×

นักลงทุนเก็งการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำสูงสุดในรอบกว่า 4 ปี หลังเชื่อมั่น Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

30.05.2024
  • LOADING...
ราคาทองคำ

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ราคาทองคำมีการสร้างระดับสูงสุดตลอดกาลครั้งใหม่ที่ 2,450 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมที่สำคัญจากแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังช่วงสายของวันดังกล่าว ตามเวลาประเทศไทย ทางการอิหร่านได้แถลงยืนยันการเสียชีวิตของประธานาธิบดีอิบราฮิม ไรซี ผู้นำอิหร่าน และ ฮอสเซน อามีร์-อับดุลลาเฮียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่าน จากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกในคืนก่อนหน้า ซึ่งนักลงทุนมีความวิตกกังวลถึงแนวโน้มที่เหตุการณ์ดังกล่าวอาจยกระดับความตึงเครียดของสถานการณ์ในตะวันออกกลาง 

 

อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งปัจจัยหนุนของราคาทองคำในช่วงเวลานั้นคือทิศทางการปรับตัวลงของค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจากมุมมองเชิงบวกที่เพิ่มมากขึ้นของนักลงทุนต่อประเด็นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) หลังข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนเมษายนออกมาเพิ่มขึ้นเพียง 0.3% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ชะลอตัวลงกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 0.4% ซึ่งถือว่าออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ครั้งแรกของปี 2024 ขณะที่ CPI พื้นฐาน หรือ Core CPI  แม้ออกมาตามคาดการณ์ แต่ถือเป็นการชะลอตัวลงจากข้อมูลในเดือนก่อนหน้าเช่นกัน 

 

นอกจากนั้นการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือนเมษายนออกมาอยู่ที่ 1.75 แสนราย ต่ำกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน หรือตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2023 บ่งชี้ถึงภาวะตึงตัวที่ลดลงของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ข้อมูลด้านเงินเฟ้อและข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐฯ ที่ออกมาชะลอตัวลงมากกว่าคาดการณ์เช่นนี้ สะท้อนถึงแนวโน้มความคืบหน้าในกระบวนการปรับตัวลงของเงินเฟ้อสหรัฐฯ สนับสนุนให้ Fed สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ภายในปีนี้

 

อย่างไรก็ดี ค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ นั้นมีทิศทางปรับตัวลงจากระดับสูงสุดของปี 2024 ในช่วงปลายเดือนเมษายน เนื่องด้วยนักลงทุนได้คลายความกังวลต่อประเด็นอัตราดอกเบี้ยของ Fed หลัง เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ได้ปฏิเสธต่อความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม โดยยังคงยืนยันถึงการอยู่บนหนทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า ประกอบกับในเอกสารผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของ Fed (FOMC) ได้มีการระบุถึงการปรับลดขนาดมาตรการการถอนสภาพคล่อง หรือการลดขนาดการทำ QT ลงสู่ระดับ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ จากเดิมที่ 6.0 หมื่นล้านดอลลาร์

 

ทั้งนี้ ภายหลังการเปิดเผยข้อมูล CPI ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม นักลงทุนมีการเพิ่มน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ Fed จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ในเดือนกันยายน และปรับลดอีก 1 ครั้ง ในเดือนธันวาคม อันเป็นผลให้ระดับอัตราดอกเบี้ยของ Fed จะปรับตัวลงสู่กรอบ 4.75-5.00% ภายในช่วงสิ้นปี ซึ่งนับว่าสะท้อนมุมมองเชิงบวกต่อประเด็นอัตราดอกเบี้ยของ Fed มากยิ่งขึ้น หลังจากก่อนหน้าการประชุม FOMC นักลงทุนมีการให้น้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ Fed อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้เพียง 1 ครั้ง ในปี 2024 มุมมองเชิงบวกที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าวนับว่าเพิ่มมุมมองเชิงบวกต่อทิศทางราคาทองคำด้วยเช่นกัน 

 

สอดคล้องกับข้อมูลจากทางการสหรัฐฯ ที่บ่งชี้ว่ากองทุนบริหารความเสี่ยง หรือ Hedge Fund รวมถึงนักลงทุนสถาบันรายใหญ่อื่นๆ มีการเข้าเปิดสถานะซื้อทองคำสุทธิ (Net-Long Position) ผ่านสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures) และตราสารสิทธิ (Options) ช่วงสัปดาห์ระหว่างวันที่ 15-21 พฤษภาคม หรือหลังการเปิดเผยข้อมูล CPI เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 21,030 สัญญา หรือเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 4 ปี หรือตั้งแต่กลางเดือนเมษายน ปี 2020

 

ขณะที่ทีมนักกลยุทธ์โลหะมีค่าของยูบีเอส (UBS) ได้มีปรับคาดการณ์แนวโน้มราคาทองคำ โดยประเมินว่าราคาทองคำอาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ภายในช่วงสิ้นเดือนกันยายน หรือสิ้นไตรมาส 3/2024 และราคาทองคำอาจปรับตัวขึ้นต่อไปสู่ระดับ 2,600 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ภายในช่วงสิ้นปีนี้ จากเดิมที่คาดการณ์ว่า ปี 2024 ราคาทองคำจะทำระดับสูงสุดที่ 2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ นอกจากนั้นได้มีการประเมินว่าราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในอีก 12 เดือนข้างหน้า หรือในช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2025

 

อนึ่ง มุมมองเชิงบวกของราคาทองคำแม้ถูกชี้นำด้วยประเด็นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในสัดส่วนสูง แต่กระนั้นราคาทองคำยังคงถูกชี้นำจากแนวโน้มการเข้าซื้อทองคำที่แข็งแกร่งของจีน ความต้องการซื้อทองคำในระดับสูงอย่างต่อเนื่องของกลุ่มธนาคารกลาง และแนวโน้มความตึงเครียดในประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ 

 

อย่างไรก็ดี ประเด็นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ยังคงมีความไม่แน่นอน เนื่องด้วยแม้พาวเวลล์ให้การยืนยันต่อแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า แต่ยังคงชี้ถึงความจำเป็นต่อการตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง ด้วยระยะเวลานานกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยยังไม่อาจบอกได้เช่นกันว่าต้องใช้เวลานานเท่าใด ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่คลุมเครือต่อโอกาสในการเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ของ Fed 

 

นอกจากนั้นในรายงานการประชุม FOMC รอบเดือนพฤษภาคม ได้มีการระบุว่า คณะกรรมการบางส่วนยังคงไม่ปิดโอกาสต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม หากมีความจำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายด้านเงินเฟ้อ สอดคล้องกับความเห็นของเจ้าหน้าที่ Fed บางรายอย่าง นีล แคชแครี ประธาน Fed สาขามินนิแอโปลิส ที่ชี้ว่า Fed ไม่ควรละทิ้งทุกความเป็นไปได้ต่อการดำเนินนโยบายการเงิน อันหมายถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังควรถูกพิจารณา หากมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นที่เงินเฟ้อจะค้างตัวในระดับสูง ดังนั้นแนะนำนักลงทุนติดตามทิศทางเศรษฐกิจและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของ Fed ต่อไป เพื่อประเมินสถานการณ์ในการลงทุนที่ชัดเจนมากขึ้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising