×

หมายกำหนดการช่วงผลัดเปลี่ยนแผ่นดินญี่ปุ่น

29.04.2019
  • LOADING...

หมายกำหนดการช่วงผลัดเปลี่ยนแผ่นดินญี่ปุ่น (2019) มีดังนี้

 

วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศชื่อศักราชใหม่อย่างเป็นทางการ โดยใช้ชื่อว่า ‘เรวะ’ (Reiwa: 令和) ประกอบด้วยอักษรคันจิ 2 ตัว หมายถึง ยุคแห่งความโชคดีและสันติสุข มีที่มาจากบทกวีโบราณ ‘Man’yōshū’ ของญี่ปุ่น ที่กล่าวถึงการผลิบานของดอกไม้หลังฤดูกาลที่หนาวเหน็บ โดยรัชสมัยใหม่นี้จะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 พฤษภาคม 2019

 

วันที่ 30 เมษายน พระราชพิธีสละราชสมบัติ (Taiirei-Seiden-no-Gi) สมเด็จพระจักพรรดิอะกิฮิโตะจะเสด็จฯ พบปะตัวแทนประชาชนชาวญี่ปุ่น ณ พระที่นั่งต้นสน เขตพระราชฐาน ในการนี้ นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ จะถวายพระพรแด่องค์พระจักรพรรดิ โดยพระองค์จะมีพระราชดำรัสครั้งสุดท้ายในฐานะสมเด็จพระจักรพรรดิ ถือเป็นวันสุดท้ายของยุคสมัยเฮเซที่ 31

 

วันที่ 1 พฤษภาคม พระราชพิธีขึ้นครองราชย์ โดยพิธีการที่สำคัญที่สุดคือ การถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ (Kenji-tō-Shōkei-no-Gi) อันเป็นเครื่องหมายของพระราชบัลลังก์แด่สมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ พร้อมด้วยพระราชลัญจกรประจำพระองค์ ในการนี้พระองค์จะมีพระปฐมบรมราชโองการ เริ่มต้นยุคสมัยเรวะอย่างเป็นทางการ

 

สมเด็จพระจักรพรรดิจะเสด็จฯ ออกมหาสมาคมยามเช้า (Sokui-Go Choken no Gi) โดยมีบุคคลสำคัญระดับสูงเข้าเฝ้ารับเสด็จฯ ห้ามมิให้สมาชิกหญิงของราชวงศ์ญี่ปุ่นเข้าร่วม ซึ่งสงวนสิทธิ์ไว้ให้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น ตามธรรมเนียมปฏิบัติโบราณ ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี ประธานฝ่ายบริหาร ประธานฝ่ายนิติบัญญัติ ประธานฝ่ายตุลาการ รวมถึงคณะรัฐมนตรี โดย นางซัทสึกิ คาตายามะ รัฐมนตรีหญิงเพียงคนเดียวในคณะรัฐบาลชุดนี้ จะได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมพระราชพิธีในฐานะสามัญชนผู้สังเกตการณ์เท่านั้น นับเป็นผู้หญิงคนแรกในยุคญี่ปุ่นสมัยใหม่ที่ได้เข้าร่วมพระราชพิธีสำคัญ

 

สื่อท้องถิ่นอย่าง The Japan Times รายงานว่า วันที่ 4 พฤษภาคม สมเด็จพระจักพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีพระองค์ใหม่จะเสด็จฯ พบปะกับประชาชนชาวญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรก ณ พระราชวังอิมพีเรียล

 

วันที่ 22 ตุลาคมเป็นต้นไป พระราชพิธีเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์ ซึ่งถือเป็นการประกาศอย่างเป็นทางการถึงการขึ้นครองราชย์โดยสมบูรณ์ของสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ ในช่วงพิธีการสำคัญ สมเด็จพระจักพรรดิพระองค์ใหม่จะทรงฉลองพระองค์เป็นกิโมโนชั้นสูง ‘โซคุไต (Sokutai)’ ซึ่งถือเป็นชุดบุรุษสูงศักดิ์ตามขนบราชสำนักญี่ปุ่นโบราณ พระองค์จะประทับที่บุษบก ‘ทากามิคุระ (Takamikura)’ โดยมีสมเด็จพระจักรพรรดินีในฉลองพระองค์กิโมโน ‘จูนิฮิโตะ (Junihitoe)’ ประทับที่บุษบก ‘มิโจได (Michodai)’ เยื้องไปทางด้านขวามือ

 

ทั้งสองพระองค์จะทรงร่วมกระบวนพยุหยาตราเสด็จฯ พบปะประชาชน (Shukuga-Onretsu-no-Gi) โดยรถยนต์พระที่นั่ง Toyota Century ซึ่งถือเป็นรถยนต์ชั้นสูงของญี่ปุ่น (ในสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะประทับรถยนต์พระที่นั่ง Rolls-Royce Corniche III) ในช่วงเวลานี้ องค์พระจักรพรรดิจะพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารอาคันตุกะคณะต่างๆ จากนานาประเทศ รวมถึงข้าราชบริพารระดับสูง

 

วันที่ 14-15 พฤศจิกายน พระราชพิธีไดโจไซ (Daijō-sai) ตามคติชินโต สมเด็จพระจักรพรรดิจะทรงถวายราชสักการะ (ข้าวและสาเก) แด่พระบรมอรรคราชบรรพบุรุษและเทพเจ้า เพื่อความเป็นสิริมงคล สื่อนัยถึงการเสวยพระกระยาหารร่วมกับเทพเจ้า พร้อมทั้งภาวนาขอให้แผ่นดินญี่ปุ่นรัชสมัยเรวะร่มเย็นเป็นสุข โดยจะมีธรรมเนียมปฏิบัติโบราณ เสี่ยงทายเพื่อเลือกผืนนาที่เหมาะแก่การเพาะปลูกข้าว พอได้ผลิตผลแล้ว ก็จะนำข้าวมาถวาย อีกทั้งยังเสด็จฯ สักการะศาลเจ้าสำคัญของญี่ปุ่นอีกด้วย

 

วันที่ 19 เมษายน 2020 พระราชพิธีแต่งตั้งรัชทายาท หลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีขึ้นครองราชย์โดยสมบูรณ์แล้ว จะมีการแต่งตั้ง ‘มกุฎราชกุมาร’ หรือรัชทายาทลำดับที่ 1 แห่งราชวงศ์ญี่ปุ่นพระองค์ใหม่ โดยเจ้าชายฟุมิฮิโตะ เจ้าอะกิชิโนะ พระราชอนุชาในสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่จะได้รับการสถาปนาขึ้นดำรงพระสถานะ ‘มกุฎราชกุมาร’ ต่อจากพระเชษฐาของพระองค์ โดยเจ้าชายฮิซาฮิโตะ พระโอรสพระองค์เดียวในเจ้าชายฟุมิฮิโตะ เจ้าอะกิชิโนะ จะทรงขยับขึ้นมาอยู่ในพระสถานะรัชทายาทลำดับที่ 2 แห่งราชบัลลังก์ดอกเบญจมาศ

 

คาดการณ์ว่า จะใช้งบประมาณในช่วงการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินญี่ปุ่นสูงถึง 16,600 ล้านเยน (ราว 4,700 ล้านบาท)

 

 

ภาพประกอบ: Nisakorn R.

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising