×

ชวนอ่านเรื่องสั้นที่เข้ารอบแรกซีไรต์ปีนี้!

20.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

12 Mins. Read
  • แนะนำเรื่องสั้นที่ส่งเข้าประกวดรางวัลซีไรต์ประจำปีนี้ว่าแต่ละเล่มมีความโดดเด่นอย่างไร โดยมีเรื่องสั้นที่ผ่านเข้ารอบแรก 17 เล่ม จากทั้งหมด 57 เล่ม
  • เรื่องสั้นทั้งหมดแสดงให้เห็นพัฒนาการของนักเขียนไทยในด้านเนื้อหาที่หลากหลายและความพิถีพิถันในกระบวนการผลิต ทั้งจากนักเขียน นักออกแบบปก และบรรณาธิการ ที่มีชั้นเชิงในการนำเสนอเรื่องเล่าแฝงความหมายลึกซึ้งตั้งแต่หน้าปกจนถึงเนื้อใน อ่านแล้วให้ความรู้สึกเหมือนได้ดูหนังอินดี้

     ก่อนจะถึงวันตัดสินเรื่องสั้นที่เข้ารอบรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือซีไรต์ ประจำปีนี้ ทางคณะกรรมการฯ ได้ประกาศ 17 เรื่องสั้นที่ผ่านรอบแรกจากจำนวน 57 เล่มออกมาแล้ว โดยภาพรวม เรื่องสั้นทั้งหมดได้แสดงถึงพัฒนาการในด้านความหลากหลายของเนื้อหาและความพิถีพิถันทั้งจากตัวนักเขียน ศิลปินผู้ออกแบบปกหนังสือ และบรรณาธิการ

     อาจารย์สกุล บุณยทัต หนึ่งในกรรมการซีไรต์ กล่าวในงาน ‘อ่านก่อนซีไรต์ 17 รวมเรื่องสั้นสัญชาติไทย ทำไมต้องรอแค่เล่มเดียว’ ว่า “ปีนี้อ่านแล้วเหมือนดูหนังอินดี้ หรือเจอคนอินดี้ที่มีสาระ ไม่ใช่เขียนแล้วรู้เรื่องคนเดียว แต่คนอื่นๆ อ่านแล้วเข้าใจได้”

     ทั้งนักเขียนรุ่นใหญ่และคลื่นลูกใหม่ต่างหันมาเล่าเรื่องของคนธรรมดาที่ไม่มีวีรกรรมยิ่งใหญ่ แต่เป็นเรื่องภายใน ความขัดแย้ง การต่อสู้ หรือการตามหาอัตลักษณ์ของตนเองที่สูญหายจากการดำเนินชีวิต มีทั้งเรื่องของคนเมือง คนภูมิภาคต่างๆ คนท้องถิ่น และคนต่างชาติ เนื้อหามีทั้งเสียดสีสังคม ตั้งคำถามต่อตัวตนของตัวเอง สังคม และการเมือง  

 

 

     “ปัจจุบันการเขียนประเภทเพื่อชีวิต การสื่อสารอย่างตรงๆ โต้งๆ หรือการต่อสู้กับนายทุนเป็นเรื่องพ้นสมัยไปแล้ว นักเขียนมีชั้นเชิงและเทคนิคมากขึ้น ไม่เขียนฉาบฉวยหรือเพียงแค่มีตัวร้าย-ตัวดี แต่หันมาพูดถึงด้านในของมนุษย์ แสดงความเป็นปัจเจก หรือ passion desire ของตัวเราเอง” อาจารย์สกุลกล่าว

     ด้านกลวิธีการแต่ง นักเขียนส่วนใหญ่ใช้เทคนิคแบบสมัยใหม่และวิธีการแต่งของนักเขียนต่างประเทศ โดยเลือกสรรสไตล์มาประกอบสร้างเข้ากับเนื้อหา วิธีคิด และบทสรุปที่เป็นจุดหมายปลายทางของเรื่องเล่า ก่อเกิดเป็นเอกลักษณ์ที่เมื่ออ่านก็รู้ทันทีว่าเป็นงานเขียนของใคร ไม่ว่าจะเป็นวิกรานต์ ปอแก้ว ที่ได้รับอิทธิพลจากฮารูกิ มูราคามิ, ภู กระดาษ ที่ใช้เทคนิคแบบนักเขียนยุโรปตะวันออก, อนิมมาล เล็กสวัสดิ์ ที่ใช้เชิงอรรถแยกเรื่องเล่าแฟนตาซีออกจากเรื่องจริง, อนุสรณ์ ติปยานนท์ ใช้ประวัติศาสตร์ผสานเข้ากับชีวิตของตัวละคร, เงาจันทร์ ที่เล่าเรื่องรักโศกแบบเรียลิสติก หรือนฤพนธ์ สุดสวาท ที่ใช้เทคนิคการเล่าเรื่องแบบภาพยนตร์ ฯลฯ  

 

 

     นอกจากเนื้อหาแล้ว อีกอย่างที่น่าสนใจคือนักออกแบบปกหนังสือที่ผ่านกระบวนการคิดที่ซับซ้อนจนได้ออกมาเป็นหนังสือปกสวย ดึงดูดสายตาผู้อ่าน และมีความหมายที่น่าสนใจไม่แพ้เนื้อหาของเรื่องสั้นหลายเล่ม เช่น ลืมตาตื่นอีกครั้ง… ในเวลาอันสมควร ของปองวุฒิ รุจิระชาคร ที่ติดอันดับการประกวดปกหนังสือสวยสร้างสรรค์  รวมไปถึงบรรณาธิการที่ทำหน้าที่คัดสรรเรื่องสั้นมาเรียงร้อยใหม่อย่างไม่สะเปะสะปะ ซึ่งก็มีหลายวิธีการ ทั้งการเรียงร้อยเรื่องราวให้เกิดความสับสบอลหม่าน การเรียงลำดับเรื่องจากหน้าไปหลัง หรือหลังไปหน้า การเรียงตามระดับความเข้มข้นของอารมณ์ การแบ่งภาค หรือองก์ของเรื่องสั้น และการคิดชื่อหนังสือที่แฝงนัย ฯลฯ

     THE STANDARD ทำการรวบรวม 17 เรื่องสั้นว่าแต่ละเล่มมีความโดดเด่นแตกต่างอย่างไร เพื่อให้คุณได้ลองสัมผัสกับหนังสือที่ตรงจริตและท้าทายการอ่านมากที่สุด โดยที่ไม่ต้องรอหนังสือที่ได้รางวัลเพียงแค่เล่มเดียว

 

 

  1. กลับสู่โลกสมมุติ – รัชศักดิ์ จิรวัฒน์

     หนังสือรวบรวมเรื่องสั้นในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา และคัดสรรจากบรรณาธิการให้เหลือ 10 เรื่อง ชื่อหนังสือ กลับสู่โลกสมมุติ หมายถึง นักเขียนคือผู้สร้างโลกสมมุติขึ้นมา แต่ถึงแม้จะเป็นเพียงเรื่องอุปโลกน์ ทว่ามันก็บอกความจริงอะไรบางอย่างกับสังคมหรือแง่มุมบางอย่างของชีวิต ที่หากพูดตรงๆ มันอาจจะไม่น่าสนใจ หรือพูดแทนบางเรื่องที่ไม่อาจพูดได้

     เนื้อหาเล่าถึงชีวิต สังคม และการเมืองที่ผ่านมา ทั้งความขัดแย้ง ความเปลี่ยนแปลง รวมถึงความรักและความสัมพันธ์ที่แฝงมุมมองความคิดที่มีต่อสังคมเอาไว้

     ความโดดเด่น: บรรณาธิการเรียงเรื่องโดยไต่ระดับความเข้มข้นของอารมณ์ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

     รัชศักดิ์กล่าวว่า หลายเรื่องไม่ได้ทำให้เกิดความบันเทิง เพราะจะพูดถึงด้านมืดของมนุษย์ ตัวละครจะถูกท้าทายด้วยเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้ต้องสู้กับศีลธรรมในใจ หรือเส้นแบ่งความดี-ความเลว เพื่อให้คนอ่านกลับมาคิดและเห็นความจริงบางด้านที่อาจจะเคยมองข้ามไป ขึ้นอยู่กับประสบการณ์การตีความของผู้อ่านแต่ละคน

 

 

  1. กลางฝูงแพะหลังหัก – อุมมีสาลาม อุมาร

     เรื่องของหญิงมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เล่าถึงผู้หญิงรอบตัวและเรื่องของแม่ ซึ่งอุมมีสาลามมองว่าคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าหญิงมุสลิมจะต้องเก็บตัว ไม่เข้าสังคม หากแม่ของเธอเป็นคนที่มีปฏิสัมพันธ์กับคนภายนอกเยอะมาก จึงนำเรื่องเล่าเหล่านี้กลับมาเพื่อทำให้เห็นความเป็นหญิงมุสลิมในอีกมิติหนึ่ง

     ความโดดเด่น: เรื่องของหญิงมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเสียงเล่าจากคนในพื้นที่ เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยได้พบเห็นในวรรณกรรมไทยมากนัก

     คำว่า แพะหลังหัก ยังเป็นสัญลักษณ์ที่หมายถึงการบาดเจ็บของสิ่งมีชีวิต ในเรื่องสั้นตอนหนึ่งจะเล่าถึงหมู่บ้านที่มีแพะตัวหนึ่งที่อยู่ผิดที่ผิดทาง มันไม่มีที่ของมัน แต่อยู่ตามท้องถนน ใต้ถุนบ้าน หรือบางทีก็เข้ามาในบ้านคน มันถูกคนทำร้ายตลอดเวลาแล้วก็ตาย เพราะว่าอยู่ไม่ถูกที่ และไม่สามารถต่อสู้กับคนได้ด้วยตัวมันเอง ก็เหมือนกับคนในพื้นที่ที่ถูกเขาจัดกลุ่มว่าอยู่ผิดที่ผิดทาง ทั้งที่ไม่ใช่เป็นเพราะตัวเขา แต่เป็นอำนาจที่มองไม่เห็นบางอย่างต่างหาก

 

 

  1. ความโดดเดี่ยวของนักวิ่งระยะไกล – วิกรานต์ ปอแก้ว

     เรื่องสั้นที่เขียนขึ้นระหว่างการเป็นนักวิ่งมาราธอนระยะทาง 42.195 กิโลเมตร ที่ต้องใช้เวลาวิ่ง 5-6 ชั่วโมง ช่วงเวลาที่ต้องจมอยู่กับตัวเอง ไม่คุยกับใครเลย ทำให้เกิดภาวะบางอย่างที่เข้าใกล้กับคำว่าสมาธิ และเป็นต้นทางของการเขียน โดยชื่อเรื่องได้บรรณาธิการเป็นผู้คิด ได้แรงบันดาลใจจากเพลง The Loneliness of the Long Distance Runner ของไอรอน เมเดน เนื้อหาเล่าถึงมิตรภาพ ความสัมพันธ์ เพศ การเมือง ที่นักเขียนมองสังคมในช่วงเวลานั้น

     ความโดดเด่น: นอกจากความโดดเดี่ยวที่เกิดขึ้นระหว่างการวิ่ง ซึ่งน่าจะโดนใจเหล่านักวิ่ง หรือหาคำตอบว่าทำไมการเขียนกับการวิ่งแทบจะเป็นสิ่งเดียวกัน ยังเสนอมุมมองต่อความความตายจากการที่อาม่าของเขาเสียชีวิต จากที่เคยคิดว่าความตายเป็นศิลปะ เป็นสิ่งสวยงาม ไม่ใช่เรื่องเศร้า วิกรานต์มองว่าความตายคือการสิ้นสุดของบางอย่างเพื่อไปสู่อะไรบางอย่าง เช่น คนที่ตายก็ตายแล้วจบ แต่คนที่ยังอยู่หลังจากที่มีคนตายไปแล้วจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เป็นอารมณ์ใหม่ที่ผู้เขียนนำมาใช้สร้างปมของตัวละคร

 

 

  1. เงาแปลกหน้า – อนิมมาล เล็กสวัสดิ์ 

     หนังสือรวมเรื่องสั้นแนวเสียดสี 8 เรื่อง เล่าถึงชีวิตของคนเมืองในเรื่องใกล้ตัว ความเจ็บปวดจากการใช้ชีวิตที่ต้องเร่งรีบตามจังหวะความรีบร้อนของเมือง การป่ายปีนไขว่คว้าแต่ความสำเร็จจนทำให้ละเลยความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หรือส่วนเสี้ยวของตัวตนสูญหาย และการให้ความสำคัญกับตัวตนบนโลกเสมือนมากกว่าคนที่อยู่ตรงหน้า

     ความโดดเด่น: นักเขียนและนักออกแบบปกซ่อนความหมายในรายละเอียดไว้เยอะมาก เช่น แนวคิดที่ว่าชีวิตของคนเมืองที่ดูเหมือนเป็นชีวิตธรรมดา หากแท้จริงมีอะไรที่บิดเบี้ยวซ่อนอยู่ ผู้เขียนใช้เทคนิคใส่เรื่องเล่าเหนือจริงไว้ในเชิงอรรถเพื่อแยกเรื่องเล่าออกเป็นสองส่วนจากความจริง หรือการเล่นกับคำว่า ‘เงา’ ที่สื่อความหมายว่าภาพสะท้อนในกระจก เพื่อเสนอประเด็นให้ผู้อ่านฉุกคิดว่าเงาของตัวเองที่ปรากฏบนกระจกยังเป็นคนเดิมที่ตัวเองเคยรู้จักอยู่หรือไม่ นำมาสู่การออกแบบปกในทิศทางเดียวกัน

 

 

  1. ดั่งเรือนร่างไร้องคาพยพ – ภู กระดาษ

     เรื่องสั้น 11 เรื่องสะท้อนชีวิตของคนอีสานที่ถูกกดขี่และไม่ได้รับความเป็นธรรม ปมปัญหาชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อยที่ต้องวนเวียนอยู่แต่กับความทุกข์ยาก เกิดจากโชคชะตาฟ้าลิขิต หรือโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมกันแน่  

     ความโดดเด่น: หลายคนอาจรู้สึกว่าเรื่องราวท้องถิ่นอย่างสาวโรงงาน ท้องนา นิทาน ความเชื่อปรัมปรา หรือกระทั่งภาษาถิ่นอาจไม่เข้ากับตัวเอง แต่ทั้งหมดทั้งมวลเป็นแค่เครื่องมือที่นักเขียนเอามาเล่าเพื่อแทรกความหมายที่แท้จริงไว้อีกชั้นหนึ่ง เอกลักษณ์ของภู กระดาษ ในการนำภาษาอีสานผสมผสานเข้ากับภาษาไทยกลาง ทำให้เหล่านักเขียนและนักวิจารณ์ต่างแนะนำหนังสือเล่มนี้ว่าควรอ่าน

     ภู กระดาษ กล่าวว่า ชื่อเรื่องของหนังสือเล่มนี้บอกความหมายการใช้ภาษาของเขาไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้วคือ เรือนร่างไร้องคาพยพ หมายถึง ร่างกายที่ไร้ซึ่งอวัยวะหรือส่วนประกอบต่างๆ ก็เหมือนกับการใช้ภาษาของเขาที่ไม่มีความเชื่อมต่อกัน มีลักษณะลื่นไหลเป็นอนิจลักษณ์มากกว่าจะบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของนักเขียน ไม่ว่าผู้อ่านจะอ่านแค่เอาเรื่องหรืออ่านเพื่อตีความไปอีกกี่ชั้น ก็ช่วยเปิดโลกทัศน์ในทุกทางได้ทั้งสิ้น  

 

 

  1. นักแสดงสด – สาคร พูลสุข

     เรื่องสั้น 9 เรื่อง โดยชื่อเรื่องได้แรงบันดาลใจจากตอนไปเที่ยวกับเพื่อนในคืนหนึ่ง แต่ยามดึกเขาต้องเดินกลับบ้านคนเดียวมาตามชายทะเลแล้วเดินผ่านหมาเกือบสิบตัวที่ทั้งขู่ ทั้งเห่า ทั้งไล่จนต้องเดินตัวเกร็ง สาครกล่าวว่า “มันเหมือนการแสดงสดที่มีหมาเข้าฉากมา ถ้าหมารุมผม ผมก็คงเสร็จมัน แต่อีกใจก็มองว่าควรไว้เนื้อเชื่อใจมันหน่อยว่ามันคงไม่เข้ามากัดหรอก คนก็เหมือนกัน เราไว้เนื้อเชื่อใจใครสักคนหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องหาทางหนีทีไล่จากเขาไว้ด้วย” จากมุมมองนี้เขาสามารถนำมาผูกเป็นเรื่องราว สร้างตัวละครขึ้นมาชุดหนึ่ง จนเล่าเรื่องสั้นได้ถึง 4 เรื่อง

     ความโดดเด่น: คมคายและกระทบใจ มีทั้งเรื่องของคนเหนือและคนใต้ และนักเขียนมีพื้นเพกับนาฏกรรมและศิลปะพื้นบ้านภาคใต้ จึงนำมาใช้ในการสร้างเรื่องเล่าเพื่อให้เราได้สำรวจตรวจสอบการดำเนินชีวิตของมนุษย์สมัยใหม่ เช่น เรื่อง เฆี่ยนพราย เล่าถึงพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของการรำมโนราห์ เรียกดวงวิญญาณของคู่ต่อสู้มารวมไว้อยู่ในลูกมะนาว ร่ายคาถา และกระทืบลูกมะนาวให้แตกเหมือนกระทืบดวงวิญญาณของคู่ต่อสู้ ก็เปรียบเหมือนกับคนเราในสังคมที่แม้จะไม่ได้เรียกวิญญาณใครมา แต่เราก็แอบกระทืบคนรอบตัวอยู่เสมอเพื่อที่จะเป็นผู้ชนะ  

 

 

  1. เมือง บ้าน ผม – จำลอง ฝั่งชลจิตร

     เรื่องสั้นคัดสรรจากนักเขียนรุ่นใหญ่ที่เขียนเรื่องสั้นมาแล้วกว่า 240 เรื่อง สำหรับเล่มนี้เหมือนเป็นสะพานเชื่อมประสบการณ์ความคิดระหว่างคนรุ่นก่อนและคนรุ่นใหม่เข้าด้วยกัน

     ความโดดเด่น: นักเขียนมีความนิ่งในการใช้ภาษาและความคิดของตน สามารถเอาเรื่องง่ายๆ มาเขียนได้ มีความบีบคั้นอารมณ์คนอ่านทีละนิด เน้นการสร้างสรรค์วิธีการเล่าเรื่องอย่างหลากหลายมากกว่าจะคำนึงถึงเอกภาพของเนื้อหา โดยแบ่งเรื่องสั้นเป็น 3 ภาคคือ เมือง บ้าน ผม เมือง คือการเล่าประสบการณ์ขณะใช้ชีวิตอยู่ในเมืองกว่า 20 ปี บ้าน คือบ้านเกิดที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของเมือง และผม คือตัวนักเขียนผู้เฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงของเมือง บ้าน และตัวเอง บางเรื่องมีการใช้เทคนิคเล่านิทานผสมกับเรื่องสั้น ทลายความเป็นเรื่องแต่งและเรื่องจริงให้กลมกลืนจนยากจะแยกออก  

 

 

  1. ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า – จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์

     เรื่องสั้น 9 เรื่องในรอบ 5 ปี ว่าด้วยเรื่องเศร้าของตัวละครที่เพิ่ง ‘ตระหนักรู้’ ถึงข้อเท็จจริง หรือรับรู้เหตุการณ์ทั้งประวัติศาสตร์การเมือง หรือประวัติศาสตร์ส่วนบุคคล บางเรื่องแม้จะมองว่าเป็นเรื่องชวนขัน แต่ก็ได้อารมณ์แบบขันขื่น

     ความโดดเด่น: เรื่องเล่าร่วมสมัยบางเรื่องใช้วิธีสัจนิยมมหัศจรรย์ บางเรื่องก็เป็นสัจนิยมอันเรียบง่ายเพื่อตั้งคำถามกับความ ‘เหนือจริง’ กับปรากฏการณ์ทางสังคมต่างๆ เช่น น้ำตาที่ต่าง เล่าถึงการตระหนักรู้ของตัวละครที่ล่วงรู้ความลับของผู้นำสูงสุดในประเทศว่าหาได้มีอายุร้อยกว่าปีดังที่ประชาชนเชื่อกัน เพดานอาดูร เล่าถึงการตระหนักรู้ของผู้เช่าคอนโดมิเนียมรายหนึ่งที่พบว่าห้องที่เธอเช่าไม่ใช่ห้องชั้นบนสุด เพราะได้ยินเสียงร้องไห้ปริศนาบนเพดาน เมื่ออ่านแล้วอาจทำให้ตาของเราเป็นเช่นเดียวกับตาเบิกโพลงบนหน้าปกที่เกิดจากการตระหนักรู้ถึงความจริงก็เป็นได้

 

 

  1. ผู้ปลอมแปลงสิงโต – เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์

     เรื่องสั้น 12 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองมากกว่าหนังสือที่ผ่านมาของเขา เพราะเขียนในปี 2557 ซึ่งมีความเข้มข้นทางการเมืองสูง เช่น ประวัติศาสตร์ของมังกร เล่าถึงนักการเมืองที่มีอิทธิพลและเป็นที่นับหน้าถือตาของคนในสังคมจนเมืองนั้นกลายเป็นเมืองของตัวเองไป
     ความโดดเด่น: มีชั้นเชิงในการเล่าเรื่องทางการเมืองแบบไม่ชัดเจน ไม่โจ่งแจ้งว่ากำลังวิพากษ์วิจารณ์อยู่ หากผู้อ่านไม่ได้ติดตามการเมืองไทยก็แทบจะไม่รู้ว่ากำลังพูดถึงประเด็นนี้อยู่ หรืออาจเป็นแค่การทำให้ตื่นรู้ถึงประเด็นบางอย่าง เช่น ผู้ปลอมแปลงสิงโต พูดถึงม็อบเด็กบุกรัฐสภาและมีการย้อมสีสุนัขและใส่แผงคอให้สิงโตในสวนสัตว์ ทำให้นึกถึงความไม่ตรงไปตรงมาของรัฐมนตรีในการรับมือกับสถานการณ์สักเรื่อง เรื่องราวจึงพลางให้นึกถึงคนบางคนในสังคม หรือเหตุการณ์ในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งขึ้นมา

 

 

  1. ร้านหนังสือแมวฮกเกี้ยน – นฤพนธ์ สุดสวาท

     เรื่องสั้น 8 เรื่องเกี่ยวกับผู้คนในพื้นที่ต่างๆ ทั้งเหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก และข้ามพรมแดนไปประเทศเพื่อนบ้านต่างเวลาต่างวาระ โดยได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวในชีวิตประจำวัน การเดินทาง ข่าวสาร กระแสโซเชียลเน็ตเวิร์ก และการตั้งคำถามที่ผู้คนส่วนมากมักหลงลืม

     ความโดดเด่น: ทั้งนักเขียนและบรรณาธิการได้ทำงานร่วมกันในการรวบรวมและคัดสรรเรื่องสั้น นำมาตัดต่อ แต่งเติม ร้อยเรียงใหม่ให้มีความเป็นเอกภาพ บางเรื่องใช้วิธีนำเรื่องสั้นหลายเรื่องมารวมร่าง เช่น เก็บพื้นที่ให้วีรบุรุษและเหยื่อของเรา เป็นการนำเรื่องสั้น 4 เรื่องที่เคยตีพิมพ์และ 1 เรื่องใหม่มาเรียงต่อกัน ก่อให้เกิดอารมณ์ที่หลากหลาย บางคนรู้สึกถึงความเศร้า บางคนรู้สึกถึงความเหงา หรือการรอคอยความรัก เรื่องที่แนะนำคือ ร้านหนังสือแมวฮกเกี้ยน ที่ให้อารมณ์ของตัวละครแบบร่วมสมัย ทั้งความเปล่าเปลี่ยว เคว้งคว้าง แปลกแยก และด้วยการใช้ภาษาสั้นๆ และกระชับ ทำให้ผู้อ่านหลายคนรู้สึกเหมือนกำลังดูหนัง

 

 

  1. เรากำลังกลายพันธุ์ – เกริกศิษฏ์ พละมาตร์

     เขาคือ พลัง เพียงพิรุฬห์ กวีรางวัลซีไรต์เมื่อปีที่แล้วจากเรื่อง นครคนนอก และในปีนี้เขาส่งเรื่องสั้น 8 เรื่อง เล่าถึงคนชายขอบที่พยายามรักษาอัตลักษณ์ของตนเองให้ยังคงอยู่นานที่สุด ก่อนที่วิถีดั้งเดิม คุณค่า อุดมการณ์ และอัตลักษณ์ของพวกเขาจะกลายพันธุ์เป็นอื่น

     ความโดดเด่น: วัชระ สัจจะสารสิน กล่าวถึงเอกลักษณ์ของเกริกศิษฏ์ว่า ‘เป็นการเขียนโดยเน้นหนักไปที่เนื้อหาของเรื่อง ไม่เน้นวิธีการ’ หมายถึง เป็นการเขียนที่พุ่งลงไปกับเนื้อเรื่อง ใส่รายละเอียดจนเรื่องมีมิติ ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกร่วมไปกับตัวละคร เช่น เดือยหิน เล่าถึงฉากการชนไก่ ก็สามารถบรรยายอาการไก่บาดเจ็บ ตาห้อยจนต้องเย็บตานั้นเป็นอย่างไร หรือ บางลาไม่เคยลาก่อน ที่เล่าถึงชีวิตของคนท้องถิ่นอีสานที่ไปใช้ชีวิตที่ภาคใต้ได้อย่างมีมิติ รายละเอียดเหล่านี้มาจากประสบการณ์ชีวิตของนักเขียนที่ประสบพบเห็นมาด้วยตัวเอง เรื่องสั้นของเขาจึงเปรียบเหมือนกาแฟที่เน้นรสชาติมากกว่ากรรมวิธี เป็นการอ่านเพื่อขบคิดมากกว่าโชว์เทคนิค

 

 

  1. ลืมตาตื่นอีกครั้ง… ในเวลาอันสมควร – ปองวุฒิ รุจิระชาคร

     เรื่องสั้น 12 เรื่องในรอบ 3-5 ปีที่ผ่านมา ได้แรงบันดาลใจมาจากสังคมในยุคอึมครึมและเกิดการเปลี่ยนแปลงของโลก จนได้ตัวละครที่มีบุคลิกต่างกัน 12 แบบ พูดถึงประเด็นต่างๆ รอบตัวตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่าง จะอยู่ร่วมกับคนในสังคมอย่างราบรื่นอย่างไร ไปจนถึงเรื่องนามธรรมอย่าง มนุษย์เกิดมาทำไม อะไรคือวัตถุประสงค์ของชีวิต ความสุขความทุกข์ขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไร

     ความโดดเด่น: การตั้งคำถามเหมือนทำให้ผู้อ่านได้ค้นหาคำตอบไปพร้อมกับนักเขียน แม้คำตอบที่ได้อาจจะไม่ชัดเจน แต่สุดท้ายแล้วเรื่องราวทั้งหมดกำลังบอกถึงปรากฏการณ์สังคมในยุคนี้ และด้วยวัยของนักเขียนที่เข้าสู่อายุ 30 กลางๆ จึงทำให้ตระหนักว่าไม่มีอะไรจะยิ่งใหญ่ไปกว่า ‘กาลเวลา’ เพราะเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องต่อสู้และพ่ายแพ้มัน จึงเป็นที่มาของชื่อเรื่องที่ตั้งคำถามว่า แม้บางครั้งเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่อยากจะหลับตาลง แต่พอกาลเวลาเปลี่ยน ก็ถึงเวลาที่เราควรจะลืมตาเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาสังคมแล้วหรือยัง

 

 

  1. สิงโตนอกคอก – จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท

     เรื่องสั้นแนวแฟนตาซี 9 เรื่อง เสนอสังคมโลกในเชิงเปรียบเทียบ ชวนให้นึกย้อนถึงระบอบการปกครองบางประเทศที่มีทั้งความเหมือนและความแตกต่าง  

     ความโดดเด่น: พล็อตของเรื่องสั้นมีลักษณะคล้ายภาพยนตร์ และผู้เขียนยังชื่นชอบการเขียนนิยายวาย บวกกับการที่อายุยังน้อย หนังสือเล่มนี้จึงมีความอ่านง่ายกว่าเรื่องสั้นแนวสัจนิยมอื่นๆ เช่น ในโลกที่ทุกคนอยากเป็นคนดี เล่าถึงโลกที่ชะตาชีวิตของคนถูกกำหนดด้วยไพ่ หากเป็นคนดีไพ่ก็จะมีสีขาว หากเป็นคนไม่ดี ไพ่ก็จะมีสีดำ และคนดีมีสิทธิ์ฆ่าคนได้ตามความพอใจจนกว่าไพ่จะกลายเป็นสีดำ ส่วนคนที่มีไพ่สีดำก็ต้องหาทางหนีเอาตัวรอด หรือ สมาชิกในหลุมหลบภัย เล่าถึงสองครอบครัวที่หนีสงครามมาอาศัยอยู่ในหลุมหลบภัยเพื่อรอสงครามสงบ แต่ทว่ารอเท่าไรสงครามก็ไม่สงบสักที หรือบางทีสงครามสงบแล้ว แต่บางคนในหลุมหลบภัยนั้นยังไม่อยากออกมาสู่โลกความจริง

 

 

  1. เสน่หานุสรณ์ – เงาจันทร์

     เรื่องสั้นแสนโศก 10 เรื่อง โดยเรื่องที่นักเขียนชอบมากเป็นพิเศษคือ หมื่นแสนอาลัย เล่าถึงละคร ชาตรี ที่เมื่อตัวแสดงใส่ชฎาก็จะกลายเป็นกษัตริย์หรือราชินี แต่พอถอดหัวโขนมานั่งอยู่ที่พื้นก็จะเป็นคนเสมอกัน มันเป็นศิลปะที่เหมือนชีวิตมนุษย์ที่ต้องใส่และถอดหัวโขนตลอดเวลา การที่ผู้เขียนได้ไปเห็นนักแสดงที่มีเรือนร่างสวยมากคนหนึ่ง จึงนำมาสร้างเป็นตัวละครผู้หญิงอายุ 45 ที่ไปนอนกับเด็กอายุ 15 อันเป็นการก้าวล่วงทางกฎหมายและข้ามเส้นของตัวเอง ทั้งที่รู้ว่าจบไม่สวย แต่ก็ยังทำ

     ความโดดเด่น: เรื่องเล่าของเงาจันทร์เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องรักฉาบฉวย หรืออกหักแล้วลืมกันภายใน 3 วัน แต่เป็นเรื่องรักถึงขั้นทำให้จิตวิญญาณแตกสลาย ซึ่งคนอ่านจะพบตัวเองอยู่ในเรื่องเศร้าพวกนี้ในแง่มุมใดมุมหนึ่ง เพราะมันคือเรื่องทั่วไปที่ต้องพบเจอ ไม่ใช่เรื่องเกินจริง

 

 

  1. อันเป็นที่รัก – นทธี ศศิวิมล

     หนังสือรวมเรื่องสั้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา เล่าถึงความสัมพันธ์หลากหลายของบุคคลหรือสิ่งที่รัก ไม่ว่าจะเป็นคนรัก แม่ ลูก พี่ น้อง หุ่นยนต์ คนที่ตายไปแล้ว คนที่ยังรอด ต้นทางหรือปลายทางที่ความรักและความสัมพันธ์นั้นพาตัวละครไป รวมถึงความทรงจำทั้งดีและร้าย สุขและเศร้า รวมถึงการหาทางออกของปัญหาความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างอ่อนโยนและงดงาม แม้จะไม่สวยหรูเหมือนในเทพนิยาย

     ความโดดเด่น: โดยปกติ นทธีเป็นเจ้าแม่เรื่องผี และเล่มนี้ก็ยังคงมีผีแบบตรงๆ แต่จะเป็นการสื่อในความหมายอื่น เล่มนี้จึงให้ความแตกต่างจากงานเขียนก่อนหน้าที่ให้ความสำคัญกับ ‘ความหวาน’ ในความสัมพันธ์ เช่น หน้าปกที่ดูเหมือนหนังสือเกาหลี แต่จริงๆ มาจากธีมงานวัด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏในแต่ละเรื่อง หรือการตั้งชื่อเรื่องที่ได้แรงบันดาลใจมาจากตอนคุยเล่นกับลูกขณะทำอาหาร ที่ลูกถามแม่ว่าใส่อะไรลงไปอาหารถึงอร่อย ทำให้คิดได้ว่าเพราะใส่ความรักลงไปในอาหาร กับงานเขียนก็ควรจะใส่ความรักลงไปเหมือนกัน โดยที่รสอร่อยและสนุกไม่ได้มาจากการหัวเราะเพราะความบันเทิง

 

 

  1. อาคเนย์คะนึง – อนุสรณ์ ติปยานนท์

     เรื่องสั้นรักเหงาแถวแผ่นดินอุษาคเนย์ บางเรื่องคือโศกนาฏกรรม บางเรื่องมีอีโรติก ควบคู่ไปกับการเล่าประวัติศาสตร์ในดินแดนเออีซี เช่น การพลัดพรากบนสะพานลองเบียนในฮานอย นางตันไตในลาวกับเสียงเพลงปะติวัด แมวที่นอนบนผ้าของนบีมูฮัมหมัด รูปปั้นหญิงสาวที่ไม่มีใครรู้จักลอยมากับแม่น้ำแซนน์ ภาพถ่ายระหว่างเกิดสุริยุปราคาบนถนนบาตะฮ์กอลี ชายหนุ่มผู้หลงใหลเชือก เด็กหนุ่มหนีเรียนมาเจอขุมทรัพย์ทางปัญญาอันยิ่งใหญ่ในถ้ำ และนักปลอมแปลงผู้พยายามคัดลอกเตภูมิกถาจากห้องสมุด

     ความโดดเด่น: เส้นเรื่องขับเคลื่อนไปด้วยความรักไม่ว่าตัวละครจะทำอะไร อนุสรณ์ ติปยานนท์ กล่าวถึงประเด็นความรักในงานเขียนของเขาในงานเสวนา จากยอดดอย ฝ่าดงกระสุน สู่อุษาคเนย์ว่าความรักคือการต่อสู้รูปแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นรักสมหวังหรือไม่สมหวัง ต่างก็ต้องใช้พลังความกล้าหาญในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความรัก ตัวละครของเขาก็จะแสดงให้เห็นถึงสิ่งนี้ในการพยายามไปให้ถึงจุดนั้น ไม่ว่าจะเผชิญกับปัญหาอะไรก็ตาม

 

 

  1. อีกา – จารุพัฒน์ เพชราเวช

     เรื่องสั้น 8 เรื่องที่นักเขียนได้แรงบันดาลใจจากการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับชาวบ้านชายขอบ และได้ฟังเรื่องเล่า ตำนาน นิทานพื้นบ้าน จึงนำมาบอกเล่าเรื่องราวให้สังคมได้รับรับรู้และเข้าใจในบริบทของท้องถิ่น การเปลี่ยนผ่านจากยุคดั้งเดิมสู่ยุคสมัยใหม่ และการปะทะกันระหว่างอดีตและปัจจุบัน

     ความโดดเด่น: เรื่องของคนชายขอบยังเป็นประเด็นสำคัญที่นักเขียนเลือกใช้สื่อสารโดยเลือกใช้ภาษาถิ่นและการใช้สัญลักษณ์ เพื่อให้คนอ่านรู้สึกมีประสบการณ์ร่วมและเข้าใจถึงสิ่งที่ตัวละครกำลังเผชิญอยู่ โดยเรื่องที่แนะนำคือ สินและครอบครัว ในตอนท้ายเรื่องที่ตัวละครกำลังเผชิญวิกฤตที่กำลังตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ขาดที่พึ่งพิง ไร้ที่อยู่ จากปัญหาที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าชาวบ้านคนหนึ่งจะรับมือ กลายเป็นวิกฤตชีวิตที่ตัวละครต้องตัดสินใจ

     จากเรื่องเล่ามาสู่ปกรูปอีกาเพื่อสะท้อนบุคลิกของตัวละครทั้ง 8 เรื่อง โดยได้แรงบันดาลใจจากภาพวาดของศิลปิน เอมี่ โดเวอร์ (Amy Dover) ซึ่งใช้อีกาเป็นสัญญะของความทึมเทาเสมือนมายาคติที่เกาะกุมยุคสมัย รวมถึงเป็นตัวแทนความเป็นท้องถิ่น เช่น เรื่องเล่า นิทานปรัมปรา ตัวอักษรไทน้อย มอญ และขอม ที่กำลังเลือนหายจากสังคม อีกาที่มองเห็นเพียงตาเดียวยังแสดงถึงความไม่สมบูรณ์และแหว่งวิ่นของสังคม อีกาจึงเป็นตัวแทน ‘ลมหายใจของยุคสมัยแห่งความล่มสลาย’

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising