ท่ามกลางทิวทัศน์ของอ่าวโตเกียวและดอกไม้ฤดูหนาว มีโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งล่าสุดของญี่ปุ่นตั้งตระหง่านอยู่ เรือขนถ่านหินลำใหญ่แล่นสวนทางกับเรือประมงของชาวเมือง ปล่องสูงชะลูดแทงขึ้นไปบนท้องฟ้าสีคราม คาร์บอนไดออกไซด์ที่มองไม่เห็นพวยพุ่งอยู่ในอากาศ
ที่นี่คือเมืองโยโกสุกะ จังหวัดคานากาวะ ห่างจากมหานครโตเกียวราว 1 ชั่วโมงหากเดินทางด้วยรถไฟ เมืองเล็กๆ แห่งนี้เป็นที่รู้จักในฐานะชุมชนชายฝั่งทะเลที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และยังเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือญี่ปุ่น-สหรัฐอเมริกา
กระทั่งปี 2023 โรงไฟฟ้าน้ำมันเก่าแก่ที่ปลดประจำการไปนานคืนชีพกลับมาอีกครั้งในสถานะโรงไฟฟ้าถ่านหิน อาณาเขตของมันอยู่ห่างเพียงไม่ถึง 10 กิโลเมตรจากชุมชนที่เต็มไปด้วยบ้านเรือน โรงเรียน และท่าจอดเรือประมง นำมาสู่ความกังวลถึงผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในเมืองโยโกสุกะ
อิตาลีตั้งเป้าหมายลดการใช้พลังงานถ่านหินทั้งหมดภายในปี 2025 สหราชอาณาจักรปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งสุดท้ายไปเมื่อปี 2024 ทว่าญี่ปุ่นเพิ่งเปิดใช้งานโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งล่าสุดในปี 2023
ปัจจุบันทั่วโลกพยายามเปลี่ยนผ่านเข้าสู่พลังงานหมุนเวียน เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก แต่เหตุใดพลังงานถ่านหินจึงยังมีบทบาทอย่างมากใน ‘ประเทศที่พัฒนาแล้ว’ อย่างญี่ปุ่น และทำไมความพยายามของประชาชนที่ลุกขึ้นต่อต้านจึงประสบความล้มเหลว?
โรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งล่าสุดของญี่ปุ่นในเมืองโยโกสุกะ จังหวัดคานากาวะ เริ่มเดินเครื่องเมื่อปี 2023
การต่อสู้ของภาคประชาชนในญี่ปุ่น: ไม้ซีกงัดไม้ซุง
THE STANDARD ได้พบกับ ริคุโระ ซูซูกิ วัย 84 ปี หนึ่งในผู้นำภาคประชาสังคมที่คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าโยโกสุกะ เขาเป็นชาวจังหวัดอิวาเตะที่ย้ายมาทำงานและอาศัยที่โยโกสุกะตั้งแต่ปี 1998
แม้ในยุคสมัยของซูซูกิ ประเด็นมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมจะยังไม่เป็นที่สนใจแพร่หลาย แต่เขาประสบกับความสูญเสียด้วยตนเอง หลังจากหลานชายของเขาที่ป่วยด้วยโรคหอบหืดจากมลพิษในโตเกียว และต้องทรมานกับโรคนี้อยู่ถึง 40 ปี จนสุดท้ายจากไปด้วยอายุ 62 ปี
เหตุการณ์นี้สร้างแผลลึกในใจของซูซูกิ และทำให้เขาตระหนักถึงผลกระทบจากมลพิษ ก่อนที่เขาจะรับรู้ว่าโรงไฟฟ้าในเมืองโยโกสุกะที่ปิดตัวไปเกือบ 20 ปีกำลังจะเดินเครื่องอีกครั้ง
“เดิมทีโรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นโรงไฟฟ้าน้ำมันเชื้อเพลิงมาก่อน สร้างขึ้นราวช่วงทศวรรษ 1960 ขณะนั้นญี่ปุ่นยังไม่มีกฎหมายกำหนดให้โรงไฟฟ้าต้องตั้งห่างจากชุมชน”
ซูซูกิเล่าถึงที่มาที่ไป ก่อน JERA บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น จะเปลี่ยนโรงไฟฟ้าน้ำมันเชื้อเพลิงแห่งเดิมที่ปิดใช้งานไปให้กลายเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,300 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน
ริคุโระ ซูซูกิ ผู้นำภาคประชาชนยื่นฟ้องโรงไฟฟ้าถ่านหินในโยโกสุกะ
โครงการดังกล่าวเริ่มขึ้นในปี 2016 และได้จัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ขึ้นในปีเดียวกัน กระบวนการดำเนินไปอย่างรวดเร็ว กระทั่ง EIA แล้วเสร็จในปี 2018 ก่อนที่กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ของญี่ปุ่นจะรับรองรายงานดังกล่าวและอนุญาตให้เริ่มการก่อสร้างในปีถัดมา
ซูซูกิระบุว่า เขารู้สึกประหลาดใจที่ EIA อ้างว่าการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ในจุดเดิมที่โรงไฟฟ้าเก่าปลดระวางแล้วจะทำให้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลดลง แต่การกล่าวอ้างนั้นเปรียบเทียบกับสถานการณ์เมื่อ 18 ปีก่อน ที่โรงไฟฟ้าเก่ายังเปิดใช้งานทั้งหมด แม้คณะกรรมการตรวจสอบ EIA รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดคานากาวะจะชี้ให้เห็นถึงปัญหาแล้ว ทว่าก็ไม่ได้รับการแก้ไข
“เราไม่สามารถยอมรับ EIA ที่ถูกลดขั้นตอนจนเข้าข้างผลประโยชน์ส่วนตัว และขาดการพิจารณาผลกระทบที่แท้จริงต่อสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ได้” ซูซูกิกล่าวในการประชุมรับฟังความเห็นของคนในชุมชน
ด้วยความไม่สมบูรณ์ของ EIA และความกังวลต่อผลกระทบระยะยาว นำมาสู่เหตุการณ์สำคัญที่ประชาชนราว 48 คนในพื้นที่ นำโดยซูซูกิ รวมตัวกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาล ขอให้กระทรวงเศรษฐกิจฯ พิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งนี้
ถึงกระนั้นความพยายามก็ไม่สัมฤทธิ์ผล ศาลสูงโตเกียวตัดสินยกคำร้องเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2024 โดยศาลยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาร้ายแรง แต่โจทก์ “ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่ชี้ว่า การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้าใหม่เพียงแห่งเดียวจะเพิ่มความเสียหายจากภัยพิบัติ หรือส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้คนในพื้นที่” และเห็นว่ากระบวนการจัดทำ EIA ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
กลุ่มของซูซูกิไม่ย่อท้อ พวกเขายื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาให้ทบทวนคำตัดสิน แต่จนแล้วจนรอดศาลฎีกายกคำร้องเมื่อเดือนตุลาคม 2024 โดยระบุเพียงว่า “เหตุผลในการอุทธรณ์ไม่เป็นไปตามกฎหมาย” เป็นอันปิดฉากความพยายามต่อสู้ด้วยกระบวนการยุติธรรม แต่ทางภาคประชาชนสังคมยืนยันว่าจะเดินหน้าต่อด้วยวิธีอื่น
ชาวเมืองโยโกสุกะที่รวมตัวกันต่อต้านการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน และ ยูกะ คิกูจิ ผู้อำนวยการ Mekong Watch (คนที่ 2 จากขวา)
ญี่ปุ่น: ประเทศพัฒนาแล้วที่มีข้อจำกัดด้านพลังงาน
ช่วงกลางปี 2024 การประชุมของรัฐมนตรีจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 หรือ G7 ซึ่งญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในนั้น บรรลุข้อตกลงครั้งสำคัญว่าจะยุติการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินภายในปี 2030 เพื่อเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นเป็นเพียงประเทศเดียวในกลุ่ม G7 ที่ยังไม่กำหนดเส้นตายสู่การเปลี่ยนผ่านจากพลังงานไฟฟ้าถ่านหิน
ข้อจำกัดด้านพลังงานของญี่ปุ่นสืบเนื่องมาจากญี่ปุ่นมีทรัพยากรพลังงานภายในประเทศจำกัดมาก จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก เพื่อสร้าง ‘ความมั่นคงทางพลังงาน’ มาค้ำจุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และประชากรที่หนาแน่น เป็นเหตุให้มีต้นทุนการผลิตสูง ลำพังค่าไฟฟ้าในญี่ปุ่นก็แพงกว่าไทยเกือบเท่าตัว
ด้วยเหตุนี้ญี่ปุ่นจึงหันไปพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์อย่างมาก แต่หลังเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะเมื่อ 13 ปีก่อน รัฐบาลสั่งปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งหมด จนญี่ปุ่นต้องเผชิญภาวะขาดแคลนพลังงาน ส่งผลให้ต้องนำเข้าพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ (LNG) และถ่านหิน เพิ่มขึ้นเพื่อชดเชย รวมถึงเปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มราว 50 แห่ง ซึ่งโรงไฟฟ้าที่เมืองโยโกสุกะเองก็เป็นหนึ่งในนั้น
“ด้วยการดำเนินการที่เร่งด่วน การทำ EIA ของโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงขาดความถี่ถ้วน” ซูซูกิอธิบาย
ภาพประกอบ: กันยกร กาญจนวิไล
จากข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2023 ญี่ปุ่นผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 28.3% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด แม้สัดส่วนจะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่เชื้อเพลิงถ่านหินซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่สุดของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ยังคงเป็นแหล่งพลังงานสำคัญอันดับ 2 ของญี่ปุ่น รองจาก LNG
ปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นพยายามลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลอย่างถ่านหินและ LNG ด้วยการอนุมัติแผนการดำเนินนโยบายด้านพลังงานใหม่ โดยตั้งเป้าหมายในปี 2030 ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลงเหลือ 41% จากเดิมที่มีการใช้รวมกันถึง 70% ของพลังงานทั้งหมด และนำพลังงานหมุนเวียนมาชดเชยราว 36-38% ตลอดจนแนวคิดในการรื้อฟื้นพลังงานนิวเคลียร์ ที่ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 20-22% ด้วย
แผนการดำเนินนโยบายด้านพลังงานของญี่ปุ่นสะท้อนถึงความเชื่อของรัฐบาลญี่ปุ่นว่า ประเทศอาจต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต เพื่อรองรับการใช้ AI รวมถึงศูนย์ข้อมูล (Data Center) ภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม จากการเดินทางไปที่ประเทศญี่ปุ่นของ THE STANDARD ทำให้มีโอกาสได้รับฟังความเห็นจากภาคประชาสังคมที่พยายามชี้ให้เห็นว่า ‘พลังงานหมุนเวียน’ อาจกลายเป็นโอกาสใหม่ที่ยังไม่ถูกค้นพบของญี่ปุ่น
ก้าวเล็กๆ ของพลังงานหมุนเวียนในญี่ปุ่น
RE100 หรือ Renewable Energy 100% เป็นหนึ่งในโครงการระดับโลกที่มุ่งสานต่อพันธกิจในการหันมาใช้พลังงานทดแทน และมีเครือข่ายอยู่ในหลายประเทศ รวมถึงญี่ปุ่นและไทย สำหรับญี่ปุ่นเองมีบริษัทใหญ่เกือบร้อยแห่งเข้าร่วมโครงการนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของญี่ปุ่นที่มากขึ้นเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน ด้วยความหวังจะลดการพึ่งพาพลังงานนำเข้า และส่งเสริมการลงทุนโดยตรงกับตลาดพลังงานหมุนเวียนในประเทศ
ในช่วงเดือนมิถุนายน 2024 RE100 เน้นย้ำถึงโอกาสของญี่ปุ่นในการเปลี่ยนผ่านมาสู่พลังงานหมุนเวียน เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ แต่ยังมีอุปสรรคสำคัญคือนโยบายของรัฐบาลที่ยังไม่เอื้ออำนวย พร้อมชี้ว่า แรงลมชายฝั่งของญี่ปุ่นมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าแหล่งที่มาปัจจุบันถึง 1.7 เท่า เช่นเดียวกับพื้นที่มากมายซึ่งสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้
อากิโกะ โยชิดะ จาก Friends of the Earth Japan (FoE Japan) อธิบายว่า การผลักดันเรื่องพลังงานหมุนเวียนในญี่ปุ่นริเริ่มมาตั้งแต่ช่วงปี 2012 แต่ก็ยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ ขณะเดียวกันกระแสของหลายประเทศทั่วโลกก็สร้างความกดดันให้บริษัทชั้นนำในญี่ปุ่นต้องเริ่มขบคิดถึงการหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน
Power Shift Campaign คือโครงการที่ภาคประชาสังคมในญี่ปุ่นเริ่มขับเคลื่อนมา 8 ปีแล้ว โดยเน้นการสนับสนุนให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยหันมาเลือกแหล่งที่มาจากพลังงานหมุนเวียน พร้อมสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภคอุดหนุนไฟฟ้าจากบริษัทเหล่านั้น เรื่องนี้เป็นไปได้ เพราะญี่ปุ่นเปิดโครงสร้างการค้าเป็นเสรีเมื่อปี 2016 จึงมีการแข่งขันกันได้ระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้า ต่างจากประเทศไทยที่ผู้ผลิตไฟฟ้ายังคงเป็นรายใหญ่และค่อนข้างผูกขาด
แปลงปลูกถั่วเหลืองผสมกับฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) ในจังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น
อาจกล่าวได้ว่ากระบวนการในญี่ปุ่นได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว แต่ยังดำเนินไปอย่างช้าๆ เนื่องจากบริษัทไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติและถ่านหินยังคงมีอิทธิพลเหนือตลาดไฟฟ้าของญี่ปุ่นราว 70-80%
ถึงกระนั้นเองบริษัทไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นอย่าง JERA ก็เริ่มวางแผนนำเทคโนโลยีที่ลดการปล่อยมลพิษมาปรับใช้ เช่น การเผาไหม้ร่วม (Co-Firing) คือการนำเชื้อเพลิงทางเลือกอย่างชีวมวล (Biomass) มาผสมกับถ่านหิน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ก็ยังไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจน
“อย่างไรก็ตาม เชื่อได้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เปิดเดินเครื่องขึ้นใหม่ในเมืองโยโกสุกะน่าจะเป็นแห่งสุดท้ายในประเทศนี้แล้ว” โยชิดะให้ความเห็น
จากญี่ปุ่นสู่ไทย พลังงานหมุนเวียนยังเกินเอื้อม?
ย้อนกลับมามองประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2055 คืออีกราว 25-30 ปีต่อจากนี้ ขณะเดียวกันทิศทางของพลังงานในไทยจะขับเคลื่อนอยู่ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของไทย หรือแผน PDP ที่วางโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าไว้ระยะยาวจนถึงปี 2037
ดูเหมือนว่าเป็นข่าวดี เพราะในแผน PDP ล่าสุดของไทยกำหนดสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนไว้ถึง 46% แบ่งเป็น พลังงานแสงอาทิตย์ 16%, พลังงานน้ำที่นำเข้าจากเขื่อนลุ่มแม่น้ำโขง 15% และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ 15% ทว่าองค์กรภาคประชาสังคมบางส่วนยังไม่เห็นด้วยนักด้วยเหตุผลบางประการ
ประการแรก หลายฝ่ายประเมินว่าไทยมีศักยภาพในการผลิตพลังงานหมุนเวียนได้มากกว่าที่กำหนดในแผน กล่าวได้ว่ามากกว่าญี่ปุ่นเกือบเท่าตัว โดยเฉพาะในด้านพลังงานแสงอาทิตย์ และประการต่อมา มีการชี้ว่าไทยยังคงพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศอยู่มาก ซึ่งจะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น
นอกจากนั้น แผน PDP ของไทยก็ยังไม่หลุดพ้นจากการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล ทั้งการนำเข้า LNG จากเมียนมา แม้กระทั่งพลังงานหมุนเวียนยังต้องนำเข้าจากเขื่อนใน สปป.ลาว ยังไม่รวมถึงแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซขนาดใหญ่เพิ่มอีกอย่างน้อย 8 แห่งภายในปี 2037 ซึ่งดูสวนทางกับเป้าหมายที่จะมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายใน 2055
โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ประเทศไทย
ยูกะ คิกูจิ ผู้อำนวยการ Mekong Watch องค์กรภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนประเด็นด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น อธิบายว่า ไทยและญี่ปุ่นมีความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและพลังงานมายาวนาน โดยญี่ปุ่นเริ่มมีบทบาทสำคัญในโครงสร้างพื้นฐานของไทยตั้งแต่ราว 60 ปีก่อน ผ่านการลงทุนในโครงการสำคัญ เช่น นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและแหลมฉบัง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเงินกู้ของญี่ปุ่น ถึงแม้จะช่วยให้เศรษฐกิจของไทยเติบโต และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งกำลังลงทุนพัฒนาแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นด้วย ตัวอย่างในอดีตเช่น โรงไฟฟ้าแม่เมาะ และอีกหลายแห่ง”
คิกูจิเปิดเผยว่า ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) เตรียมจัดสรรเงินทุนอีก 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลหลังสิ้นปี 2024 ซึ่งขัดแย้งกับข้อตกลงของกลุ่มประเทศ G7 ที่ให้ยุติการสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยภาครัฐในต่างประเทศ
ภายใต้สถานการณ์ที่มนุษยชาติกำลังเดินหน้าเข้าสู่สภาวะที่ ‘ไม่อาจย้อนกลับได้’ เมื่ออุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และสถาบันวิจัยสภาพอากาศ Mercator Research Institute on Global Commons and Climate Change (MCC) ประเมินว่า จุดนั้นน่าจะมาถึงภายในเดือนกรกฎาคม 2029 หากไม่เร็วกว่านั้น
ไม่ว่าประเทศใดในโลกควรต้องทบทวนแผนการด้านพลังงานของตนเอง อาจเริ่มจาก 2 ประเทศในเอเชียอย่างญี่ปุ่นและไทย ที่อย่างน้อยอาจเปลี่ยนผ่านจาก ‘ความมั่นคง’ ของพลังงานฟอสซิลหรือถ่านหิน แล้วหันมาพิจารณา ‘ความยั่งยืน’ ของพลังงานหมุนเวียน ที่อาจช่วยต่ออายุโลกและซื้ออนาคตให้มนุษยชาติได้บ้าง
ซูซูกิและตัวแทนภาคประชาชนชาวโยโกสุกะที่แสดงจุดยืนต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่