วาระแห่งชาติ!
ขึ้นชื่อว่าญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ผู้นำเทคโนโลยี โดยเฉพาะญี่ปุ่นเองที่เป็นผู้พัฒนาไฮโดรเจนมานานหลายปี กำลังจะร่วมสร้างห่วงโซ่อุปทานสำหรับการพัฒนาไฮโดรเจนและแอมโมเนียกับเกาหลีใต้ เพื่อสร้างแต้มต่ออุตสาหกรรมพลังงานใหม่และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ รวมทั้งจะเชื่อมไปถึงการลงทุนร่วมกับพันธมิตรอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์กับสหรัฐอเมริกาด้วย
สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น และ ยุนซอกยอล ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ เตรียมประกาศสร้างห่วงโซ่อุปทานด้านพลังงานไฮโดรเจนและแอมโมเนียร่วมกัน โดยโครงการนี้เกิดจากความร่วมมือก่อนที่ทั้งสองประเทศจะเดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุมเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ส่วนความชัดเจนนั้นคาดว่าจะหารือทันทีที่เดินทางถึงมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด แคลิฟอร์เนีย พร้อมกันในวันที่ 17 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวเป็นไปเพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านราคาและเพื่อความมั่นคงในการจัดหาพลังงานใหม่ในตลาดโลกให้มีเสถียรภาพ และวางบทบาทของประเทศในการลดการปล่อยคาร์บอน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ขณะที่การระดมทุนเบื้องต้นจะมาจากสถาบันการเงินในเครือของรัฐบาล ที่พร้อมสนับสนุนบริษัทญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในโครงการผลิตไฮโดรเจนและแอมโมเนียนอกประเทศ เช่น ตะวันออกกลางและสหรัฐอเมริกา
บิ๊กคอร์ปเกาหลีใต้-ญี่ปุ่น รุกลงทุนไฮโดรเจน
ตามรายงานข่าวยังระบุอีกว่า ก่อนหน้าที่บริษัทรายใหญ่ของทั้งสองประเทศ ได้แก่ บริษัท Mitsubishi ของญี่ปุ่น และ LOTTE Chemical ของเกาหลีใต้ ร่วมกับ RWE บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของเยอรมนี มีแผนที่จะผลิตแอมโมเนีย 10 ล้านตันต่อปีในสหรัฐฯ และเริ่มทำตลาดปี 2029 นอกจากนี้ยังพัฒนานำเอาแอมโมเนียสีน้ำเงินมาสร้างเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน
รวมไปถึงบริษัท Mitsui & Co. ของญี่ปุ่น และ GS Energy ของเกาหลีใต้ อยู่ระหว่างเจรจาร่วมทุนโครงการในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งนำโดย Abu Dhabi National Oil Co. ที่คาดว่าจะผลิตแอมโมเนียได้ 1 ล้านตันต่อปี และจะเริ่มเชิงพาณิชย์ในปี 2026
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ยังวางแนวคิดขยายธุรกิจใหม่ในตะวันออกกลาง อินเดีย และอเมริกาใต้ ร่วมกันด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ทั้งสองประเทศจะกระชับความร่วมมือด้านเทคโนโลยีควอนตัมให้มากขึ้น โดยสถาบันวิจัยแห่งชาติ 2 แห่ง ได้แก่ สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมขั้นสูงแห่งชาติของญี่ปุ่นและสถาบันวิจัยมาตรฐานและวิทยาศาสตร์แห่งเกาหลีใต้ จะลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยโตเกียวและมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล รวมไปถึงมหาวิทยาลัยชิคาโกก็จะมีการประกาศตามมาอีกเช่นกัน
นอกจากนี้ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา อยู่ระหว่างวางแนวทางการพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ร่วมกันอีกด้วย
อ้างอิง: