เกาหลีใต้ ทำสถิติขาดดุลการค้าสูงสุดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังการส่งออกหดตัวตามการชะลอของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ราคาพลังงานเริ่มปรับตัวสูงขึ้น สร้างความกังวลว่าเศรษฐกิจแดนโสมขาวในปีนี้อาจต้องเผชิญกับภาวะถดถอย
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ของเกาหลีใต้ ระบุว่า ในเดือนมกราคมที่ผ่านมาเกาหลีใต้ขาดดุลการค้ามากถึง 1.27 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากเดือนธันวาคมปีก่อนหน้า โดยปัจจัยหลักเกิดจากการส่งออกที่หดตัวถึง 16.6% โดยที่สินค้าส่งออกสำคัญของประเทศอย่างเซมิคอนดักเตอร์มีการส่งออกลดลงถึง 44.5%
ตัวเลขส่งออกของเกาหลีใต้เริ่มชะลอตัวลงมาตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา และคาดว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะทำให้สถานการณ์ดังกล่าวลากยาวต่อไปอีกอย่างน้อย 2-3 เดือน คำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศที่ลดลงทำให้อุตสาหกรรมในเกาหลีใต้ต้องปรับลดกำลังการผลิตลงมา ซึ่งอาจส่งผลต่อการเติบโตของภาพรวมเศรษฐกิจ
“ความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปีนี้จะหดตัวเริ่มมีสูงขึ้น การขาดดุลไม่เพียงแต่กระทบผลการดำเนินงานของภาคธุรกิจ แต่ยังกระทบการใช้จ่ายของผู้บริโภคด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้จะมีผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ” Park Sang-hyun นักเศรษฐศาสตร์ของ HI Investment & Securities ระบุ
ความเสี่ยงในการเข้าสู่ภาวะถดถอยที่เริ่มมีสูงขึ้นอาจสร้างความหนักใจให้กับธนาคารกลางเกาหลีใต้ที่ต้องการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวต่อไปเพื่อสกัดไม่ให้ปัญหาเงินเฟ้อกลับมารุนแรง โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเกาหลีใต้อยู่ที่ระดับ 3.5%
ตัวเลขการส่งออกของเกาหลีใต้ถือเป็นหนึ่งในมาตรวัดที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้วิเคราะห์ภาพรวมของการค้าโลก เนื่องจากเกาหลีใต้เป็นประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของสินค้าสำคัญหลายรายการ เช่น ชิป เซมิคอนดักเตอร์ หน้าจอคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีชั้นสูง
ล่าสุดในวันนี้ (1 กุมภาพันธ์) SK hynix บริษัทผู้ผลิตชิปอันดับ 2 ของเกาหลีใต้ ได้รายงานผลขาดทุนของไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่ Samsung Electronics อีกหนึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ก็เพิ่งจะประกาศว่ามีรายได้ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 97%
อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายยังเชื่อว่าดุลการค้าของเกาหลีใต้จะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป จากอานิสงส์ของการเปิดประเทศของจีน ซึ่งถือเป็นผู้นำเข้าสินค้ารายใหญ่จากเกาหลีใต้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- กูรูประเมิน ‘เงินวอน’ อาจแข็งค่าแตะ 1,100 วอนต่อดอลลาร์ปีหน้า แนะรีบช้อนซื้อช่วงไตรมาส 1 ปี 2023
- ซื้อบ้านไม่ไหวซื้อ ‘แบรนด์เนม’ แทนแล้วกัน! พบวัยรุ่นเกาหลีใต้ซื้อสินค้าแบรนด์หรูพุ่ง 24% หวังสร้างภาพในโซเชียล และยกระดับตัวเองในกลุ่มเพื่อน
- จับตาทิศทางตลาดหุ้นเอเชีย กองทุนชั้นนำลุ้นภาวะกระทิงในจีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน
อ้างอิง: