ขณะที่ทั้งโลกกำลังเผชิญกับอันตรายของโรคโควิด-19 ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่พอกัน บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ก็พยายามอย่างยิ่งที่จะศึกษาค้นคว้า และหาแนวทางในการป้องกันการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากโรคร้ายโควิด-19 ได้ให้มากที่สุด เช่นกันกับ ศ.จิม ซัลลิส ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยจากสถาบันวิจัยสุขภาพ Mary MacKillop Institute for Health Research ของ ACU (มหาวิทยาลัยคาทอลิกแห่งออสเตรเลีย) ที่ทำการศึกษาวิจัยเฉพาะเจาะจงไปที่ผลลัพธ์ของการออกกำลังกาย ที่มีความสำคัญต่อความสามารถในการป้องกันผลลัพธ์ของโควิด-19 ที่บ่งชี้ว่าสามารถช่วยลดความรุนแรงลงได้ โดยเฉพาะอัตราการเสียชีวิตที่อาจจะเกิดขึ้น
โดย ศ.จิม ทำการศึกษาระหว่างประเทศเกี่ยวกับโรคร้ายแรง โดยเจาะจงไปที่การศึกษากลุ่มผู้ป่วยในรัฐแคลิฟอร์เนียที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดโควิด-19 จำนวน 48,440 คน พบข้อมูลสำคัญว่า ก่อนหน้าที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สองปีก่อนหน้านั้นกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้ขาดการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องในชีวิตประจำวัน และเมื่อพวกเขาติดโควิด-19 และเข้ารับการรักษาตัว ผลการศึกษาวิจัยต่อจากนั้นพบว่า พวกเขามีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้มากกว่าผู้ป่วยที่มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ด้วยเหตุนี้ ศ.จิม จึงออกมาเรียกร้องต่อหน่วยงานด้านสาธารณสุขให้มีการเพิ่มความสำคัญและเน้นย้ำประชาชนให้หันมาออกกำลังกาย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ลดความรุนแรงลง โดยเขาเน้นย้ำไปยังหน่วยงานด้านสาธารณสุขว่า ควรแจ้งให้ประชาชนทั้งหมดทราบว่าการออกกำลังกายเป็นประจำ คือสิ่งสำคัญหนึ่งเดียวในตอนนี้ที่สามารถทำได้ (นอกเหนือจากการสวมมาสก์ รักษาความสะอาด เว้นระยะห่างทางสังคม) เพื่อป้องกันโควิด-19 ผ่อนหนักเป็นเบา เพราะการมีร่างกายที่แข็งแรงซึ่งเป็นผลมาจากการออกกำลังกาย จะช่วยลดความรุนแรง รวมถึงภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ โดยนักวิจัยพบว่า ผู้ป่วยที่ไม่ได้ใช้งานร่างกายอย่างต่อเนื่อง (น้อยกว่า 10 นาทีต่อสัปดาห์) มีความเสี่ยงที่จะอาการรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่ออกกำลังกายมากกว่า 150 นาทีต่อสัปดาห์
สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับทุนและดำเนินการโดย Kaiser Permanente ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพของสหรัฐอเมริกา เพื่อสำรวจปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับความรุนแรงของการติดเชื้อ รวมถึงอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของการดูแลผู้ป่วยหนัก และการเสียชีวิตในผู้ใหญ่ที่ได้รับการยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม 2020
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: