×

กล้องเจมส์ เว็บบ์ ศึกษาดาวฤกษ์ไกลจากโลกที่สุด เผยลักษณะและรายละเอียดครั้งแรก

10.08.2023
  • LOADING...

NASA ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ศึกษา ‘Earendel’ ดาวฤกษ์ไกลที่สุดที่เคยตรวจพบ พร้อมเผยให้เห็นว่าเป็นดาวฤกษ์แบบ B-type ที่ร้อนและสว่างกว่าดวงอาทิตย์ รวมทั้งพบความเป็นไปได้ที่อาจมีดาวฤกษ์คู่หูอีกดวง

 

Earendel ที่แปลว่าดาวรุ่งอรุณ หรือ WHL0137-LS ถูกค้นพบในปี 2022 ด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ทำลายสถิติเป็นดาวฤกษ์ยุคแรกสุด และอยู่ไกลจากโลกที่สุดเท่าที่มีการค้นพบในปัจจุบัน โดยแสงดาวที่เรามองเห็นในตอนนี้เดินทางออกจากดาวเมื่อเอกภพมีอายุเพียง 900 ล้านปี หรือต้องใช้เวลานานกว่า 12,900 ล้านปีเพื่อเดินทางมาถึงโลก

 

แต่เนื่องจากการขยายตัวของเอกภพ ตำแหน่งของโลกและ Earendel ต่างได้เลื่อนห่างออกจากกัน และระยะห่างระหว่างวัตถุทั้งสองในตอนนี้อยู่ที่ 28,000 ล้านปีแสง ซึ่งการสังเกตเห็นดาวฤกษ์ดังกล่าวได้ต้องอาศัยกล้องโทรทรรศน์ที่ทรงพลังมากพอ ควบคู่กับเลนส์ความโน้มถ่วงจากกระจุกกาแล็กซี WHL0137-08 ที่ทำหน้าที่เหมือนแว่นขยายตามธรรมชาติ ให้แสงจากวัตถุที่ไกลและริบหรี่แบบนี้สามารถตรวจพบบนโลกได้

 

สำหรับการสำรวจโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ พบว่าดาวฤกษ์ดวงนี้เป็นประเภท B มีอุณหภูมิสูงกว่าดวงอาทิตย์ที่เป็นดาวฤกษ์ประเภท G อยู่ประมาณ 2 เท่า และสว่างมากกว่า 1,000,000 เท่า โดยมีการบันทึกภาพผ่านอุปกรณ์ NIRCam ที่ศึกษาในช่วงอินฟราเรดใกล้ เผยให้เห็นรายละเอียดที่มากกว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล โดยหนึ่งในการค้นพบที่น่าสนใจ คือ Earendel อาจมีดาวฤกษ์คู่หูที่มีอุณหภูมิเย็นกว่าโคจรรอบกันและกัน ซึ่งยังต้องรอการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันอีกครั้ง

 

นอกจากนี้ นักดาราศาสตร์ยังได้วิเคราะห์ข้อมูลด้านสเปกตรัมจากอุปกรณ์ NIRSpec เพื่อตรวจดูองค์ประกอบ และวัดค่าระยะห่างของทั้งดาวฤกษ์ Earendel และวัตถุในแถบใกล้เคียง โดยนี่เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของกล้องเจมส์ เว็บบ์ ที่นักดาราศาสตร์วางเป้าหมายว่ากล้องอาจสามารถตรวจพบดาวฤกษ์รุ่นแรกของเอกภพ ที่ประกอบด้วยไฮโดรเจนและฮีเลียม สองธาตุตั้งต้นที่มาจากการเกิดบิ๊กแบงเมื่อ 13,800 ล้านปีที่แล้ว

 

สำหรับชะตากรรมของ Earendel คงหนีไม่พ้นการเกิดซูเปอร์โนวาเพียงไม่กี่ล้านปีหลังถือกำเนิดขึ้นมา เนื่องจากมันมีมวลมากกว่า 50-100 เท่าของดวงอาทิตย์ ซึ่งนั่นคือในวินาทีที่คุณอ่านข่าวนี้อยู่ ตัวดาวคงได้ดับสูญไปหลายล้านปีแล้ว แต่แสงจากในช่วงเวลาดังกล่าวยังมาไม่ถึงโลก

 

ภาพ: NASA / ESA / CSA

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising