×

ญี่ปุ่นเปลี่ยนยุทธศาสตร์ ยุทธศาสตร์เปลี่ยนญี่ปุ่น

27.12.2022
  • LOADING...

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกยุทธศาสตร์ความมั่นคงใหม่เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีแผน 3 ฉบับเป็นแกนหลัก ซึ่งมุ่งปรับให้กองกำลังมีศักยภาพสูงขึ้นในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ความเคลื่อนไหวนี้ก่อให้เกิดข้อสงสัยว่าจุดยืน ‘ไฝ่สันติ’ ที่ญี่ปุ่นยึดถือมานานยังคงดำรงอยู่ดีหรือไม่ 

 

แผนทั้ง 3 นี้ประกอบด้วย แผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Strategy: NSS), แนวทางการป้องกันประเทศ (National Defense Program Guidelines: NDPG) และแผนระยะกลางเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการป้องกันประเทศ (Medium-Term Defense Buildup Program: MTDP)

 

NSS คือแผนระยะ 10 ปี โดยฉบับที่จัดทำออกมาใหม่นี้เป็นฉบับที่ 2 ซึ่งจะมาใช้แทนฉบับแรกปี 2013 ใจความของแผนนี้วิเคราะห์และคาดหมายสถานการณ์ความมั่นคงที่ญี่ปุ่นอาจเผชิญในช่วง 10 ปีข้างหน้า พร้อมเสนอแนะแนวทางรับมือในภาพใหญ่ ข้อเสนอใน NSS เป็นพื้นฐานสำหรับ NDPG ซึ่งแจกแจงแนวนโยบายว่าญี่ปุ่นจะดำเนินการอะไรต่อไปบ้างในกรอบ 10 ปีนี้ โดยมี MTDP กำหนดเป้าหมายและแนวทางการเสริมศักยภาพระยะกลางในช่วง 5 ปี

 

แม้ว่าการปรับเปลี่ยนใหญ่ในแผนที่ออกมาจะไม่ได้เป็นเรื่องน่าประหลาดใจสำหรับผู้ที่ติดตามท่าทีของญี่ปุ่นช่วงไม่กี่ปีมานี้ อีกทั้งก่อนที่แผนใหม่จะร่างเสร็จ เราก็มักได้ยินคำแถลง รายงาน และข้อถกเถียงจากฝ่ายการเมือง สื่อ และนักวิชาการมาตลอดทั้งปีว่าญี่ปุ่นกำลังคิดการณ์ใด ซึ่งสะท้อนความโปร่งใสในกระบวนการนโยบายของสังคมการเมืองแบบประชาธิปไตยของญี่ปุ่น ถึงกระนั้นยุทธศาสตร์ที่ออกมาก็ตอกย้ำความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่ทำให้ญี่ปุ่นก้าวออกห่างจากจุดยืนดั้งเดิมด้านการทหาร และชี้ให้เห็นแนวโน้มใหม่ด้านความมั่นคงที่กำลังครอบงำญี่ปุ่นเวลานี้

 

จุดยืนดั้งเดิมที่ว่าคือการที่ญี่ปุ่นยืนหยัดจะไม่ใช้สงครามเป็นเครื่องมือของรัฐอีกต่อไป อันนำมาซึ่งหลักการไม่สั่งสม ‘ศักยภาพทำสงคราม’ (War Potentials) จุดยืนนี้ที่บัญญัติอยู่ในมาตรา 9 ของกฎหมายสูงสุดหรือรัฐธรรมนูญของประเทศหลังจากที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นหัวใจทำให้สันตินิยม (Pacifism) กลายเป็นอุดมการณ์แห่งชาติที่รัฐบาลและประชาชนยึดมั่นเรื่อยมา อีกทั้งการมองกองทัพและทหารว่าคือศักยภาพทำสงคราม ทำให้ญี่ปุ่นจัดตั้งกองกำลังที่มีสถานะต่างจากทหาร เรียกว่า จิเอไต (Jieitai) หรือ ‘กองกำลังป้องกันตนเอง’ (Self-Defense Force: SDF) โดยวางกรอบจำกัดไม่ให้ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 9

 

กรอบจำกัดที่ว่านี้ถูกขัดเกลาผ่านการถกเถียงจนเกิดฉันทามติเรียกว่า หลักการป้องกันประเทศ ‘ขั้นต่ำสุด-เท่าที่จำเป็น’ (Minimum-Necessary Defense) โดยยึดเป็นเกณฑ์หรือเพดานกำหนดสมรรถนะที่เหมาะสมของกองกำลังให้เพียงพอต่อการพิทักษ์ปกป้องเขตอธิปไตยของญี่ปุ่นเท่านั้น เพื่อตัดความสุ่มเสี่ยงที่อำนาจทางทหารอาจถูกใช้ไปในการคุกคามชาติอื่น สมรรถนะที่พิจารณาว่าเกินเลยไปกว่าเกณฑ์นี้ก็จะถือว่าเข้าข่าย ‘ศักยภาพทำสงคราม’ ที่รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นบัญญัติห้ามไม่ให้คงไว้

 

เพราะหลักการนี้นี่เองที่ทำให้ SDF ยุคเริ่มแรกก่อตั้งถูกจำกัดให้ปฏิบัติการได้เพียงในขอบเขตอธิปไตยของประเทศเท่านั้น โดยอาศัยยุทโธปกรณ์แบบตั้งรับที่จำกัดสมรรถนะและพิสัยไม่ให้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปโจมตีดินแดนอื่นได้ และออกปฏิบัติการเพียงในกรณีถูกชาติอื่นโจมตีญี่ปุ่นก่อนเท่านั้น อย่างไรก็ดีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในแผนยุทธศาสตร์ใหม่ล่าสุดนี้คือการย้ายจุดศูนย์ถ่วง จากเดิมที่เน้นหนักไปที่ ‘ขั้นต่ำสุด’ มาให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับการพิจารณา ‘ความจำเป็น’ ในการรับประกันความอยู่รอดปลอดภัยของชาติ

 

ความจำเป็นที่ขับเคลื่อนแผนใหม่ไม่ใช่อะไรที่เข้าใจยาก ญี่ปุ่นวิตกว่า ‘สภาพแวดล้อมความมั่นคงกำลังเลวร้ายลงอย่างต่อเนื่อง’ โดยมีภัยอันตรายและสิ่งท้าทายรายล้อมดินแดนและคอยที่จะสั่นคลอนระเบียบของเอเชีย ไม่ว่าจีน เกาหลีเหนือ หรือรัสเซียที่กระทำบุ่มบ่ามรุกรานยูเครนตั้งแต่เมื่อต้นปีนี้ ซึ่งทั้งหมดล้วนมีศักยภาพนิวเคลียร์ที่อาจใช้ข่มขู่คุกคามชาติอื่นๆ ภาวะเช่นนี้นำมาสู่ความจำเป็นถัดมา นั่นคือการต้องหาหนทางสกัดยับยั้งภัยคุกคามดังกล่าว ซึ่งญี่ปุ่นอาศัยยุทธศาสตร์ ‘ป้องปราม’ (Deterrence) เป็นวิถีทางปกป้องประเทศและระเบียบในภูมิภาค

 

เราจะวิเคราะห์ดูว่าการปรับจุดเน้นไปพิจารณา ‘ความจำเป็น’ มากยิ่งขึ้นในแผนยุทธศาสตร์ใหม่จะเปลี่ยนแปลงญี่ปุ่นไปในทิศทางใด โดยให้ความสนใจมาตรการใหญ่และใหม่ในแผนดังกล่าว นั่นคือการเพิ่มงบกลาโหม จากเท่าที่ผ่านมาคงอยู่ที่ราวร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ให้ขึ้นไปเป็นร้อยละ 2 ในระยะเวลา 5 ปี และการจัดหาศักยภาพ ‘โจมตีโต้กลับ’ (Counterstrike Capability) ที่เคยเป็นสิ่งต้องห้ามตามข้อจำกัดทางทหารเดิม

 

เมื่อ ‘ความจำเป็น’ นำหน้า ‘ระดับต่ำสุด’

จุดยืนที่หันมาเน้นหนักความจำเป็นเฉพาะหน้ามากกว่าคำนึงถึงกรอบจำกัดทางทหารถูกตอกย้ำในคำประกาศของนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ เมื่อครั้งเปิดประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญ (Expert Panel) ด้านความมั่นคงเมื่อเดือนตุลาคมปีนี้ เขากล่าวว่าญี่ปุ่นจะต้องเสริมศักยภาพ “โดยไม่ตัดตัวเลือกใดทิ้ง” คณะผู้เชี่ยวชาญที่มี เคนอิจิโร ซะซะเอะ อดีตเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำสหรัฐอเมริกาเป็นประธาน ได้ถกกันถึงแนวทางเพิ่มงบกลาโหมเป็น 2% ของ GDP และความเป็นไปได้ในการติดอาวุธโจมตีตอบโต้ศัตรู

 

มาตรการทั้งสองตกผลึกมาสักพักหนึ่ง โดยจะเห็นว่ารายงานศึกษาของฝ่ายนโยบายพรรค LDP ของนายกฯ คิชิดะที่ออกมาเดือนเมษายนได้กล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการสองเรื่องนี้ เรายังเห็นคิชิดะประกาศบนเวทีนานาชาติอย่าง Shangri-La Dialogue ที่สิงคโปร์ช่วงกลางปีว่าจะเพิ่มค่าใช้จ่ายทางทหารเพื่อ ‘การป้องปรามและรับมือ’ (Deterrence and Response) โดยจะไม่ตัดทิ้งตัวเลือกใดๆ รวมถึงการมีศักยภาพโจมตีโต้กลับ ซึ่งจำเป็นในการสกัดชาติใดก็ตามที่พยายามใช้กำลังเปลี่ยนสภาพการณ์และระเบียบที่เป็นอยู่ในเอเชีย

 

อาจกล่าวย้อนไปอีกหน่อยได้ด้วยเพื่อให้เห็นว่าแนวโน้มนี้ดำเนินมาแบบค่อยเป็นค่อยไปและเป็นมรดกตกทอดจากสมัยนายกฯ ชินโซ อาเบะ (ปี 2012-2020) ผู้ที่ถูกลอบสังหารจนเป็นข่าวใหญ่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยรัฐบาลอาเบะได้แก้กฎหมายให้ SDF เข้าช่วยพันธมิตรหรือชาติที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดญี่ปุ่นยามถูกข้าศึกโจมตีได้ นั่นคือยอมรับหลัก ‘การป้องกันตนเองร่วม’ (Collective Self-Defense) ซึ่งเคยถูกพิจารณามาก่อนว่าเกินกว่ากรอบ ‘ต่ำสุด-เท่าที่จำเป็น’ อีกทั้งผู้ที่ปลุกกระแสเรื่องการติดอาวุธโจมตีก็ใช่ใครอื่น อาเบะเองเป็นผู้เสนอให้ขบคิดเรื่องนี้ทิ้งทวนก่อนลงจากตำแหน่งเมื่อปี 2020

 

การเพิ่มงบกลาโหมถือเป็นเรื่องใหญ่ โดยรัฐบาลวางแผนจะใช้ในการวิจัย พัฒนา และขยายโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการป้องกันประเทศ งบส่วนใหญ่จะทุ่มให้กับ ‘การส่งเสริมกลไกป้องปราม’ ซึ่งก็คือการทำให้ศัตรูเห็นความแข็งแกร่งและเชื่อว่าเอาชนะญี่ปุ่นได้ยาก จึงไม่กล้าหรือไม่อยากหาเรื่องญี่ปุ่น หรือก่อกวนระบบระเบียบให้วุ่นวาย

 

โดยนอกจากจะเพิ่มและปรับปรุงระบบป้องกันขีปนาวุธ โดยเฉพาะในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ (Nansei) ซึ่งอยู่ใกล้เคียงไต้หวัน ให้พร้อมรับมือขีปนาวุธทันสมัย รวมถึงขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง (Hypersonic) แล้ว ยังต้องการพัฒนาศักยภาพโจมตีโต้กลับ (Counterstrike) เพื่อเสริมทัพศักยภาพการข่มขู่ให้ศัตรูยิ่งไม่กล้าโจมตีก่อน ด้วยการเพิ่มพิสัยและจำนวนขีปนาวุธในคลังแสงของญี่ปุ่นด้วย

 

ปัญหาก็คือ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ รัฐบาลต้องหารายได้ก้อนใหญ่ แต่ในภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกเช่นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย คิชิดะตระหนักว่าความเข้มแข็งด้านกลาโหมขึ้นอยู่กับการคงเศรษฐกิจที่ดีมีเสถียรภาพเอาไว้ และมองปัญหาหลักว่าคือการหาแหล่งรายได้ที่มั่นคงเพื่อป้อนการทหารให้ได้อย่างยั่งยืน การเพิ่มงบขึ้นเป็น 2% ของ GDP ในช่วง 5 ปี (ปี 2023-2027) คิดเป็นเงินถึง 43 ล้านล้านเยน (ราว 11 ล้านล้านบาท) ซึ่งแม้จะตัดลดงบอื่นมาเสริมแล้วก็ยังคงไม่เพียงพอ ปัญหาข้อนี้นำมาสู่ประเด็นถกเถียงใหญ่ที่อาจสั่นคลอนรัฐบาลคิชิดะได้นับจากนี้

 

เก็บภาษีเพิ่มเพื่อสร้างเสริมแสนยานุภาพ

เพื่อหารายได้มาอัดฉีดการทหารในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ รัฐบาลมีตัวเลือกหลายทาง เมื่อผันงบประมาณจากส่วนอื่นแล้วยังไม่พอ รัฐอาจก่อหนี้โดยออกพันธบัตร (Bond) ซึ่งถือเป็นการระดมทุนบนฐานความสมัครใจของประชาชน แต่คณะผู้เชี่ยวชาญและคิชิดะเห็นพ้องกันว่าการป้องกันประเทศเป็นผลประโยชน์ที่ทุกคนในชาติได้รับร่วมกัน จึงเห็นว่าการเก็บภาษีเพิ่มเพื่อการนี้เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดเพื่อให้ทุกคนช่วยกันแบกรับภาระด้านนี้ และไม่ก่อหนี้รัฐอันจะเป็นภาระตกทอดสู่ลูกหลานต่อไปในอนาคต

 

ท่ามกลางเสียงวิจารณ์อย่างคับคั่งต่อวิธีการดังกล่าว คณะกรรมการศึกษาระบบภาษีของรัฐบาลได้สรุปแนวทางออกมาแบบค้านความเห็นสังคมว่า จะพิจารณาปรับภาษี 3 ส่วน ได้แก่ ขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษียาสูบ ตลอดจนผันรายได้บางส่วนจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีการเก็บ ‘ภาษีพิเศษ’ มาอยู่แล้ว เพื่อใช้ฟื้นฟูพื้นที่โทโฮกุจากธรณีพิบัติภัยปี 2011 โดยจะใช้รายได้ครึ่งหนึ่งจากที่เก็บได้ราวปีละ 4 แสนล้านเยนมาโปะงบกลาโหม ในขณะที่สื่อเผยผลสำรวจความเห็นว่า แม้คนญี่ปุ่นมากขึ้นเห็นพ้องต่อการเพิ่มแสนยานุภาพ แต่ก็ไม่เอาด้วยกับการเก็บภาษีเพิ่ม

 

แม้แต่ภายในพรรครัฐบาล LDP ก็มีเสียงคัดค้าน โดยรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจหลายคนแสดงความกังวลว่าการเพิ่มภาษีนิติบุคคลจะส่งผลให้บริษัทชะลอการลงทุนเพิ่มหรือการขึ้นค่าแรงให้พนักงาน ซึ่งก็เป็นเป้าหมายอีกด้านที่รัฐบาลวางเอาไว้ ในยามที่ความนิยมต่อรัฐบาลดิ่งฮวบอย่างน่าใจหายในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ จากกรณีที่พบว่า ส.ส. LDP หลายคนมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มศาสนา Unification Church และกรณีอื้อฉาวของรัฐมนตรีจนต้องลาออกคนแล้วคนเล่า นโยบายที่กระทบปากท้องประชาชนเช่นนี้จึงไม่เป็นที่ถูกใจสมาชิกพรรค นายกฯ คิชิดะจึงยังไม่ฟันธงชัดว่าจะเริ่มปรับภาษีเมื่อใด

 

น่าสนใจว่าแรงคัดค้านการเก็บภาษีเพิ่มส่วนใหญ่มาจากความกังวลด้านเศรษฐกิจและระดับความนิยมทางการเมืองเป็นหลัก ผลสำรวจความเห็นหลายครั้งสะท้อนว่าครึ่งหนึ่งของคนญี่ปุ่นหรือมากกว่านั้นเห็นด้วยกับการปรับยุทธศาสตร์ แม้ว่าจะไม่ค่อยถูกใจวิธีที่คิชิดะจะใช้ในการหางบประมาณ จึงอาจกล่าวได้ว่าหลักสันตินิยม-ต่อต้านทหารในสังคมญี่ปุ่นที่เคยฝังแน่นกำลังถูกแทนที่ด้วยความวิตกต่อกรณียูเครนและช่องแคบไต้หวัน ซึ่งกำลังสั่นคลอนความมั่นคงของประเทศโดยตรง

 

แผนริเริ่ม ‘เพิ่มภาษีเพื่อการทหาร’ ที่ประกาศอย่างโจ่งแจ้งเป็นเรื่องสุดโต่งและน่าตกใจหากมองจุดยืนของญี่ปุ่นยุคหลังสงครามในภาพใหญ่ รวมถึงตัวตนไฝ่สันติที่แทรกซึมในระบบกฎหมายและแพร่หลายในทัศนคติมหาชน เรื่องเช่นนี้คงไม่มีทางเกิดขึ้นแน่ใน 10-20 ปีก่อนหน้านี้ ดังจะเห็นว่าแม้แต่แผนยุทธศาสตร์ (NSS) เป็นจริงเป็นจังก็เพิ่งมีการจัดทำครั้งแรกในปี 2013 ซึ่งก็ถือเป็นพัฒนาการใหม่ในประเทศที่ ‘ยุทธศาสตร์’ (Senryaku) เคยเป็นคำต้องห้ามมาก่อนเพราะมีนัยทางทหารเด่นชัด

 

อย่างไรก็ดี เรื่องที่ยิ่งชี้ให้เห็นชัดว่าญี่ปุ่นเริ่มลดความเคร่งครัดต่อหลักปฏิบัติและอุดมการณ์เดิมว่าด้วยสงครามกับสันติภาพ โดยมอง ‘ความจำเป็น’ เป็นพื้นฐานในการวางยุทธศาสตร์ ก็คือแผนการที่จะมีอาวุธโจมตีโต้กลับ

 

จากแนวทางตั้งรับ สู่ตรรกะจำเป็นต้องรุก

ศักยภาพการโจมตีตอบโต้ หรือบางครั้งเรียกว่า ‘ศักยภาพโจมตีฐานทัพศัตรู’ (Enemy Base Strike Capability) ไม่ว่าเรียกแบบไหนก็มีนัยหมิ่นเหม่ที่จะเกินเลยขอบเขต ‘ต่ำสุด-เท่าที่จำเป็น’ ทั้งสิ้น แต่เมื่อคำนึงถึงอำนาจและพิสัยของขีปนาวุธจีนและเกาหลีเหนือที่ก้าวหน้าไปไกล การมีระบบป้องกันที่แม้จะแน่นหนาแค่ไหนก็อาจไม่เพียงพอในการปรามหรือขู่ไม่ให้ศัตรูกล้าคุกคามญี่ปุ่น ด้วยความจำเป็นใหม่ในสภาวการณ์อันเลวร้ายขึ้น การมีอำนาจโจมตีโต้กลับที่สามารถก่อความพินาศแก่ชาติที่เปิดฉากโจมตีก่อนได้ น่าจะทำให้ศัตรูฉุกคิดและยับยั้งช่างใจก่อนจะกระทำใดๆ

 

ใช่ว่าแนวทางการเสริมศักยภาพตั้งรับด้วยอำนาจโจมตีโต้กลับจะเพิ่งกลายเป็นจุดสนใจในแผนใหม่ ตรรกะนี้มีความสำคัญในยุทธศาสตร์ญี่ปุ่นมาก่อนอยู่แล้ว หากแต่ก่อนหน้านี้ด้วยการคำนึงว่าอาวุธที่โจมตีถึงดินแดนอื่นอาจถูกมองเป็น ‘ศักยภาพทำสงคราม’ ซึ่งขัดกับหลักการป้องกันตนเองระดับต่ำสุด ญี่ปุ่นจึงอาศัยพึ่งพิงสหรัฐฯ ในฐานะพี่ใหญ่และพันธมิตรชิดใกล้ให้ช่วยรับประกันว่า หากใครกล้าโจมตีญี่ปุ่นก่อน ก็จะถูกสหรัฐฯ โจมตีโต้กลับด้วยศักยภาพเชิงรุกอันยิ่งใหญ่เป็นการลงโทษ

 

การ ‘แบ่งหน้าที่’ ระหว่างญี่ปุ่นในการป้องปรามเชิงตั้งรับ (Defensive) กับสหรัฐฯ ในการโจมตีโต้กลับ เป็นรูปแบบที่ทำให้ยุทธศาสตร์ญี่ปุ่นจำกัดในกรอบต่ำสุด-เท่าที่จำเป็น โดยเน้นที่ความ ‘ต่ำสุด’ มาได้หลายทศวรรษ แต่ปัจจุบันนอกจากศัตรูที่มีอำนาจมากขึ้น ญี่ปุ่นยังเริ่มไม่มั่นใจจุดยืนและความแน่วแน่ของสหรัฐฯ ว่าจะต่อสู้เคียงข้างพันธมิตรในยามวิกฤตหรือไม่ หรือจะแค่ให้การสนับสนุนอยู่ไกลๆ เท่านั้น นี่จึงนำมาสู่ข้อสรุปของรัฐบาลที่ว่า “คงจะพึ่งพาสหรัฐฯ เพียงอย่างเดียวไม่ได้” ญี่ปุ่นต้องขวนขวายหาอาวุธโต้กลับด้วยตนเอง เพื่อให้การป้องปรามมีความเข้มแข็งและน่าเชื่อถือกว่าเดิม

 

เมื่อญี่ปุ่นจะทุ่มเงินเพื่อจัดซื้อและพัฒนาอาวุธที่ยิงใส่ศัตรูได้ โดยมีแผนขยายพิสัยการยิงของขีปนาวุธที่จำกัดไม่เกิน 200 กม.ให้ไกลถึง 1,000 กม. จึงพูดได้ไม่ผิดว่าญี่ปุ่นกำลังจะมีอาวุธเชิงคุกคาม (Offensive) ที่จริงคำว่า ‘โต้กลับ’ (Counterstrike) อาจให้ภาพการเป็นเหยื่อถูกโจมตีใส่ก่อน ซึ่งมองได้ว่าเป็นการ ‘ป้องกัน’ แต่รูปการณ์ (Scenario) ที่รัฐบาลคิดเอาไว้คือ การสามารถโจมตีทำลายฐานยิงขีปนาวุธของศัตรูขณะ ‘เตรียมการ’ ยิงใส่ญี่ปุ่นหรืออาจรวมถึงใส่พันธมิตรด้วย แม้ว่าการใช้กำลังปัดป้องภัยที่ ‘กำลังใกล้เข้ามา’ (Imminent Threat) ก็ถือได้ว่าเป็นการป้องกันแบบหนึ่ง แต่นั่นก็สุ่มเสี่ยงจะเป็นการ ‘ชิงโจมตีก่อน’ (Preemptive Strike) ด้วยเช่นกัน

 

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า อะไรคือเกณฑ์กำหนดเงื่อนไขสำหรับการโจมตีลักษณะนี้ พรรคโคเมที่ร่วมรัฐบาลคู่กับ LDP แต่มีท่าทีระแวดระวังเรื่องการทหารมากกว่า แสดงความเป็นห่วงว่าขีดความสามารถใหม่นี้จะผิดหลักการที่เป็นมา และเป็นปัญหากระทบข้อบัญญัติรัฐธรรมนูญ จึงเสนอให้กำหนดชัดเจนว่าจะไม่ใช้ศักยภาพนี้โจมตีแบบ Preemptive และไม่ใช้เพื่อ ‘การป้องกันตนเองร่วม’ หรือเพื่อป้องกันให้แก่พันธมิตร แต่ภายหลังการหารือของสองพรรค แผนที่ออกมาก็ย้ำความจำเป็นของการโจมตีในระหว่างที่ศัตรูเตรียมการ และอาจใช้ศักยภาพนี้ป้องกันพันธมิตรอีกด้วย

 

ด้วยเหตุนี้ ขีปนาวุธสำหรับโจมตีโต้กลับจึงจะกลายเป็นสมรรถนะทางทหารที่วางอยู่บนเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างอำนาจป้องกันกับอำนาจคุกคาม ระหว่างการป้องกันขั้นต่ำสุด-เท่าที่จำเป็นกับ ‘ศักยภาพทำสงคราม’ ที่ญี่ปุ่นอาจก้าวข้ามไปเมื่อไรก็ได้ในอนาคต ยุทธศาสตร์ใหม่นี้จึงหมายถึงการกร่อนเซาะหลักการและกฎเกณฑ์ที่เคยกีดกั้นญี่ปุ่นไว้ จากการกลายเป็น ‘รัฐปกติทั่วไป’ ที่มีอำนาจและเล่นบทบาททางทหารได้อย่างไร้ขีดจำกัด

 

อาจกล่าวได้ว่าญี่ปุ่นที่ฝันหาสันติภาพแบบปลอดทหารอันเป็นผลจากความทรงจำเลวร้ายในยุคสงคราม กลายเป็นตัวตนที่ไม่สอดรับ (Irrelevant) กับกาลเวลาและสภาพแวดล้อมในสายตาผู้นำและผู้คนญี่ปุ่นจำนวนมากขึ้นๆ ชาติมหาอำนาจที่อาจก่อสงครามในเวลานี้หาใช่ญี่ปุ่นอีกต่อไป ดังนั้นตั้งแต่สมัยรัฐบาลอาเบะ จุดยืนและอุดมคติใหม่ได้ปรากฏชัดเจนขึ้นในการคิดคำนึงถึงประเด็นสันติภาพ

 

นโยบาย Proactive Contribution to Peace หรือ ‘การสร้างคุณูปการต่อสันติภาพในเชิงรุก’ ที่ผลักดันโดยรัฐบาลอาเบะ ได้ปรับแนวยุทธศาสตร์โดยไม่ได้มองความสงบสันติจำกัดอยู่แค่เขตพรมแดนญี่ปุ่นเท่านั้น แต่เป็นคำมั่นที่จะร่วมรับประกันเสถียรภาพ ความมั่นคง และระเบียบของภูมิภาคโดยรวม เราจึงเห็นญี่ปุ่นเข้าร่วมอย่างแข็งขันมากขึ้นในกรอบการทหารต่างๆ ซึ่งประกอบเป็นเครือข่ายแนวร่วมที่มีเป้าประสงค์ถ่วงคานชาติที่อาจเป็นภัยอย่างจีน เกาหลีเหนือ และรัสเซีย

 

แน่นอนว่าการเสริมแสนยานุภาพมีส่วนทำให้ญี่ปุ่นถูกเพ่งเล็งจากศัตรูเหล่านี้ และทำให้สถานการณ์ทวีความตึงเครียด แต่รัฐบาลญี่ปุ่นปัจจุบันก็สานต่อความริเริ่มของอาเบะ โดยยึดหลักตรรกะที่ว่า ญี่ปุ่นที่เข้มแข็งขึ้นมีส่วนช่วยเสริมกลไกป้องปรามที่จะสกัดชาติใดก็ตามไม่ให้คุกคามญี่ปุ่น หรือละเมิดกฎเกณฑ์สากลด้วยการใช้กำลังเปลี่ยนแปลงสภาพที่เป็นอยู่ (Change the Status Quo by Force) ซึ่งญี่ปุ่นหมายถึงการขยายเขตแดนของจีนในช่องแคบใต้หวัน และน่านน้ำพิพาททะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ และการพัฒนานิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

 

ตรรกะการป้องปรามนี้แม้ว่าจะเปลี่ยนแปลงญี่ปุ่นให้ต้องหันมาทุ่มเทและมีท่าทีตื่นตัว (Active) ด้านการทหารมากขึ้นอย่างที่เห็นในแผนยุทธศาสตร์ใหม่ แต่เนื่องจากการป้องปรามมีเป้าหมายเพื่อยับยั้งไม่ให้ฝ่ายใดเคลื่อนไหวในทางที่ไม่พึงประสงค์ หรือก็คือช่วยคงสภาพที่เป็นอยู่เอาไว้ ญี่ปุ่นจึงมองว่าแนวทางนี้สอดคล้องกับอุดมคติสันติภาพ แต่เป็นสันติภาพที่อยู่บนฐานการถ่วงดุลอำนาจ (Balance of Power) และการแสดงออกซึ่งความเข้มแข็งเอาจริงเอาจัง

 

แม้ว่าการบรรลุผลดังกล่าวจะหมายถึงการต้องสั่งสมกำลังและอาวุธ แต่รัฐบาลญี่ปุ่นก็ย้ำเสมอว่าตนหวังว่าศักยภาพเหล่านี้จะไม่ต้องถูกนำออกมาใช้จริงในความขัดแย้งหรือสมรภูมิรบ เพราะการป้องปรามที่ได้ผลย่อมหมายถึงการยับยั้งไม่ให้การใช้กำลังบังเกิดตั้งแต่ต้น รัฐบาลนำเสนอตรรกะนี้ในเวทีต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ชาติที่อาจระแวงญี่ปุ่นว่าจะกลับกลายเป็นรัฐทหารที่ก่อสงครามอย่างในอดีต แต่อย่างที่เห็นว่าสถานการณ์ในเอเชียเปลี่ยนไป ญี่ปุ่นไม่ใช่ชาติใหญ่ที่น่ากลัวอย่างแต่ก่อน ความเคลื่อนไหวนี้กลับได้รับการต้อนรับจากบรรดาพันธมิตรประชาธิปไตยที่มีบทบาทในยุทธศาสตร์การป้องปราม

 

ด้วยเหตุนี้หัวใจของแผนยุทธศาสตร์ใหม่จึงสอดคล้องกับจุดยืนและแนวทางด้านความมั่นคงของญี่ปุ่นที่มีวิวัฒนาการมาพักใหญ่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แผนใหม่นี้ที่ทำให้การเพิ่มงบกลาโหมและจัดหาศักยภาพโจมตีโต้กลับที่ถกแถลงกันมานานกลายเป็นรูปธรรมขึ้นมา จึงสะท้อนอีกก้าวย่างของความเปลี่ยนแปลงของญี่ปุ่นในด้านความมั่นคง ที่นับวันการให้ความสำคัญกับความจำเป็นเชิงยุทธศาสตร์จะขยายพื้นที่เบียดบังหลักสันตินิยมที่เคยปฏิเสธอำนาจและบทบาทการทหารอย่างเบ็ดเสร็จมาก่อน

 

ภาพ: Issei Kato – Pool / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising