ่มวิ่งมินิมาราธอนแรก 5-10 กิโลเมตรกับเพื่อน พอรู้สึกว่าทำได้ดีขึ้นก็ค่อยๆ ลงงานอื่นมากขึ้น

 

“วิ่งครั้งแรกเมื่อยมาก พอถึง 3 กิโลเมตรสุดท้ายเลยเดิน มีลุงคนหนึ่งเดินมาแตะ หนูๆ วิ่งอีกหน่อย จะถึงแล้ว เราก็ เฮ้ย มีคนคอยกระตุ้นทั้งที่ไม่รู้จักกัน เราก็รู้สึกดี หรือแม้กระทั่งคุณป้าวัย 50 ปี แกก็ยังวิ่งไปได้เรื่อยๆ เหมือนเป็นแรงผลักดันให้รู้สึกว่าเราต้องทำได้เหมือนกัน”

 

หลังจากนั้นเธอเริ่มขยับระยะจาก 10 เป็น 21 กิโลเมตร และได้รู้จักกับกลุ่มนักวิ่งที่แนะนำการซ้อมเพื่อพัฒนาตัวเอง เช่น Interval Tempo หรือ Long Run เธอจึงวางโปรแกรมวิ่งที่ไกลขึ้น พอได้วิ่ง 21 กิโลเมตรแล้วได้ถ้วยรางวัลก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ไปต่อ จนท้ายที่สุดก็มาถึง 42 กิโลเมตร

 

 

“มาราธอนครั้งแรกเวลาค่อนข้างดี เพราะในบรรดากลุ่มนักวิ่ง ถ้าวิ่งมาราธอนแล้วจะได้ Sub4 คือวิ่งเวลาต่ำกว่า 4 ชั่วโมง เป็นสิ่งที่เจ๋ง เป็นความเร็วที่ดูดีในการวิ่ง 42 กิโลเมตร คือพอเราเริ่มสนุกกับการวิ่งเร็ว เรากำหนดเป้าหมาย ซึ่งพอเราทำได้ เราก็รู้สึกเหมือนชนะตัวเอง เราเลยตั้งเป้าว่ามาราธอนแรกของเราต้องต่ำกว่า 4 ชั่วโมง

 

“เลยพยายามฝึกซ้อม ถามพี่ๆ ว่าดูตารางยังไง ซ้อมแบบไหนดี ต้องเพิ่มระยะการวิ่งแบบ Long Run กี่กิโลเมตรต่อสัปดาห์ ต้องไปแตะระยะซ้อม 30 หรือ 35 กิโลเมตรกี่ครั้ง พยายามทำให้ได้

 

“วันที่ซ้อม ตื่นมาตอนตี 4 ความรู้สึกคือเหนื่อยแบบ 30 กิโลฯ อีกแล้ว เหมือนทุกครั้งเป็นการทำการบ้านเพื่อที่จะไปสู่วันสอบจริง หรือวันที่แข่งมาราธอนจริงๆ เราก็แบบ เฮ้ย โม้ไปเยอะว่าจะทำให้ได้ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง ต้องทำให้ได้ ช่วงนั้นเรียน 5 วัน พอถึงเสาร์-อาทิตย์ต้องตื่นเช้ากว่าไปเรียนอีกเพื่อซ้อม พอซ้อมเสร็จหนึ่งวันก็มีความภูมิใจในความสำเร็จแต่ละวัน จากวันเป็นสัปดาห์ผ่านไปๆ พอถึงวันจริงก็ตื่นเต้นมาก แต่ก็มีความมั่นใจมาก วันจริงมาราธอนครั้งแรกคือ 3.49 ชั่วโมง Sub4 ในครั้งแรกเลย”

 

 

เป้าหมายใหญ่ในการวิ่งคือบอสตันมาราธอน

“ตอนนี้เป้าหมายคือการวิ่งให้ได้ต่ำกว่า 3.30 ชั่วโมงเพื่อผ่านเข้าไปวิ่งในบอสตันมาราธอนให้ได้ ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีอุปสรรคบ้าง ใช้ร่างกายผิดบ้าง หรือฝึกผิดบ้าง ยืดไม่ดี วอร์มไม่ดี ทุกอย่างก็เหมือนประสบการณ์ ก็เลยเข้าใจว่าอะไรที่เป็นอุปสรรคที่ทำให้เราไปไม่ถึงก็กำลังพยายามอยู่ ทำให้ได้”

 

ฟังดูเหมือนการวิ่งคือการทำเป้าหมายให้สำเร็จและสร้างความมั่นใจในการทำเป้าหมายต่อไปเรื่อยๆ คำถามคือเรานำสิ่งนี้ไปใช้ในชีวิตการทำงานได้อย่างไร

 

“เหมือนการสร้างความอดทน การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทุกการทดลองจะมีความล้มเหลวอยู่แล้ว ทำไปแล้วผิด ใส่สารบางอย่างผิด ผลไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง ทุกครั้งพอทำแล้วมันศูนย์ แน่นอน เจอแบบนี้คนทั่วไปคงท้อ เราก็ท้อเหมือนกัน แต่พอรู้สึกว่า เฮ้ย ทุกครั้งที่ท้อแล้วมันเริ่มใหม่ได้ เหมือนทุกครั้งที่เราตื่นมาวิ่ง วันนี้ตั้งว่าจะทำให้ได้เท่านี้ สุดท้ายทำไม่สำเร็จ แต่เราพยายาม ครั้งหน้าเรามีโอกาสอีก เราต้องทำได้อีก มันเป็นการฝึกความอดทน แน่วแน่กับเป้าหมาย เหมือนอย่างที่คนประดิษฐ์หลอดไฟใช้กว่าหมื่นวิธีเพื่อที่จะได้หลอดไฟที่ถูกต้องเพียงดวงเดียว เขาไม่ได้พลาด แต่เขาได้เรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเอง”

 

 

การวิ่งคือการฝึกสมาธิ

“สิ่งที่ทำให้หลงใหลในการวิ่งคือการได้อยู่กับตัวเอง ได้ฝึกสมาธิ ได้ฟังเสียงเท้า ได้สัมผัสถึงกล้ามเนื้อ ได้กำหนดลมหายใจเข้าออก คล้ายกับพุทธศาสนาที่กำหนดลมหายใจเข้าออก อยู่กับตัวเอง เรียนรู้ร่างกายว่าตอนนี้เรากำลังทำอะไร”

 

 

“หลายคนอาจจะชอบฟังเพลง ตอนแรกก็ฟังเหมือนกัน แต่หลังๆ พอเริ่มได้อยู่กับตัวเอง วิ่งแล้วได้เรียนรู้ร่างกายโดยไม่มีเสียงเพลง รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ชอบ”

 

ท้ายที่สุด เธอมีสิ่งที่อยากจะบอกกับคนที่อาจจะกำลังนอนอยู่บนเตียง แต่ยังไม่ก้าวออกไปออกกำลังกาย

 

 

“สิ่งที่อยากจะบอกคือการออกกำลังกายเป็นสิ่งหนึ่งที่คุณบอกรักตัวเอง การได้ออกมาวิ่งหรือการออกกำลังกายในรูปแบบอื่นก็ได้ ยกเวต ตีแบด ว่ายน้ำ หรือทำกิจกรรมอย่างอื่น เหมือนกับคุณได้บอกรักตัวเอง

 

“นี่คือสิ่งที่คุณได้ลงทุนทำอย่างหนึ่งเพื่อตัวเอง ไม่ใช่การจ่ายเงินเพื่อไปประกันสุขภาพ แต่นี่คือสิ่งที่สามารถทำได้โดยไม่เสียงาน โอเค อาจเสียเงินค่าอุปกรณ์บ้าง แต่สิ่งที่ได้กลับมาเป็นสิ่งที่คุ้มค่ามาก”

 

 

FYI

สถานที่น่าวิ่ง

THE STANDARD ได้สอบถามคำแนะนำต่างๆ สำหรับคนที่ต้องการเริ่มต้นหาข้อมูลเพื่อเตรียมพร้อมออกไปวิ่ง และได้พบว่าการค้นคว้าหาข้อมูลสำหรับการวิ่งนั้น จุ๊บแจงหาจากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ แต่ก็สามารถศึกษาข้อมูลจากโลกออนไลน์ได้เช่นกันตามเพจและกลุ่มนักวิ่งในเฟซบุ๊ก นอกจากนี้สถานที่สำหรับการวิ่ง จุ๊บแจงได้แนะนำทั้งสถานที่และรูปแบบการวิ่งที่มีชื่อว่า City Run

 

“สวนลุมพินีมีระยะทาง 2.5 กิโลเมตร ไม่น่าเบื่อ 4 รอบได้ 1 มินิมาราธอน ค่อนข้างดี ถ้าเบื่อวิ่งแต่ในสวน เพิ่มความตื่นเต้นด้วยการข้ามสะพานเขียวขึ้นไปสวนเบญจกิติ ครั้งแรกที่วิ่ง City Run กึ่งๆ ทั้ง City Run และสวน คือพี่ที่วิ่งด้วยกันพาไปวิ่งสวนลุมพินี ข้ามทางเขียวไปสวนเบญจกิติ และอาจวิ่งขึ้นฟุตปาธไปสวนเบญจสิริต่อ ได้ 3 สวนรอบกรุงเทพมหานครเลย

 

“สนามเทพหัสดินเป็นสนามที่มาวิ่งในช่วงที่เริ่มจริงจังมากขึ้นนิดหน่อย มีการฝึกวิ่งแบบ Interval การฝึกวิ่งในลู่ที่มีพื้นเรียบตลอดทาง มีพื้นยางที่ช่วยซัพพอร์ตเท้า

 

“สวนหลวง ร.9 ก็ใหญ่ดี รอบสี่กิโลเมตรกว่า กำลังดี

 

“สำหรับคนที่จะไป City Run ก็ต้องระวังตัวนิดหนึ่ง แต่ถ้าได้วิ่งจะเป็นการได้เปลี่ยนบรรยากาศ ได้ฝึกกล้ามเนื้ออีกแบบหนึ่งด้วย ฝึกการวิ่งที่พื้นไม่สม่ำเสมอ จะได้ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก ฝึกข้อเท้า การทรงตัว ได้ฝึกหลายๆ อย่าง”

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising