ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาญี่ปุ่นกำลังต่อสู้กับปัญหาที่อยู่อาศัยอันมาจากการมีอสังหาริมทรัพย์มากกว่า 10 ล้านแห่งที่ว่างเปล่าและถูกทิ้งร้าง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางประชากรและบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป
อสังหาริมทรัพย์ที่ว่างเปล่าเหล่านี้เรียกว่า ‘อากิยะ’ (Akiya) ในภาษาญี่ปุ่น กระจายอยู่ทั้งในพื้นที่ชนบทและในเมือง ทำให้การค้นหาผู้ซื้อที่สนใจจึงกลายสิ่งที่ต้องเร่งทำ
เรื่องราวของ Jaya Thursfield นักพัฒนาซอฟต์แวร์ชาวออสเตรเลียและครอบครัวของเขาเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ เมื่อพวกเขาตัดสินใจย้ายจากลอนดอนไปญี่ปุ่นในปี 2017 พวกเขามีความฝันที่จะเป็นเจ้าของบ้านที่มีสนามหญ้ากว้างขวาง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ตลาดจับตาภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ในยุโรป เสี่ยงเข้าสู่วิกฤตต่อจากภาคธนาคาร
- ลงทุนใน นาฬิกา Rolex ดีกว่าหุ้น ทองคำ หรืออสังหาริมทรัพย์ หากคุณซื้อเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
- วิกฤตอสังหาริมทรัพย์จีน เมื่อชาวจีนพร้อมใจไม่จ่ายค่าบ้าน
กระนั้นราคาที่ดินในญี่ปุ่นที่สูงทำให้การสร้างบ้านหลังใหม่นั้นเกินงบประมาณของพวกเขา ทำให้พวกเขาหันไปหาอากิยะ ซึ่งเป็นบ้านร้างที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในญี่ปุ่น รวมถึงมักมีราคาขายถูกและมีที่ดินมากกว่า
โดยพวกเขาซื้อบ้านทรุดโทรมที่ว่างเปล่าในป่าที่มีวัชพืชขึ้นรก แม้เพื่อนและครอบครัวจะคัดค้าน แต่ครอบครัว Thursfield ก็มองเห็นศักยภาพในบ้านขนาด 2,700 ตารางฟุต พวกเขาเริ่มต้นปรับปรุงบ้านใหม่โดยใช้เงินประมาณ 150,000 ดอลลาร์ เพื่อเปลี่ยนทรัพย์สินที่ถูกทิ้งร้างให้สวยงามและน่าอยู่
การบูรณะและเปลี่ยนโครงสร้างที่เคยรกร้างให้กลายเป็นน่าอยู่ได้รับความสนใจจากสาธารณชน และดึงดูดผู้ติดตามบน YouTube กว่า 200,000 รายที่ติดตามการอัปเดตการปรับปรุงบ้านหลังนี้
ปรากฏการณ์อากิยะเกิดจากการผสมผสานของประชากรที่เปลี่ยนแปลงและความเชื่อทางวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึก เมื่อคนรุ่นก่อนเสียชีวิต ลูกหลานของพวกเขาซึ่งถูกผูกมัดด้วยความเคารพในวัฒนธรรมมักจะปฏิเสธที่จะรับมรดกหรือขายทรัพย์สินเหล่านี้ สิ่งนี้ทำให้บ้านเหล่านี้ยังคงว่างอยู่ และในหลายกรณีตกอยู่ในสภาพทรุดโทรม
การสำรวจบ้านและที่ดินในปี 2018 รายงานว่ามีบ้านประมาณ 8.5 ล้านหลังทั่วประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคิดเป็นประมาณ 14% ของบ้านทั้งหมดในประเทศ แต่เชื่อกันว่าจำนวนนี้สูงขึ้นมากในปัจจุบัน โดยมีการประมาณการว่าอากิยะอาจคิดเป็น 30% ของบ้านทั้งหมดในญี่ปุ่นภายในปี 2033
แม้ว่าบ้านจะเสื่อมค่าลงตามกาลเวลา แต่ที่ดินยังคงมีมูลค่า ดังนั้นผู้ซื้อที่มีศักยภาพจำนวนมากมักจะรื้อโครงสร้างเก่าเพื่อสร้างใหม่ อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนนี้อาจเป็นกระบวนการที่มีราคาแพง และผู้ซื้อบางราย เช่น Thursfield เลือกที่จะอนุรักษ์และปรับปรุงบ้านเหล่านี้แทน
จำนวนที่เพิ่มขึ้นของอากิยะทำให้เกิดบริการประเภทใหม่ ‘ที่ปรึกษาของอากิยะ’ ซึ่งจะช่วยจัดการข้อพิพาทในครอบครัวเกี่ยวกับทรัพย์สินที่สืบทอดมา แนะนำครอบครัวตลอดกระบวนการ และบางครั้งโน้มน้าวให้พวกเขาดำเนินการก่อนที่ทรัพย์สินของพวกเขาจะไม่สามารถไถ่ถอนได้
ในระดับรัฐบาลกำลังดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาอากิยะ โดยเจ้าหน้าที่กำลังพยายามกระตุ้นให้มีการรื้อถอน เพิ่มภาษีทรัพย์สินที่ถูกทอดทิ้ง และรวบรวมรายชื่อบ้านว่างสำหรับขายหรือเช่า ซึ่งการเพิ่มขึ้นของจำนวนอากิยะถูกมองว่าเป็นโอกาสของผู้ซื้อทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติที่เต็มใจลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าต่ำในพื้นที่ชนบท
เพราะการซื้ออากิยะจะมีราคาไม่แพงในทำเลที่ต้องการ ซึ่งมักมาพร้อมกับที่ดินขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังช่วยให้สามารถอนุรักษ์สถาปัตยกรรมญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมซึ่งมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมได้ด้วย
ภาพ: Tomohiro Ohsumi / Getty Images
อ้างอิง: