สหรัฐอเมริกาและอิสราเอลต่างลาออกจากการเป็นสมาชิกองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) แล้วนับตั้งแต่ต้นปี 2019 หลังสหรัฐฯ เคยประกาศขอถอนตัวจากองค์กรเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2017 ที่ผ่านมา ก่อนอิสราเอลจะดำเนินการดังกล่าวตาม
เหตุผลสำคัญในการตัดสินใจลาออกคือสหรัฐฯ ต้องการให้ยูเนสโกปฏิรูปองค์กรเสียใหม่ ในขณะที่อิสราเอลก็มองว่ายูเนสโกมีอคติต่ออิสราเอล วิพากษ์วิจารณ์การเข้าไปครอบครองดินแดนเยรูซาเลมตะวันออก อีกทั้งยังให้การรับรองปาเลสไตน์ให้เข้าเป็นสมาชิกของยูเนสโกเมื่อปี 2011 และประกาศขึ้นทะเบียนสถานที่สำคัญในปาเลสไตน์ถึง 3 แห่งเป็นมรดกโลกอีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม การลาออกของทั้งสองประเทศอาจไม่กระทบด้านการเงินขององค์กรขั้นรุนแรง เนื่องจากทั้งสหรัฐฯ และอิสราเอลต่างยุติการให้เงินสนับสนุนยูเนสโกนับตั้งแต่กรณีการรับรองปาเลสไตน์เมื่อปี 2011
โดยสหรัฐฯ เคยถอนตัวจากยูเนสโกมาแล้วครั้งหนึ่งในสมัยอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ปี 1984 เนื่องจากมองว่ายูเนสโกมีการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ คอร์รัปชัน และแอบอิงอยู่กับผลประโยชน์ของสหภาพโซเวียต ก่อนจะตัดสินใจกลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้งในปี 2003 ซึ่งสหรัฐฯ เคยยื่นเรื่องขอดำรงสถานะประเทศผู้สังเกตการณ์ (Observer State) ของยูเนสโกแทน โดยจะมีการหารืออีกครั้งในช่วงเดือนเมษายนนี้
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: