กล้องเจมส์ เว็บบ์ เผยภาพสุดคมชัดของเนบิวลา NGC 1333 แสดงให้เห็นดาวฤกษ์และดาวแคระน้ำตาลที่กำลังก่อตัว
เนบิวลาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเมฆโมเลกุลเพอร์ซิอัส (Perseus Molecular Cloud) ที่อยู่ห่างจากโลกประมาณ 960 ปีแสง และเป็นบริเวณที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลบันทึกภาพไว้ในโอกาสฉลองครบ 33 ปีของภารกิจ เมื่อเดือนเมษายน ปี 2023
อย่างไรก็ตาม ภาพจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลที่สำรวจในช่วงคลื่นที่ตามองเห็นไม่สามารถส่องทะลุกลุ่มเมฆที่กำลังก่อกำเนิดดาวฤกษ์ได้ ต่างจากอุปกรณ์ NIRCam ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ที่บันทึกภาพในช่วงคลื่นอินฟราเรดใกล้และเผยให้เห็นรายละเอียดของดาวฤกษ์เกิดใหม่จำนวนมาก เช่นเดียวกับดาวแคระน้ำตาลและดาวเคราะห์พเนจร (Rogue Planet) ที่ไม่ได้โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงใด
ดาวฤกษ์อายุน้อยส่วนมากในภาพต่างถูกห้อมล้อมด้วยกลุ่มฝุ่นก๊าซที่เป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการก่อตัวของดาวเคราะห์ซึ่งจะกลายเป็นระบบดาวแห่งใหม่ในอนาคต
นักดาราศาสตร์คาดว่าดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์ในระบบสุริยะต่างเคยผ่านกระบวนการก่อกำเนิดเช่นเดียวกับวัตถุในเนบิวลา NGC 1333 เมื่อ 4,600 ล้านปีที่แล้ว ทำให้การสำรวจเนบิวลาดังกล่าวซึ่งมีอายุเพียง 1-3 ล้านปี เป็นโอกาสอันดีในการศึกษาวิวัฒนาการของดวงอาทิตย์และดาวฤกษ์ชนิดต่างๆ ในยุคแรกเริ่ม
ปัจจุบันกล้องเจมส์ เว็บบ์ ได้ปฏิบัติภารกิจสำรวจเชิงวิทยาศาสตร์เป็นปีที่สอง โดยมีส่วนช่วยให้นักดาราศาสตร์ได้เห็นกาแล็กซีและดาวฤกษ์ในยุคแรกเริ่ม เช่นเดียวกับการส่องทะลุฝุ่นก๊าซในเนบิวลาด้วยศักยภาพการสำรวจในช่วงคลื่นอินฟราเรดและอาจนำไปสู่การค้นพบใหม่เพิ่มเติมในอนาคต
ภาพ: NASA / ESA / CSA
อ้างอิง: