×

อาชีพสุดแปลก รับเก็บกวาดบ้านคนที่ตายเพียงลำพังในญี่ปุ่น สะท้อนความเปลี่ยวเหงาอันแสนเศร้า

20.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ฮิโรสึกุ มาสุดะ (Hirotsugu Masuda) ผู้บริหารของบริษัทรับทำความสะอาดบ้านผู้ตายยืนยันว่า ปัจจุบันในญี่ปุ่นพบการตายเพียงลำพังเป็นจำนวนมากถึง 40,000 คนต่อปี ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างผู้ตายกับคนภายในครอบครัวและคนรอบข้างไม่ค่อยราบรื่น
  • โคจิมะ มิยู (Kojima Miyu) สาวญี่ปุ่นวัยเพียง 24 ปี ปัจจุบันเธอเป็นหนึ่งในทีมงานของบริษัท ToDo Company ที่รับทำความสะอาดบ้าน ภายหลังจากที่มีการเคลื่อนย้ายศพออกไป และปิดท้ายด้วยการทำพิธีระลึกถึงผู้ตายก่อนที่จะสิ้นสุดการทำงานในแต่ละวัน เธอเป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวภายในทีม ผู้คนจำนวนมากต่างตกใจเมื่อรู้ว่าเธอประกอบอาชีพนี้
  • โดยปกติทีมของมิยูจะทำความสะอาดเสร็จราวบ่าย 3 โมง โดยได้รับค่าจ้างต่อการทำความสะอาดในแต่ละครั้งราว 3,000-5,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 1-1.6 แสนบาท) จะทำตั้งแต่ขับรถนำขยะไปทิ้ง ทำความสะอาด รวมถึงพูดคุยกับญาติผู้ตาย (ถ้ามี)

 

     ท่ามกลางแสงสีของมหานครใหญ่อย่างกรุงโตเกียว ศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ใครจะรู้ว่ายังมีอีกหลายมุมในเมืองแห่งนี้ที่ผู้คนจำนวนมากกำลังถูกกัดกินด้วย ‘ความเหงา’ และท้ายที่สุดก็จบชีวิตลงอย่างโดดเดี่ยวในที่พักของตัวเอง

 

 

     ปัจจุบันญี่ปุ่นมีการรับแจ้งเหตุการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี ทั้งจากอุบัติเหตุ ถูกฆาตกรรมหรือเป็นการฆ่าตัวตาย และบ่อยครั้งก็พบว่าการแจ้งนั้นล่าช้าไปเป็นเดือนๆ อาชีพรับทำความสะอาดบ้านของผู้ตายที่เสียชีวิตเพียงลำพังโดยไม่มีญาติเหลียวแลจึงเกิดขึ้น

 

 

     โคจิมะ มิยู (Kojima Miyu) สาวญี่ปุ่นวัยเพียง 24 ปี ปัจจุบันเธอเป็นหนึ่งในทีมงานของบริษัท ToDo Company ที่รับทำความสะอาดบ้านภายหลังจากที่มีการเคลื่อนย้ายศพออกไป และปิดท้ายด้วยการทำพิธีระลึกถึงผู้ตายก่อนที่จะสิ้นสุดการทำงานในแต่ละวัน มิยูคือผู้หญิงเพียงคนเดียวภายในทีม ผู้คนจำนวนมากต่างตกใจเมื่อรู้ว่าเธอประกอบอาชีพนี้

     เธอเล่าว่า “หน้าที่หลักของฉันคือทำความสะอาดแฟลต อพาร์ตเมนต์ รวมถึงบ้านพักที่เจ้าของบ้านพบเป็นศพอยู่ภายในที่พักแต่เพียงลำพัง มีศพจำนวนมากที่ถูกพบช้ามากนานเป็นเดือนๆ มากที่สุดก็คงจะราวๆ 8 เดือนเลยทีเดียว และบางครั้งเราก็รับทำความสะอาดบ้านที่เจ้าของเสียชีวิตที่โรงพยาบาลบ้าง ถูกฆาตกรรมบ้าง หรือแม้แต่ฆ่าตัวตายเองก็มี”

 

 

 

     บ่อยครั้งที่เราจะเห็นรอยยิ้มบนใบหน้าของมิยู แต่นัยน์ตาของเธอช่างเต็มไปด้วยเรื่องราวของความเศร้า เธอเล่าว่า เธอตัดสินใจเลือกทำอาชีพนี้ภายหลังจากที่พ่อของเธอเสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน ความสัมพันธ์ของเธอและพ่อไม่ค่อยราบรื่นเท่าไรนัก และเธอรู้สึกเสียใจที่ย้อนเวลากลับไปแก้ไขเรื่องที่ผ่านมาไม่ได้

     “ฉันรู้ดีว่าครอบครัวเหล่านี้กำลังเผชิญกับอะไร ฉันเพียงต้องการที่จะช่วยเหลือพวกเขา สนับสนุนพวกเขา” มิยูจึงเริ่มมองหางานที่เธออยากจะทำ จนพบอาชีพนี้ แม้เธอจะได้รับเสียงทัดทานจากทั้งแม่และคนรักของเธอ แต่มิยูก็ยังยืนยันในความตั้งใจของเธอว่า “การที่ฉันทำอาชีพนี้ ฉันไม่ได้กำลังทำสิ่งผิดหรือเรื่องไม่ดี และทำไมฉันจะต้องกลัวพวกเขาตามมาหลอกฉันด้วย ฉันทำเพื่อช่วยเหลือพวกเขา”

     โดยปกติทีมของมิยูจะทำความสะอาดเสร็จราวบ่าย 3 โมง โดยได้รับค่าจ้างต่อการทำความสะอาดในแต่ละครั้งราว 3,000-5,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 1-1.6 แสนบาท) จะทำตั้งแต่ขับรถนำขยะไปทิ้ง ทำความสะอาด รวมถึงพูดคุยกับญาติผู้ตาย (ถ้ามี) เพื่อช่วยเยียวยาการสูญเสียในครั้งนี้

 

ทำความรู้จัก ‘การตายเพียงลำพัง (Kodokushi)’ ที่กำลังกัดกินสังคมญี่ปุ่น

 

 

     ปัจจุบันในญี่ปุ่นพบการตายเพียงลำพังเป็นจำนวนมากถึง 40,000 คนต่อปี เนื่องจากสังคมของญี่ปุ่นกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ผู้สูงอายุจำนวนมากถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ไม่ได้พบเห็นหรือพูดคุยกับใครเลย ท้ายที่สุดพอเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมาหรือตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า ว้าเหว่ อาจตัดสินใจเลือกจุดจบให้กับตัวเองด้วยการฆ่าตัวตาย

     อาชีพของมิยูไม่ได้เป็นเพียงอาชีพที่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความสัมพันธ์ภายในสังคมและครอบครัวของชาวญี่ปุ่นที่อาจจะกำลังมีปัญหาและปรับตัวให้เข้ากับสังคมผู้สูงวัยที่ยังไม่สมบูรณ์

 

 

     มิยูเล่าว่า “ก่อนที่จะทำงานเสร็จในแต่ละวัน พวกเราจะทำพิธีเพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิต พร้อมให้ดอกไม้แก่พวกเขา แต่ก็มีครอบครัวหรือญาติของผู้ตายจำนวนไม่น้อยที่ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ทิ้งให้พวกเขาจากไปโดยไม่เหลียวแล บริษัทของเราจึงนำพวกเขาไปยังวัดเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่อไป

     “ทุกๆ ปีฉันยิ่งรู้สึกว่า ผู้คนจำนวนมากไม่ได้ติดต่อกับใครเลย และฉันคิดว่าการพบปะพูดคุยที่หายไปนี้ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การตายเพียงลำพัง หรือ โคโดคุชิ เพิ่มมากยิ่งขึ้นในญี่ปุ่น”

     มิยูยังแชร์ประสบการณ์ของเธออีกว่า ในสังคมญี่ปุ่นไม่เพียงเฉพาะแต่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่กำลังตกอยู่ในภาวะที่ความเหงาความโดดเดี่ยวเข้าครอบงำความคิดและท้ายที่สุดก็จบชีวิตลงเพียงลำพัง “เหตุการณ์นี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทั้งคุณและฉัน

 

 

     “มีเคสหนึ่งที่ฉันเคยไปทำความสะอาดอพาร์ตเมนต์ให้กับสาววัย 20 ต้นๆ ที่เสียชีวิตภายในห้องพร้อมกับสัตว์เลี้ยงของเธอ ก่อนที่ฉันจะได้มีโอกาสพูดคุยกับพ่อของเธอ เขาบอกกับฉันว่า เขาเป็นพ่อที่ค่อนข้างเข้มงวด และเขาเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกสาวของเขา ฉันรู้สึกเหมือนกับว่าฉันไม่สามารถที่จะช่วยอะไรเขาได้เลย ฉันรู้สึกว่าตัวเองช่างไร้พลังจริงๆ”

     สาเหตุการเสียชีวิตจำนวนมากมักเกิดขึ้นกับคนที่มีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นกับคนภายในครอบครัว เพื่อน หรือคนรอบข้าง จนทำให้เขารู้สึกว่าไม่มีใครที่ยืนอยู่ข้างๆ เขาในวันที่พวกเขาเผชิญหน้ากับปัญหาและความเครียดในเรื่องต่างๆ และเลือกจบชีวิตลง (ถ้ามีโอกาส)

     “ถ้ามีใครสักคนหนึ่งตายจากเราไป โดยที่คุณไม่สามารถทำอะไรได้เลย และเมื่อเวลาผ่านไป คุณจะรู้ว่าเขาคนนั้นสำคัญกับคุณมากขนาดไหน

     “และตอนนี้คือโอกาส (ที่อาจจะเป็นครั้งสุดท้าย) ของคุณที่จะได้ใช้เวลาร่วมกันกับพวกเขา”

 

Photo: Shiori Ito/aljazeera, www.channelnewsasia.com

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising