×

แอร์เอเชียนำทัพสายการบินโลว์คอสต์ ยื่นคลังทบทวนภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน

13.11.2019
  • LOADING...

สายการบินโลว์คอสต์ยื่นหนังสือถึงกระทรวงการคลัง ทบทวนภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินไอพ่น รับปีหน้ากระทบหนัก หลายสายการบินเตรียมลดต้นทุน หลังแบกรับภาระต้นทุนน้ำมัน คาดอาจปรับลดเที่ยวบินในเส้นทางหลัก

 

ชาญกฤช  เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันนี้ (13 พฤศจิกยน) ตนได้รับหนังสือจาก ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย ในฐานะตัวแทนสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) 5 แห่ง เพื่อเสนอการทบทวนเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่นลดลง หลังจากรัฐบาลได้ปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินไอพ่นตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา จัดเก็บภาษีในอัตรา 4.726 บาทต่อลิตร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับการใช้น้ำมันดีเซลและเบนซิน

 

ชาญกฤชกล่าวภายหลังหารือร่วมกันว่า ตนนำเรื่องของสายการบินต้นทุนต่ำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน พิจารณาข้อเสนอในการขอลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินไอพ่น จากปัจจุบัน 4.726 บาทต่อลิตร เมื่อเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ค่อยทยอยตัดสินใจจัดเก็บภาษีเหมือนเดิม หรือเลือกแนวทางเทียบเคียงกับค่าเงินบาทแบบขั้นบันได เช่น หากค่าเงินบาทเคลื่อนไหว 30-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จัดเก็บในอัตราหนึ่ง และเคลื่อนไหวในระดับราคา 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จัดเก็บในอัตราหนึ่ง กระทรวงการคลังจึงรับข้อเสนอมาพิจารณาแนวทางดังกล่าว เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกช่องทางหนึ่ง 

 

ด้านธรรศพลฐ์กล่าวว่า สายการบินต้นทุนต่ำได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัว โดยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ผลของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวได้กระทบต่อการท่องเที่ยวในประเทศ จำนวนผู้โดยสารจากเดิมเกือบเต็มเครื่องร้อยละ 80-100 ต่อเที่ยวบิน ได้ลดลงเหลือร้อยละ 70-80  

 

และยังได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง กระทบต่อการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของต่างชาติ รวมไปถึงการแบกรับภาระต้นทุนจากการสต๊อกน้ำมันของสายการบิน 

 

เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เป็นเส้นทางยอดนิยม แอร์เอเชียยอมแบกรับภาระภาษีแทนผู้โดยสาร 150 บาทต่อลิตร จากค่าตั๋ว 1,200 บาทต่อเที่ยวบิน โดยขณะนี้เริ่มแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหว และไม่สามารถผลักภาระเพิ่มค่าโดยสารได้ โดยสายการบินต้นทุนต่ำทั้ง 5 ราย ต่างประสบปัญหาขาดทุนมากขึ้น เพราะยอดผู้โดยสารลดลงร้อยละ 4-5 ในต้นปีหน้าอาจเห็นหลายแห่งมีปัญหามากขึ้น จึงต้องขอให้รัฐบาลช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าว

 

ขณะที่หลายสายการบินปรับกลยุทธ์ด้วยการลดเที่ยวบินร้อยละ 15 ในเส้นทางหลัก ทั้งเชียงใหม่ กระบี่ ภูเก็ต รวมทั้งชะลอการซื้อเครื่องบินเพิ่มในปี 2563 และขอประเมินการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลเปิดทางให้โครงการชิมช้อปใช้เฟส 3 ได้นำค่าตั๋วเครื่องบินรวมอยู่แพ็กเกจทัวร์ สำหรับการท่องเที่ยวผ่านชิมช้อปใช้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของคนไทยมากขึ้น แต่ยังต้องช่วยเหลือผ่านอีกหลายมาตรการ เพื่อให้สายการบินดีขึ้นจากผลขาดทุนในปัจจุบัน

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising