กิจกรรมของมนุษย์ ตั้งแต่การทำประมงมากเกินไป ปัญหาขยะพลาสติก และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ล้วนมีส่วนทำให้จำนวนประชากรแมงกะพรุนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในบางพื้นที่ของโลก สอดคล้องกับโครงร่างรายงานขององค์การสหประชาชาติที่เผยแพร่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา
ฟาเบียน ลอมบอร์ด นักชีววิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัยซอร์บอร์น ประเทศฝรั่งเศส ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว AFP ว่า จำนวนประชากรแมงกะพรุนเพิ่มขึ้นในทะเลดำ (Black Sea) นอกชายฝั่งนามิเบียและทะเลในญี่ปุ่น แต่ยังไม่ชัดเจนว่ามีประชากรแมงกะพรุนเพิ่มขึ้นในส่วนอื่นๆ ของโลกหรือไม่ เพราะฐานข้อมูลประชากรแมงกะพรุนเพิ่งถูกจัดทำขึ้นในปี 2014
ขณะที่ อนาอีส คูร์เต็ต นักชีววิทยาจากพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำแห่งกรุงปารีส อธิบายว่า ตามปกติแล้วแมงกะพรุนจะปล่อยไข่และอสุจิจำนวนมากลงไปในน้ำ ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วจะจมลงไปในมหาสมุทรลึก ก่อนจะฟักตัวออกมาทำการโคลนนิ่ง เมื่อแมงกะพรุนจำนวนมากรวมตัวกัน เรียกว่าการสะพรั่งของแมงกะพรุน เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นทุก 12 ปีในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่หลังจากนี้เราอาจจะได้เห็นปรากฏการณ์นี้ทุกปี
ส่วน ฟิลลิปส์ คูรี ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศทางทะเลจากสถาบันวิจัยแห่งชาติเพื่อการพัฒนาของฝรั่งเศส ระบุว่า มีปัจจัยสามสิ่งที่ส่งผลให้ประชากรแมงกะพรุนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้แก่ การประมงมากเกินไป การลากอวนในทะเลลึก และอุณหภูมิของมหาสมุทรที่เพิ่มสูงขึ้น
เนื่องจากการทำประมงที่มากเกินไปจับสัตว์นักล่าชนิดอื่น ทำให้แมงกะพรุนมีแพลงก์ตอนเป็นอาหารมากขึ้น นอกจากนี้ขยะพลาสติกความยาวเพียงไม่กี่เซนติเมตรก็สามารถเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของพวกมันได้ และภาวะโลกร้อนอาจจะส่งผลต่อสัตว์บางชนิด แต่แทบจะไม่ส่งผลต่อแมงกะพรุนเลย
คูรีย้ำว่า “หากมีความคิดที่จะจับแมงกะพรุนเพื่อบริโภคหรือทำให้มันหมดไปนั้นไม่เป็นผล เพราะสิ่งมีชีวิตนี้สืบพันธุ์ได้เร็วมาก”
ภาพ: Bertrand Guay / AFP / Getty Images
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: