×

กกร. หั่นคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้เหลือ 0-1.5% หลังโควิดระลอกใหม่รุนแรงและยาวนานกว่าคาด ชี้มีโอกาสติดลบหากคุมไม่อยู่

07.07.2021
  • LOADING...
GDP ไทย

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เป็นขยายตัวได้ในกรอบ 0-1.5% ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโควิดและมาตรการเพิ่มเติมของรัฐ พร้อมมองว่าเศรษฐกิจไทยอาจมีโอกาสขยายตัวติดลบหากการแพร่ระบาดยังไม่สามารถควบคุมได้ การกระจายวัคซีนล่าช้า ภาครัฐต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์เพิ่มเติมและนักท่องเที่ยวไม่เดินทางเข้ามา

 

ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธาน กกร. กล่าวว่า การระบาดของโควิดระลอกใหม่รุนแรงและยาวนานขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้า การแพร่ระบาดระลอกใหม่รุนแรงขึ้นจากเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตา ทำให้จำเป็นต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการระบาด ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินธุรกิจ การจ้างงาน และรายได้แรงงานในพื้นที่ควบคุม

 

นอกจากนี้ มาตรการจำกัดการเดินทางและข้อจำกัดในการกักตัวคาดว่ายังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในประเทศตลอดช่วงไตรมาสที่สามและอาจจะกระทบแผนการเปิดประเทศได้ ดังนั้นทุกฝ่ายจำเป็นต้องร่วมมือกันในการควบคุมการระบาดให้ได้โดยเร็ว โดยให้ความสำคัญสูงสุดกับการเร่งจัดหาวัคซีนให้เพียงพอและดำเนินการฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย

 

อย่างไรก็ดี กกร. มองว่าภาคการส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและอาจเติบโตได้มากกว่าที่คาดไว้เดิม แม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกมีสัญญาณแผ่วลงเล็กน้อยจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้หลายประเทศอย่างอังกฤษ รัสเซีย ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย ต้องกลับมายกระดับมาตรการควบคุมโรคอีกระลอก ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและการค้าโลกในระยะต่อไป แต่ภาคส่งออกไทยยังมีศักยภาพและมีโอกาสในการเติบโตมากกว่าที่คาดไว้เดิม

 

ผยงกล่าวว่า ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังต้องการแรงสนับสนุนจากทั้งนโยบายการเงินและการคลังเพิ่มเติม เนื่องจากการแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มยืดเยื้อทำให้ผู้ประกอบการขาดความเชื่อมั่น สะท้อนการสำรวจโดย ธปท. ในเดือนมิถุนายน ที่พบว่าผู้ประกอบการคาดการณ์ว่าธุรกิจอาจจะฟื้นตัวได้ในครึ่งหลังของปี 2565 เป็นต้นไป ซึ่งช้ากว่าเดิม 6 เดือน โดยธุรกิจส่งออกเป็นเพียงเครื่องยนต์เดียวของเศรษฐกิจ สอดคล้องกับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ต่ำลงกว่าเดิม ดังนั้นเศรษฐกิจไทยยังต้องการแรงสนับสนุนจากนโยบายเพิ่มเติม เพื่อพยุงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการ

 

“จากปัจจัยข้างต้น ที่ประชุม กกร. จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เป็นขยายตัวได้ในกรอบ 0.0-1.5% ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโควิดและมาตรการเพิ่มเติมของรัฐ สำหรับการส่งออก กกร. ปรับเพิ่มประมาณการการส่งออกในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 8.0-10.0% จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด ภายใต้เงื่อนไขสามารถควบคุมการระบาดในกลุ่มแรงงานภาคอุตสาหกรรมได้ และการฉีดวัคซีนให้แรงงานภายใต้ ม.33 ได้ทั่วถึง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1.0-1.2%”

 

สำหรับข้อเสนอต่อรัฐบาลของ กกร. ในการประชุมรอบนี้ ในด้านมาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจได้มากขึ้น กกร. ขอเสนอให้ บสย. เพิ่มวงเงินค้ำประกันให้แก่ลูกหนี้กลุ่ม SMEs จาก 40% เป็น 70% และจัดกลุ่มลูกหนี้ที่เป็น NPL ที่ได้รับผลกกระทบจากโควิดแยกจากลูกหนี้ NPL ทั่วไป รวมไปถึงการยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกันในปีที่ 1-3 เนื่องจากอยู่ในช่วงเดือดร้อนที่สุด เพื่อช่วยลดภาระให้ผู้ประกอบการ

 

นอกจากนี้ การให้ความช่วยเหลือ SMEs ภายใต้โครงการ Faster Payment ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ผู้ประกอบการได้รับการชำระเงินค่าสินค้าได้เร็วขึ้นภายใน 30 วัน ซึ่งจะดำเนินการขยายไปยัง SET100 และภาคส่วนอื่นๆ ต่อไป เพิ่มจากเดิมที่ได้ดำเนินการ MOU ไปแล้ว 163 แห่ง

 

ในด้านการจัดสรรวัคซีน กกร. ขอให้รัฐบาลเร่งใช้ประโยชน์จากการเปิดศูนย์ฉีดวัคซีนของภาคเอกชนทั้ง 25 แห่ง ซึ่งพร้อมสนับสนุนการฉีดได้มากถึง 80,000 โดสต่อวัน ให้เต็มประสิทธิภาพเพื่อลดผลกระทบในภาพรวม โดยภาคเอกชนพร้อมที่จะช่วยรัฐบาลในการเร่งฉีดและกระจายวัคซีนให้ถึงมือประชาชนให้เร็วที่สุดเพื่อความปลอดภัยของประชาชน

 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรเร่งแผนการจัดหาวัคซีนและมีจุดยืนชัดเจนทางเลือกเป็นวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อพลิกสถานการณ์ สร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวหรือนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในระยะยาว เพื่อการควบคุมการแพร่ระบาด โดยนำบทเรียนจากการจัดหาวัคซีนรอบแรกมาปรับแผนเพื่อให้ประเทศไทยได้มีวัคซีนที่พร้อมต่อการรับมือกับเชื้อโควิดกลายพันธุ์

 

นอกจากนี้ยังขอให้จัดสรรวัคซีนสำหรับภาคอุตสาหกรรมเพื่อรักษาความสามารถในการส่งออกสินค้าให้ได้ตามเป้าหมาย

 

สำหรับแผนในระยะยาว กกร. สนับสนุนให้ประเทศไทยต้องดำเนินการพัฒนาระบบ Digital Vaccine Passport โดยเฉพาะ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประชุม APEC 2022 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ นักลงทุน รวมทั้งคนไทยในประเทศที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว โดยต้องให้ระบบและข้อมูลเป็นไปตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เพื่อสนับสนุนทั้งในประเทศ Inbound และ Outbound ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ Open API ในการเชื่อมต่อข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขกับภาคส่วนต่างๆ

 

“การประชุม APEC จะเป็นโอกาสให้เราได้แสดงศักยภาพและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ หากเราทำไม่ได้โอกาสนี้ก็จะสูญเปล่า” ผยงระบุ

 

พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising