รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศยกเลิกโครงการจูงใจให้ผู้หญิงในโตเกียวแต่งงานกับผู้ชายในชนบทด้วยเงิน 6 แสนเยน (ประมาณ 1.4 แสนบาท) หลังเผชิญเสียงคัดค้านอย่างหนักจากประชาชนทั่วประเทศ
โครงการนี้มีขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมในญี่ปุ่นหลายประการ ทั้งอัตราการแต่งงานที่ต่ำที่สุดในรอบ 90 ปี, อัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน และในเดือนมิถุนายน กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นประกาศว่า อัตราการเกิดของประเทศอยู่ในระดับ ‘วิกฤต’ เนื่องจากลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันเป็นปีที่ 8 รวมทั้งความไม่สมดุลในการพัฒนาเมืองและชนบท
เคนอิจิ โมอาเอะ นักวิชาการชาวญี่ปุ่น อธิบายว่า ญี่ปุ่นกำลังกลายเป็น ‘สังคมแห่งความปรารถนาต่ำ’ (Low-Desire Society) คนหนุ่มสาวไม่เต็มใจที่จะเสี่ยงหรือเป็นหนี้ ส่งผลให้ความปรารถนาในการแต่งงาน มีลูก หรือแม้แต่การสานสัมพันธ์ลดลง
นอกจากนี้ความไม่สมดุลในการพัฒนาของแต่ละภูมิภาคก็ยิ่งทำให้ปัญหาวิกฤตสังคมของประเทศทวีความรุนแรงขึ้น คนหนุ่มสาวจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้หญิง มักย้ายเข้ามาอยู่ในโตเกียว เพื่อหาโอกาสทางการศึกษาและการทำงานที่ดีกว่า
สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานและมีบ้านร้างจำนวนมากในชนบท โรงเรียนและโรงพยาบาลหลายแห่งต้องปิดตัวลงเนื่องจากประชากรลดลง ในขณะที่โตเกียวกำลังเผชิญกับปัญหาความแออัด
อย่างไรก็ตาม แผนการจูงใจนี้กลับถูกมองว่าเป็นการดูถูกผู้หญิงและไม่เคารพสิทธิในการตัดสินใจของพวกเธอ เสียงวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์จำนวนมากมองว่า แผนการนี้เป็นการใช้เงินภาษีของประชาชนอย่างไม่เหมาะสม และเป็นการลดทอนคุณค่าของผู้หญิงให้เหลือเพียงมูลค่าทางการเงิน
ด้วยกระแสต่อต้านจากทั่วประเทศ ทำให้ในที่สุดทางการญี่ปุ่นประกาศยกเลิกโครงการนี้เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา
ในขณะที่ญี่ปุ่นล้มเหลวในการใช้นโยบายจูงใจให้แต่งงาน แต่จีนกลับประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายที่คล้ายคลึงกัน เช่น บริษัทในมณฑลกวางตุ้งเสนอเงิน 10,000 หยวน (ประมาณ 47,000 บาท) ให้พนักงานที่แต่งงาน และอีก 10,000 หยวนสำหรับลูกแต่ละคนที่เกิด
นอกจากนี้ยังมีการเสนอเงิน 1,000 หยวน (ประมาณ 4,800 บาท) ให้กับคู่รักที่เจ้าสาวอายุไม่เกิน 25 ปี เพื่อส่งเสริมการแต่งงานและการมีบุตรตามวัยที่เหมาะสม
นโยบายเหล่านี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากชาวจีนจำนวนมาก เนื่องจากสอดคล้องกับค่านิยมดั้งเดิมของจีนที่ให้ความสำคัญกับความต่อเนื่องของครอบครัวและความกตัญญู
อ้างอิง: