×

เมื่อญี่ปุ่นก้าวจาก ‘เงินฝืด’ สู่ ‘เงินเฟ้อ’ ผู้บริโภคอาจต้องรับเคราะห์จากของแพงขึ้น บนฐานเงินเดือนที่หยุดนิ่งมากว่า 30 ปี

25.04.2023
  • LOADING...
ญี่ปุ่น เงินฝืด เงินเฟ้อ

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ตกอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจหยุดนิ่ง (Stagnation) ที่การจับจ่ายใช้สอยหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ไม่สามารถดึงให้ประเทศมีการเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญมาตั้งแต่ช่วงปี 1990 
  • ทัศนคติเฉพาะตัวของคนญี่ปุ่นต่อการใช้จ่าย ส่งผลให้ธุรกิจลังเลที่จะขึ้นค่าแรงของพนักงาน และผู้บริโภคก็มีแนวโน้มสูงที่จะมองข้ามสินค้าและบริการที่มีการปรับราคาขึ้น สร้างให้เป็นวัฏจักรที่ราคาคงอยู่ในสถานะเดิมกว่า 30 ปี
  • ญี่ปุ่นเริ่มเจอกับความกดดันเงินเฟ้อภายนอกมากขึ้นจากวิกฤตโควิดและสงครามรัสเซีย-ยูเครน ต้นทุนบริษัทเพิ่มสูงขึ้นในสินค้าแทบทุกชนิด ธุรกิจไม่มีทางเลือกนอกจากการขึ้นราคา แต่ก็กลัวลูกค้าจะถอยห่าง
  • รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามขอความช่วยเหลือจากผู้ประกอบการในการปรับค่าแรงให้กับพนักงาน แต่ก็มีเพียงไม่กี่บริษัทใหญ่ที่สามารถทำได้ 
  • ธุรกิจขนาดกลางถึงเล็กยังคงชั่งน้ำหนักขีดความสามารถในการปรับค่าแรงจากภาระต้นทุนที่สูงอยู่แล้ว และความไม่แน่นอนในอนาคตของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

สถานการณ์เงินเฟ้อในญี่ปุ่น ณ ปัจจุบัน

 

คาซูโอะ อูเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คนปัจจุบัน ถูกถามถึงผลกระทบเงินเฟ้อที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญ และกล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่สามารถซื้อข้าวกล่องได้ด้วยเหรียญ 500 เยน (ประมาณ 130 บาท คิดจากอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน ที่ 1 บาท = 3.91 เยน) ที่ร้านสะดวกซื้อในมหาวิทยาลัยที่เขาสอนได้อีกต่อไปแล้ว 

 

เหรียญ 500 เยนถือเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกของสภาวะเงินฝืดและการหยุดนิ่งของราคาในญี่ปุ่น แต่ตอนนี้ 500 เยนไม่สามารถที่จะซื้อข้าวเทมปุระสักถ้วยในโตเกียวได้แล้ว 

 

ราคาขนมช็อกโกแลตและซอสสุกี้ยากี้ก็ทยอยปรับราคาขึ้น 

 

และตอนนี้ก็เป็นครั้งแรกในช่วงเวลากว่า 30 ปีที่ค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินทุกสายในโตเกียวจะปรับสูงขึ้น 10 เยน (2.5 บาท)

 

สินค้าประเภทอาหารและข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน

มีราคาพุ่งสูงขึ้นนับตั้งแต่ต้นปี 2022 ถึงปัจจุบัน

 

ดัชนีราคาผู้บริโภค CPI ปรับตัวสูงกว่าเป้าของ BOJ มาเป็นเวลา 9 เดือนติดต่อกัน (เป้าคือ 2%) ที่ 4.2% เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในขณะที่อูเอดะมองว่า เงินเฟ้อน่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่หลายฝ่ายยังคงกังวลถึงการปรับตัวขึ้นของราคาในอนาคตอีก ซึ่ง Core CPI ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้นในอัตรา 3.2% นับเป็นอัตราเร่งสูงสุดตั้งแต่ปี 1990 

 

ฟุกุ ชาวบ้านในกรุงโตเกียว อายุ 64 ปี เลี้ยงชีพด้วยเงินบำนาญรัฐ กล่าวว่า “ตัวฉันและสามีไม่มีงาน ไม่มีรายได้แล้ว เราจึงกังวลมากที่จะมีการเพิ่มราคาสินค้าอีกในอนาคต” เธอยังบอกเพิ่มด้วยว่า เธอเลือกซื้อเฉพาะของที่มีป้ายลดราคาเท่านั้น 

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Teikoku Databank บริษัทจัดทำข้อมูลชั้นนำของญี่ปุ่น ออกมารายงานว่า สินค้าอาหารอีกกว่า 15,800 รายการ จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 16% ในเดือนเมษายน 2023 ทำให้สถานการณ์ค่าครองชีพดูน่าเป็นห่วงขึ้นไปอีก

 

ของกิน-ของใช้บ้านๆ 3 อย่างที่สรุปสถานการณ์เงินเฟ้อในญี่ปุ่น

 

 

นักเก็ตไก่คาราอาเกะคุง (からあげクン) 

 

ที่มีวางขายตามร้านสะดวกซื้อ Lawson ทั่วประเทศ หนึ่งในของกินเล่นยอดฮิตของชาวญี่ปุ่นรวมถึงต่างชาติ ปรับราคาขึ้น 10% โดยทางบริษัทออกมาชี้แจงถึงต้นเหตุค่าของขนส่งและวัตถุดิบที่แพงขึ้นว่า “เราอยากที่จะรักษาระดับราคาของคาราอาเกะคุงให้อยู่ที่เดิม แต่การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายต่างๆ ทำให้เราไม่มีทางเลือกนอกจากขึ้นราคา”

 

แป้งสาลีกว่า 90% ที่คนญี่ปุ่นพึ่งพาในการบริโภค เป็นหนึ่งในวัตถุที่นำมาใช้ทำนักเก็ตไก่ มีแหล่งที่มาจากประเทศยูเครน ซึ่งกำลังถูกกระทบจากสภาวะสงครามกับรัสเซีย ทำให้ราคาแป้งสาลีในตลาดโลกพุ่งสูงเพิ่มต้นทุนการนำเข้า เป็นอีกเหตุผลที่แป้งสาลีในประเทศพลอยขึ้นราคาไปด้วยถึง 30% เมื่อเทียบกับปีก่อน 

 

 

เต้าหู้ญี่ปุ่น (豆腐) 

 

ริวจิ ยามางุจิ หัวหน้าพ่อครัวผู้ผลิตเต้าหู้ในเกาะฮอกไกโด ยังติดอยู่ในความวิตกกังวลว่า ลูกค้าของเขาจะหยุดซื้อเต้าหู้ หลังจากที่เขาตัดสินใจปรับขึ้นราคาเต้าหู้ ทั้งๆ ที่ปีก่อนเขาก็จำใจขึ้นราคาไปแล้ว 1 รอบ จากต้นทุนการนำเข้าถั่วเหลืองที่เพิ่มขึ้น 

 

เขาให้สัมภาษณ์ว่า ราคาการนำเข้าถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวนับตั้งแต่เขาเข้ามาในวงการตอนปี 2000 “การปรับราคาปีที่แล้วนั้นเป็นขั้นต่ำที่พอจะทำให้ธุรกิจของผมไปต่อได้” เขากล่าว

 

อีกหนึ่งปัญหาคือ ค่าแรงที่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นจากความกดดันทางต้นทุนต่างๆ ในอุตสาหกรรมอาหาร แม้ในปัจจุบันพนักงานของเขายังไม่เรียกร้องขอขึ้นค่าแรง เขาก็ไม่มั่นใจว่าวันนั้นจะเป็นเมื่อไร สิ่งที่เขาทำได้ตอนนี้ในการผ่อนหนักให้เป็นเบาคือ ให้พนักงานทำงานจำนวนชั่วโมงน้อยลง

 

สิ่งที่ยามางุจิกำลังเจอคือ ปัญหาเรื้อรังของญี่ปุ่นในการสร้างวงจรของค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ที่จะช่วยกระตุ้นการบริโภคและราคาที่เพิ่มขึ้นรอบใหม่นั้นยังไม่สำเร็จเสียที แม้บริษัทใหญ่ๆ จะมีการปรับขึ้นค่าแรงไปบ้างแล้ว แต่สำหรับบริษัทขนาดเล็กถึงกลาง พวกเขายังไม่สามารถทำได้

 

“ถ้าเรายังติดอยู่ในกรอบความคิดว่ารายได้คงจะไม่ขึ้นง่ายๆ ความเสี่ยงที่เราจะลงทันใช้นโยบายในการขึ้นค่าแรงก็อาจจะไม่ได้ผลอย่างที่คาดไว้” จุนโกะ นากางาวะ หนึ่งในกรรมการด้านนโยบาย กล่าวถึงสิ่งกีดขวางการเพิ่มขึ้นของค่าแรงในญี่ปุ่น 

 

สิ่งนี้อาจสื่อถึงความพยายามที่ไม่มากพอหรือการเพิกเฉยและยอมรับสภาพของอัตราค่าแรงในปัจจุบัน พนักงานไม่กล้าต่อรองเงินเดือนหรือบริษัทลังเลต่อการลงทุนพัฒนาบุคลากร

 

 

โถสุขภัณฑ์อัตโนมัติ (ウォシュレットビデ) 

 

การระบาดของโควิด การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และค่าขนส่งที่แพงขึ้น บวกกับเงินเยนที่อ่อนค่า ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ราคาเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ในญี่ปุ่น เช่น ตู้เย็น หม้อหุงข้าว และเครื่องเล่นเกม PlayStation ต่างพากันขึ้นยกแผง

 

ของในห้องน้ำเองก็หนีไม่พ้นชะตากรรมนี้เช่นกัน Toto บริษัทผลิตโถสุขภัณฑ์อันดับ 1 ของญี่ปุ่น ที่มีรายได้กว่า 5 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ประกาศเมื่อเดือนมกราคม 2023 ถึงความจำเป็นในการขึ้นราคาสินค้าเรือธงอย่างโถสุขภัณฑ์ อันเป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่น ที่มาพร้อมฟังก์ชันการฉีดน้ำอัตโนมัติขึ้น 8% นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้เป็นต้นไป

 

ยอดขายโถสุขภัณฑ์อัตโนมัติพุ่งสูงในสหรัฐฯ จากการขาดแคลนกระดาษชำระในช่วงการระบาดที่ผ่านมา ด้วยการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค บริษัทจึงไม่สามารถผลิตได้ทันความต้องการจากชิ้นส่วนชิปที่ต้องใช้ผลิตนั้นมีไม่เพียงพอ

 

“นี่แหละคือความอ่อนไหวของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นที่มีต่อการขึ้นราคา Toto ต้องพยายามออกมาแถลงการณ์อธิบายถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการลดต้นทุนลง เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจและยอมรับการปรับราคาครั้งนี้” ฮิโรกิ คาวาชิมะ นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ SMBC ของญี่ปุ่นกล่าว

 

ทำไมอัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่นต่ำกว่าหลายประเทศ สวนกระแสโลก แม้ในช่วงโควิด?

 

ในช่วงปี 2022 เงินเฟ้อในหลายประเทศทั่วโลกพุ่งขึ้นสูงไปอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง อย่างในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร อยู่ที่ 8-9% ทำให้ธนาคารกลางต่างๆ ต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อชะลอความร้อนแรงของเงินเฟ้อ แต่ในทางกลับกัน แบงก์ชาติญี่ปุ่น (BOJ) ทำสวนทาง และยังยืนยันที่จะดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเหมือนเดิมผ่านการรับซื้อพันธบัตร เพื่อกดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ 

 

สำหรับญี่ปุ่นนั้นเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น 2.5% ถือว่าสูงมากแล้วสำหรับมาตรฐานของพวกเขาจากค่าแรงโดยรวมของชาวญี่ปุ่นที่หยุดนิ่งมานาน

 

ความห่างของระดับเงินเฟ้อในญี่ปุ่นกับประเทศต่างๆ แสดงให้เห็นถึงพื้นฐานปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เป็นปัญหาเรื้อรัง และไม่เหมือนกับหลายประเทศ รวมทั้งทัศนคติคนญี่ปุ่นที่มีต่อเงินเฟ้อ อันเป็นสาเหตุมาจากการที่ราคาข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ นั้นคงอยู่ในระดับเดิมมากว่า 30 ปี 

 

แม้ช่วงการแพร่ระบาดของโควิดญี่ปุ่นเองก็ได้รับผลกระทบบางประการเหมือนกับประเทศอื่นๆ โดยที่เด่นชัดสุดคือ ต้นทุนการนำเข้าสินค้าที่สูงขึ้น ซึ่งในอดีตที่ผ่านมานั้นกลับไม่มีการผลักภาระต้นทุนไปสู่ผู้บริโภคเลย

 

ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อ มาซามิชิ อาดาชิ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคาร UBS แสดงความเห็นว่า “การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการนำเข้าสินค้า จริงๆ แล้วจะนำเราไปสู่เงินฝืด ฉะนั้นผมเห็นว่าเงินเฟ้อไม่น่าจะอยู่กับญี่ปุ่นนาน”

 

แรงต้านทางสังคมต่อการขึ้นราคา

 

โดยปกติแล้วสิ่งที่บริษัทจะทำเมื่อเจอกับสภาวะต้นทุนที่สูงขึ้นก็คือ การแบ่งภาระไปให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่ง แต่บริษัทต่างๆ ในญี่ปุ่นกังวลมากกว่าว่า หากพวกเขาเพิ่มราคา ลูกค้าจะยิ่งไม่ซื้อสินค้า ทำให้การบริโภคในประเทศลดลง เพราะคนญี่ปุ่นอ่อนไหวมากต่อการขึ้นราคาของสินค้า บวกกับค่าแรงในประเทศที่แทบจะอยู่ในสถานะเดิมมาหลายสิบปีแล้ว

 

หากเรามองในมุมของบริษัทที่ต้องแบกรับต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบที่สูงขึ้น นั่นแปลว่ากำไรจะหดตัว ซึ่งทางออกทางหนึ่งคือการลดค่าแรง แต่นั่นก็จะยิ่งไปลดทอนความสามารถในการจับจ่ายของคนญี่ปุ่น และอาจซ้ำเติมให้ปัญหาเงินฝืดย่ำแย่ลงไปอีก 

 

บริษัทจึงตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก การขึ้นราคาสินค้านั้นเป็นตัวเลือกท้ายๆ ในการแก้ปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งนำไปสู่ปัญหาอีกอย่างคือ ความสามารถที่ต่ำในการขึ้นค่าแรงให้กับคนของบริษัทจากกำไรที่น้อยนิด

 

นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่บริษัทจำนวนไม่น้อยในญี่ปุ่นเลือกจ้างงานพนักงานแบบชั่วคราวมากกว่าพนักงานประจำ เพื่อที่จะประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะพนักงานประจำนั้นถูกคุ้มครองด้วยกฎหมาย ทำให้มีต้นทุนที่สูง ในขณะที่พนักงานชั่วคราวนั้นได้รับการคุ้มครองที่น้อยกว่า และบริษัทก็ไม่จำเป็นต้องแบบรับภาระค่าชดเชยหากต้องการลดจำนวนแรงงานในสถานการณ์ที่บีบบังคับ รวมถึงความต่างค่าแรงของพนักงานชั่วคราวที่มักจะน้อยกว่าพนักงานประจำ

 

จำนวนพนักงานพาร์ตไทม์ในญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษปี 90

 

จากภาพด้านบน เราจะเห็นได้ว่าจำนวนพนักงานชั่วคราวอยู่ในช่วงขาขึ้นมาตลอดตั้งแต่ช่วงปลายยุคทศวรรษปี 90 ก่อนที่จะลดลงในช่วงโควิด ด้วยจำนวนที่เพิ่มขึ้นของพนักงานชั่วคราวที่มีรายได้น้อยกว่าพนักงานประจำ จึงเป็นอีกสาเหตุที่ฉุดรั้งค่าเฉลี่ยเงินเดือนในญี่ปุ่นให้อยู่ในระดับต่ำมาหลายสิบปี

 

ความเปลี่ยนแปลงของค่าแรงแท้จริง 

(Real Wages หรือค่าแรงหลังหักลบอัตราเงินเฟ้อ) 

นับตั้งแต่ปี 2000 ของญี่ปุ่นคือ 0.39% 

ขณะที่ค่าเฉลี่ย OECD อยู่ที่ประมาณ 36%

 

เราจะเห็นได้ว่าค่าแรงแท้จริง (ค่าแรงหลังจากหักลบอัตราเงินเฟ้อ) ของคนญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นแค่ 0.39% จากปี 2000 จนถึงช่วงต้นปี 2022 แต่ปัญหานี้ดูเหมือนจะแย่ลงจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ค่าแรงแท้จริงอยู่ในเขตติดลบมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2022 – กุมภาพันธ์ 2023 คนญี่ปุ่นกำลังเจอกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่เพียงรักษาคุณภาพชีวิตให้คงอยู่ในระดับที่ตนเคยมีมา

 

ค่าแรงที่แท้จริงรายเดือนในญี่ปุ่น 

(อัตราการเปลี่ยนแปลงของเงินได้แต่ละเดือน

ถูกเปรียบเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว)

มีค่าติดลบมาเป็นเวลา 11 เดือนติดต่อกันแล้ว

 

ความท้าทายข้างหน้าของญี่ปุ่น

 

จากภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นและการผลักดันของรัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ที่มุ่งมั่นให้บริษัทขึ้นค่าแรงเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางฐานะในสังคม 

 

ในที่สุดบรรดาบริษัทใหญ่ๆ เช่น Toyota Toshiba และ Hitachi ก็เริ่มนำร่องขึ้นค่าแรงให้กับพนักงาน แต่มีบริษัทเพียงหยิบมือเท่านั้นที่สามารถขึ้นได้ตามความต้องการของรัฐที่ 3% 

 

ด้านกลุ่มบริษัทผู้ผลิตรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับขึ้นค่าแรงโดยเฉลี่ยที่ 2,000 เยน หรือประมาณ 512 บาทต่อเดือน ซึ่งถือเป็นการขึ้นที่สูงสุดตั้งแต่ปี 2015 เป็นสัญญาณแรกของความหวัง เพื่อกระตุ้นวงจรราคาและการใช้จ่ายรอบใหม่ให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นกลับมาคึกคักอีกครั้ง 

 

“ผู้บริหารเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญในการลงทุนกับพนักงานของพวกเขามากขึ้น ผมหวังว่าการปรับค่าแรงครั้งนี้จะมีส่วนช่วยในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น” มาซาคาซู โทคุระ กรรมการองค์กร Keidaren ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจ กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม เรายังคงต้องจับตาต่อว่า การที่บริษัทใหญ่ปรับขึ้นค่าแรงให้พนักงานของตน จะส่งผลให้ธุรกิจขนาดเล็กถึงกลางสามารถทำได้เหมือนกันหรือไม่ จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังถือว่าอ่อนแอกว่าทางสหรัฐฯ​ และยุโรป 

 

ทำให้ มาซามิชิ อาดาชิ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคาร UBS มองว่า การที่ญี่ปุ่นจะสามารถขึ้นค่าแรงตามเป้าของรัฐบาลนั้นที่ 3% นั้นเป็นสิ่งที่ทะเยอทะยานเกินไป

 

แม้แนวโน้มของการเพิ่มค่าแรงในญี่ปุ่นครั้งนี้จะเป็นการปรับที่สูงที่สุดในรอบหลายปี แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่สามารถวิ่งทันความร้อนแรงของเงินเฟ้อได้ 

 

จากนี้ความท้าทายที่รัฐบาลและธนาคารกลางญี่ปุ่นต้องรับมือคือ การหาทางอุดช่องไม่ให้ญี่ปุ่นไหลกลับไปสู่สภาวะเงินฝืดเหมือนที่เคยเป็นมาในช่วง Lost Decade แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทำให้ความกดดันเงินเฟ้อ ทั้งต้นทุนของผู้ผลิตและราคาที่ผู้บริโภคที่ต้องจ่ายพุ่งทะยานจนเกินควบคุม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X