×

จาซินดา อาร์เดิร์น ผู้ใช้ความรักยัดเยียดความล้มเหลวให้ผู้ก่อการร้าย คู่มือต้านอิสลามโมโฟเบียที่ผู้นำโลกต้องเรียนรู้

27.03.2019
  • LOADING...
Jacinda Ardern

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • บทบาทและภาวะผู้นำของจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งนิวซีแลนด์ เด่นชัดและเป็นที่กล่าวถึงอย่างมาก จากเหตุการณ์กราดยิงมัสยิดที่ไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา
  • ทั่วโลกยกย่องอาร์เดิร์นว่าเป็นแบบอย่างของผู้นำทั่วโลกในการรับมือกับเหตุการณ์ก่อการร้าย ทั้งความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว และสุขุม ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าเธอทำหน้าที่ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง โดยไม่ละเลยประเด็นสำคัญที่มีส่วนต่อเหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้เลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมูลเหตุของแรงจูงใจในการก่อการร้าย แนวคิดสุดโต่ง การควบคุมอาวุธปืน และความรับผิดชอบของสื่อโซเชียลมีเดีย
  • อาร์เดิร์นใช้ความรักเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ เพื่อไม่ให้ตกหลุมพรางของผู้ก่อการร้ายที่ต้องการปลุกปั่นให้คนแตกแยก หวาดกลัว และเกลียดชังชาวมุสลิม
  • อาร์เดิร์น ไม่ได้เพียงยัดเยียดความล้มเหลวให้กับการก่อการร้ายครั้งนี้เท่านั้น แต่ยังสร้างคู่มือการต่อต้านกระแสอิสลามโมโฟเบีย ความเกลียดชัง และความสุดโต่งฉบับใหม่ที่ผู้นำโลกต้องนำไปถอดบทเรียน

อาจกล่าวได้ว่าโศกนาฏกรรมที่ไครสต์เชิร์ช เมื่อวันที่ 15 มีนาคมนั้นเปรียบเสมือนเหตุการณ์ 9/11 ของนิวซีแลนด์ โดยมือสังหารผู้นิยมเหยียดผิวชาวออสเตรเลียวัย 28 ปี ได้ก่อเหตุกราดยิงผู้คนภายในและนอกมัสยิดอย่างโหดเหี้ยม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 50 ราย

 

ในอีกด้านหนึ่ง นอกจากภาพความรุนแรงและการสูญเสียแล้ว เหตุการณ์ครั้งนี้ยังได้สะท้อนภาพความรัก ความห่วงใย การให้อภัย และการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของสังคมนิวซีแลนด์อย่างน่าสนใจ

 

ฟารีด อะหมัด หนึ่งในผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในเหตุการณ์นี้และสูญเสียภรรยาตัวเองอย่างไม่มีวันหวนกลับ กล่าวว่า “การให้อภัยคงเป็นสิ่งที่ภรรยาผมต้องการ…ผู้ที่ก่อเหตุเขาอาจเป็นคนที่มีบาดแผลทางใจในชีวิตของของเขา หรืออาจจะขาดความรัก ผมเสียภรรยาไป แต่ผมไม่ได้เกลียดฆาตกรเลย ผมรักเขา…ถ้าใครทำสิ่งที่ไม่ดีกับคุณ จงตอบกลับด้วยการทำดีต่อเขาเถิด”

 

นอกจากนี้ ชาวนิวซีแลนด์ยังแสดงออกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับชุมชนชาวมุสลิมในลักษณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการมาเยี่ยมเยือนให้กำลังใจ วางดอกไม้แสดงความอาลัยกับเหยื่อ คลุมผมตามแบบอิสลามเพื่อเป็นการให้เกียรติมุสลิม และแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อื่นๆ อีกมากมาย

 

แต่เรื่องราวซึ่งเป็นที่กล่าวถึงและชื่นชมไปทั่วโลกคือภาวะผู้นำของจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีหญิงวัย 38 ปีของนิวซีแลนด์ ผู้ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์มาแล้วหลายเรื่องทั้งการเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงที่อายุน้อยที่สุดในโลก เป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดของนิวซีแลนด์ในรอบ 161 ปี เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่สองต่อจากเบนาซีร์ บุตโต ของปากีสถาน ที่ให้กำเนิดบุตรในระหว่างดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ และจากเหตุโศกนาฏกรรมครั้งล่าสุด อาจกล่าวได้ว่าจาซินดา ได้กลายเป็นหนึ่งในผู้นำที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดในการรับมือกับปัญหาการก่อการร้าย และกระแสเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia) ได้ดีที่สุด

 

แอนนาเบล แคร็บบ์ นักวิเคราะห์การเมืองเขียนบทความในเอบีซี ออสเตรเลีย โดยบอกไว้ว่า “ตั้งแต่เกิดเหตุร้ายนี้ขึ้นมา บทบาทของอาร์เดิร์นในฐานะผู้นำประเทศยังไม่มีอะไรผิดพลาดเลย”

 

พาเมลา เลิฟเลซ อาจารย์ด้านการสื่อสารแห่งมหาวิทยาลัย Mount Saint Vincent อธิบายวิธีการสื่อสารของอาร์เดิร์นไว้อย่างน่าสนใจว่า “อาร์เดิร์นได้แสดงท่าทีที่ต่างไปจากผู้นำโลกคนอื่นๆ เธอไม่ได้มุ่งที่จะเข้าสู่สงคราม แต่สิ่งที่เธอทำคือการสร้างบรรยากาศของความรัก การให้ความเคารพ ให้เกียรติกัน การสร้างความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกันแทน”

 

อมันดา คิงสเลย์ มาโล ผู้ก่อตั้ง PoliticsNow ซึ่งเป็นกลุ่มส่งเสริมบทบาททางการเมืองของผู้หญิง อธิบายเบื้องหลังทางความคิดและการตัดสินใจของอาร์เดิร์นว่า “อาร์เดิร์นได้รับฟังความเจ็บปวดของพวกเขา (ผู้สูญเสีย) และซึมซับมันเข้าไปในจิตใจของเธอจริงๆ สีหน้าของเธอมันบ่งบอกชัดว่าเธอเจ็บปวดจริงๆ แต่เธอได้ใช้ความเจ็บปวดนั้นเป็นสิ่งช่วยชี้นำการตัดสินใจของเธอเอง”

 

หากพิจารณาบทบาทของจาซินดา อาร์เดิร์น จะพบว่ามีหลายประเด็นที่น่าสนใจและควรแก่การถอดบทเรียน โดยเฉพาะในแง่ของการรับมือกับกระแสสุดโต่ง ความเกลียดชัง ความเกลียดกลัวอิสลาม และการก่อการร้าย ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างไปจากผู้นำโลกที่ผ่านๆ มา จนอาจเรียกได้ว่าเป็นแบบฉบับใหม่ของเธอที่ทั่วโลกชื่นชมเป็นอย่างมาก

เราอยู่ด้วยกันอย่างไว้วางใจว่านี่คือบ้านของพวกเราที่มีค่านิยมเดียวกัน และสำหรับคนอื่นๆ ที่ต้องการที่พักพิง แต่กระนั้นการโจมตีครั้งนี้ไม่อาจสั่นคลอนและทำลายค่านิยมที่มีคุณค่าเหล่านี้ลงได้…คุณอาจจะเลือกเราเป็นเป้าหมาย แต่เราไม่ยอมรับอย่างเด็ดขาดและเราขอประณามการกระทำของคุณ

Jacinda Ardern

 

ความรวดเร็ว หนักแน่น และชัดเจน

จาซินดา อาร์เดิร์น มีการสื่อสารกับสาธารณชนอย่างรวดเร็วและชัดเจนหลังจากที่เกิดเหตุกราดยิงเพียงไม่กี่ชั่วโมง เธอไม่ปล่อยให้เกิดความสับสนในข้อมูลข่าวสาร ในขณะเดียวกันก็ต้องการปลุกให้คนนิวซีแลนด์มีความหนักแน่นและเข้มแข็งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมีสติ

 

อาร์เดิร์นส่งสารถึงคนนิวซีแลนด์และทั่วโลกว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็น “วันแห่งความมืดมนที่สุดของนิวซีแลนด์” และบอกว่า “การที่เราตกเป็นเป้าหมายนั้น ไม่ใช่เพราะเราเป็นประเทศที่รองรับความเกลียดชังและความแตกแยก แต่เป็นเพราะเรายอมรับในความหลากหลาย ความโอบอ้อม และความเห็นอกเห็นใจกันที่คนนิวซีแลนด์มีให้กัน และเพราะเราอยู่ด้วยกันอย่างไว้วางใจว่านี่คือบ้านของพวกเราที่มีค่านิยมเดียวกัน และสำหรับคนอื่นๆ ที่ต้องการที่พักพิง แต่กระนั้นการโจมตีครั้งนี้ไม่อาจสั่นคลอนและทำลายค่านิยมที่มีคุณค่าเหล่านี้ลงได้…คุณอาจจะเลือกเราเป็นเป้าหมาย แต่เราไม่ยอมรับอย่างเด็ดขาดและเราขอประณามการกระทำของคุณ” อาร์เดิร์น ไม่รอช้าที่จะยืนยันถึงการก่อเหตุครั้งนี้ว่าเป็น “การก่อการร้าย” และบอกว่า “นี่ไม่ใช่นิวซีแลนด์”

 

การสื่อสารที่สะท้อนความเข้มแข็งในช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้าเช่นนี้ ทำให้เธอได้รับความสนใจและถูกจับตามองจากทั่วโลก ที่สำคัญคือเธอสื่อสารชัดเจนและทันท่วงที เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนหรือข่าวลือที่จะนำไปสู่ความแตกแยกทางความคิดในสังคม

 

ความรัก ความโอบอ้อม และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

ในช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้า อาร์เดิร์นได้แสดงออกถึงความรักและความห่วงใยชุมชนมุสลิมได้อย่างลึกซึ้งในหลายรูปแบบ ภาพที่เธอสวมกอดเหยื่อด้วยใบหน้าที่ซึมซับความเจ็บปวดร่วมกับชาวมุสลิมได้รับการชื่นชมทั้งในนิวซีแลนด์และทั่วโลก นอกจากนี้เธอยังสวมผ้าคลุมผมเพื่อให้เกียรติคนมุสลิมในระหว่างที่พบปะให้กำลังใจพวกเขาด้วย เธอยังเรียกร้องให้ชาวนิวซีแลนด์แสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และบอกว่า “พวกเขาก็คือพวกเรา”

 

อาร์เดิร์นใช้เวลาไม่น้อยในการอยู่กับครอบครัวของผู้ที่สูญเสียและผู้นำชุมชนมุสลิม โดยได้สอบถามว่าพวกเขาอยากให้เธอช่วยเหลืออะไรบ้าง และเธอเองรับปากที่จะรับผิดชอบดูแลค่าใช้จ่ายสำหรับพิธีศพของเหยื่อทั้งหมด

 

ญาติผู้เสียชีวิตและเหยื่อของโศกนาฏกรรมครั้งนี้ รวมถึงชาวมุสลิมในนิวซีแลนด์แม้จะเศร้าโศกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ในอีกด้านก็ได้รับการเยียวยาทางจิตใจและความรักความอบอุ่นที่ผู้นำประเทศมอบให้ ตลอดจนแรงสนับสนุนจากผู้คนในสังคมนิวซีแลนด์อย่างไม่แบ่งแยก จนทำให้เหยื่อมีความรู้สึกเข้มแข็งและไม่เคียดแค้น

 

Jacinda Ardern

 

ไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือของผู้ก่อการร้ายและกระแสขวาสุดโต่ง

เป็นที่แน่ชัดว่ามือสังหารโหดต้องการส่งต่อสารความหวาดกลัวและความเกลียดชังออกไปในวงกว้าง โดยเฉพาะต่อกลุ่มขวาจัดที่เหยียดเชื้อชาติหรือพวกนีโอนาซี ซึ่งเชื่อว่าคนผิวขาวเป็นใหญ่เหนือชนชาติอื่น ซึ่งเห็นได้จากข้อความต่างๆ ที่ปรากฏบนอาวุธยุทโธปกรณ์และคำประกาศความยาว 74 หน้าของเขา ยิ่งไปกว่านั้นยังทำการถ่ายทอดสดระหว่างก่อเหตุทางเฟซบุ๊กด้วย ที่สำคัญเขาต้องการสร้างการจดจำต่อการก่อเหตุครั้งนี้ในกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์ขวาสุดโต่งเหมือนเขา และต่อสาธารณชนทั่วโลก เสมือนว่าเขาคือวีรบุรุษที่ควรแก่การยกย่อง คล้ายกับที่เขาเชิดชูกลุ่มคนผิวขาวที่ก่อเหตุโจมตีมุสลิมที่ผ่านๆ มา

 

แต่นายกรัฐมนตรีอาร์เดิร์นไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือของผู้ก่อการร้ายรายนี้ในการขยายความหวาดกลัวและความเกลียดชัง เห็นได้จากการที่เธอบอกว่าจะไม่พูดถึงชื่อของเขา (ผู้ก่อเหตุ) เพราะเขาคือผู้ก่อการร้าย เขาคืออาชญากร เขาคือพวกสุดโต่ง เธอไม่ให้คุณค่ากับเอกสารคำประกาศที่อาบด้วยยาพิษแห่งความเกลียดชังของเขาด้วยซ้ำไป แต่เธอขอให้มุ่งความสนใจไปที่การดูแลเยียวยาจิตใจของเหยื่อมากกว่า ทั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณชัดเจนต่อสังคมนิวซีแลนด์ว่าอย่าตกหลุมพรางผู้ก่อการร้าย

 

ผู้ก่อเหตุครั้งนี้อ้างถึงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในลักษณะที่แสดงความชื่นชม และบอกว่าเป็นสัญลักษณ์ของการฟื้นคืนตัวตนของคนผิวขาว ทั้งนี้ ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าทรัมป์มีส่วนสำคัญในการกระพือกระแสอิสลามโมโฟเบียอย่างมากในสังคมอเมริกันและทั่วโลก มาตรการห้ามมุสลิมเข้าประเทศของเขาถูกวิจารณ์อย่างมาก หลังเหตุการณ์วินาศกรรมที่ไครสต์เชิร์ช ทรัมป์ได้โทรหานางอาร์เดิร์นเพื่อแสดงความเสียใจ และถามเธอว่าต้องการให้สหรัฐฯ ช่วยอะไรบ้าง เธอตอบว่า “ช่วยแสดงความเห็นอกเห็นใจ และให้ความรักต่อชุมชนมุสลิมทั้งหมดด้วย”

 

ความกล้าหาญและการรับมืออย่างสุขุม

จาซินดา อาร์เดิร์น แสดงความกล้าหาญและเด็ดขาดโดยยืนยันอย่างทันควันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็น ‘การก่อการร้าย’ ที่มีแรงจูงใจจากการเหยียดเชื้อชาติและความเกลียดกลัวอิสลาม เธอตระหนักดีว่าประชาชนชาวนิวซีแลนด์ก็รอฟังอยู่ว่าเจ้าหน้าที่จะกล้าใช้คำว่าการก่อการร้ายหรือไม่ หากผู้ลงมือโจมตีเป็นคนขาวแม้จะมีแรงจูงใจทางการเมืองก็ตาม

 

ทั้งนี้ เพราะหลายครั้งที่เกิดเหตุกราดยิงในลักษณะเดียวกันในสหรัฐอเมริกา หากผู้ก่อเหตุเป็นชาวมุสลิมหรือมีเชื้อสายผู้อพยพ ประเด็นของการถกเถียงจะถูกมุ่งไปที่ปัญหาภัยคุกคามของการก่อการร้ายเป็นหลัก แต่หากเป็นชาวอเมริกันผิวขาว ประเด็นของการถกเถียงหลักจะมุ่งไปที่ปัญหาข้อกฎหมายของการครอบครองอาวุธปืนเป็นหลัก เช่น กรณีการกราดยิงกลางคอนเสิร์ตที่เมืองลาสเวกัสเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ปี 2017 มือก่อเหตุคือนายสตีเฟน แพดด็อก ทำให้มีคนตาย 59 ราย ทรัมป์ประณามเหตุการณ์ครั้งนี้ว่าเป็นการกระทำที่ชั่วร้าย แต่ไม่ได้เรียกว่าเป็นการก่อการร้ายแต่อย่างใด

 

แต่กรณีการรับมือกับสถานการณ์ที่ไครสต์เชิร์ชครั้งนี้ อาร์เดิร์นให้ความสำคัญกับการมุ่งจัดการปัญหาอย่างสมเหตุสมผล โดยย้ำชัดว่านี่เป็นปัญหาก่อการร้ายโดยไม่ลังเลว่าผู้ก่อเหตุจะเป็นใคร ในขณะเดียวกันเธอยังเร่งแก้กฎหมายควบคุมอาวุธปืนที่หละหลวมของประเทศ โดยเตรียมสั่งห้ามครอบครองอาวุธปืนกึ่งอัตโนมัติและปืนไรเฟิลจู่โจมทุกชนิด ซึ่งกฎหมายนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 11 เมษายน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเธอให้ความสำคัญกับทั้งประเด็นปัญหาก่อการร้ายควบคู่ไปกับมาตรการควบคุมอาวุธปืน

 

อาร์เดิร์น ประกาศว่าจะจัดการแบบถอนรากถอนโคนพวกเหยียดเชื้อชาติขวาจัดทั้งในระดับประเทศและระดับโลก เธอเชื่อว่าลัทธิเหยียดเชื้อชาติและโรคหวาดกลัวอิสลามคือรากเหง้าของปัญหาที่ต้องกำจัด

 

ในอีกด้านหนึ่ง เธอพยายามตั้งคำถามต่อความรับผิดชอบของสื่อโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กที่ปล่อยให้มีการเผยแพร่ภาพความรุนแรงขณะเกิดเหตุเป็นเวลานาน อาร์เดิร์นมองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการทำร้ายจากเหตุการณ์ที่น่าขยะแขยงและมีเนื้อหาที่อันตราย ซึ่งเธอเรียกร้องว่าสื่อโซเชียลมีเดียต้องพัฒนากว่านี้ ไม่ใช่เสแสร้งว่าเป็นเพียงช่องทางหรือแพลตฟอร์มที่เป็นกลางอย่างเดียว

 

จะเห็นได้ว่าอาร์เดิร์นไม่ละเลยประเด็นสำคัญที่มีส่วนต่อเหตุการณ์ความรุนแรงนี้เลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมูลเหตุของแรงจูงใจการก่อการร้าย แนวคิดสุดโต่ง การควบคุมอาวุธปืน และความรับผิดชอบของสื่อโซเชียลมีเดีย

 

Jacinda Ardern

 

การใช้ความรักและการให้เกียรติต้านกระแสอิสลามโมโฟเบีย ยัดเยียดความล้มเหลวให้กับการก่อการร้าย

หากเป้าหมายของผู้ก่อเหตุคือการปลุกกระแสความเกลียดชัง การต่อต้านอิสลาม และการแบ่งแยกทางสังคมบนฐานของการเหยียดเชื้อชาติ ก็อาจกล่าวได้ว่านายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์น ได้ยัดเยียดความล้มเหลวให้กับเขาอย่างสิ้นเชิงด้วยการใช้ความรัก การให้เกียรติ และการโอบกอดชุมชนมุสลิมไปพร้อมๆ กับปลุกกระแสสังคมให้แสดงความเห็นอกเห็นใจและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในช่วงเวลาที่เศร้าโศกของประเทศ จนทำให้สังคมนิวซีแลนด์ที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรมอยู่แล้วยิ่งกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้น

 

ในการเปิดประชุมสภาครั้งแรก อาร์เดิร์นได้กล่าวคำทักทายในที่ประชุมด้วยรูปแบบที่คนมุสลิมกล่าวทักทายกัน “อัสลามูอาลัยกุมวาเราะห์มาตุ้ลลอฮฺอิวาบารอกาตุฮฺ” อันมีความหมาย (สวนทางกับเป้าหมายของผู้ก่อเหตุ) ว่า “ขอความสันติสุขจากพระผู้เป็นเจ้าจงมีแด่ท่าน” ซึ่งถือเป็นการให้เกียรติมุสลิมเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังให้มีการอ่านคัมภีร์อัลกุรอานในสภาด้วย

 

เมื่อครบรอบ 1 สัปดาห์ของเหตุการณ์ในวันศุกร์ที่ 22 มีนาคม มุสลิมนิวซีแลนด์ได้จัดพิธีละหมาดวันศุกร์ร่วมกัน ณ ลานกว้างแห่งหนึ่งในไครสต์เชิร์ช โดยมีมุสลิมจำนวนมากทำละหมาดร่วมกัน นายกรัฐมนตรีอาร์เดิร์นได้สั่งให้มีการถ่ายทอดสดการ ‘อาซาน’ หรือเสียงเชิญชวนให้ผู้คนมาทำการละหมาด ทั้งทางโทรทัศน์และวิทยุทั่วประเทศ นอกจากเป็นการให้เกียรติมุสลิมอย่างมากแล้วยังเป็นการเรียกร้องเชิญชวนให้คนนิวซีแลนด์มาให้กำลังใจหรือทำความรู้จักศาสนาอิสลามและคนมุสลิมเพื่อไม่ให้เกิดความหวาดระแวงเหมือนที่โลกตะวันตกอื่นๆ กำลังเผชิญอยู่

 

ในพิธีละหมาดวันศุกร์ครั้งนั้นปรากฏว่ามีคนนิวซีแลนด์ที่ไม่ใช่มุสลิมจำนวนมากมาร่วมรับฟังการเทศนาธรรมและให้กำลังใจชาวมุสลิม ขณะที่การยืนห้อมล้อมมุสลิมขณะละหมาดยังเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงกลุ่มคนเหยียดเชื้อชาติว่า ‘ให้ยิงฉันก่อน’ ด้วย โดยในวันศุกร์นั้นยังมีการรณรงค์ทั่วประเทศให้ผู้หญิงสวมผ้าคลุมศีรษะตามแบบมุสลิมด้วย

 

หากเป้าหมายของการก่อการร้ายที่นิวซีแลนด์ เป็นไปตามที่ แพทริก เจ. เคนเนดี อดีต ส.ส. สหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต เคยกล่าวไว้ว่า “การก่อการร้ายคือสงครามจิตวิทยารูปแบบหนึ่งที่ผู้ก่อการพยายามจะปลุกปั่นให้พวกเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผ่านการสร้างความหวาดกลัว ความไม่แน่นอนในชีวิต และการแบ่งแยกทางสังคม” แล้ว

 

อาจกล่าวได้ว่า จาซินดา อาร์เดิร์น ไม่ได้เพียงยัดเยียดความล้มเหลวให้กับการก่อการร้ายครั้งนี้เท่านั้น แต่ยังสร้างคู่มือการต่อต้านกระแสอิสลามโมโฟเบีย ความเกลียดชัง และความสุดโต่งฉบับใหม่ล่าสุดที่ผู้นำโลกต้องนำไปถอดบทเรียน

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising