×

จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท จากจินตนาการของสาววายสู่โลกซีไรต์

25.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ลี้-จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท นักเขียนรางวัลซีไรต์ประจำปีนี้ เริ่มต้นเขียนนิยายแฟนตาซีตั้งแต่ชั้นมัธยม 1 ในเว็บไซต์ Dek-D และ Exteen
  • หลังกระแสนิยายวายจากญี่ปุ่นเข้ามา ลี้เริ่มหันมาเขียนนิยายวาย และตามมาด้วยงานเขียนแนวสะท้อนสังคมส่งเข้าเวทีการประกวดงานเขียนต่างๆ เป็นเวลากว่า 10 ปี ปัจจุบันลี้กลายเป็นนักเขียนอาชีพทั้งสายวายและแนวสะท้อนสังคม และเป็นนักเขียนที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัลซีไรต์
  • ขณะที่เรียนมหาวิทยาลัย ลี้ได้ศึกษาวิชาปรัชญาอันเป็นจุดเริ่มต้นของการนำคำถามในชั้นเรียนมาสร้างเป็นพล็อตในงานเขียน ควบคู่ไปกับการดูหนังดิสโทเปีย และความสนใจในวัฒนธรรมรัสเซีย มาสร้างเป็นเรื่องสั้นจำนวนมากมาย
  • เป้าหมายสำคัญของการเขียนวรรณกรรมของลี้คือ ตั้งใจอยากเขียนงานที่เป็นมิตรกับเด็ก ไม่ทำให้กลัวการอ่านวรรณกรรม และต่อยอดไปสู่การอ่านวรรณกรรมที่ยากขึ้น

ชื่อของ ลี้-จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ปรากฏอยู่ตามหน้าสื่อหลายต่อหลายสื่อ หลังจากการประกาศรางวัลวรรณกรรมซีไรต์ประเภทเรื่องสั้นประจำปีนี้ ที่ถึงแม้ในวันประกาศรางวัลจะเป็นไปอย่างเงียบเชียบ (ทางคณะกรรมการรางวัลซีไรต์ใช้วิธีประกาศผ่านเฟซบุ๊กเพจของสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ) แต่วันถัดมาเธอก็ต้องเดินทางไปพบปะสื่อมวลชนเกือบทุกที่จนแทบไม่มีเวลาแม้แต่จะปรับอารมณ์ของตัวเองว่าตอนนี้เธอคือนักเขียนซีไรต์แล้ว

 

ในตอนนี้ลี้กลายเป็นนักเขียนหญิงอายุ 25 ปี ซึ่งเป็นอายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัลซีไรต์ของประเทศไทย การได้รับรางวัลใหญ่ที่สุดทางวรรณกรรมอาจทำให้คนอ่านเกิดข้อสงสัยต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็น การเอาชนะนักเขียนรุ่นใหญ่ ความลุ่มลึกของภาษา หรือทำไมซีไรต์ปีนี้ไม่พูดถึงคนชายขอบ คนพื้นถิ่น การต่อสู้ทางชนชั้น อุดมการณ์ หรือความเหงาของคนเมืองแบบเดิม ฯลฯ กลายเป็นความกดดันที่วนเวียนในหัวจนเธอบอกว่า กลัวตัวเองจะเลิกเขียนวรรณกรรม แล้วกลับไปเขียนนิยายวายอย่างเดิม

 

ใช่แล้ว ‘นิยายวาย’ ที่มีกลุ่มคนอ่านแค่หยิบมือ แต่เป็นอีกเส้นทางสายวรรณกรรมที่เธอเขียนมาตั้งแต่สมัยยังเรียนมหาวิทยาลัย ต่อยอดจากนิยายแฟนตาซีที่เธอเริ่มเขียนตั้งแต่ยังอยู่ชั้น ม.1 ลงในเว็บไซต์ Dek-D และ Exteen ที่ผ่านมาเธอใช้ ‘แฟนตาซี’ สร้างสรรค์งานเขียนทั้งสายแฟนตาซี วาย และเรียลิสติก เป็นเวลากว่า 10 ปี จนเติบโตกลายเป็นนักเขียนอาชีพอย่างเต็มตัว ซึ่งนั่นก็เป็นประสบการณ์และบรรยากาศในโลกน้ำหมึกของเด็กยุคใหม่ที่เธอกำลังจะเล่าให้ THE STANDARD ฟัง     

 

 

ลี้เริ่มเขียนนิยายลงเว็บ Dek-D ตั้งแต่เมื่อไร

ตั้งแต่ ม.1 ค่ะ อายุ 12-13 เป็นนิยายแฟนตาซี ช่วงนั้นที่ฮิตกันเป็นเรื่องเวทมนตร์ พ่อมดแฮร์รี่ พอตเตอร์ ตอนนั้นไม่มีคนอ่านเลย (หัวเราะ) เราเคยเจอคนเขียนนิยาย 27 บท แต่ไม่มีคนคอมเมนต์เลยแม้แต่คนเดียว และก็เจอแบบนี้ใน Exteen เยอะแยะ ของเราก็เหมือนจะมีคนอ่านอยู่แค่ 2 คน แต่ก็เขียนต่อมานะ เหมือนตอนเด็กๆ คิดแค่ว่าถ้าเราเลือกทำอะไรแล้ว สิ่งนั้นก็คือดี ถึงนิยายเราจะไม่มีคนอ่าน แต่เราสนุก ก็เลยเขียน

 

ได้แรงบันดาลใจในการเขียนนิยายแฟนตาซีมาจากที่ไหนบ้าง

ในตอนนั้นนิยายแฟนตาซียังบูมอยู่ มันก็จะมีขนบของมัน เช่น สมมติตัวเอกเป็นผู้กล้า แล้วก็มีพ่อมด ตัวละครเพื่อนๆ แล้วพอเราเริ่มอยากเขียนนิยายที่เรียลิสติกขึ้น ก็ละทิ้งงานเขียนแฟนตาซีมา สิ่งที่ติดตามมาคือความวาย แต่ความแฟนตาซีนั้นก็ยังอยู่กับเรา อย่างเรื่องสั้น สิงโตนอกคอก ก็ค่อนข้างเป็นแนวแฟนตาซี

 

แล้วอะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ลี้หันมาสนใจการเขียนนิยายวาย

เราอ่านวายอยู่แล้วตั้งแต่อยู่มัธยม มันเป็นวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่อยู่ในการ์ตูน ก็ซึมซับมา แล้วนิยายแฟนตาซีของเราก็จะค่อยๆ ขยับไปในทางวายมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็เริ่มอยากเขียนชีวิตคนปกติในกรุงเทพฯ มันจะมาถึงจุดหนึ่งที่เริ่มเบื่อม้าบินได้นั่นแหละ

 

ลี้ใช้เวลากี่ปีในการเขียนนิยายวายแล้วเริ่มมีคนติดตามอ่านผลงาน

ถ้านับจากช่วงที่เขียนอย่างจริงจังก็ประมาณอายุ 21 ค่ะ แล้วประมาณอีก 2-3 ปีต่อมา ก็ได้มาพิมพ์กับ everY (เครือสำนักพิมพ์แจ่มใส) มันฟังดูเหมือนเร็วนะ ภายในเวลาไม่กี่ปี แต่ความจริงเราไม่ได้ขึ้นเร็วเพราะความป๊อปปูลาร์ของตัวเราเอง แต่วายเป็นกระแส แล้วเราก็ขึ้นมาตามกระแสนั้น

 

ส่วนใหญ่ใครเป็นคนอ่านนิยายวาย

ความจริงก็เป็นวัยรุ่น เด็กก็มี แต่สำหรับเราไม่ค่อยเจอคนอ่านที่เป็นเด็ก ส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยมปลายจนถึงผู้หญิงวัย 30-40 โดยเฉพาะกลุ่มสาวออฟฟิศนี่เยอะ ถ้าเป็นเรื่องแนวเด็กมหาวิทยาลัยมารักกัน ก็จะได้กลุ่มผู้อ่านที่เป็นเด็กหน่อย สายดราม่า เนื้อเรื่องจะคล้ายๆ นิยายรัก สายละครคือ พระเอกรวยกับนางเอกที่เรียบร้อย คนอ่านจะไม่ใช่เด็กแต่เป็นวัยกลางคนหน่อย ซึ่งเขาก็จะชอบความดราม่าของชีวิตอย่างเช่น พ่อแม่ไม่ยอมรับเกย์มีลูกติดอะไรแบบนี้ หรือแม้แต่ผีสืบสวนก็มี

 

Photo: ร เรือในมหาสมุท/facebook

 

แล้วลี้เขียนแนวไหนเป็นหลัก

เล่มนี้ (หยิบหนังสือเรื่อง ชายใดเล่าจะแซบเท่าแฟนเก่าแม่ ขึ้นมา) เป็นเล่มที่ได้ตีพิมพ์กับ everY คือต้องนับถือใจสำนักพิมพ์แจ่มใสมาก เพราะถ้าอนุมัติชื่อนี้เพราะมันขายได้ก็ไม่แปลก แต่ข้างในนี่เล่าเรื่องสงครามเวียดนาม พ่อเป็นคอมมิวนิสต์หนีเข้าป่า

 

เรื่องเล่าว่า มีตัวละครชาย 2 คนที่อายุเท่ากับแม่ คนหนึ่งเป็นลูกคอมมิวนิสต์ที่หนีเข้าป่าแล้วมีบาดแผลทางจิตใจ ซึ่งบาดแผลนี้ไม่ได้กระทบเขาโดยตรงนะ แต่เป็นความรู้สึกที่ได้จากพ่อที่มีความรู้สึกต่อภาครัฐ แล้วอยากจะใช้ชีวิตอยู่ในบ้านในที่ไกลๆ อีกคนหนึ่งเป็นป๋ารวย เป็นลูกครึ่งฝรั่ง และทุกคนจะต้องคิดว่าเขาเท่และรวยมาก แต่จริงๆ แล้วการเป็นลูกครึ่งในอีสานมันไม่ใช่เรื่องเท่ เพราะเขาคือลูกของทหารจีไอที่ถูกพ่อทิ้งไป ก็คืออยู่มาอย่างลำบากกว่าจะรวย เขาก็เป็นผลผลิตของสงคราม ซึ่งลี้ก็ไม่ได้เล่าถึงประวัติศาสตร์พวกนี้เยอะนะ จะเล่าถึงความรักของสองคนนี้เยอะ เพื่อไม่ให้เรื่องดูหนักเกินไป

 

ฟังดูนิยายวายของลี้มันมีทั้งสงคราม ประวัติศาสตร์ รัฐบาล เป็นเรื่องหนักทั้งนั้นเลย

มันเป็นอินเนอร์ แต่ไม่ใช่อินเนอร์แบบฉันจะขึ้นไฮด์ปาร์คนะ แต่มันเกิดจากพอเราเขียนนิยายรักไปเรื่อยๆ แล้วเรารู้สึกว่า เธอรักกันแล้วยังไงล่ะ มันไม่เกี่ยวกับฉันนี่ เราก็อยากจะให้เรื่องมันมีรายละเอียด เหมือนเวลาดาราพูดกับสื่อแค่ว่า เรารักกัน มันก็ไม่มีอะไรจะเล่าไง

 

 

หลังจากเขียนนิยายวายมาสักพักแล้ว ลี้เริ่มหันมาสนใจเขียนงานเขียนแบบเรียลิสติกเมื่อไร

มีอยู่ช่วงหนึ่งเราได้อ่านงานของรุ่นพี่ที่อยู่ชมรมวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้รู้ว่าตอนเด็กเราไม่ค่อยอ่านงานเรียลิสติกเลย เราอยากอ่านอะไรที่มันตื่นเต้นๆ พอไปอ่านงานของพี่เขา เราก็รู้สึกว่า เออ อยากลองเขียนแนวชีวิตกรุงเทพฯ บ้าง หลังจากนั้นก็เริ่มต้นลองเขียนงานดู แล้วก็ชอบ มันมีเสน่ห์ พอชอบแล้วเราก็เลยเขียนต่อมา

 

แล้วทำไมหนังสือเรื่อง สิงโตนอกคอก ถึงเป็นแนวดิสโทเปีย

มันเกิดจากการเขียนเรื่องสั้นจำนวนหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย และเขียนต่อมาเรื่อยๆ ทั้งหมดนี้คือคัดมาประมาณจากทั้งหมด 20% ของมัน แล้วตอนนั้นมี บ.ก. 2 คน ที่อยากจะได้งาน เราก็คัดแยกเรื่องที่สะท้อนความรู้สึก ความเหงา จะมารวมเป็นหนังสือเรื่อง วันหนึ่งความทรงจำจะทำให้คุณแตกสลาย ส่วน สิงโตนอกคอก สำนักพิมพ์แพรวอยากได้งานเขียนที่สะท้อนสังคมหน่อย ซึ่งถ้างานเขียนสะท้อนสังคมแนวลูกทุ่ง เราไม่มี มีแต่แนวดิสโทเปียสะท้อนสังคมที่มีอยู่พอสมควร สุดท้ายเราก็เขียนเรื่องขึ้นมาเพิ่มให้ สิงโตนอกคอก มันสมบูรณ์ (ดิสโทเปีย – วรรณกรรมประเภทหนึ่งที่เล่าถึงสังคมในจินตนาการแบบเลวร้ายสุดขั้ว)

 

ไอเดียที่จะทดลองเขียนเรื่องสั้นแนวดิสโทเปียเริ่มขึ้นเมื่อไร

มันเกิดความสนใจตอนที่หนูเรียนปรัชญา แล้วมันมีคำถามที่น่าใช้ อย่างเช่น ทฤษฎีจริยศาสตร์ของคานต์ ก็อยากจะลองเขียนโลกที่มันเป็นแบบนั้นจากบรรทัดเล็กๆ ในเท็กซ์วิชาปรัชญา ก็เอามาสร้างเป็นเรื่อง

 

สิงโตนอกคอก จะตั้งคำถามเชิงนามธรรมค่อนข้างเยอะ อย่างเรื่อง ‘ในโลกที่ทุกคนอยากเป็นคนดี’ ต้องทำดีแค่ไหนถึงจะเรียกว่าเป็นคนดี หรือทำชั่วแค่ไหนถึงจะถูกเรียกว่าคนชั่ว ประเด็นแบบนี้เป็นผลจากการเรียนปรัชญา หรือไปเจออะไรในสังคมจนทำให้รู้สึกว่าอยากถ่ายทอดความคิดนี้

อันนี้เป็นผลมาจากการเรียนปรัชญา มันมี 2 หัวข้อที่เราเรียน คือ Ethics จริยศาสตร์แนวคานต์ กับอริสโตทีเลียน (Aristotelian) ความดีในความหมายของนักปรัชญาแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เราก็หยิบของแต่ละคนมาใช้

 

ช่วงนั้นเราได้ทำรายงานเรื่องเกี่ยวกับการุณยฆาต ก็ตั้งคำถามว่า การถอดสายเครื่องช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วยที่แน่ใจแล้วว่าสิ้นหวังควรทำหรือไม่ แล้วก็มาถกเถียงกัน มีคนดีเฟนด์กลับว่ามันไม่ถูกต้อง เพราะเป็นเรื่องของกรรมเวร มันจะเป็นกรรมที่ติดตัวไป หมอจะกลายเป็นคนเลว หรือเพื่อนเราเลือกทำเรื่องการทำแท้ง ก็ถกกันว่าผู้หญิงจะกลายเป็นคนเลวหรือเปล่า ถ้าเธอทำแท้ง ไม่ว่าชีวิตจะมีปัจจัยอะไร หรือต่อให้เป็นลูกที่เกิดจากการข่มขืน เธอก็ต้องเลือกอุ้มเด็กเอาไว้

 

คำถามเหล่านี้มันควรจะต้องมีบทสรุปอย่างไร

คำถามปรัชญามันไม่มีบทสรุป มันจะ on-going ไปเรื่อยๆ มาตั้งแต่สมัยยุคโสเครติส ทุกวันนี้ยังไม่รู้เลยว่าความดีคืออะไร ถ้าเป็นคนที่เรียนวิชาวิทยาศาสตร์จะโกรธมาก เธอก็บอกมาสิ น้ำหนักเท่าไร อะตอมยังไง แต่ซิกมันด์ ฟรอยด์ จะบอกอีกแบบ โสเครติสก็จะบอกอีกแบบ

 

 

เรื่องสั้น สิงโตนอกคอก ถือว่าเป็นเรื่องสั้นที่ซับซ้อนมากเรื่องหนึ่งของเล่ม ทำไมถึงเลือกเล่า 3 เรื่องในเรื่องเดียว โดยให้ตัวละครเล่าถึงสิ่งที่ตัวเองกำลังอ่านหนังสือในเรื่องเล่า แล้วในเรื่องเล่านั้นก็มีเรื่องอีกเรื่องหนึ่ง

มันมีเหตุผลค่ะ เพราะว่า สิงโตนอกคอก ได้รับรางวัลอนุมานพระยาราชธน ซึ่งมีโจทย์คือ ให้เขียนเรื่องที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก หิโตปเทศ ซึ่ง หิโตปเทศ จะใช้วิธีเล่าแบบนี้คือ ผู้หญิงอินเดียคนหนึ่งเล่านิทาน แล้วในนิทานก็เล่านิทานอีก ซึ่งในเรื่องจะพูดถึงมิตรภาพ แล้วก็มีสัตว์เล่าเรื่อง โอเค ฉันได้คีย์เวิร์ดละ มีมิตรภาพ สัตว์ และการเล่าเรื่องพร้อมกัน ลี้ก็เลยเขียนตามนี้ ถูกต้องตามโจทย์ที่เขาให้ ซึ่งลี้ชอบเรื่องนี้นะ คือเขียนตามโจทย์ก็จริง แต่รู้สึกว่ามันไปต่อได้ โดยที่สุดท้ายมันก็กลายเป็นตัวของมันเอง

 

ซึ่งเรื่องนี้ยังสะท้อนถึงสภาพสังคมที่เราอยู่ ณ ตอนนี้ด้วยว่า สังคมที่ยังคงมีความขัดแย้งอยู่ทุกวันนี้ เรายังไม่สามารถหาสิ่งที่เรียกว่าทางออกตรงกลางร่วมกันได้

หลังจากได้รางวัลและก่อนมารวมตีพิมพ์เล่มนี้ ลี้ก็มาเกลาอีกนิดหนึ่งด้วยนะ ซึ่งจิตใจตอนที่เกลาก็เป็นจิตใจของเราที่เผชิญกับสภาพสังคมแบบนี้มาแล้ว

 

แล้วคิดว่าสังคมของเราจะหาทางออกตรงกลางร่วมกันเจอไหม

ลี้ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญรัฐศาสตร์หรือสังคมมากขนาดนั้น แต่ลี้คิดว่าธรรมชาติมันคงจะไม่ยอมให้เราสุดโต่ง ปัญหาคือจะนานสักแค่ไหนถึงจะกลับสู่สภาวะปกติ แล้วขั้นตอนในการกลับมาจะรุนแรงหรือเปล่า ซึ่งเอาจริงๆ ไม่มีใครอยากให้มีความรุนแรง คนธรรมดาไม่มีใครอยากเจอ เหมือนตัวละครที่ขโมยน้ำมัน (ซินเดอเรลลาแห่งเมืองหุ่นยนต์) เอาจริงๆ เราแค่อยากจะมีชีวิตที่ปกติและโอเคหน่อย

 

ลี้พูดถึงรัฐบาลและการปกครองเกือบแทบทุกเรื่อง สิ่งนี้มาจากความสนใจในการเมืองไทยด้วยไหม

มันเป็นพล็อตปกติของงานแนวดิสโทเปียที่ตั้งคำถามกับรัฐ แต่ดิสโทเปียที่ไม่ใช่แนวรัฐบาลก็มีนะ แต่เมนสตรีมของดิสโทเปียต้องเป็นรัฐบาล เป็นผู้ปกครอง

 

 

ทำไมต้องเล่าการเมืองในโลกดิสโทเปียแทนที่จะเล่าเรื่องแบบเรียลิสติก

มันปลอดภัยกว่า มันชัดเจนมากว่าเป็นเรื่องแต่ง และดูเป็นนาร์เนียมาก มันดูไม่น่าจะไปกระทบจิตใจของผู้ใด และมันจะทำให้เด็กอยากอ่าน

 

ตอนนั้นเราไม่ได้คิดถึงซีไรต์หรืออะไรเลย คิดแค่ว่าอยากจะมีหนังสือเล่มหนึ่งที่ฉันอยากอ่านวรรณกรรม และฉันมาอ่านเล่มนี้แล้วทำให้ไม่กลัววรรณกรรม และอยากจะไปอ่านเล่มอื่น เราอยากเป็นเล่มที่อ่านง่าย ไม่ได้จะบอกว่าเก่งหรือสำคัญตนนะว่า ก่อนจะอ่านวรรณกรรมเล่มไหนเธอต้องมาอ่านงานของฉันก่อน แต่เราคิดว่ามีนักอ่านที่เป็นเด็กเยอะ แล้วเราก็ใกล้ชิดกับเด็ก ถ้ามันก็เป็นสิ่งที่พอจะทำให้เด็กอ่านได้ เราก็จะทำ

 

หลังจากนี้ลี้จะเขียนงานสะท้อนสังคมต่อไหม

เล่มที่ออกมาหลังซีไรต์จะเป็นนิยายวาย แล้วก็เพิ่งส่งต้นฉบับวายไปอีกเล่มหนึ่ง ถ้าผ่านก็ออก ไม่ผ่านก็ไม่ออก เราไม่ได้มีความรู้สึกว่ายังไงฉันก็ผ่านอยู่แล้ว มันมีหลายปัจจัย เผื่อเขาไม่ชอบ เผื่อตลาดไม่ชอบ และทางแพรวก็อยากได้วรรณกรรม ซึ่งเราก็มีเรื่องที่อยากเขียน แต่ต้องใช้เวลา

 

อย่างตอนที่เขียน สิงโตนอกคอก เสร็จ เราเหนื่อยมาก ก็จะอยากเขียนนิยายวาย อยากเขียนอะไรที่มันสวยๆ เราอยากจะบอกว่าที่น่ากลัวกว่าคือได้ซีไรต์ คือความกลัวว่าแล้วจะเขียนเล่มใหม่ไม่ดีเท่าเล่มนี้ แล้วก็เลยเลิกเขียนไปเลย ซึ่งนิยายวายไม่กดดันเท่าไร

 

คิดว่าวายน่าจะนิยมไปได้เรื่อยๆ ต่อจากนี้ไหม

มันเป็นเทรนด์ แต่เราก็กลัวนะว่ามันจะดรอป เพราะมันเคยมีนิยายแฟนตาซีที่ดังมาก แล้วภายในช่วงเวลาไม่นานที่กระแสวายมา แฟนตาซีไทยก็ลงช่วงนี้เลย แล้วพอลงมันหายเหี้ยนเลยนะ จากที่เคยมีพื้นที่ในฮอลล์ใหญ่เต็มงานหนังสือ แต่ตอนนี้มีอยู่โต๊ะเดียว

เพื่อนๆ ก็คุยกันว่า เนี่ย ตอนนี้วายกำลังดังมาก มันก็ต้องมีสักวันที่จะดรอปลง แล้วก็แตกเป็นสองเสียง บางคนบอก ไม่หรอกแก แฟนตาซีมี genre เดียว แต่วายมีทั้งรักหวานแหวว ดราม่า ผี ต่างๆ บางคนก็บอกว่าวายเทียบได้กับนิยายรัก เพราะนิยายรักมันอยู่ได้ วายก็เข้มแข็งปานเดียวกัน

 

คิดว่าเทรนด์ต่อไปจะเป็นอะไร หากนิยายวายกระแสดรอปลง

หนูเคยคิดว่างานแนวดิสโทเปียมันน่าจะมา เพราะว่าก่อนหน้านี้มันดังในต่างประเทศมาสักพักแล้ว แต่มันไม่เข้าไทยสักที ไม่รู้มันไปเลี้ยวซ้ายดาวคะนองตรงไหน (หัวเราะ)

FYI
  • ดิสโทเปีย (dystopia): คือวรรณกรรมประเภทหนึ่งที่เล่าถึงสังคมในจินตนาการแบบเลวร้ายสุดขั้ว ตรงกันข้ามกับคำว่า ยูโทเปีย (Eutopia) ที่เป็นสังคมในอุดมคติ เต็มไปด้วยความสุขสบาย และมีความสุขแบบที่ทุกคนอยากอยู่
  • ช่วงที่คัดเลือกเรื่องสั้นเพื่อนำไปรวมเป็นเล่ม สิงโตนอกคอก และ วันหนึ่งความทรงจำจะทำให้คุณแตกสลาย ลี้พบว่าตัวเองเขียนเรื่องสั้นไปแล้วถึง 107 เรื่อง แต่ก็ยังต้องเขียนเรื่องขึ้นใหม่ขณะที่รวมเล่มอยู่ดี
  • ลี้ มีนามปากกาสำหรับการเขียนนิยายวายในชื่อ ‘ร เรือในมหาสมุท’ มีที่มาจากพ่อของลี้เป็นคนชอบเขียนกลอนในหนังสือรุ่น และกลอนแซวคน ใช้นามปากกาว่า ‘ส เกียรติสมุท’ โดย ส มาจากชื่อจริงว่า สมเกียรติ เลยเป็น ส และเกียรติสมุท เช่นเดียวนักเขียนในยุค ‘ป. อินทรปาลิต’ ลี้ก็เลยเอาไอเดียนี้มาตั้งเป็นนามปากกาของเธอบ้าง
  • อีกหนึ่งแรงบันดาลใจในการเขียนของลี้คือหนังแนวดิสโทเปีย ซึ่งลี้ชอบเรื่อง Batman The Dark Knight Rise, Snowpiercer, Inception, Cloud Atlas และ High Rise
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising