×

โจมตีมัสยิดในไครสต์เชิร์ช การทำงานของความเกลียดชังและการก่อการร้ายของเหยื่อความหวาดกลัว

18.03.2019
  • LOADING...
Islamophobia

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • เหตุโจมตีชาวมุสลิมที่ประกอบศาสนกิจในมัสยิดหรือโจมตีชุมชนมุสลิมกำลังเกิดถี่ขึ้นในยุโรปและสหรัฐอเมริกา แต่เหตุกราดยิงที่ไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ โดยฝีมือคนขาวออสเตรเลียที่เชื่อในความเหนือกว่าของคนผิวขาว (White Supremacist) นั้นมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ เพราะผู้ก่อเหตุมีแนวคิดต่อต้านผู้อพยพและเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia) อย่างรุนแรง ประกอบกับลักษณะของการก่อเหตุและแรงจูงใจที่เชื่อมโยงกับแนวคิดเหยียดผิว ฟาสซิสต์ หรือแม้แต่มีความเกี่ยวข้องกับนีโอนาซีด้วย
  • ผู้ก่อเหตุต้องการส่งต่ออิทธิพลทางความคิดของเขาไปยังกลุ่มชาตินิยมขวาจัดและกลุ่มต่อต้านอิสลาม เป็นการโปรยเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังไปทั่วโลก ทำให้เกิดการแบ่งแยกทางสังคมว่ามี ‘พวกเขา’ ‘พวกเรา’ ‘ผิวขาว’ ‘ผิวสี’ ฯลฯ ที่อาจเรียกว่าเป็น ‘การแบ่งแยกแล้วปลุกปั่น’ (Divide and Provoke) ซึ่งหวังให้ความกลัวจับมือกับความเกลียดชังเพื่อร่วมกันก่อการร้ายในนามของความรักชาติ อันเป็นวิธีการเดียวกับที่กลุ่มก่อการร้ายอย่างไอเอสใช้มาโดยตลอด ผลผลิตสุดท้ายของมันจึงจบที่การฆ่าผู้บริสุทธิ์เหมือนกัน
  • โนม ชอมสกี นักวิชาการชื่อดังชาวอเมริกันกล่าวไว้ว่า “ทุกคนเป็นกังวลว่าจะหยุดการก่อการร้ายได้อย่างไร อันที่จริงมันง่ายนิดเดียว แค่หยุดมีส่วนร่วมกับมัน” เพราะถ้าสังคมหรือกลุ่มบุคคลมีแนวคิดแบ่งแยกหรือสร้างความเกลียดชังระหว่างกันในสังคม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่มีแนวคิดทางศาสนาแบบสุดโต่งหรือกลุ่มชาตินิยมขวาจัดที่ต่อต้านอิสลามก็ถือว่ามีส่วนร่วมกับการก่อการร้ายแล้ว ส่วนกรณีผู้ก่อเหตุที่ไครสต์เชิร์ชก็ถือเป็นเหยื่อของความเกลียดชังและความหวาดกลัวเช่นกัน

เหตุวินาศกรรมที่เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งความสงบสุขและปลอดภัยมากแห่งหนึ่งของโลกสร้างความเศร้าสลดหดหู่ใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อผู้ก่อเหตุได้ทำการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กไลฟ์สตรีมตั้งแต่เดินไปเปิดท้ายรถ หยิบอาวุธปืนไรเฟิล แล้วเดินเข้ากราดยิงชาวมุสลิมที่มาประกอบพิธีละหมาดในวันศุกร์ร่วมกัน ณ มัสยิดอัลนูร์ อย่างโหดเหี้ยมและเลือดเย็น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 49 ราย อีกเหตุการณ์เกิดขึ้นที่มัสยิดลินวูดย่านชานเมือง ห่างจากจุดแรก 10 กิโลเมตรก็มีเหตุกราดยิงเช่นกัน ตำรวจพบระเบิดแสวงเครื่องที่ติดอยู่กับรถ 2 คัน แต่ก็สามารถปลดชนวนได้

 

ครั้งนี้ถือเป็นการก่อการร้ายครั้งเลวร้ายที่สุดของนิวซีแลนด์ จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีหญิงของนิวซีแลนด์ ถึงกับบอกว่า “เป็นวันที่มืดมนที่สุดในประวัติศาสตร์ของนิวซีแลนด์”

 

ผู้ก่อเหตุคือ เบรนตัน ทาร์แรนต์ ชาวออสเตรเลีย วัย 28 ปี จากเมืองแกรฟตัน รัฐนิวเซาท์เวลส์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย สกอต มอร์ริสัน พูดถึงมือปืนว่า ‘เป็นผู้ก่อการร้าย หัวรุนแรง ขวาจัด’

 

เหตุการณ์ในลักษณะนี้หรือการโจมตีมุสลิมที่ประกอบศาสนกิจในมัสยิดหรือโจมตีชุมชนมุสลิมกำลังเกิดถี่ขึ้นในยุโรปและสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงในทวีปอเมริกาเหนือบ้างแล้ว แต่เมื่อมาเกิดขึ้นที่ไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ด้วยฝีมือของคนขาวออสเตรเลียที่เชื่อในความเหนือกว่าของคนผิวขาว (White Supremacist) จึงทำให้มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือผู้ก่อเหตุมีแนวคิดต่อต้านผู้อพยพและเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia) อย่างรุนแรง ประกอบกับลักษณะของการก่อเหตุและแรงจูงใจที่เชื่อมโยงกับแนวคิดเหยียดผิว ฟาสซิสต์ หรือแม้แต่มีความเกี่ยวข้องกับนีโอนาซี นอกจากนี้เขายังอ้างอิงไปถึงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และยกย่องผู้ที่เคยต่อต้าน มีประวัติเข่นฆ่ามุสลิม หรือล้มอาณาจักรอิสลามในอดีต

 

Islamophobia

 

มุสลิมและสังคมพหุวัฒนธรรมนิวซีแลนด์

นิวซีแลนด์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีความหลากหลายในแง่ของชาติพันธุ์ ภาษา วัฒนธรรม และศาสนา เพราะในจำนวนประชากรทั้งหมด 4.79 ล้านคนจากการสำรวจสำมะโนครัว ปี 2018 เป็นชาวเมารี ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองของนิวซีแลนด์จริงๆ ประมาณ 14.9% อีก 74% มีเชื้อสายบรรพบุรุษมาจากยุโรป และ 11.8% มาจากเอเชีย ประชากร 1 ใน 4 เป็นคนที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอื่นๆ

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นิวซีแลนด์เปิดรับผู้อพยพเข้าประเทศประมาณ 4-5 หมื่นคนต่อปีจาก 150 ประเทศ ไม่เฉพาะคนนอกเท่านั้นที่อยากอพยพเข้าไป คนในหรือคนนิวซีแลนด์เองก็มีทัศนคติที่ดีและเปิดกว้างยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ในปี 2008 มีการสำรวจความคิดเห็นคนนิวซีแลนด์จำนวน 2,000 คน พบว่าคนนิวซีแลนด์ส่วนมากถึง 89% มองว่าการผสมผสานกันระหว่างความแตกต่างหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรม และศาสนานั้นเป็นสิ่งที่ดีต่อสังคม ดังนั้นจึงไม่แปลกว่าทำไมนิวซีแลนด์จึงเป็นดินแดนที่มีเสน่ห์ดึงดูดผู้คนจากทั่วโลก แต่ 10 ปีที่ผ่านมาจากกระแสชาตินิยมขวาจัดที่ขยายตัวและโรคกลัวอิสลามที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ชาวมุสลิมในนิวซีแลนด์ถูกหวาดระแวงไปด้วยจากคนบางกลุ่ม

 

ในด้านการนับถือศาสนา ประชากร 44.3% เป็นคริสเตียนนิกายต่างๆ และ 1.3% เป็นคริสเตียนเมารี, 2.1% เป็นฮินดู, 1.4% เป็นพุทธ, 1.1% เป็นอิสลาม, 1.4% นับถือศาสนาอื่นๆ และที่ไม่มีศาสนาอีก 38.5% ในตัวเลขดังกล่าวพบว่าแม้ประชากรมุสลิมจะมีเพียง 1.1% แต่ก็มีอัตราการขยายตัวเร็วที่สุด (เพิ่มขึ้น 6 เท่าระหว่างปี 1991-2006) โดยชาวมุสลิมในนิวซีแลนด์เกือบ 80% มีถิ่นกำเนิดจากที่อื่น ส่วนใหญ่มาจากทางอินเดีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เช่น อาหรับ อิหร่าน อิรัก โซมาเลีย

 

จากตัวเลขประชากรมุสลิมที่เพิ่มมากขึ้น ยิ่งทำให้กลุ่มที่มีแนวคิดชาตินิยมขวาจัดเริ่มหวาดระแวงและมองวัฒนธรรมของมุสลิมว่าเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของนิวซีแลนด์ ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2006 ดอน บราช อดีตนักการเมืองและผู้นำฝ่ายค้านของนิวซีแลนด์เคยพูดว่า “เราไม่ควรต้อนรับคนที่ต้องการเข้ามาอยู่ในนิวซีแลนด์ แต่ปฏิเสธวัฒนธรรมแกนกลางของนิวซีแลนด์” ทั้งนี้เป็นที่เชื่อกันว่าเขาหมายถึงชาวมุสลิมที่จะอพยพเข้ามาในประเทศ จากคำพูดของบราชทำให้เห็นถึงแนวคิดการแบ่งแยกทางวัฒนธรรมในนิวซีแลนด์ที่ถูกจุดประกายขึ้นมาโดยนักการเมือง เขาจึงถูกมองว่าเป็นพวกเหยียดเชื้อชาติและกระตุ้นให้เกิดกระแส Islamophobia ในนิวซีแลนด์


เหตุการณ์ล่าสุดยังถูกนำไปขยายผลทางการเมืองในออสเตรเลียโดยวุฒิสมาชิก เฟรเซอร์ แอนนิง ที่ต่อต้านอิสลาม ซึ่งเขาออกมาตำหนิผู้อพยพมุสลิมว่าเป็นสาเหตุของการนองเลือดครั้งนี้ เหตุเพราะทำให้ชุมชนทั้งในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เกิดความหวาดกลัวจากจำนวนชาวมุสลิมที่เพิ่มมากขึ้น

 

กระนั้นก็ตาม ในภาพรวมของสังคมนิวซีแลนด์ก็ยังคงให้คุณค่ากับสังคมพหุวัฒนธรรมและการแสดงมิตรไมตรีโดยไม่แบ่งแยก หลังเกิดเหตุการณ์ก็เห็นได้ว่าคนนิวซีแลนด์ต่างออกมาแสดงความเสียใจ ให้กำลังใจ แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับชาวมุสลิมอย่างล้นหลาม

 

Islamophobia

 

เบรนตัน ทาร์แรนต์ เหยื่อของความเกลียดชังและผลผลิตของกระแสต่อต้านอิสลาม

เบรนตัน ทาร์แรนต์ วัย 28 ปี จากรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย หนึ่งในมือก่อเหตุ นิยามตัวเองว่าเป็น ‘คนขาวธรรมดาๆ’ (Ordinary White Man) ทาร์แรนต์เกิดและเติบโตมาจากครอบครัวชนชั้นแรงงานที่มีรายได้น้อย สูญเสียพ่อจากโรคมะเร็งตั้งแต่ปี 2010 จากนั้นเขาก็เริ่มออกเดินทางและใช้ชีวิตในต่างแดนไปทั่วโลก ซึ่งเชื่อกันว่าในระหว่างที่เขาเดินทางตลอดหลายปีที่ผ่านมาได้เปลี่ยนเขาให้เป็นคนหัวรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนมาก่อเหตุในครั้งนี้ ซึ่งมีการวางแผนล่วงหน้ามาอย่างดี  

 

มูลเหตุจูงใจของการก่อเหตุครั้งนี้เชื่อได้ว่าเป็นเพราะเขาเป็นพวกที่เชื่อในความเหนือกว่าของคนผิวขาว และต่อต้านผู้อพยพมุสลิมที่เขาเรียกว่าเป็น ‘ผู้รุกราน’ ที่กำลังมาแทนที่คนผิวขาว โดยเขาระบุปฏิบัติการครั้งนี้ในเอกสารคำประกาศของเขาที่เรียกว่า ‘การแทนที่อันยิ่งใหญ่’ (Great Replacement)

 

แต่ที่น่าสนใจคือในตัวตนและความคิดของทาร์แรนต์นั้นมีลักษณะของการผสมผสานความเคียดแค้นชิงชังและการเหยียดสีผิว เชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมอย่างรุนแรง เขาอายุเพียง 28 ปี แต่กลับถูกหล่อหลอมด้วยความเคียดแค้นในอดีต และถูกเติมเชื้อไฟแห่งความเกลียดชังจากสถานการณ์ปัจจุบัน

 

หากติดตามการรายงานของสำนักข่าวต่างๆ จะพบว่าเขามีแรงบันดาลใจในการก่อเหตุมาจากหลายๆ เหตุการณ์ ดังนี้

  • เขาบอกว่าได้แรงบันดาลใจมาจากการสังหารหมู่ของ แอนเดอร์ส เบห์ริง เบรวิก ผู้ที่ถูกเรียกว่าเป็นผู้ก่อการร้ายขวาจัดชาวนอร์เวย์ เคยก่อเหตุระเบิดและกราดยิงสังหารหมู่เมื่อปี 2011 วางระเบิดอาคารรัฐสภากรุงออสโล ทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 ศพ ก่อเหตุกราดยิงที่ค่ายสันนิบาตเยาวชนกรรมกรของพรรคแรงงาน สังหารชีวิตผู้คนไป 69 ราย เบรวิกก่อเหตุโดยประกาศเจตนาของเขาว่าเป็นการประกาศอิสรภาพของยุโรปตามแนวคิดขวาจัดของเขาที่มองอิสลามว่าเป็นศัตรู และมีความรู้สึกหวาดกลัวการขยายตัวของอิสลาม เขาต่อต้านความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างรุนแรง ต้องการเนรเทศมุสลิมทั้งหมดจากยุโรป และได้เขียนคำประกาศว่าเขาก่อเหตุนี้เพื่อป่าวประกาศเจตนาของเขา
  • อีกแรงบันดาลใจหนึ่งมาจากกลุ่มติดอาวุธชาวเซอร์เบียที่เรียกว่าเช็ตนิก (Chetnik) ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเซอร์เบียในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มุสลิมในบอสเนีย ทั้งนี้ในรายงานข่าวบอกว่าระหว่างเตรียมเข้าก่อเหตุในมัสยิดดังกล่าว ทาร์แรนต์ได้เปิดเพลง From Bihac to Petrovac Village ซึ่งเป็นเพลงที่ทหารเซิร์บมักจะเปิดฟังในรถบรรทุกขณะมุ่งหน้าไปยังพื้นที่เป้าหมายเพื่อฆ่าสังหารหมู่ชาวมุสลิมในสงครามบอสเนียระหว่างปี 1992-1995
  • จุดเปลี่ยนหนึ่งที่ทำให้ทาร์แรนต์หันมานิยมความรุนแรง เพราะความผิดหวังที่ มารีน เลอแปง หัวหน้าพรรคการเมืองขวาจัดของฝรั่งเศส แพ้การเลือกตั้งเมื่อปี 2017
  • ความแค้นจากเหตุก่อการร้ายที่เมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2016 เพราะในรูปบนทวิตเตอร์ของทาร์แรนต์โชว์ภาพเหยื่อของเหตุการณ์ดังกล่าว
  • แต่จุดที่ทำให้ทาร์แรนต์ตัดสินใจก่อเหตุโจมตีครั้งนี้จริงๆ มาจากเหตุการณ์ที่คนร้ายขับรถบรรทุกพุ่งชนผู้คนในกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เมื่อปี 2017 ซึ่งทำให้เด็กหญิงสวีเดน วัย 11 ปี เสียชีวิต โดยผู้ก่อเหตุในครั้งนั้นเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายชาวอุซเบกิสถาน
  • มือก่อเหตุระบุว่าเขาสนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และยกให้ทรัมป์เป็นสัญลักษณ์ของการฟื้นคืนตัวตนของคนขาว
  • บนกระเป๋าใบหนึ่งของมือก่อเหตุปรากฏสัญลักษณ์ Black Sun ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของพวกนาซีใหม่

 

นอกจากนี้ยังปรากฏหลายข้อความบนอาวุธหรืออุปกรณ์ก่อเหตุที่บ่งชี้ถึงการสรรเสริญชื่อบุคคลหรือชื่นชมการก่อเหตุรุนแรงต่อชาวมุสลิม หรือการต่อสู้กับอาณาจักรอิสลามในอดีต เช่น ปรากฏชื่อของ

  • แอนตัน ลุนดิน แพตเตอร์สัน นักศึกษาที่ก่อเหตุสังหารเด็กผู้ลี้ภัยสองคนซึ่งเป็นชาวอิรักและโซมาเลียในสวีเดนเมื่อปี 2015
  • อเล็กซานเดอร์ บิสสันเนตต์ มือก่อเหตุโจมตีมัสยิดในแคนาดา ปี 2017 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย
  • สแกนเดอร์เบิร์ก ผู้นำอัลบาเนียที่ก่อจลาจลต่อสู้กับอาณาจักรออตโตมัน
  • อันโตนิโอ บรากาดิน ทหารเวนิสที่ละเมิดข้อตกลงและฆ่าเชลยศึกชาวตุรกี
  • ชาร์ลส์ มาร์แตล ผู้นำทหารของฝรั่งเศสที่สามารถชนะมุสลิมในสงครามตูรส์ ที่อันดาลุส
  • ในปี 1683 กรุงเวียนนาถูกอาณาจักรออตโตมันปิดล้อมเป็นครั้งที่ 2

 

น่าสังเกตว่าทาร์แรนต์ที่อายุเพียง 28 ปี แต่มีความเกลียดกลัวอิสลามอย่างมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะกระแส Islamophobia และการก่อการร้ายที่ถูกฉายภาพให้เชื่อมโยงกับมุสลิมอย่างเหมารวม อีกทั้งยังมีพรรคการเมืองฝ่ายขวาที่ปลุกกระแสต่อต้านอิสลามเป็นเครื่องมือทางการเมือง อย่างกรณีของออสเตรเลียซึ่งเป็นบ้านเกิดของทาร์แรนต์ มีกลุ่มต่อต้านอิสลามที่เรียกตัวเองว่า Reclaim Australia หรือทวงคืนออสเตรเลีย ซึ่งเป็นกลุ่มชาตินิยมขวาจัดและมีแนวคิดแบบนาซีใหม่ นอกจากต่อต้านอิสลามในหลายรูปแบบอย่างเป็นระบบแล้วยังเรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลียใช้มาตรการห้ามมุสลิมเข้าประเทศตามนโยบายของทรัมป์ กลุ่มนี้เคยจัดชุมนุมในซิดนีย์เพื่อแสดงการสนับสนุนทรัมป์อีกด้วย

 

ทาร์แรนต์มีแนวคิดและเป้าหมายที่สอดคล้องกับกลุ่ม Reclaim Australia มากทั้งในแง่ของชาตินิยมและความเป็นนีโอนาซี แต่ที่เป็นจุดร่วมสำคัญคือการมองการขยายตัวของประชากรมุสลิมเป็นภัยคุกคามต่ออัตลักษณ์ของสังคมออสเตรเลีย กลุ่มนี้จึงใช้ชื่อว่ากลุ่มทวงคืนออสเตรเลีย ซึ่งหากดูในคำประกาศของทาร์แรนต์ต่อการก่อเหตุครั้งนี้ เขาระบุว่าเป็นไปเพี่อ “แสดงให้ผู้รุกราน (มุสลิม) เห็นว่าดินแดนของเราจะไม่มีทางตกเป็นของพวกเขา บ้านของเราก็คือบ้านของเราอยู่วันยังค่ำ และตราบใดที่คนขาวยังมีชีวิตอยู่ พวกเขาจะไม่มีทางที่จะพิชิตดินแดนของเรา และจะไม่มีทางมาแทนที่คนของเราได้… การโจมตีในนิวซีแลนด์ครั้งนี้จะทำให้โลกหันมาสนใจความจริงที่ว่าอารยธรรมของเรากำลังถูกจู่โจม ไม่มีที่ไหนปลอดภัยอีกแล้วในโลกนี้ เพราะมีผู้รุกรานอยู่ทุกหนทุกแห่งในดินแดนของเรา แม้แต่ในพื้นที่ห่างไกลของโลก ไปไหนก็ไม่พ้นต้องเจอกับมวลมหาผู้อพยพจำนวนมาก”

 

Islamophobia

 

Islamophobia กับความคลั่งชาติของกลุ่มขวาจัด จากสหรัฐฯ ถึงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

จากเหตุการณ์โจมตีมัสยิดในไครสต์เชิร์ชและเบื้องหลังแรงจูงใจของผู้ก่อเหตุอาจจะนำมาเทียบเคียงกับบางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาได้ แม้ระดับของความรุนแรงและการแสดงออกในแง่ของพฤติกรรมการต่อต้านอิสลามจะไม่เท่ากันก็ตาม แต่ก็ชี้ให้เห็นว่ามีแรงขับมาจากความเกลียดกลัวมุสลิมผสมกับความรู้สึกชาตินิยมสุดโต่งเหมือนกัน เช่น กรณีที่มีชายหนุ่มอเมริกันคลุ้มคลั่งผู้หนึ่งระเบิดอารมณ์ใส่ครอบครัวชาวมุสลิมที่กำลังพักผ่อนหย่อนใจอยู่บริเวณชายหาดแห่งหนึ่งในรัฐเท็กซัส เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ปี 2017 ชายคนนี้ทั้งตีอกชกตัวและเอามือไปเขย่าอวัยวะเพศของตัวเองพร้อมๆ กับก่นด่าครอบครัวนั้นด้วยความรู้สึกเคียดแค้นชิงชังสุดหัวใจ และพูดตะคอกใส่ว่า “โดนัลด์ ทรัมป์ จะหยุดพวกแก… ไอซิสไม่ได้มีความหมายอะไรกับข้าเลย… กฎหมายชารีอะห์ของแกมันแย่… และจะไม่สามารถหยุดยั้งความเป็นคริสเตียนของข้าได้หรอก… ประเทศของข้ายิ่งใหญ่ที่สุดในโลก แล้วจะยิ่งใหญ่อย่างนี้ตลอดไป” (ขณะที่พูดประโยคนี้เขาตีอกตัวเองอย่างแรงด้วยกำปั้นทั้งสองข้างและตะโกนสุดเสียงด้วยสีหน้าเคร่งเครียด)

 

จากเหตุการณ์นี้ หากมองผิวเผินก็อาจจะเป็นเพียงแค่ชายคลุ้มคลั่งที่ระเบิดอารมณ์ความเกลียดชังตามกระแส Islamophobia ทั่วไป แต่หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าชายอเมริกันคนนี้และสังคมส่วนหนึ่งคือเหยื่อสงครามจิตวิทยาของผู้ก่อการร้ายและนักการเมืองชาตินิยมขวาจัดที่ขายความหวาดกลัวมาอย่างต่อเนื่อง ชายคนนี้เป็นภาพสะท้อนของผลผลิตที่ชัดเจนที่สุดของสังคมการเมืองอเมริกันในยุคของทรัมป์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชาตินิยม การเหยียดเชื้อชาติและศาสนา การเหมารวมกลุ่มก่อการร้ายกับมุสลิมทั่วไป คำถามสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าเขาเป็นอะไร แต่อยู่ที่ว่า ‘ใครหรืออะไรทำให้เขาเป็นแบบนี้’ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าทรัมป์คือส่วนหนึ่งในการกระตุ้นสังคมอเมริกันให้เป็นไปในทิศทางเช่นนี้ โดยการเชื่อมโยงอิสลามกับการก่อการร้ายและมองมุสลิมอย่างหวาดระแวง โดยเฉพาะมาตรการห้ามมุสลิมเข้าประเทศของเขา

 

หลายครั้งที่ทรัมป์ใช้วาทกรรมสร้างความเกลียดชังที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของศาสนาอิสลาม เช่น คำพูดว่า อิสลามเกลียดเรา (Islam hates us) หรืออิสลามหัวรุนแรง (Radical Islam) ในระหว่างหาเสียง เขาใช้ประเด็นเหล่านี้สร้างความหวาดกลัวและชี้ให้เห็นถึงภัยคุกคามของการก่อการร้ายที่เขามองว่าเชื่อมโยงกับคำสอนของอิสลาม ทรัมป์ยังใช้ประเด็นนี้โจมตี บารัก โอบามา ว่าไม่เคยใช้คำว่า ‘Radical Islam’ เลย ทั้งๆ ที่เป็นภัยคุกคามที่แท้จริงของชาติ ทรัมป์กล่าวว่า “คำสอนของอิสลามที่รุนแรงหลายอย่างไม่สอดคล้องกับค่านิยมของตะวันตกและสถาบันต่างๆ อิสลามหัวรุนแรงต่อต้านผู้หญิง ต่อต้านเกย์ ต่อต้านอเมริกัน ถ้าเราต้องการรักษาคุณภาพชีวิตให้กับคนอเมริกันทั้งหมด ยิว คริสเตียน และคนทั่วไป เราจำเป็นต้องบอกความจริงเกี่ยวกับอิสลามหัวรุนแรง” จะเห็นได้ว่ากระแส Islamophobia ถูกนำมาใช้เป็นประเด็นการเมืองเพื่อการหาเสียงด้วย

 

จอร์น เอสโปสิโต นักวิจัยโครงการศึกษาโรคเกลียดกลัวอิสลามและผู้เชี่ยวชาญด้านโลกมุสลิม กล่าวว่าอาชญากรรมจากความเกลียดชังได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง …อาชญากรรมบางส่วนเป็นการก่อเหตุโดยมีแรงบันดาลใจมาจากทรัมป์ ทั้งนี้จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง ปรากฏว่ามีอาชญากรรมจากความเกลียดชังต่อชาวมุสลิมเพิ่มสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กรณีการเผามัสยิดในรัฐเท็กซัส การยิงอิหม่ามเชื้อสายบังกลาเทศในนครนิวยอร์ก เหตุวางเพลิงศูนย์อิสลามวิกตอเรียซึ่งเป็นมัสยิดแห่งเดียวในเมืองเท็กซัส อีกทั้งยังมีการแสดงออกในรูปแบบอื่นๆ เช่น การทำร้ายร่างกาย ด่าทอ หรือแสดงท่าทีคุกคามด้วยถ้อยคำที่แสดงความเกลียดชังและเหยียดเชื้อชาติศาสนา

 

ปัจจุบันกระแส Islamophobia ลุกลามและหนักขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่อเมริกันชนบางกลุ่ม มีการเหยียดเชื้อชาติ ศาสนา เลือกปฏิบัติ และกีดกันทางสังคมมากยิ่งขึ้น มีการทำร้ายร่างกายคนมุสลิมจากอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังหลายคดี โดยเฉพาะต่อสตรีมุสลิม เพราะสังเกตได้ชัดจากการแต่งกาย คนอเมริกันจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่าสังคมอเมริกันเริ่มไม่ปลอดภัยแล้วสำหรับคนมุสลิมจึงเริ่มออกมาแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพวกเขาโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติและศาสนา เห็นได้ในหลายกรณีที่มีการรวมกลุ่มกันเพื่อประกาศเจตนารมณ์ยืนเคียงข้างชาวมุสลิม รวมทั้งดูแลความปลอดภัยให้ด้วย

 

อีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้นที่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2017 ริกกี้ เบสต์ อดีตทหารผ่านศึกและเพื่อนของเขา ทาลีซิน มีซ เข้าช่วยเหลือหญิงวัยรุ่นมุสลิมสองคนที่กำลังถูก เจเรมี คริสเตียน ด่าทอและข่มขู่ให้ลงจากรถไฟซึ่งจอดเทียบสถานีฮอลลีวูดทรานซิต คริสเตียนตะโกนเสียงดังว่า “มุสลิมทุกคนต้องตาย” พร้อมกับใช้มีดข่มขู่หญิงมุสลิมดังกล่าว แต่พลเมืองดีทั้งสองคนพยายามเข้าช่วยเหลือจนถูกคริสเตียนใช้มีดกระหน่ำแทงอย่างบ้าคลั่ง รายหนึ่งเสียชีวิตคาที่ อีกรายเสียชีวิตที่โรงพยาบาล เหตุการณ์นี้ทำให้เราเห็นอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังและน้ำใจของวีรบุรุษชาวคริสเตียนที่ต่อต้านการเหยียดศาสนา กรณีนี้ถือเป็นอาชญากรรมที่สะเทือนขวัญมาก โดยสภาส่งเสริมความสัมพันธ์อเมริกันได้เรียกร้องให้ทรัมป์แถลงต่อต้านแนวโน้มการเกลียดกลัวอิสลามที่กำลังเพิ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากตัวเขาเองมีส่วนแผ่ขยายความเกลียดชังให้รุนแรงขึ้นด้วยการใช้คำพูดและนโยบายต่อต้านอิสลามในด้านต่างๆ

 

มาตรการแบนกลุ่มประเทศมุสลิมของทรัมป์ยิ่งกระตุ้นให้กลุ่มชาตินิยมขวาจัดทั่วโลกที่ต่อต้านคนต่างชาติหรือต่อต้านมุสลิมรู้สึกมั่นใจ มีความชอบธรรม และเดินหน้าแสดงการต่อต้านในรูปแบบต่างๆ อย่างเปิดเผย เช่น เหตุกราดยิงชาวมุสลิมขณะทำการละหมาดอยู่ที่มัสยิดแห่งหนึ่งในเมืองควิเบก ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2017 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 คน บาดเจ็บอีกจำนวนมาก ผู้ก่อเหตุเป็นนักศึกษาลูกครึ่งแคนาดา-ฝรั่งเศสที่มีความคิดชาตินิยมสุดโต่ง ชื่นชมทรัมป์และมารีน เลอแปง

 

แม้เหตุการณ์ 9/11 จะไม่ใช่จุดเริ่มต้นของกระแส Islamophobia หรือโรคเกลียดกลัวอิสลาม เพราะก่อนหน้านั้นตั้งแต่ยุคสงครามเย็นและหลังสงครามเย็น วาทกรรมมุสลิมสุดโต่ง อิสลามหัวรุนแรง ขบวนการติดอาวุธมุสลิม ฯลฯ ก็ถูกนำเสนอในสื่อตะวันตกมาก่อนแล้ว แต่วินาศกรรม 9/11 ได้จุดกระแสต่อต้านมุสลิมรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น ในออสเตรเลียก็เช่นกัน พบว่ามีการขยายตัวของกระแส Islamophobia และฝ่ายชาตินิยมขวาจัดมากขึ้นเรื่อยๆ มีลักษณะของการต่อต้านอิสลามในรูปแบบต่างๆ มีกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านมุสลิมอย่างเป็นระบบ เช่น กลุ่ม Reclaim Australia และกลุ่ม Q Society ทั้งต่อต้านผู้อพยพ ต่อต้านกฎหมายอิสลาม ต่อต้านการรับรองเครื่องหมายฮาลาล ต่อต้านการคลุมฮิญาบ ชื่นชมทรัมป์ และเรียกร้องให้รัฐบาลใช้มาตรการห้ามมุสลิมเข้าประเทศเหมือนสหรัฐอเมริกา ฯลฯ

 

เชื่อกันว่านับตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 ชาวมุสลิมในออสเตรเลียได้รับผลกระทบมาก โดยเฉพาะการถูกมองแบบแปลกแยกและเป็นคนอื่นในสังคมของตัวเอง (Otherness) ถูกสร้างภาพลักษณ์ในเชิงลบ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคนส่วนใหญ่จะมีอคติต่อมุสลิม ในขณะเดียวกันกลุ่มคนที่ต่อต้านอิสลามก็มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ในปี 2011 มีการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ พบว่าคนออสเตรเลีย 48.6% มีทัศนคติเชิงลบต่ออิสลาม ต่อมาในปี 2014 ปรากฏว่า 1 ใน 4 ของคนออสเตรเลียมีความคิดต่อต้านมุสลิม อีกทั้งในผลสำรวจยังพบว่าชาวมุสลิม 27% เคยถูกเลือกปฏิบัติ

 

ตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับความคิดเห็นคนอเมริกันที่พบจากผลข้อมูลการสำรวจของสำนักข่าว ABC ในเดือนตุลาคม ปี 2001 ว่ามีคนอเมริกัน 47% เท่านั้นที่มองอิสลามในแง่ดี จากนั้นในปี 2010 ก็ลดลงเหลือ 37% และลดลงเรื่อยๆ จนเหลือ 27% ในปี 2014 อาจเป็นเพราะการปรากฏตัวขึ้นมาของกลุ่มไอเอสในตะวันออกกลางและการขยายแนวร่วมในอเมริกาและยุโรป ประกอบกับกระแสเกลียดกลัวสะสมและปัญหาการมองแบบเหมารวมว่าการกระทำของกลุ่มก่อการร้ายคือภาพสะท้อนแนวทางของอิสลาม

 

Islamophobia

 

ทาร์แรนต์ มือก่อเหตุเป็นคนออสเตรเลีย ก็น่าจะได้รับอิทธิพลการกล่อมเกลาภายใต้กระแส Islamophobia และแนวคิดชาตินิยมขวาจัด แต่น่าสนใจว่าเลือกที่จะก่อเหตุที่นิวซีแลนด์ ซึ่งเดิมทีไม่ได้เป็นพื้นที่เป้าหมายของเขาเลย แต่ที่เลือกนิวซีแลนด์เพราะต้องการทำให้เห็นว่าไม่มีพื้นที่ปลอดภัยในโลก การเดินทางไปนิวซีแลนด์และก่อเหตุที่นี่เพื่อสื่อข้อความดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่ามือก่อเหตุพิจารณาแล้วว่าที่แห่งนี้มีความสงบสุข ปลอดภัย และมีการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ชุมชนมุสลิมก็ดำรงอยู่ร่วมกับศาสนิกชนอื่นๆ อย่างปกติสุขและมีประชากรมากขึ้น ซึ่งในสังคมนิวซีแลนด์มองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ความเกลียดแค้นต่อต้านอิสลามในตัวของทาร์แรนต์อาจรับไม่ได้กับการดำรงอยู่ของสังคมแบบนี้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงเลือกก่อเหตุที่ไครสต์เชิร์ช ไม่ใช่ที่ออสเตรเลีย (เพราะออสเตรเลียมีกระแสต่อต้านอิสลามอยู่แล้ว) และมองว่าการฆ่าคนที่แตกต่างเป็นความชอบธรรมในการปกป้องอารยธรรมหรือชาติพันธุ์ของตน

 

องค์ประกอบของเหตุการณ์ทั้งการก่อเหตุและข้อความที่ต้องการสื่อออกมานั้นก็เพื่อส่งต่ออิทธิพลทางความคิดของเขาไปยังกลุ่มชาตินิยมขวาจัดและกลุ่มต่อต้านอิสลาม เป็นการโปรยเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังไปทั่วโลก ทำให้เกิดการแบ่งแยกทางสังคมเป็นพวกเขา พวกเรา ผิวขาว ผิวสี ฯลฯ ที่อาจเรียกว่าเป็น ‘การแบ่งแยกแล้วปลุกปั่น’ (Divide and Provoke) ซึ่งหวังให้ความกลัวจับมือกับความเกลียดชังร่วมกันก่อการร้ายในนามของความรักชาติ อันเป็นวิธีการเดียวกับที่กลุ่มก่อการร้ายอย่างไอเอสใช้มาโดยตลอด ผลผลิตสุดท้ายของมันจึงจบที่การฆ่าผู้บริสุทธิ์เหมือนกัน

 

Islamophobia

 

ถอดบทเรียนความหวาดกลัว เกลียดชัง และการแบ่งแยกทางสังคม

ครั้งหนึ่ง แพทริก เจ. เคนเนดี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาจากพรรคเดโมแครต เคยกล่าวไว้ว่า “การก่อการร้ายคือสงครามจิตวิทยาแบบหนึ่งที่ผู้ก่อการร้ายพยายามที่จะปลุกปั่นให้พวกเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผ่านการสร้างความหวาดกลัว ความไม่แน่นอนในชีวิต และการแบ่งแยกทางสังคม” ทั้งนี้ไม่ว่าการก่อเหตุของทาร์แรนต์จะเป็นผลมาจากสงครามจิตวิทยาของผู้ก่อการร้าย หรือจะเป็นผลจากการถูกใช้เป็นเครื่องมือของนักการเมืองขวาจัดอย่างทรัมป์หรือเลอแปงที่ขายความหวาดกลัว แต่ที่สำคัญคือมันทำให้เกิดการแบ่งแยกทางสังคม และนำไปสู่การใช้ความรุนแรงอย่างไร้ขีดจำกัด ดังนั้นสังคมควรตระหนักถึงภัยของการก่อการร้าย ไม่เฉพาะที่สร้างความสูญเสียทางกายภาพเท่านั้น แต่ต้องรู้ทันภัยของสงครามจิตวิทยาที่แฝงมาด้วย อีกด้านหนึ่งในสังคมที่ประกอบไปด้วยความหลากหลายนั้นจำเป็นอย่างมากที่จะต้องเฝ้าระวังแนวคิดชาตินิยมขวาจัดที่จะสร้างความเกลียดชังและการแบ่งแยกทางสังคม

 

โนม ชอมสกี นักวิชาการชื่อดังชาวอเมริกัน ได้พูดถึงประเด็นนี้ไว้อย่างน่าคิดว่า “ทุกคนเป็นกังวลว่าจะหยุดการก่อการร้ายได้อย่างไร อันที่จริงมันง่ายนิดเดียว แค่หยุดมีส่วนร่วมกับมัน” ซึ่งสอดคล้องกับความคิดของแพทริก เจ. เคนเนดี เรื่องก่อการร้ายกับสงครามจิตวิทยา เพราะถ้าสังคมหรือกลุ่มบุคคลมีแนวคิดแบ่งแยก สร้างความเกลียดชังระหว่างกันในสังคม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่มีแนวคิดทางศาสนาแบบสุดโต่งหรือกลุ่มชาตินิยมขวาจัดที่ต่อต้านอิสลามก็ถือว่ามีส่วนร่วมกับการก่อการร้ายแล้วตามแนวคิดของทั้งสองคนนี้ เพราะท้ายที่สุดจะผลักให้คนจำนวนหนึ่งจากทั้งสองสะสมความเคียดแค้นเกลียดชังอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะมีเหตุมาจากการถูกเหยียดหยาม ถูกเลือกปฏิบัติ ถูกทำร้าย หรือมีความรู้สึกว่าถูกรุกรานทางอารยธรรมก็ตาม จนกระทั่งนำไปสู่การใช้ความรุนแรงหรือเข้าร่วมขบวนการต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อสังคม ทาร์แรนต์ มือก่อเหตุครั้งนี้ก็ถือเป็นเหยื่อของความเกลียดชังและความหวาดกลัวเช่นกัน

 

อีกประการสำคัญที่ควรเรียนรู้จากเหตุการณ์นี้คือการสร้างมาตรฐานความเข้าใจกับคำว่า ‘ก่อการร้าย’ ทั้งนี้เพราะจากเหตุการณ์โจมตีมัสยิด 2 แห่งที่ไครสต์เชิร์ช ทั้งลักษณะของการก่อเหตุ แรงจูงใจ และเป้าหมายที่ต้องการสร้างความหวาดกลัวในวงกว้างนั้น ไม่ว่าจะกางตำราความมั่นคงเล่มไหนหรือนิยามของนักวิชาการหรือหน่วยงานความมั่นคงของที่ใดก็จะพบว่าเป็น ‘การก่อการร้าย’ ชัดเจน ซึ่งผู้นำบางประเทศหรือสื่อบางแห่งก็เรียกเหตุการณ์นี้ว่าเป็นการก่อการร้าย บางคนเรียกว่าเป็นการก่อการร้ายของฝ่ายขวาสุดโต่ง แต่ก็ยังมีผู้นำหลายประเทศโดยเฉพาะทรัมป์ที่ไม่ได้เรียกเหตุการณ์นี้ว่าเป็นการก่อการร้าย และที่ผ่านๆ มาก็จะพยายามไม่เรียกความรุนแรงที่ก่อโดยคนขาวและพวกขวาสุดโต่งว่าเป็นการก่อการร้าย แต่จะเรียกเป็นอื่น เช่น ความรุนแรงจากความเกลียดชัง การกราดยิง การสังหารหมู่ ฯลฯ

 

สื่อระดับโลกหลายสำนักยังไม่กล้าใช้คำว่าก่อการร้ายเช่นกัน เพราะจะคุ้นชินกับการใช้คำนี้เมื่อผู้ก่อเหตุเป็นขบวนการมุสลิมหรือมีพฤติการณ์สนับสนุนกลุ่มติดอาวุธ หรือแม้แต่การก่อเหตุตามลำพังที่เรียกว่า ‘หมาป่าเดียวดาย’ (Lone Wolf) ซึ่งเป็นศัพท์ทางความมั่นคง แต่หากเป็นมุสลิมในยุโรปหรืออเมริกาเป็นผู้ก่อเหตุมักจะถูกเรียกว่า ‘การก่อการร้ายโลนวูล์ฟ’ หรือ Lone Wolf Terror Attack โดยสรุปว่าเป็น Sleeper cells หรือเซลล์ที่หลับใหลของกลุ่มก่อการร้าย การไม่เรียกเหตุก่อการร้ายตามพฤติการณ์ของมัน แต่เรียกแบบเจาะจงเฉพาะกลุ่มคนนั้น นอกจากผิดหลักวิชาการและการทำความเข้าใจปรากฏการณ์การก่อการร้ายแล้ว ยังก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางความรู้สึกแบบสองมาตรฐานอันจะทำให้เกิดความขุ่นเคืองหรือสร้างความไม่พอใจให้สังคมบางส่วนที่มองว่าไม่เป็นธรรม และอาจกลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่พัฒนาไปสู่ความรุนแรงหรือถูกนำไปขยายผลโดยกลุ่มที่มีแนวคิดสุดโต่ง

 

อาจกล่าวได้ว่ากระแส Islamophobia เป็นเสมือนยาพิษทางความคิดที่กำลังขยายตัวไปทั่ว ในขณะเดียวกันมันก็เป็นกับดักทางอารมณ์สำหรับคนมุสลิมที่ตอบโต้ด้วยความรุนแรง ดังนั้นข้อเสนอของ ศ.จรัญ มะลูลีม แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าการแก้ปัญหาเกี่ยวกับกระแส Islamophobia สามารถทำได้ด้วยการเรียนรู้ระหว่างกันของคนมุสลิมกับคนที่ไม่ใช่มุสลิมเพื่อลบเลือนความหวาดระแวง จะได้ไม่มีการแบ่งแยกระหว่าง ‘พวกเขา’ และ ‘พวกเรา’ ด้วย ‘ความกลัว’ ที่ก่อกลายเป็น ‘ความเกลียดชัง’ จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X