อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีนเล็งถอนตัวจากการร่วมทุนในไทยและอินโดนีเซียหลังตลาดซบเซา ทำขาดทุนหลายปี หันโฟกัสลุยทำตลาดจีนมากขึ้น พร้อมมองหานักลงทุนที่ต้องการซื้อหุ้นบริษัทร่วมทุนต่อจากนี้
สำนักข่าวใหญ่ในจีน SCMP รายงานว่า ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซของจีนอย่าง JD.com เตรียมถอนตัวจากธุรกิจร่วมทุนในประเทศไทยและอินโดนีเซีย หลังใช้เม็ดเงินไปเกือบๆ 5 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทกำลังมองหานักลงทุนที่ต้องการซื้อหุ้นบริษัทร่วมทุนของ 2 ประเทศดังกล่าวต่อจากนี้
หากย้อนกลับไปหลังจากที่บริษัทได้ร่วมทุนกับ Provident Capital Partners ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนบริษัทนอกตลาดหุ้นในการทำธุรกิจในอินโดนีเซียเมื่อปี 2015 รวมถึงการร่วมทุนกับกลุ่มเซ็นทรัลในประเทศไทยในปี 2017 เพื่อบุกตลาดอีคอมเมิร์ซในไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ถอนทุน 100%! ‘เซ็นทรัล’ เตรียมหย่าขาด JD.com พร้อมอาจเปลี่ยนชื่อ JD Central เป็น JD Commerce คาดเกิดขึ้นภายในปีนี้
- ลดคนลดต้นทุน! JD.com ยักษ์อีคอมเมิร์ซแดนมังกร เล็งปรับโครงสร้าง ‘ธุรกิจค้าปลีก’ เตรียมหั่นพนักงาน บางแผนกอาจลดมากถึง 50%
- จับตา ‘เซ็นทรัล’ ลดบทบาทใน JD Central เปิดทาง ‘จีน’ เข้ามา หลัง 5 ปีขาดทุน 5.6 พันล้านบาท
แต่การทำตลาดก็ไม่เป็นดั่งใจหวัง เมื่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซแข่งขันกันอย่างดุเดือดและมีแนวโน้มเติบโตช้าลง ทำให้สถานการณ์ไม่ค่อยสู้ดีนัก
นั่นอาจสะท้อนถึงเหตุผลที่ JD.com ตัดสินใจถอนตัวออกจากอินโดนีเซียและประเทศไทย โดยบริษัทบอกว่าหลังจากนี้จะกลับไปให้น้ำหนักกับการทำตลาดในประเทศจีนเป็นหลัก พร้อมชูกลยุทธ์จำหน่ายสินค้าราคาถูกและมีคุณภาพเข้าตอบโจทย์ลูกค้า
ด้านสื่อจีน Xiaguangshe ได้อ้างแหล่งข่าว กล่าวว่า การทำตลาดใน 2 ประเทศดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายมากกว่า 10 พันล้านหยวน (1.39 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งถือว่ามากกว่า 8 ปีที่ผ่านมา ส่วนฝั่ง JD.com และ Central Group ยังไม่ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของหุ้น JD.com ในฮ่องกงเพิ่มขึ้น 10.89% เป็น 210.80 ดอลลาร์ฮ่องกง เมื่อปิดการซื้อขายในวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งการตัดสินใจถอนตัวออกจากอินโดนีเซียและประเทศไทย สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของอีคอมเมิร์ซที่ชะลอตัวลง และส่วนหนึ่งก็มีสาเหตุมาจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น
Jianggan Li ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทร่วมทุนในสิงคโปร์ และที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี Momentum Works กล่าวว่า ผู้บริโภคทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการวางแผนค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุม ประกอบกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าได้ส่งผลกระทบต่อสกุลเงินท้องถิ่นทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งนำไปสู่การขึ้นราคาสินค้านำเข้าและพลังงาน จนทำให้เมื่อต้นปี JD.Com ได้เลิกจ้างพนักงานกว่า 200 คน เพื่อลดค่าใช้จ่าย
ขณะที่ประเทศไทย JD.com ได้เรียกผู้บริหารระดับสูงกลับประเทศจีนหลายราย หลังจากธุรกิจในไทยนั้นโตไม่ได้ตามเป้า
เช่นเดียวกับ JD Central มีมูลค่าการร่วมทุนประมาณ 1 พันล้านหยวน ตั้งแต่เปิดมามีการขาดทุนต่อเนื่อง เพราะไม่มีการปรับปรุงประสิทธิภาพของแพลตฟอร์ม และในแง่ของข้อมูลทราฟฟิก ถือว่าอยู่รองอันดับ 2 ถ้าเทียบกับ Central Online แพลตฟอร์มช้อปปิ้งของกลุ่มเซ็นทรัล โดยทั้งสองแพลตฟอร์มดังกล่าวยังอยู่อันดับรองๆ จากแพลตฟอร์ม Shopee ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซของสิงคโปร์ และ Lazada ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Alibaba Group
ทั้งนี้ ความพยายามของ JD.com ในการกำจัดหน่วยธุรกิจที่ขาดทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ Richard Liu Qiangdong ผู้ก่อตั้งบริษัท ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงองค์กรที่ธุรกิจหลักของ JD Retail ของกลุ่ม
โดย JD.com รายงานรายได้สุทธิในไตรมาส 3 อยู่ราวๆ 6 พันล้านหยวน (หรือ 2.9 หมื่นล้านบาท) ฟื้นตัวจากการขาดทุน 2.8 พันล้านหยวนในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากประสิทธิภาพการบริหารที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจต่างๆ ขณะที่รายได้รวม 243,500 ล้านหยวน (หรือ 1.1 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 11.4% จากปีก่อนหน้า
สอดคล้องกับแหล่งข่าวที่คุ้นเคยกับเรื่องนี้ 2 ราย ที่กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH เมื่อไม่นานมานี้ว่า เซ็นทรัลเตรียมที่จะถอดทุน 100% ออกจาก JD Central
แต่ในช่วงนั้นยังไม่แน่นอนว่าการถอดทุนจะเกิดขึ้นเมื่อไร แต่คาดว่าจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ หรืออย่างน้อยก็ภายในปีนี้ เพราะครบสัญญาเบื้องต้นที่เซ็นกันไว้ 5 ปีแล้ว
อ้างอิง: