×

จะทำอย่างไรกับบริษัทที่ภาพลักษณ์ดูดี แต่พอเข้ามาทำงานจริงแล้วเยินคะ?

31.07.2019
  • LOADING...
Issues in organization

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • นี่เป็นเหตุผลว่าตอนไปสัมภาษณ์งานเราถึงต้อง ‘ถาม’ ให้เยอะเหมือนกับที่บริษัทอยากให้เรา ‘ตอบ’ อย่าลืมนะครับว่าการสัมภาษณ์งานไม่ใช่แค่การที่บริษัทมาดูตัวว่าจะจ้างเราเป็นพนักงานดีไหมอย่างเดียว ตัวเราเองก็ต้องเป็นฝ่ายดูด้วยว่าบริษัทนี้เหมาะกับตัวเราหรือเปล่า
  • อย่างแรกผมจะดูก่อนว่าคนที่มาสัมภาษณ์ผม เขาเปิดโอกาสให้ผมได้พูดคุยหารือเป็นฝ่ายตั้งคำถามมากน้อยแค่ไหน โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่า บริษัทเป็นแบบไหน เราดูได้จากพนักงานนี่แหละครับ ถ้าคนที่มาคุยด้วยเอาแต่ตั้งคำถามอย่างเดียว ทดสอบเราอย่างเดียว ผมก็อาจจะรู้สึกว่าบริษัทนี้ไม่ค่อยอยากฟังความคิดเห็นของพนักงานเท่าไร หรือมีวัฒนธรรมแบบ Boss Culture มันไม่ใช่บรรยากาศในการทำงานที่เอื้อต่อการเติบโตเท่าไรนัก
  • คำถามที่ผมชอบถามกลับไปคือ อะไรคือข้อดีที่สุดและข้อเสียที่สุดของบริษัทนี้ แน่นอนว่าผมเป็นคนนอก ผมคงเห็นแต่ภาพลักษณ์ด้านเดียว แต่ถ้าถามคนใน คนในอาจจะเห็นมุมอื่น ซึ่งสิ่งที่เขาเล่านั้นอาจจะทำให้ผมอยากทำงานให้องค์กรนี้มากกว่าเดิม หรือทำให้ผมไม่อยากทำงานที่นี่ก็เป็นไปได้ แต่สิ่งสำคัญคือ เราควรได้รับข้อมูลทั้งด้านที่ดีและด้านที่ควรปรับปรุงของบริษัทที่เรากำลังจะพิจารณา
  • ทีนี้เข้ามาแล้วอกหักแล้ว ผมคิดว่าสิ่งที่เราต้องดูต่อไปคือ เขาจะแก้ปัญหาอย่างไร เราถามได้ครับว่าเขาจะจัดการความไม่เรียบร้อยนี้อย่างไรได้บ้าง ภายในระยะเวลาเมื่อไร อย่างน้อยถ้าเรารู้กรอบเวลา เราจะได้รู้ว่าจะรอแค่ไหน

Q: หนูเพิ่งได้งานใหม่ค่ะ ตอนสัมภาษณ์งานเราคุยกันเสียดิบดี บริษัทดูดีมากค่ะ น่าทำงานมาก ดูอินเต๊อร์อินเตอร์ แต่พอเข้ามาทำงานจริงๆ ไม่เห็นเหมือนกับที่คุยไว้เลยค่ะ เอาตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงาน HR ก็ดูงงแล้ว หัวหน้าไม่รู้เลยค่ะว่าเราจะมาทำงานวันนี้ คอมพิวเตอร์ก็ยังไม่ได้ค่ะ อีเมลก็ยังไม่มี ตอนสัมภาษณ์งานกับตอนเข้ามาทำงานจริงเหมือนหนังคนละเรื่องเลยค่ะ เริ่มไม่มั่นใจแล้วว่าต่อไปจะเจออะไรอีก

 

A: น่าเห็นใจมากครับ เหมือนพจมานหิ้วชะลอมเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของบ้านทรายทองที่ภายนอกดูสวยงาม แต่เข้ามาอยู่จริงแล้วเยิน เป็นเรื่องเข้าใจได้ครับว่าทำไมคุณถึงเสียความรู้สึก และพลอยคิดว่าเริ่มต้นยังเยินขนาดนี้ ต่อไปจะแย่ขนาดไหน

 

นี่เป็นเหตุผลว่าตอนไปสัมภาษณ์งานเราถึงต้อง ‘ถาม’ ให้เยอะเหมือนกับที่บริษัทอยากให้เรา ‘ตอบ’ อย่าลืมนะครับว่าการสัมภาษณ์งานไม่ใช่แค่การที่บริษัทมาดูตัวว่าจะจ้างเราเป็นพนักงานดีไหมอย่างเดียว ตัวเราเองก็ต้องเป็นฝ่ายดูด้วยว่าบริษัทนี้เหมาะกับตัวเราหรือเปล่า เป็นกระบวนการเลือกซึ่งกันและกัน ถ้าเราเลือกเขา และเขาก็เลือกเรา ก็ไปด้วยกัน กระนั้นก็เถอะ ต่อให้ตัดสินใจแล้วว่าจะไปด้วยกันตลอดทาง ทั้งพนักงานและบริษัทก็ยังต้องปรับตัวเพื่อการอยู่ร่วมกันอยู่ดีครับ

 

เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า บริษัทที่เราสัมภาษณ์นี้จะเหมาะกับตัวเราไหม ถ้าเราไม่เป็นฝ่ายถามตอนสัมภาษณ์บ้าง การตั้งคำถาม นอกจากเป็นการแสดงความสนใจในงานแล้ว ยังเป็นการทดสอบ ใช่ครับ เราต้อง ‘ทดสอบ’ บริษัทที่เราสัมภาษณ์เหมือนกันว่า บริษัทนี้เป็นอย่างไร มีวิธีการทำงานอย่างไร มีแนวทางเติบโตอย่างไร พนักงานมีวิถีชีวิตแบบไหน ไปจนถึงมีปัญหาอะไรในองค์กรบ้าง

 

ถ้าเป็นผม อย่างแรก ผมจะดูก่อนว่าคนที่มาสัมภาษณ์ผม เขาเปิดโอกาสให้ผมได้พูดคุยหรือเป็นฝ่ายตั้งคำถามมากน้อยแค่ไหน โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่า บริษัทเป็นแบบไหน เราดูได้จากพนักงานนี่แหละครับ ถ้าคนที่มาคุยด้วยเอาแต่ตั้งคำถามอย่างเดียว ทดสอบเราอย่างเดียว ผมก็อาจจะรู้สึกว่า บริษัทนี้ไม่ค่อยอยากฟังความคิดเห็นของพนักงานเท่าไร หรือมีวัฒนธรรมแบบ Boss Culture ที่หัวหน้าผูกขาดการแสดงความคิดเห็นอย่างเดียว ฉันจะพูด เธอต้องฟัง แต่ฉันจะไม่ฟังเธอ ซึ่งสำหรับผม มันไม่ใช่บรรยากาศในการทำงานที่เอื้อต่อการเติบโตเท่าไรนัก

 

คำถามที่ผมชอบถามคนที่สัมภาษณ์ผมกลับไปก็คือ อะไรคือข้อดีที่สุดและข้อเสียที่สุดของบริษัทนี้ที่คุณมองเห็น แน่นอนว่าผมเป็นคนนอก ผมคงเห็นแต่ภาพลักษณ์ด้านเดียว แต่ถ้าถามคนใน คนในอาจจะเห็นมุมอื่น ซึ่งสิ่งที่เขาเล่านั้นอาจจะทำให้ผมอยากทำงานให้องค์กรนี้มากกว่าเดิม หรือทำให้ผมไม่อยากทำงานที่นี่ก็เป็นไปได้ แต่สิ่งสำคัญคือ เราควรได้รับข้อมูลทั้งด้านที่ดีและด้านที่ควรปรับปรุงของบริษัทที่เรากำลังจะพิจารณาเข้าไปทำงานอยู่ อย่ารู้แต่ข้อมูลด้านดีอย่างเดียว ต้องรู้ด้านที่มีปัญหาอยู่ด้วย ถ้าเราได้รู้ตั้งแต่ต้น เราจะตัดสินใจได้ดีขึ้น

 

ผมคิดว่า การรู้ปัญหาขององค์กรตั้งแต่ก่อนเข้ามาเป็นเรื่องดีมากครับ แน่นอนว่า ไม่มีบริษัทไหนไม่มีปัญหา สิ่งที่ผมต้องการรู้คือ ที่นี่มีปัญหาอะไรบ้าง เพื่อที่ผมจะกลับมาคิดว่า ถ้าผมเข้าไป ผมจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างไรได้บ้าง ผมจะมีประโยชน์กับองค์กรนี้ได้อย่างไร และผมคิดว่า นั่นเป็นสิ่งที่องค์กรมองหาในพนักงาน ผมกลับประทับใจองค์กรที่ยอมรับในข้อเสียของตัวเองด้วยซ้ำ

 

เพราะมันคือการยอมรับความจริง การซื่อสัตย์ การเปิดเผย และความจริงใจ ซึ่งพวกเราก็คงอยากทำงานกับบริษัทที่เปิดเผยและจริงใจแบบนี้ใช่ไหมล่ะครับ บริษัทแบบนี้ผมอยากเอาใจช่วย ที่สำคัญ รู้ปัญหาไว้บ้างตั้งแต่ก่อนทำงาน น่าจะดีกว่าไปรู้ทีหลังแล้วช็อกว่าบริษัทไม่เหมือนกับที่เคยคุยกันไว้เลย

 

เพราะฉะนั้นในมุมของพนักงาน ผมคิดว่า เราควรใช้เวลาในการสัมภาษณ์งาน เพื่อดูกันและกัน รับรู้ทั้งข้อดีและข้อเสียของบริษัท เพื่อป้องกันความผิดหวัง เตรียมความพร้อม และทำให้พนักงานกลับมามองว่า จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้องค์กรได้อย่างไรบ้าง

 

ในมุมของบริษัทแล้ว ผมคิดว่า นอกจากการทำภาพลักษณ์ของบริษัทให้ดี พร้อมกับทำเนื้อแท้ขององค์กรให้ดีจริงอย่างที่สื่อสารออกไปแล้ว Onboarding เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก วันแรกของการมาทำงานของพนักงานควรเป็นวันที่น่าจดจำในทางที่ดี มันคือประสบการณ์ตรงแบบไม่มีเซนเซอร์ที่พนักงานจะได้รับ เราควรสร้างความประทับใจให้กับพนักงานตั้งแต่วันแรกที่เขาเข้ามาทำงาน ก่อนมาทำงานทุกคนมีความตื่นเต้น มีความคาดหวังกันหมด มันจะดีขนาดไหนครับ ถ้าเข้ามาแล้วเขาพบว่า เขาเจอสิ่งที่เหนือความคาดหวัง เขาจะจำวันดีๆ วันนี้ไปตลอด และมันจะกลายเป็นเรื่องที่เขาเอาไปเล่าต่อได้ว่า ทำงานที่นี่เป็นอย่างไร

 

ในทางกลับกัน ถ้าวันแรกที่มาทำงาน คอมพิวเตอร์ก็ยังไม่มีให้ โต๊ะทำงานยังไม่มี หัวหน้าไม่รู้เรื่อง โน่นนี่ไม่เรียบร้อยอย่างที่คุณเจอ มันก็เหมือนไปทำให้พนักงานอกหัก บริษัทกำลังสร้างโมเมนต์ที่ไม่น่าประทับใจฝังเข้าไปในความคิดของเขาอยู่ มันจะกลายเป็นเรื่องที่เขาเอาไปเล่าต่อได้ว่า ทำงานที่นี่วันแรกเป็นอย่างไร

 

อย่าลืมนะครับว่า กว่าจะหาคนเก่งเข้ามาได้มันยาก แต่เอาเข้ามาแล้วไม่ดูแลเขา ไม่รักษาเขา ไม่ทำให้เขารักบริษัทได้ตลอด เขาจะรักเราได้อย่างไร

 

ทีนี้เข้ามาแล้วอกหักแล้ว ผมคิดว่า สิ่งที่เราต้องดูต่อไปคือ เขาจะแก้ปัญหาอย่างไร เราถามได้ครับว่า เขาจะจัดการความไม่เรียบร้อยนี้อย่างไรได้บ้าง ภายในระยะเวลาเมื่อไร อย่างน้อยถ้าเรารู้กรอบเวลา เราจะได้รู้ว่าจะรอแค่ไหน

 

ระหว่างที่อุปกรณ์และระบบยังไม่พร้อมนี้ ลองคุยกับหัวหน้าว่ามีอะไรบ้างที่เราสามารถทำได้ ให้ไปนั่งเหงาๆ เฉาๆ อยู่เฉยๆ ก็น่าเบื่อนะครับ เริ่มงานใหม่ไฟควรจะลุกโชน ไม่ใช่มานั่งเหี่ยวตั้งแต่สัปดาห์แรก กับใช้เวลาในการทำความรู้จักเพื่อนร่วมงานให้ได้มากที่สุด เอาให้เราจำเขาได้ตั้งแต่สัปดาห์แรก และให้เขาจำเราได้เช่นกัน เป็นคนใหม่มาแล้วมานั่งเฉาๆ ไม่ทำงานอะไร มันก็ดูไม่ดีอีก เพราะฉะนั้นทำตัวให้มีประโยชน์เข้าไว้

 

ที่สำคัญคือ ผมคิดว่า ปัญหานี้ควรได้รับการแก้ไข ปกติแล้ว HR มักจะให้ทำแบบสอบถามหรือให้สะท้อนความเห็นหลังทำงานไปแล้ว 1 เดือน หรือ 3 เดือน ปัญหาที่คุณเจอควรได้รับการบอกให้ HR รู้นะครับ และถ้าเขาคิดได้ เขาควรจะแก้ไข ไม่อย่างนั้นจะเสียพนักงานไปอีกมาก

 

อย่าเพิ่งคิดไปไกลครับว่าเริ่มต้นยังเยินขนาดนี้ ต่อไปจะเยินแค่ไหน เอาล่ะ ตอนเริ่มต้นมันอาจจะเยิน เพราะมันยังไม่มีคุณเข้ามาทำงาน แต่ตอนนี้คุณมาทำงานแล้ว คุณมีส่วนทำให้องค์กรไม่เยินแล้วนะครับ

 

กลับไปเรื่องเดิมที่เราคุยกันครับ เรารับรู้ปัญหาขององค์กรแล้ว สิ่งที่เราต้องมาถามตัวเองต่อก็คือ แล้วเราจะมีส่วนสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กรได้อย่างไร

 

ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ 

 

ภาพ: Nisakorn Rittapai

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising