×
SCB Omnibus Fund 2024

ถอนทุน 100%! ‘เซ็นทรัล’ เตรียมหย่าขาด JD.com พร้อมอาจเปลี่ยนชื่อ JD Central เป็น JD Commerce คาดเกิดขึ้นภายในปีนี้

25.06.2022
  • LOADING...
JD Commerce

หลังแต่งงานด้วยการร่วมลงทุนใน JD Central มานานถึง 5 ปี แต่ดูเหมือนว่าธุรกิจจะยังไปต่อได้ยากเมื่อเจอคู่แข่งที่แข็งเกร่ง ทำให้ล่าสุด ‘เซ็นทรัล’ เตรียมหย่าขาด JD.com พร้อมอาจเปลี่ยนชื่อเป็น ‘JD Commerce’

 

THE STANDARD WEALTH ได้รายงานก่อนหน้านี้ว่า ให้จับตา ‘เซ็นทรัล’ ลดบทบาทใน JD Central เปิดทาง ‘จีน’ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น หลัง 3 ปี ขาดทุนไม่น้อยกว่า 5.6 พันล้านบาท

 

แต่ล่าสุดนั้นอาจจะไม่แค่ลดบทบาทแล้ว เพราะแหล่งข่าวที่คุ้นเคยกับเรื่องนี้ 2 ราย บอกกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ‘เซ็นทรัล’ เตรียมที่จะถอดทุน 100% ออกจาก JD Central

 


 

ช่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

“ยังไม่แน่นอนว่าการถอดทุนจะเกิดขึ้นเมื่อไร แต่คาดว่าจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ หรืออย่างน้อยก็ภายในปีนี้ เพราะนี่ก็ครบสัญญาเบื้องต้นที่เซ็นกันไว้ 5 ปีแล้ว” แหล่งข่าวกล่าวว่า “แน่นอนเมื่อถอดทุนก็ต้องเปลี่ยนชื่อด้วย คาดว่าชื่อใหม่อาจเป็น JD Commerce ซึ่งก็มาจากชื่อบริษัทที่จดทะเบียน บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด”

 

ขณะที่แหล่งข่าวอีกคนก็กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า สัญญาเบื้องต้น 5 ปีนั้นมีการระบุถึงการที่อีกฝ่ายสามารถเข้าซื้อหุ้นที่เหลืออยู่ทั้งหมดได้เช่นกัน

 

“ผู้บริหารระดับสูงที่เป็นคนของเซ็นทรัลคือ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (Chief Financial Officer) ซึ่งลาออกจาก JD Central ได้ 1 ปีกว่าๆ แล้ว” แหล่งข่าวกล่าว “ทำให้ตอนนี้ผู้บริหารระดับสูงเกือบทั้งหมดเป็นคนจากฝั่ง JD.Com ทั้งคนจีนและคนไทย”

 

ย้อนกลับไปในเดือนกันยายน 2560 บริษัท ห้างเซ็นทรัล ดีพาทเมนท์สโตร์ จำกัด หรือ HCDS (สมาชิกในครอบครัวจิราธิวัฒน์จำนวน 77 ราย เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดใน HCDS) และ JD.com, Inc. เข้าทำสัญญาร่วมลงทุนเพื่อร่วมกันก่อตั้งกิจการร่วมค้าขึ้นภายใต้ชื่อ ‘JD Central’ ในสัดส่วน 50:50

 

ด้วยงบลงทุนมหาศาลกว่า 17,500 ล้านบาท ทำให้ในเวลานั้นได้มีการตั้งเป้าหมายขึ้นเป็น ‘เบอร์ 1’ ของไทย ก่อนจะกระโดดไปสู่สังเวียนในระดับภูมิภาค

 

จริงๆ แล้วการถอนทุนไม่น่าแปลกใจสำหรับทิศทางของ ‘เซ็นทรัล’ เพราะที่ผ่านมามักจะไม่ทำธุรกิจที่ ‘เข้าเนื้อ’ หรือเรียกง่ายๆ ว่า ‘ไม่ทำกำไร’ นั่นเอง

 

ย้อนกลับไปปี 2559 เซ็นทรัลได้ประกาศซื้อเว็บไซต์ ‘Zalora (ซาโลร่า)’ ประเทศไทย ซึ่งเป็นเว็บอีคอมเมิร์ซด้านแฟชั่นที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2555 หลังจากนั้น 1 ปี ได้ออกมาประกาศยกเครื่องขึ้นเป็น LOOKSI ครั้งนั้นใช้งบถึง 100 ล้านบาท สำหรับรีแบรนด์ เพราะไม่อยากให้คนสับสนกับชื่อเดิม

 

 

เซ็นทรัลตั้งความหวังถึงขนาดต้องการให้ LOOKSI เป็น Online Fashion Destination โดยลดสินค้าเดิมที่เป็นแบบ Marketplace และเติมสินค้าที่เป็น Exclusive พร้อมกับตั้งเป้ารายได้จะต้องทะลุ 1,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี ปัจจุบันมีสินค้าขายทั้งหมด 50,000 ชิ้น จาก 650 แบรนด์ ทั้งไทยและต่างประเทศ 

 

แต่ที่สุดแล้วต้นปี 2563 ทาง Central Group Online ก็ได้ตัดสินใจขาย LOOKSI แพลตฟอร์มแฟชั่นอีคอมเมิร์ซให้กับ Pomelo แบรนด์แฟชั่นออนไลน์ โดยไม่เปิดเผยมูลค่าและเหตุผลที่แท้จริง แต่ก็คาดว่าคงมาจากการที่ไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ 

 

สำหรับตัว JD Central เองแม้รายได้เติบโตก็จริง แต่เมื่อไปดูผลลัพธ์ก็จะพบว่า ‘ขาดทุน’ มาตลอด โดยสามารถอ้างอิงผลประกอบการของ บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ดังนี้

 

  • ปี 2560 รายได้รวม 5.2 แสนบาท ขาดทุน 4 ล้านบาท
  • ปี 2561 รายได้รวม 458 ล้านบาท ขาดทุน 944 ล้านบาท
  • ปี 2562 รายได้รวม 1,285 ล้านบาท ขาดทุน 1,343 ล้านบาท
  • ปี 2563 รายได้รวม 3,492 ล้านบาท ขาดทุน 1,376 ล้านบาท
  • ปี 2564 รายได้รวม 7,443 ล้านบาท ขาดทุน 1,930 ล้านบาท

 

ยิ่งปี 2564 ถึงรายได้จะเติบโตแบบก้าวกระโดดก็จริง หากยังขาดทุนอยู่สูง แถมเมื่อหันไปมองคู่แข่งยักษ์ใหญ่อย่าง Lazada ก็เริ่มกลับมาทำกำไร 227 ล้านบาท ส่วน Shopee ถึงจะยังขาดทุน 4,973 ล้านบาท แต่ข้อมูลจาก iPrice Thailand ระบุว่า ในไตรมาส 1/65 Shopee เป็นเว็บอีคอมเมิร์ซที่มีผู้เข้าชมเว็บไซต์ต่อเดือนสูงที่สุด ซึ่งทิ้งห่าง JD Central เป็นอย่างมาก

 

ที่ผ่านมา ‘เซ็นทรัล’ นั้นให้ความสนใจเรื่องของออนไลน์มาโดยตลอด ซึ่งหากย้อนกลับไปดูการแถลงข่าวใหญ่ในปี 2560 ‘ทศ จิราธิวัฒน์’ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มเซ็นทรัล ระบุถึงแผนที่จะใช้งบลงทุน 3-4 พันล้านบาท สำหรับด้านดิจิทัลและเพิ่มเป็นหลัก ‘หมื่นล้านบาท’ ในปี 2561

 

ในขณะที่ต้นปี 2561 ‘ทศ จิราธิวัฒน์’ ประกาศรุกออนไลน์เต็มสูบ ด้วยการตั้งเป้าให้รายได้ออนไลน์จาก 2% เป็น 15% ภายใน 5 ปี ด้วยเห็นพฤติกรรมผู้บริโภคหันไปช้อปปิ้งในนั้นมากขึ้น ที่ผ่านมาเครือเซ็นทรัลจึงเดินหน้าพัฒนาช่องทางขายออนไลน์ในทุกธุรกิจ โดยต้องการเชื่อมให้เป็น Omni Channel

 

สิ่งที่ต้องจับตาต่อคือ เมื่อถอนทุนแล้ว ‘เซ็นทรัล’ ก็น่าจะดันยอดช่องทาง Omni Channel ของตัวเองอย่าง ‘เต็มสูบ’ เช่นกัน

 

เพราะอย่างรายงานของบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC พบว่า ในปี 2564 ยอดขายผ่านแพลตฟอร์ม Omni Channel เพิ่มขึ้น 7 เท่าตัว เมื่อเทียบกับปี 2562 และจำนวนลูกค้าผ่านช่องทาง Omni Channel เพิ่มขึ้นกว่า 500% เมื่อเทียบกับปี 2562 นอกจากนี้ลูกค้าที่ซื้อสินค้าผ่านช่องทาง Omni Channel มียอดใช้จ่ายมากกว่าถึง 5 เท่า และซื้อสินค้าหลากหลายมากกว่าเป็น 2 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับลูกค้าที่ซื้อผ่านช่องทางเดียว

 

และในปี 2564 ยอดขายผ่านช่องทาง Omni Channel มีการเติบโตเพิ่ม 109% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็น 20% ต่อยอดขายรวม โดยแอปพลิเคชัน Central มีผู้ใช้งาน 4 ล้านราย ณ สิ้นปี 2564 ส่วน Tops มีผู้ใช้งานราว 3 ล้านราย

 

 

คาดว่าเซ็นทรัลน่าจะหันไปทุ่มกับ ‘Central App’ ที่เพิ่งครบรอบ 8 ปี พร้อมจัดโปรโมชันครั้งใหญ่ไปเมื่อไม่นานมานี้

 

“Central App ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเสมอมา มีอัตราการเติบโตของยอดดาวน์โหลดเพิ่มมากกว่า 60% จากปี 2564 และคาดว่าจะมีสมาชิกมากกว่า 5 ล้านคน ภายในปีนี้ พร้อมมุ่งสู่ความเป็นที่หนึ่งในตลาดออนไลน์ของกลุ่มสินค้าพรีเมียม (No.1 Omni Channel Retailer in Premium Segment) โดยคาดว่าจะสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดได้มากถึง 25%” รวิศรา จิราธิวัฒน์ ประธานบริหารฝ่ายการตลาด บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ซึ่งครึ่งหนึ่งเคยเข้าไปนั่งบริหารที่ JD Central ด้วย

 

รวิศราย้ำกว่า การจะไปถึงเป้าหมายนั้นส่วนหนึ่งจะมาจากการที่ดาต้าจาก The 1 กว่า 19 ล้านราย ที่นำมาต่อยอดและพัฒนาเป็น Personalized Offers ให้เหมาะกับลูกค้าแต่ละคน

 

แม้ที่สุดแล้ว JD Central จะไม่ได้ชนกับ Central App ตรงๆ เพราะ JD Central เป็น E-Marketplace ส่วน Central App ขายสินค้าจากเครือ CRC

 

แต่แน่นอนเมื่อต้องมาเจอกันบน ‘สมรภูมิช้อปปิ้งไลน์’ อันดุเดือด คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะปะทะกันบ้างในบางครั้ง เพราะผู้บริหารคนจีนของ JD ก็ย้ำชัดถึงเป้าหมายที่ต้องการ ‘ยอดขาย’ มาเป็นอันดับแรก

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising