ไทยจ่อขึ้นแท่นเมืองแห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากต่างชาติแห่ลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และเม็ดพลาสติกชีวภาพ ดันยอดการลงทุนในประเทศ 2 ไตรมาสแรกของปี 2566 สูงถึง 1 แสนล้านบาท
อีกทั้งยังหนุนให้เกิดการขยายกิจการและการจัดตั้งโรงงานใหม่เพิ่มถึง 1,211 โรงงาน เพิ่มการจ้างงานใหม่ของคนไทยถึง 30,603 คน
อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ยอดการลงทุนในประเทศ 2 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 – มีนาคม 2566) ด้านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการลงทุนรวมในประเทศสูงถึง 112,658.60 ล้านบาท โดยเป็นการตั้งโรงงานใหม่และขยายกิจการโรงงานมากกว่า 1,211 โรงงาน จ้างงานใหม่ 30,603 คน
ซึ่งมีอุตสาหกรรมหลักอย่างที่กระตุ้นการลงทุน ได้แก่ ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพเกิดการลงทุนกว่า 19,000 ล้านบาท รวมไปถึงด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อให้เกิดการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ตามเป้าหมายการผลิตและใช้ยานยนต์ไร้มลพิษ หรือ Zero Emission Vehicle (ZEV) ลดการใช้น้ำมัน ลดการปล่อยไอเสีย รวมทั้งลดฝุ่น PM2.5 และการประกอบกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่มียอดการลงทุนเพิ่มขึ้นกว่า 1,400 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- อีก 7 ปีข้างหน้า Green Tech จะมีมูลค่าสูงถึง 9.5 ล้านล้านดอลลาร์ นวัตกรรมไหนจะครองโลก และใครจะได้ประโยชน์มากที่สุด
- BOI เร่งเสนอนายกฯ ไฟเขียวแผนลงทุน ‘EV – แบตเตอรี่’ ก่อนยุบสภา หลังบิ๊กคอร์ปอุตสาหกรรมใหม่แห่ย้ายฐานผลิตมาไทย
- เมื่อ ‘เป้าหมายสีเขียว’ และ ‘เป้ายอดขาย’ ไม่สอดคล้องกัน เปิดช่องโหว่นโยบาย สิ่งแวดล้อม ในอุตสาหกรรมแฟชั่น
จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า สองไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566 มีการตั้งโรงงานใหม่จำนวน 1,016 โรงงาน ยอดการลงทุน 89,427.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 29,000 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
โดยมีกลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมีมูลค่าการลงทุน 22,635.75 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 25.31% รองลงมา ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกมูลค่าการลงทุน 9,259.12 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 10.35% สำหรับการขยายกิจการโรงงานมีจำนวน 195 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 23,231.33 ล้านบาท กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนขยายกิจการสูงสุดคือ กลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์มีมูลค่าการลงทุน 10,192.68 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 43.87% รองลงมาคือ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารมีมูลค่าการลงทุน 1,930.56 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 8.31%
ไตรมาสที่ 3-4 คาดลงทุนจะไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาท
นอกจากนี้พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การตั้งโรงงานใหม่ และการขยายกิจการโรงงาน มีมูลค่าการลงทุนรวม 29,760.21 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 26.42% ของมูลค่าการลงทุนรวมทั่วประเทศ
โดยกลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด 10,403.39 ล้านบาท และ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) การตั้งโรงงานใหม่ และการขยายกิจการโรงงาน มีมูลค่าการลงทุน 37,621.13 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 33.39% ของมูลค่าการลงทุนรวมทั่วประเทศ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารมีมูลค่าการลงทุนสูงสุด 14,363.55 ล้านบาท
“ไตรมาสที่ 3 และ 4 คาดว่าการลงทุนจะไม่ต่ำกว่า 1.8 แสนล้านบาท จากผลของนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าดัชนีสถานการณ์การผลิตไทย (Thailand Manufacturing PMI) จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น รวมถึงการเร่งรัดการลงทุนของผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2563-2565
ขณะที่สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ประเทศไทยตั้งเป้าลงทุน 57,000 ล้านดอลลาร์ในภาคธุรกิจนวัตกรรมและเทคโนโลยีสีเขียว โดยคาดว่าบริษัทต่างชาติและบริษัทในประเทศจะอัดฉีดเงินประมาณ 2 ล้านล้านบาท (57,000 ล้านดอลลาร์) เข้าสู่ภาคส่วนต่างๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเทคโนโลยี เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนภายในปี 2030
โดยการลงทุนนี้จะสร้างงานใหม่ 625,000 ตำแหน่ง และเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 1.7 ล้านล้านบาท เจาะ 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า, เศรษฐกิจชีวภาพ, เศรษฐกิจหมุนเวียน, เศรษฐกิจสีเขียว และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ
อ้างอิง: