วันนี้ (7 กรกฎาคม) หน่วยงานกำกับดูแลด้านนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นได้ให้ใบรับรองแก่บริษัท Tokyo Electric Power Company (TEPCO) เพื่ออนุมัติให้ใช้ระบบใหม่สำหรับปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก
การอนุมัติดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่เจ้าหน้าที่หน่วยงานกำกับดูแลด้านนิวเคลียร์ได้ตรวจสอบระบบปล่อยน้ำเสีย ซึ่งรวมถึงเครื่องสูบน้ำสำหรับสูบน้ำทะเลขนาดใหญ่และวาล์วปิดฉุกเฉิน โดยเจ้าหน้าที่ไม่พบว่ามีปัญหาในการใช้งาน
สำหรับน้ำเสียที่จะปล่อยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่ทะเลคือ น้ำที่ใช้ในการหล่อเย็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นน้ำฝนผสมกับน้ำบาดาล โดยจะต้องผ่านการบำบัดเพื่อกำจัดสารกัมมันตรังสีส่วนใหญ่ แต่ยังคงเหลือทริเทียม ซึ่งเป็นไอโซโทปสารกัมมันตรังสีชนิดหนึ่งของอะตอมไฮโดรเจน
ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนที่จะทำให้น้ำเสียเจือจาง เพื่อลดระดับทริเทียมให้เหลือประมาณ 1 ใน 7 ของแนวทางความปลอดภัยสำหรับน้ำดื่มตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด
ทั้งนี้ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (4 กรกฎาคม) ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) ได้ออกมาแสดงท่าทีต่อแผนของรัฐบาลญี่ปุ่นในการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ โดยระบุว่า น้ำเสียจากโรงไฟฟ้าที่ผ่านการบำบัดและเจือจางนั้นสอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยระหว่างประเทศ
ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนที่จะเริ่มปล่อยน้ำในช่วงฤดูร้อนนี้ หรืออย่างเร็วคือในเดือนสิงหาคม แต่ยังไม่มีการกำหนดวันที่ชัดเจน
ข่าวการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่เผชิญภัยพิบัติสารกัมมันตรังสีรั่วไหล เนื่องจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในปี 2011 ส่งผลให้แรงงานประมงท้องถิ่นในฟุกุชิมะมีความกังวลเกี่ยวกับความเสียหายที่อาจกระทบต่อชื่อเสียงสินค้าประมงในพื้นที่ ซึ่งเป็นธุรกิจของพวกเขา
อย่างไรก็ตาม มัตสึโมโตะ จุนอิจิ ผู้บริหาร TEPCO ผู้ดูแลแผนการปล่อยน้ำเสีย กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ของ TEPCO จะดำเนินการให้คำอธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์ต่อไป เพื่อคลายความกังวลของผู้ที่อาจได้รับผลกระทบ
ภาพ: Christopher Furlong / Getty Images
อ้างอิง: