เมื่อเช้าวันที่ 7 กันยายน ญี่ปุ่นได้ปล่อยจรวด H-IIA ขึ้นจากฐานปล่อยที่ศูนย์อวกาศทาเนกาจิมะ โดยมีกล้องโทรทรรศน์อวกาศ XRISM และยานลงสำรวจดวงจันทร์ SLIM เป็นสองภารกิจที่ร่วมเดินทางขึ้นสู่อวกาศ
ยานสำรวจทั้งสองมีภารกิจที่แตกต่างกัน โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ XRISM หรือ X-ray Imaging and Spectroscopy Mission มีเป้าหมายเพื่อศึกษาจักรวาลในช่วงรังสีเอ็กซ์ ภายใต้ความร่วมมือของ JAXA (ญี่ปุ่น), NASA (สหรัฐอเมริกา) และ ESA (ยุโรป) เพื่อทำความเข้าใจองค์ประกอบทางเคมีของจักรวาล การไหลเวียนของสสารรอบหลุมดำมวลมหึมา และศึกษาวิวัฒนาการของเอกภพผ่านก๊าซร้อนโดยรอบกระจุกกาแล็กซี
XRISM ถูกวางไว้เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศรุ่นใหม่ เพื่อสำรวจจักรวาลในช่วงรังสีเอ็กซ์ โดยรับช่วงต่อจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรา และ XMM-Newton ที่ปฏิบัติงานอยู่ในวงโคจรมานานกว่า 20 ปีแล้ว โดย XRISM ถูกส่งเข้าสู่วงโคจร Low Earth Orbit ที่มีความสูง 550 กิโลเมตรจากพื้นดินได้สำเร็จ
ส่วนยานลงดวงจันทร์ SLIM หรือ Smart Lander for Investigating Moon ถือเป็นความพยายามในการลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์อีกครั้งของญี่ปุ่น โดยหนนี้เป็นภารกิจขององค์การวิจัยและพัฒนาการสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA ที่จะเดินทางไปถึงบริวารของโลกในเดือนมกราคม ปี 2024
ความแตกต่างจากภารกิจอื่นก่อนหน้าคือ ภารกิจ SLIM จะเป็นการทดลองระบบลงจอดที่อาศัยความแม่นยำ นั่นคือยานจะเดินทางไปลงจอดให้ได้ภายในพื้นที่เป้าหมายขนาด 100 เมตร ในหลุมอุกกาบาตชิโอริ ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่จะ “ลงจอดในจุดที่เราต้องการ ไม่ใช่จุดที่จอดได้ง่าย” ตามคำอธิบายภารกิจของ JAXA
เนื่องจากภารกิจ SLIM ต้องประหยัดเชื้อเพลิง ทำให้ต้องใช้เส้นทางเดินทางที่อ้อมกว่า โดยอาศัยแรงเหวี่ยงจากโลกและดวงจันทร์เร่งความเร็วภารกิจให้เดินทางไปเข้าวงโคจรของบริวารดวงนี้ ซึ่งมีผลให้เวลาเดินทางโดยรวมของภารกิจนั้นยาวนานถึง 4 เดือน มากกว่าการเดินทางไปในสมัยโครงการอพอลโล (3 วัน) หรือภารกิจจันทรายาน-3 (1 เดือน) ที่ผ่านมา
นอกจากยานลงจอดแล้ว SLIM ยังบรรทุกยานสำรวจขนาดเล็กอีก 2 ลำ ได้แก่ LEV-1 กับ LEV-2 เพื่อนำลงไปวิ่งสำรวจบนพื้นผิว ทำการทดลองแบบง่าย และถ่ายภาพของยาน SLIM หลังจากลงถึงพื้นผิวได้สำเร็จ
ทั้งนี้ หากยาน SLIM สามารถลงจอดอย่างนุ่มนวลได้ในช่วงต้นปีหน้า ญี่ปุ่นจะกลายเป็นชาติที่ 5 ที่สามารถนำยานไปลงสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ได้ ต่อจากโซเวียต สหรัฐฯ จีน และอินเดีย พร้อมกับได้องค์ความรู้ในการพัฒนายานเพื่อไปสำรวจเป้าหมายอื่นๆ ในระบบสุริยะ ที่ต้องอาศัยความแม่นยำในการลงจอดบนพื้นผิว เช่น ดาวเคราะห์น้อย หรือดาวหางขนาดเล็ก เป็นต้น
ภาพ: STR / JIJI Press / AFP
อ้างอิง: