บมจ.ไออาร์พีซี ประกาศผลการดำเนินงานปี 2565 พลิกขาดทุนกว่า 4 พันล้านบาท ลดลงหนัก 130% จากปี 2564 เซ่นพิษราคาน้ำมันโลกปลายปีดิ่งหนักทำขาดทุนสต๊อกน้ำมัน ฉุดงบไตรมาส 4/65 ขาดทุนหนักกว่า 7 พันล้านบาท แต่ยังจ่ายปันผล 0.07 บาทต่อหุ้น
กฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2565 พลิกขาดทุนสุทธิ 4,364 ล้านบาท ลดลง 130% จากปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิ 14,505 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในปี 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปี 2564 ที่ราคาเฉลี่ย 69.24 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาเป็น 96.34 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียกับยูเครน ขณะที่ความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) เป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันดิบลดลงอย่างมากในช่วงปลายปี 2565 ส่งผลให้บริษัทบันทึกขาดทุนสต๊อกน้ำมัน (Net Inventory Loss) รวม 6,348 ล้านบาท หรือ 2.82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ขณะที่มีรายการปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลือให้เท่ามูลค่าสุทธิรับ (NRV) 2,347 ล้านบาท และขาดทุนจากการบริหารความเสี่ยงน้ำมันที่เกิดขึ้นจริง (Realized Oil Hedging) 8,385 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่มี Net Inventory Gain 11,104 ล้านบาท หรือ 4.92 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้บริษัทมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) 17,413 ล้านบาท หรือ 7.75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง 23,279 ล้านบาท หรือ 10.29 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล บริษัทมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานจำนวน 12,813 ล้านบาท ลดลง 6% ส่งผลให้บริษัทกำไรมีกำไรก่อนภาษี, ค่าเสื่อม และดอกเบี้ย (EBITDA) 3,987 ล้านบาท ลดลง 22,974 ล้านบาท หรือ 85%
โดยในปี 2565 บริษัทมีรายได้จากการขายสุทธิ 318,396 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับปี 2564 จากราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 43% ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นมากที่เฉลี่ย 96.34 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากปี 2564 ราคาเฉลี่ยที่ 69.24 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ปริมาณขายลดลง 8% โดยมีอัตราการกลั่นอยู่ที่ 175,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลง 9% จากการหยุดซ่อมบำรุงใหญ่โรงกลั่นตามแผน (Major Turnaround) ในไตรมาส 4/65 ประมาณ 1 เดือน ประกอบกับส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปรับตัวลดลง และต้นทุน Crude Premium สูงขึ้น ส่งผลให้บริษัทมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) จำนวน 23,761 ล้านบาท ลดลง 20%
ขณะที่ผลดำเนินงานช่วงไตรมาส 4/65 นั้น บริษัทมีรายได้จากการขายสุทธิ 55,081 ล้านบาท ลดลง 32,231 ล้านบาท หรือ 37% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/65 เนื่องจากราคาขายเฉลี่ยลดลง 6% และปริมาณขายลดลง 31% เป็นผลจากอัตราการผลิตลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงใหญ่โรงกลั่น โดยราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 2,609 ล้านบาท หรือ 6.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง 42% และมีการบันทึก Net Inventory Loss รวม 6,816 ล้านบาท หรือ 17ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้บริษัทมีผลขาดทุน EBITDA 7,836 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ 7,149 ล้านบาท
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลดำเนินงานประจำปี 2565 ในอัตรา 0.07 บาทต่อหุ้น คิดเป็นเงินประมาณ 1,430 ล้านบาท โดยจะเสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติในวันที่ 5 เมษายน 2566 ต่อไป
ขณะที่ในปี 2565 นับเป็นปีที่ท้าทายอย่างมาก จากสถานการณ์ผันผวนภายนอกหลากหลายด้านพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นความยืดเยื้อของความขัดแย้งและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศ นโยบาย Zero-COVID ในประเทศจีน อัตราเงินเฟ้อทั่วโลก วิกฤตพลังงาน ส่งผลให้ราคาพลังงานและวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก รวมถึงส่วนต่างราคาของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดลงอย่างมาก
สำหรับแนวโน้มธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมีปี 2566 นั้น คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันของโลกจะสูงขึ้นเท่ากับช่วงก่อนการระบาดของโควิด ทั้งนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกา ขณะที่ผู้ผลิตกลุ่ม OPEC และพันธมิตรมีนโยบายปรับลดการผลิตลงเดือนละ 2 ล้านบาร์เรลต่อวันไปถึงสิ้นปี 2566 เพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบ ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมีในปี 2566 คาดว่าความต้องการของตลาดจะเติบโต 1.5-2.0% โดยเฉพาะความต้องการจากจีนตามนโยบายเปิดประเทศ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการลงทุนจากภาครัฐ และส่งเสริมการใช้จ่ายภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยบวกกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยังต้องปรับตัวเตรียมพร้อมกับข้อจำกัดทางการค้าในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยบริษัทตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ลง 20% ภายในปี 2573 จากปีฐาน 2561 และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2603 รวมทั้งตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการขายเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษเป็น 55% ในปี 2573 ตามทิศทางวิสัยทัศน์ของบริษัท เพื่อขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และสร้างคุณค่าสู่สังคมให้ก้าวไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
บทความที่เกี่ยวข้อง
- “นี่เป็นราคาที่เราพึงพอใจทั้ง 2 ฝ่าย” เจ้าของสุกี้ตี๋น้อยกล่าวหลัง Jaymart ควักเงิน 1.2 พันล้านบาทเข้าถือหุ้น 30%
- ADVANC ทุ่ม 32,420 ล้านบาท เข้าซื้อกิจการ 3BB จาก JAS
- กางแผน ‘โอ้กะจู๋’ หลังมี OR เป็นแบ็กอัป เดินหน้าขยายสาขาเพิ่มเป็น 60 แห่ง ขายผักสดและบุก CLMV ก่อน IPO ในปี 2567