×

มีอะไรดีที่อีสาน: ชวนมา ‘ติง ลิ่ง ติง’ วิเคราะห์เชื่อมโยงทุกสรรพสิ่ง กับผู้จัดงานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์

04.03.2022
  • LOADING...
Isan Creative Festival

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • เข้าใจแนวคิด ‘ติง ลิ่ง ติง’ (Think Link Things) ของงาน Isan Creative Festival 2022 ว่าสามารถเติมใส่ความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดสินทรัพย์ดั้งเดิมของถิ่นอีสาน เพื่อช่วยพัฒนายกระดับงานและอาชีพ ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ใน 3 อุตสาหกรรมหลักที่โดดเด่นของอีสานได้อย่างไร 
  • ภูมิปัญญาในการหมักดอง คือสินทรัพย์ที่โดดเด่นของอุตสาหกรรมอาหารในอีสาน ซึ่งเอามาต่อยอดสร้างรสชาติและโปรดักต์ใหม่ๆ ได้มากมาย ส่วนในด้านอุตสาหกรรมบันเทิงนั้น อีสานเป็นฮับของ ‘หมอลำ’ ที่ต่อยอดเป็น Soft Power ได้ เช่นเดียวกับงานคราฟต์สิ่งทอที่มีลวดลายของผ้าไหมมัดหมี่ เติมใส่เทคโนโลยีและความสร้างสรรค์ได้ไม่รู้จบ 

เทศกาลอีสานสร้างสรรค์หรือ Isan Creative Festival จัดต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 2 และในปีล่าสุด 2022 นี้กำลังจะเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายแล้ว จากกิจกรรมต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้นภายในเทศกาลนี้ เราพบว่ามีหลายอย่างที่นอกจากจะสนุกแล้วยังน่าสนใจมาก และเพื่อที่จะเข้าใจแนวคิดและความสำคัญของการจัดงานนี้กันให้ลึกซึ้งขึ้น รวมถึงใครหลายคนจะได้ชมงานนี้กันให้สนุกและได้ประโยชน์มากขึ้น THE STANDARD POP จึงขออาสาพาไปคุยกับบุคคลผู้มีส่วนสำคัญในการจัดงานนี้ขึ้นมา นั่นคือ ชุตยาเวศ สินธุพันธุ์’ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขอนแก่น และจากการคุยกับเขาเราพบว่า ‘อีสานมีอะไรดีอยู่เยอะมาก และในยามนี้ถิ่นอีสานก็กำลังพัฒนาไปอย่างมีสีสันน่าตื่นเต้นสุดๆ’

 

Isan Creative Festival

ชุตยาเวศ สินธุพันธุ์’ 

ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขอนแก่น

 

TSD POP: เทศกาลอีสานสร้างสรรค์คืออะไร ทำไมต้องจัด ความสำคัญของงานนี้อยู่ที่ตรงไหน

ชุตยาเวศ: เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ หรือ Isan Creative Festival จัดโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA (Creative Economy Agency) เทศกาลนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘เทศกาลงานออกแบบฯ’ หรือที่เรียกว่า ‘Design Week’ หรือ ‘Design Festival’ ที่ถูกจัดขึ้นตามเมืองใหญ่ต่างๆ กว่า 150 ประเทศทั่วโลก CEA เราจัดงานเทศกาล Chiang Mai Design Week ขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทยเมื่อประมาณ 7-8 ปีที่แล้ว ตามมาด้วย Bangkok Design Week แล้วจึงจัดที่อีสานเมื่อปีที่ผ่านมา สาเหตุที่ไม่ใช้ชื่อ Khonkean Design Week ตามชื่อเมืองที่จัด เพราะว่าคนทำงานสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพและเข้าร่วมในงานนี้กระจายกันอยู่ทั่วทั้งภาคอีสาน ด้วยความที่มีลักษณะ Decentralized ที่ไม่ได้รวมศูนย์ ถ้าจะใช้ชื่อเมืองก็คงไม่เหมาะนัก จึงคิดว่าชื่อ Isan Creative Festival น่าจะเหมาะกว่าครับ การจัดงานในลักษณะเช่นนี้ก็เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของ CEA ด้วยการยกระดับผู้ประกอบการและสนับสนุนบุคลากรสร้างสรรค์ ให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่าย ภูมิปัญญา วัฒนธรรม และภาคการผลิต ซึ่งเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ CEA เราพยายามที่จะพัฒนาผู้ประกอบการ เพื่อที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถนำความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ไปประกอบวิชาชีพทำมาหากินได้จริงครับ

 

สำหรับความสำคัญของการจัดงานนี้นั้นก็เป็นเรื่องของการส่งเสริมเศรษฐกิจ ซึ่งเรามองว่าจริงๆ แล้วตลาด ณ ปัจจุบัน ตลาดอนุรักษนิยมหรือประเพณีนิยมนั้นเริ่มลดลง ในขณะเดียวกันตลาดที่กำลังเป็นที่ต้องการก็คือตลาด Young Maket ที่เด็กลง เป็นตลาดที่กว้างขึ้นและมีความต้องการที่จะแหวกแนวจากวิถีเดิมๆ แต่สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับอีสานในแง่ของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็คือความคิดเชิงอนุรักษ์ประเพณีนิยม ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการถักทอผ้าไหม การทำงานคราฟต์ หรือแม้กระทั่งงานเชิงสถาปัตยกรรมต่างๆ นั้นมีวิถีแนวอนุรักษ์อยู่พอสมควร สิ่งที่ CEA พยายามนำเสนอในเทศกาลนี้ก็คือการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการหลายๆ ส่วนตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ว่าอย่างผ้าไหมเนี่ย ทำอย่างไรคนรุ่นใหม่จึงจะสวมใส่ผ้าทออีสาน ไปจนถึงเรื่องอุตสาหกรรมบันเทิงหรืออาหาร ว่าจะต้องมีการใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปอย่างไร เพื่อต่อยอดกับสินทรัพย์เดิมที่มี

 

TSD POP: เนื้อหาของเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ครอบคลุมถึงอะไรบ้าง

ชุตยาเวศ: เราโฟกัสกับ 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมบันเทิง 2. อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม แล้วก็ 3. อุตสาหกรรมจักสานและงานฝีมือ ซึ่งเรามองว่าอีสานมีความโดดเด่นมากใน 3 อุตสาหกรรมดังกล่าว โดยมีโจทย์ใหญ่ว่า ทำอย่างไรให้ 3 อุตสาหกรรมหลักนี้สามารถกลายเป็นเครื่องมือในการทำมาหากินของผู้ประกอบการต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบหรือนักลงทุน ธีมของเทศกาลนี้จึงอยู่ที่การ ‘Think Link Things: วิเคราะห์เชื่อมโยงทุกสรรพสิ่ง’ ซึ่งเราเชื่อว่าจริงๆ แล้วความคิดสร้างสรรค์นั้นมีอยู่ในตัวของทุกคนอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรผู้คนจึงจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ออกมาเป็นเครื่องมือทำมาหากินออกมาได้ 

 

คำตอบก็คือ สิ่งที่สำคัญที่สุดนั่นคือการสร้างเครือข่าย ซึ่งไม่ใช่เครือข่ายแบบเดิมๆ ที่เคยมีมา แต่ต้องเป็นเครือข่ายแบบองค์รวมที่เกิดขึ้นจากการที่คุณต้องเข้าใจทั้งตัวคุณเอง ทั้งบริบทด้านสังคม เทคโนโลยี ตลาด ฯลฯ เพื่อให้เกิดการทำงานเชื่อมโยงในลักษณะที่เป็น Cross Professional หมายถึงการทำงานร่วมกันระหว่างสองสิ่งที่อาจจะไม่ได้คิดมาก่อนเลยว่ามันสามารถอยู่ร่วมกันได้ เช่น แม่เฒ่านักทอผ้ามัดหมี่ชั้นครู กับนักพัฒนาธุรกิจผู้สนใจด้าน NFT (Non-Fungible Token) เมื่อคนสองกลุ่มที่เขาแทบจะไม่มีความสนใจร่วมกันกันมาก่อนเลยได้มาเจอกัน ก็อาจจะสามารถทำงานร่วมกันสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ขึ้นมาได้ ซึ่งเราก็จะนำเสนอกันให้เห็นในนิทรรศการ ‘มัดหมี่ NFT’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลนี้ 

 

Isan Creative Festival

นิทรรศการเล่นแร่แปรผ้า: House of Fabric-Ation

 

นอกจากนี้เรายังมีนิทรรศการอื่นๆ ที่พูดถึงเรื่องงานคราฟต์ของผ้าอีสาน อย่าง นิทรรศการเล่นแร่แปรผ้า (House of Fabric-Ation) ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีผ้า ไม่ว่าจะเป็น 3D Print หรือ Robotic Arm ซึ่งสิ่งที่เราเจอมาโดยตลอดจากคนส่วนใหญ่ก็คือเขามักจะพูดเกี่ยวกับผ้าไหมว่า 1. ใส่ยาก ซักยาก ดูแลยาก 2. ทุกคนจะบอกว่าผ้าไหมเชย นิทรรศการนี้ก็จะมานำเสนอสิ่งทออีสาน ที่รังสรรค์ขึ้นจากการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้ามาผสานเข้ากับการออกแบบ วัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น และอัตลักษณ์ของภูมิภาค เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าทออีสานให้มีรูปแบบร่วมสมัยตามมาตรฐานสากล และอีกหนึ่งกิจกรรมคือ Professional Showcase ในชื่อ ‘Thai Swag: จ๊าบดี’ โชว์เคสผ้าไทย โดยแพรี่พาย อดีตบิวตี้บล็อกเกอร์ชื่อดัง ที่ใช้ผ้ามัดหมี่ผสมผสานกับการแต่งตัวแนวสตรีทออกมาได้อย่างสร้างสรรค์ร่วมสมัย เราก็เลยชวนแพรี่พายมาร่วมคิวเรต (Curate) เพื่อที่จะดูว่าผ้าทออีสานเหล่านี้สามารถมิกซ์แอนด์แมตช์ออกมาอย่างไร แล้วใส่เป็นชุดร่วมสมัย สวมใส่ในชีวิตประจำวันได้

 

Isan Creative Festival

‘Thai Swag: จ๊าบดี’ 

โชว์เคสผ้าไทย โดยแพรี่พาย

 

TSD POP: นอกจากเรื่องผ้าแล้ว อีสานยังมีอะไรโดดเด่นหรือเป็นสินทรัพย์เดิมที่ควรนำมาต่อยอดใส่ความคิดสร้างสรรค์ 

ชุตยาเวศ: อีสานยังมีภูมิปัญญาเดิมที่เป็นสินทรัพย์อยู่ที่สามารถนำไปต่อยอดได้อีกเยอะมากครับ อย่างในเรื่องของอาหาร อีสานทั้งเป็นแหล่งผลิตเนื้อวัวคุณภาพสูงของประเทศ อย่างเนื้อกากิวโคราช หรือเนื้อโพนยางคำของสกลนคร มีเรื่องของภูมิปัญญาการหมักดองที่โดดเด่น อย่างวัฒนธรรมของการเกิดขึ้นของซูชิในอาหารญี่ปุ่น ซึ่งนักประวัติศาสตร์ก็สืบทราบมาแล้วว่า จริงๆ แล้วมันเกิดมาจากการทำปลาส้มของบ้านเรานี่แหละ อย่างหนึ่งในไฮไลต์ของเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ เราก็มีนิทรรศการชื่อ ‘มักหมัก: Isan Flavour Library’ เป็นการทำงานที่เราทำร่วมกับเชฟหนุ่มแห่งร้าน Samuay & Sons ซึ่งเขาสะสมเกี่ยวกับการหมักดองทั้งของไทยและอีสาน และทำแล็บทดลองรสชาติชื่อ หมาน้อยฟู้ดแลปส์ ซึ่งมันก็ลิงก์กับวัฒนธรรมหมักดองของภาคอีสานที่ใช้เกลือสินเธาว์มาตั้งแต่โบราณ หากเราดูจากประวัติศาสตร์ก็จะทราบว่า ที่เขมรสมัยก่อนเขาต้องการขึ้นที่ราบสูงแถบนี้มา ก็เพราะส่วนหนึ่งคือต้องการเกลือสินเธาว์ที่เป็นต้นทางของการหมักดองอีสานมาแต่โบร่ำโบราณ จากแต่ก่อนเราดองด้วยเกลือเพียงอย่างเดียวเพื่อเก็บรักษาให้อาหารอยู่ได้นาน ก็มีการดองเพื่อให้ได้ Flavour รสชาติใหม่ๆ เกิดเป็นโปรดักต์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเหล้าหรืออะไรต่างๆ ซึ่งก็จะได้เห็นจากในนิทรรศการนี้ นอกจากนี้ยังได้มีการจัดงานกิจกรรมทัวร์กิน และ Chef Table ที่ใช้ความสร้างสรรค์ของเชฟในอีสานอีกหลายงานเลยครับ 

 

Isan Creative Festival

มักหมัก: Isan Flavour Library 

ห้องสมุดของหมักดอง

แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์รสชาติและโปรดักต์ใหม่ๆ

 

TSD POP: แล้วในส่วนของอุตสาหกรรมบันเทิงล่ะ มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง

ชุตยาเวศ: ในส่วนของอุตสาหกรรมบันเทิงนั้น อีสานเป็นฮับของดนตรีหมอลำ และปัจจุบันนี้มีคนพูดกันถึงเรื่อง Soft Power กันเยอะมาก เราจะสังเกตได้ว่าตลาดดนตรีให้ความสนใจกับภาษาของดนตรีอีสานมาก ไม่ว่าจะเป็นจากความดังของวง The Paradise Bangkok ที่เปิดตลาดโลกให้ดนตรีอีสาน และปัจจุบันนี้ก็มีนักดนตรีโลกตะวันตกมาฝังตัวอยู่ที่อุบลราชธานีและขอนแก่น เพื่อที่จะเรียนเกี่ยวกับภาษาต่างๆ ของดนตรีหมอลำ ไม่ว่าจะเป็นเสียงพิณ แคน หรือโหวด แต่เอาไปร่วมพัฒนากลายเป็นดนตรีร่วมสมัย มันเป็นวัฒนธรรมที่ถูกเปิดให้เข้าตลาดโลก ซึ่งเราได้มีการใส่เนื้อหาตรงส่วนนี้ลงไปในหลายกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็น One Day Creative Tour เยี่ยมยามบ้านหมอลำ ‘Molam House Hopping’ ที่จะพาทุกคนตระเวนไปเก็บเกี่ยวความสนุกสนานและความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการของหมอลำในยุคสมัยต่างๆ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมอีสานที่สืบทอดมายาวนาน ณ ชุมชนแหล่งกำเนิดหมอลำคณะต่างๆ หรือแทรกอยู่ในงานแสดง แสง สี เสียง Projection Mapping Show: ฉายฮูป หน้าฮ้าน กลางย่านศรีจันทร์ ที่จะฉายภาพกราฟิกเคลื่อนไหว เชื่อมโยงการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์เข้ากับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสาน ซึ่งนอกจากรวมถึงการแสดงหมอลำแล้ว การฉาย Projection Mapping ลงบนตึกของโรงแรมสวัสดี (Sawasdee Hotel) ซึ่งเป็นโรงแรมเก่าที่ปิดให้บริการไปแล้ว และโรงแรมนี้เคยอยู่ในยุครุ่งเรืองของย่านศรีจันทร์ ซึ่งเป็นย่านการค้าเก่า แต่ทุกวันนี้ประสบกับภาวะซบเซา ยังเป็นการบอกเล่าถึงเรื่องราวและความพยายามพลิกฟื้นย่านเก่าที่มีศักยภาพของเมืองขอนแก่นให้คืนลมหายใจขึ้นมาด้วยครับ 

 

Isan Creative Festival

Projection Mapping Show: ฉายฮูป หน้าฮ้าน กลางย่านศรีจันทร์ 

 

TSD POP: ใครที่ควรจะมาชมงานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ และผู้ชมจะได้ประโยชน์อย่างไรกลับไป 

ชุตยาเวศ: ผมคิดว่างานอีสานสร้างสรรค์เป็นงานที่ถูกคิดขึ้นมาให้ผู้ที่มีความสนใจกับวัฒนธรรมอีสานในเชิงลึก งานของเราส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากรากของบริบททางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ แม้ว่าจะไม่ได้นำเสนอในวิถีอนุรักษนิยมก็ตาม แต่จริงๆ แล้วการที่เราจะพัฒนาของบางอย่างขึ้นมาได้เพื่อที่ต่อยอดไปในอนาคตนั้น เราต้องรู้ว่ารากมันมาจากที่ไหน ฉะนั้นจริงๆ แล้วงานนี้ออกแบบขึ้นมาเพื่อที่จะนำเสนออีสานในรูปแบบใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งรากของวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม ผมอยากให้ทุกคนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้เข้ามา เพื่อจะได้รับไอเดียอะไรไปต่อยอดกับงานของตน เจ้าของกิจการ นักลงทุน คนทำงานสร้างสรรค์ ฯลฯ ไม่ว่าใครก็สามารถที่จะเข้ามาชมงานนี้ได้ แล้วทุกคนจะได้เห็นได้ความรู้อะไรใหม่ๆ กลับไปพัฒนางานของตัวเองกันครับ 

 

Isan Creative Festival

 

“งานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์นำเสนออีสานในรูปแบบใหม่ 

แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งรากของวัฒนธรรม 

ไม่ว่าใครก็สามารถที่จะเข้ามาชมงานนี้ได้ 

ทุกคนจะได้เห็นได้ความรู้อะไรใหม่ๆ กลับไปพัฒนางานของตัวเอง”

FYI
  • Isan Creative Festival 2022 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ – 6 มีนาคม 2022 ตลอดทั้ง 10 วันเต็ม ผู้ชมจะได้พบกับทั้งนิทรรศการ ดนตรี ตลาดงานออกแบบ เสวนาเวิร์กช็อป และอื่นๆ อีกมากมาย
  • ตารางกิจกรรม และข้อมูลเพิ่มเติม https://isancreativefestival.com/isancf2022 และ Facebook: Isan Creative Festival 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising