สมญานามหนึ่งในการเดินทางที่ประหยัดที่สุดของ ‘JR Pass’ กำลังถูกสั่นคลอน เมื่อมีการประกาศจะปรับราคาขึ้นรวดเดียวเกือบ 70% ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป ทำให้ใน Reddit ที่พูดคุยเกี่ยวกับการเดินทางไปญี่ปุ่นนั้นมีการแสดงความคิดเห็นว่า “ญี่ปุ่นไม่ต้องการนักท่องเที่ยวอีกต่อไป”
Japan Railways Group ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินธุรกิจรถไฟรายใหญ่ของแดนซามูไร รวมถึงรถไฟหัวกระสุนความเร็วสูงชินคันเซนออกมาเผยว่า ราคาใหม่จะบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2023 โดยไม่ระบุวันที่ที่แน่นอน
บัตรโดยสารสำหรับผู้ใหญ่หนึ่งใบที่ครอบคลุมทุกสายของ JR เป็นเวลา 7 วัน จะเพิ่มขึ้นจาก 20,350 เยนเป็น 50,000 เยน คิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 68.6% ส่วนบัตรโดยสารประเภท 14 จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 69% จาก 47,250 เยนเป็น 80,000 เยน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- จากบริษัทอเมริกันพลิกผันสู่บริษัทญี่ปุ่น: ชีวิตล้มลุกของอาณาจักร 7-Eleven และบทเรียนวิชาการจัดการจาก ‘มาซาโตชิ อิโตะ’
- ราคาห้องพักและโรงแรมใน ญี่ปุ่น พุ่งขึ้นแล้ว 10-20% จากนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวและเงินเฟ้อ
- ญี่ปุ่นจ๋าพี่มาแล้ว! นี่คือ 5 เซอร์ไพรส์เล็กๆ จากญี่ปุ่นที่เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง ที่รู้ไว้ก่อนก็ไม่เสียหาย
นับตั้งแต่มีการเปิดตัวบัตรในปี 1981 การปรับราคาเกิดขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภาษีการบริโภคของญี่ปุ่นเท่านั้น ตามข้อมูลของ Yomiuri Shimbun
Michael Hui วิศวกรโยธาจากสหรัฐอเมริกา วัย 28 ปี กล่าวกับ The Straits Times ว่า ในตอนแรกเขารู้สึกประหลาดใจกับมูลค่าของราคาที่เพิ่มขึ้น แต่ก็สมเหตุสมผลในมุมมองของ JR
เขาตั้งข้อสังเกตว่า การเดินทางด้วยรถไฟ เช่น การเดินทางจากเมืองหลวงโตเกียวไปยังจุดหมายปลายทางยอดนิยมอีกแห่งอย่างโอซาก้าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเป็นครั้งแรก และตั้งใจเดินทางให้ครอบคลุมเมืองที่ห่างไกลหลายแห่งในการเดินทางครั้งเดียว
ปัจจุบัน หากต้องการเดินทางจากโตเกียวไปยังโอซาก้าด้วยชินคันเซนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 29,000 เยน ขณะที่ตั๋วไป-กลับปกติจากโตเกียวไปเกียวโตแบบจองที่นั่งมีราคาประมาณ 28,340 เยน ซึ่งยังถูกกว่า 29,650 เยนสำหรับ JR Pass แบบ 7 วัน
นักเดินทางคนอื่นๆ กล่าวว่า JR Pass ไม่น่าจะให้ความคุ้มค่ามากนักหลังจากราคาใหม่มีผลอย่างเป็นทางการ และเป็นที่น่าสังเกตว่าบัตรประจำภูมิภาคอาจเป็นทางเลือกที่คุ้มค่ากว่า
Soong Cun Kang วัย 35 ปี กล่าวว่า เขาจะพิจารณาใช้บัตรนี้เฉพาะในกรณีที่เขาวางแผนจะไปเที่ยวหลายเมืองในญี่ปุ่น เนื่องจากเที่ยวบินภายในประเทศอาจเป็นทางเลือกที่ประหยัดกว่าหากไปแค่ 1-2 เมือง
ขณะที่ชาวสิงคโปร์ที่เคยเดินทางไปญี่ปุ่นทุกๆ 2 ปี เข้าใจดีว่าภาวะเงินเฟ้อและแรงกดดันทางการคลังทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อ้างอิง: