บุรีรัมย์อาจเป็นจังหวัดที่อยู่นอกสายตาเรา ยิ่งเฉพาะด้านการท่องเที่ยว เพราะเวลาจะเที่ยวไทยทั้งที เรามักนึกถึงภูเขา ป่าไม้ หรือน้ำทะเลมากกว่า แต่ที่ตกลงปลงใจไปเที่ยวทริปนี้ เพราะคำว่า ‘ท่องเที่ยวโดยชุมชน’ ได้ไปกิน ไปนอนบ้านชาวบ้านจริงๆ เรียนรู้วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และงานฝีมือของชุมชนชาวบ้านโคก จังหวัดบุรีรัมย์
โอกาสแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ
สายการบิน AirAsia พาเราบินตรงถึงสนามบินบุรีรัมย์แต่เช้า และนั่งรถไปต่อเกือบ 60 กิโลเมตร เราก็ถึงชุมชนบ้านโคกเมือง คนแรกที่เจอคือ แม่น้อย-ส้มเกลี้ยง สืบวัน ประธานโฮมสเตย์โคกเมือง และประสานงาน และพาไปเจอบ้านพี่ควร บ้านที่เราจะพักในคืนนี้
บ้านพัก
ชุมชนบ้านโคกเมือง เช่น บ้านโคกเมือง อําเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาเป็นของตัวเอง มีโบราณสถานที่สําคัญคือ ปราสาทขอมโบราณเมืองตํ่าที่มีอายุมากกว่า 1,400 ปี และบารายเมืองตํ่า บริเวณนี้เป็นพื้นที่ราบดินแดนภูเขาไฟที่มีความอุดมสมบูรณ์
ปั่นจักรยานภายในชุมชนบ้านโคกเมือง
ภายในชุมชนนั้นเต็มไปด้วยความน่ารักของชาวบ้าน มีฐานการเรียนรู้ต่างๆ ที่เป็นอาชีพ ภูมิปัญญาที่แตกต่างกันไป ซึ่งแม่น้อยพาเราไปเรียนรู้และลงมือทำจริงๆ โดยมีโอกาสยากมากที่เราจะได้ทำอย่างนั้น
ว่าแล้วเราก็ปั่นจักรยานไปหมู่บ้านใกล้ๆ เพื่อเรียนรู้ภูมิปัญญาแรก การทำผ้าหมักโคลนบาราย 1,000 ปี กับ แม่ทองสุข พลหนองหลวง เพราะที่ชุมชนบ้านโคกเมืองนั้นใกล้กับปราสาทเมืองต่ำมาก ที่นี่จึงมีภูมิปัญญาในการย้อมสีผ้าด้วยดินภูเขาไฟจากปราสาทหินเมืองต่ำมีอายุนับพันปี ขั้นตอนคือ นำผ้าฝ้ายไปชุบโคลนที่กรองเศษหินต่างๆ แล้ว เพียงไม่นานผ้าฝ้ายก็จะเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลอ่อนๆ แบบธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีการใช้สีจากธรรมชาติอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสีเหลืองจากขมิ้น สีน้ำเงินจากดอกอัญชัญ
ผ้าย้อมสีด้วยดินภูเขาไฟจากปราสาทหินเมืองต่ำ
เราปั่นต่อไปที่บ้าน ยายที บุญประดิษฐ์ ซึ่งเป็นคนเก่าคนแก่ในหมู่บ้านของชุมชนทอผ้าไหม เปรียบเสมือนปราชญ์ของชุมชนที่คอยสอนความรู้เรื่องการทอผ้าไหม ความพิเศษของลายผ้าทอที่นี่คือ ได้แรงบันดาลใจมาจากลายซุ้มประตูของปราสาทเมืองต่ำอีกด้วย
ลายผ้าไหมที่ได้แรงบันดาลใจจากลายซุ้มประตูของปราสาทเมืองต่ำ
หลังจากลองทอผ้าไหมที่บ้านคุณยายที ก็ถึงเวลาเปลี่ยนสถานีไปเรียนรู้การทำเสื่อกกของ แม่ยุพิน เบ้าทอง เสื่อกกทำมาจากต้นกกที่นำไปตากแห้งและผ่าให้เป็นเส้นเล็กๆ ใช้วิธีการทอแบบผ้าไหม ผ้าฝ้ายทุกประการ แต่เปลี่ยนจากด้ายไหมหรือฝ้ายเป็นเส้นต้นกก ย้อมสีธรรมชาติ และบ้างก็มีสีฉูดฉาดแบบสังเคราะห์ เพื่อทำให้สีโดดเด่นขึ้น นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเสื่อกกอีกมาก
บ้านเสื่อกก
ระหว่างทาง เราปั่นจักรยานไปปราสาทเมืองต่ำ ที่อยู่ใกล้หมู่บ้านแบบยังไม่เสียเหงื่อด้วยซ้ำ ปราสาทเมืองต่ำเป็นปราสาทหินอายุพันปี มากกว่าปราสาทหินพนมรุ้งเสียอีก แม่น้อยเล่าว่า ที่นี่ถูกบูรณะเป็น 10 ปี ตั้งแต่ปี 2530-2539 กว่าจะสวยงามและสมบูรณ์ ก่อนหน้านี้ต้นไม้รอบปราสาทยุ่งเหยิงมาก ปราสาทก็ทรุดโทรมเสียหาย แต่พอบูรณะจนเสร็จสมบูรณ์แล้ว จึงกลายเป็นสถานที่พักผ่อนที่เงียบสงบของคนในหมู่บ้าน ทุกปีจะมีการจัดการแสดงแสง สี เสียง ที่กำแพงของปราสาทหินอีกด้วย
ปราสาทเมืองต่ำและน้องไกด์
โชคดีที่เจอกับ น้องเปีย-โสภิตนภา ยังวารี นักเรียนโรงเรียนวัดบ้านเมืองต่ำ น้องทำหน้าที่เป็นไกด์พิเศษ คอยบอกเล่าเรื่องราวของประสาทให้เราฟังมากมาย ไม่ว่าจะเป็นประวัติความเป็นมา เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในการบูรณะที่นี่ ฯลฯ พี่น้อยเล่าว่า ถ้าอยากให้น้องๆ มาเป็นไกด์พิเศษ ก็สามารถบอกแม่น้อยได้เลย เดี๋ยวแม่น้อยจะติดต่อเด็กๆ ไว้ให้
แดดร่มลมตก เราปั่นจักรยานไปบารายหรือทะเลเมืองต่ำ เป็นสระน้ำขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค และการเกษตรกรรมของชุมชน โดยบารายแห่งนี้รับน้ำมาจากเขาพนมรุ้งและเขาไปรบัด บรรยากาศสวยงามมาก แดดเย็นสะท้อนพื้นน้ำ เงียบสงบแบบที่คนเมืองอย่างเราหาไม่ได้
บาราย
ความพิเศษของทริปโดยชุมชนคือ แม่น้อยชวนชาวบ้านหลายคนมาร่วมพิธีสู่ขวัญให้กับเรา พิธีบายศรีนั้นเป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งของชาวอีสาน ซึ่งสามารถทำได้ในหลายๆ โอกาส
ณ บ้านพี่ควร ชาวบ้านมาล้อมวงกันหมดแล้ว พ่อใหญ่เริ่มทำพิธีเพื่อรับขวัญ จากนั้นชาวบ้านก็ล้อมกันเข้ามาผูกสายสิญจน์ที่ข้อมือ พร้อมกับอวยพรเป็นภาษาอีสาน ถึงขั้นตอนนี้ก็ยิ่งรู้สึกดีที่ได้มาที่นี่เลย
พระอาทิตย์ลับขอบฟ้า แม่น้อยชวนเรากลับไปกินข้าวเย็นฝีมือเชฟชุมชน เราสงสัยว่าที่นี่มีเชฟชื่อดังอาศัยอยู่ในหมู่บ้านด้วยเหรอ ปั่นจักรยานกลับเข้าชุมชนก็เจอกับ พี่เพ็ง โคกเมือง เชฟผู้ปรุงอาหารเย็นของเราในวันนี้
พี่เพ็งและแม่น้อยเล่าว่า มีโครงการ Local Chef เชฟชุมชนเพื่อท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน ที่หลายหน่วยงานจัด จึงส่งพี่เพ็งไปอบรมจนกลายเป็น ‘เชฟชุมชน’ กลับมาทำอาหารท้องถิ่นให้นักท่องเที่ยวอย่างเรากิน เมนูวันนี้นำเสนอของดีของเด็ดของชาวบุรีรัมย์ ได้แก่ ผัดกุ้งจ่อมทรงเครื่อง ต้มยำไก่บ้านยอดหม่อนและยอดมะขาม มาพร้อมกับน้ำจิ้มไก่แซ่บเวอร์ และกับข้าวที่ชาวไทยขาดไม่ได้คือ ไข่เจียวและกะหล่ำปลีผัดน้ำปลา
อรรถรสการกินข้าวมื้อนี้จึงไม่เหมือนมื้อไหนๆ ที่เรากินในเมือง ด้วยกับข้าวและผักชนิดที่หากินไม่ได้ในเมืองแล้ว การได้คุยกับแม่น้อยและพี่เพ็งเรื่องชุมชนและการทำโฮสเทลชุมชนก็สนุกจนลืมเวลา
อาหารฝีมือเชฟชุมชน
นี่คือประสบการณ์การท่องเที่ยวที่พิเศษมาก เรียกว่าท่องเที่ยวอาจจะเป็นคำอธิบายที่ไม่ตรงเสียทีเดียว แต่มันคือการสร้างเสริมประสบการณ์ หลีกหนีความวุ่นวายในเมืองที่เราเจออยู่ทุกวัน ได้มาเรียนรู้ชีวิตของชุมชน ได้เลิกก้มหน้าดูมือถือบ่อยๆ และได้หลงรักชุมชนเล็กๆ อย่างบ้านโคกเมือง
และตระหนักว่า ในทุกๆ ที่ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดเล็กหรือใหญ่ เป็นเมืองท่องเที่ยวหรือไม่ ทุกที่มีความงามในตัวของมันเอง คนในชุมชนและการใช้ชีวิตเหล่านี้คือเสน่ห์ที่หาไม่ได้จากที่ไหน ถ้าถูกทำลายด้วยฝีมือนักท่องเที่ยว คงหาอะไรมาทดแทนได้ยาก
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
- Journey D เป็นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสสัมผัสการใช้ชีวิตของคนในชุมชน กิน นอน ทำอาหาร ย้อมผ้า ทอผ้า ฯลฯ เพื่อสร้างจิตสำนึก ร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเอกลักษณ์ที่ดีงามของวัฒนธรรมท้องถิ่น
- นอกจากนี้ Journey D ยังทำงานร่วมกับชุมชนโคกเมืองในการออกแบบลายผ้าทอมือและจำหน่ายบนเครื่องบิน AirAsia ด้วย (ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป)
- นอกจากชุมชนบ้านโคกเมือง จังหวัดบุรีรัมย์แล้ว Journey D ยังมีทริปชุมชนอื่นๆ ที่อยู่ในโครงการนี้ ได้แก่ ชุมชนผาหมี จังหวัดเชียงราย ชุมชนเกาะกลาง จังหวัดกระบี่ และชุมชนบ้านพรหมโลก จังหวัดนครศรีธรรมราช จองตั๋วและดูรายละเอียดทริปได้ที่ www.Journey-D.com