×

อัตราฆ่าตัวตายในวัยรุ่นหญิงของญี่ปุ่น-เกาหลีใต้พุ่ง คาดผลจากโควิด-19 ทำให้เครียดจัดและโดดเดี่ยว

โดย THE STANDARD TEAM
30.11.2020
  • LOADING...
อัตราฆ่าตัวตายในวัยรุ่นหญิงของญี่ปุ่น-เกาหลีใต้พุ่ง คาดผลจากโควิด-19 ทำให้เครียดจัดและโดดเดี่ยว

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read

หนังสือพิมพ์ The Washington Post รายงานว่า อัตราการฆ่าตัวตายในกลุ่มหญิงสาววัยรุ่นของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยเชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้หญิงสาวเหล่านี้มีระดับความเครียดเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงรู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้น

หนังสือพิมพ์ The Washington Post รายงานว่า อัตราการฆ่าตัวตายในกลุ่มหญิงสาววัยรุ่นของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยเชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้หญิงสาวเหล่านี้มีระดับความเครียดเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงรู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้น 

 

โดยผลสำรวจพบว่า จำนวนการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2,153 คนในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเพียงเดือนเดียว แตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 5 ปี โดยมีผู้หญิงเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

 

สถิติของรัฐบาลยังพบว่า ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคมมีหญิงสาวชาวญี่ปุ่นฆ่าตัวตายอย่างน้อย 2,180 คน เพิ่มขึ้นเกือบ 41% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า และเมื่อพิจารณาจากช่วงอายุยังพบว่า คนที่อายุต่ำกว่า 29 ปี มีแนวโน้มฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 

 

ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่มีอัตราประชากรฆ่าตัวตายสูงที่สุดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 7 ประเทศ (G7) และเป็นชาติหนึ่งเดียวที่สาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของประชากรในวัย 15-34 ปี คือการฆ่าตัวตาย

 

ขณะที่เกาหลีใต้ถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าญี่ปุ่น โดยเคยทำสถิติฆ่าตัวตายสูงที่สุดเกือบ 16,000 คนในปี 2011 และเป็นชาติที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 

 

แม้สถิติตัวเลขของเกาหลีใต้ในปีนี้จะแสดงให้เห็นอัตราการฆ่าตัวตายที่ลดลง แต่กระนั้นก็พบว่า จำนวนหญิงสาวช่วงวัย 20 ปี ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้กลับเพิ่มขึ้นถึง 43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า 

 

เฉพาะในกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ ในครึ่งปีแรกของปีนี้มีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 4.8% และผู้ที่ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่คือเหล่าหญิงสาวเยาว์วัย และในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้พบผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินเพราะพยายามฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 10% ในจำนวนนี้เป็นหญิงสาวในวัย 20 ปี ถึง 1 ใน 3 

 

บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างพยายามหาสาเหตุของการคิดสั้นในกลุ่มหญิงสาวพบว่า ความเป็นไปได้ส่วนหนึ่งเกิดจากความเครียดและแรงกดดันในเรื่องหน้าที่การงาน ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งโดยปกติ ผู้หญิงมักเป็นแรงงานลำดับต้นๆ ที่มักโดนนายจ้างคัดออกเมื่อเกิดวิกฤต และมักจะประสบกับปัญหาในการหางานที่เหมาะสมกับคุณวุฒิและทักษะฝืมือเมื่อเทียบกับผู้ชาย

 

ขณะเดียวกันประจวบเหมาะกับการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้ตกอยู่ในสภาพถูกบีบให้ตัดขาดจากสังคม ทำให้ผู้หญิงส่วนหนึ่งตกอยู่ในภาวะ Psychological Distance ที่ทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดาย ไม่เป็นที่ต้องการ และนำไปสู่การตัดสินใจปลิดชีวิตของตนได้โดยง่าย 

 

หลายฝ่ายเริ่มออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลหามาตรการป้องกันการฆ่าตัวตายในหมู่หญิงสาววัยรุ่นแล้ว ซึ่งรวมถึงการตั้งสาย Hot Line ให้ประชาชนโทรศัพท์เข้ามาพูดคุยขอความช่วยเหลือ 

 

ขณะเดียวกันแม้จะยังไม่มีผลการศึกษาที่ระบุชัดเจนว่าการระบาดของโรคภัยไข้เจ็บจะเป็นสาเหตุให้คนฆ่าตัวตายหรือมีผลต่อเพศและช่วงวัยในการตัดสินใจฆ่าตัวตายหรือไม่ กระนั้นข้อมูลการฆ่าตัวตายของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในขณะนี้ก็ทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญอดวิตกไม่ได้ว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นสัญญาณเตือนสภาพการณ์ของโลกหลังการระบาดของโควิด-19 ที่มีผลทำให้ผู้คนเกิดปัญหาสุขภาพจิตได้

 

ความวิตกของผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเกินจริงแม้แต่น้อย เมื่อผลการศึกษาในหลายประเทศพบว่า ประชากรวัยหนุ่มสาวมีความคิดที่จะฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น 

 

โดยงานวิจัยของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อสหรัฐฯ (CDC) เมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา พบว่า 1 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสอบถาม มีความคิดที่อยากจะปลิดชีวิตตนเองอย่างจริงจังเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2018 โดยประชากรในวัย 18-24 ปี มีความคิดที่จะฆ่าตัวตายมากขึ้น

 

ด้านการศึกษาวิจัยโดยวารสารจิตเวชแห่งอังกฤษ (British Joural of Psychiatry) เมื่อเดือนตุลาคม พบว่า ความคิดที่จะฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 6 สัปดาห์แรกที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ โดยมีผู้หญิงและวัยรุ่นคิดฆ่าตัวตายมากที่สุด

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising