×

พ่อไม่ใช่แม่พิมพ์หรือต้นแบบ แต่พ่อคือคู่แข่ง: ‘ทราย นุตจรัส’ ทายาท ‘ทนายด่าง’ แกนนำ ‘6 ตุลา 19’

13.01.2023
  • LOADING...
ทราย-กุณฑิกา นุตจรัส

HIGHLIGHTS

7 mins. read
  • ‘ทราย-กุณฑิกา นุตจรัส’ เป็นทนายความรุ่นใหม่ ลูกสาวของ กฤษฎางค์ นุตจรัส (ทนายด่าง) แกนนำนักศึกษาในยุค ‘6 ตุลา 19’ 
  • แม้เส้นทางในวัยนักศึกษาและอาชีพระหว่างทรายกับพ่อจะมาในทางเดียวกัน คือเป็นทนายความหลังเรียนจบคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และระหว่างเรียนก็เป็นนักศึกษาที่ทำกิจกรรมทางการเมืองทั้งรุ่นพ่อและรุ่นลูก
  • อย่างไรก็ตาม ทราย ในฐานะทนายความรุ่นใหม่ เธอมองว่าทั้งตัวเองและพ่อ ต่างมียุคของตัวเอง มีวิธีการของตัวเอง 

ความเปลี่ยนแปลงทุกยุคสมัยมีพลังของคนรุ่นใหม่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน

 

ขณะที่คนรุ่นใหม่ใน ‘ยุคเดือนตุลา’ กลายเป็นคนรุ่นคุณพ่อคุณแม่หรือเป็นรุ่นญาติผู้ใหญ่ไปแล้วสำหรับเยาวชนสมัยนี้

 

THE STANDARD สัมภาษณ์ ‘ทราย-กุณฑิกา นุตจรัส’ ทนายความรุ่นใหม่ ลูกสาวของ กฤษฎางค์ นุตจรัส (ทนายด่าง) แกนนำนักศึกษาในยุค ‘6 ตุลา 19’ ในแง่มุมที่ทนายความรุ่นใหม่อย่างทรายมองว่าทั้งตัวเองและคุณพ่อต่างมียุคของตัวเอง มีวิธีการของตัวเอง แม้เส้นทางในวัยนักศึกษาและอาชีพจะมาในทางเดียวกัน คือเป็นทนายความหลังเรียนจบคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และระหว่างเรียนก็เป็นนักศึกษาที่ทำกิจกรรมทางการเมืองทั้งรุ่นพ่อและรุ่นลูก

 

ทราย-กุณฑิกา นุตจรัส

 

เป็นทนายรุ่นใหม่ อยากได้รับการจดจำหรือไม่ อยากได้รับการจดจำว่าอย่างไร 

 

ไม่อยากถูกจดจำว่าเป็น ‘ลูกทนายด่าง’ (หัวเราะ) แม้ยืนยันภูมิใจที่เป็นลูกพ่อ เพราะยุคของพ่อกับยุคของทราย และยุคของนักกิจกรรมรุ่นปัจจุบันซึ่งบางคนเป็นลูกความของเรา นักกิจกรรมทุกรุ่นมีทั้งความเหมือนและความแตกต่างกัน 

 

ความเหมือนกันของเยาวชนนักกิจกรรมทุกรุ่นคือ แสดงออกทางการเมืองตามความเชื่อของตัวเอง ไม่มีผลประโยชน์เพราะยังไม่มีภาระเรื่องเศรษฐกิจ

 

สิ่งที่ต่างกันแต่ละยุคคงเป็นเรื่องสภาพแวดล้อมกับวิธีการแสดงตัวตน และวิธีการพูดคุย วิธีแสดงความไม่เห็นด้วย ด้วยการใช้ภาษาที่แตกต่างกันของคนแต่ละรุ่น วันที่เราอายุเท่าเด็ก ผู้ใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการของเรา ถ้าคนต่างรุ่นจะเห็นต่างกันก็ไม่แปลก ไม่มีอะไรผิด แล้วแต่บทบาทของแต่ละรุ่นด้วย

 

ทราย-กุณฑิกา นุตจรัส

 

เป็นทนายความให้นักกิจกรรมรุ่นปัจจุบัน จัดเป็นคดีอาสาซึ่งไม่หวังรายได้ ส่วนนี้คิดว่าเป็นภารกิจที่ทำต่อจากคุณพ่อหรือไม่ หรือทำเพราะเป็นงานของตัวเองไม่เกี่ยวกับการสืบทอดภารกิจใดๆ

 

ดีใจที่ THE STANDARD ถามคำถามนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ยังอยู่ในใจ คนส่วนใหญ่ไม่เคยถาม เพราะคิดว่าทรายมาทำเรื่องนี้ตามพ่อ

 

ทุกวันนี้มาทำงานกับพ่อ ไม่เคยเรียกพ่อว่าพ่อเลย ทรายกังวลมาก ถ้าคนจะมองว่าเป็นลูกพ่อ เพราะจะทำให้การทำงานของตัวเองยากขึ้น คนจะมองด้วยความคาดหวังว่านี่คือลูกพ่ออยู่ตลอด ทั้งที่จริงๆ แล้วทรายก็เป็นนักกิจกรรมในยุคของทราย ไม่ใช่ ‘ยุคเดือนตุลา’ แต่เป็น ‘ยุคม็อบ เสธ.อ้าย’ (ม็อบขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ทรายเป็นนักศึกษารุ่นที่ถูกมวลชน ‘ม็อบ เสธ.อ้าย’ ตีเรา 

 

ต้องเข้าใจก่อนว่าทรายเริ่มทำงานการเมืองมาก่อนหน้านี้แล้ว คือตั้งแต่เรียนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วทำกิจกรรมสภานักศึกษา ยุคที่น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ก็ไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม

 

ทราย-กุณฑิกา นุตจรัส

 

คุณพ่อก็เป็นรุ่นพี่นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย 

 

พ่อเข้าเรียนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2518 ทรายเข้าปี 2552 

 

ชื่อสำนักงานกฎหมายคือชื่อคุณพ่อ ‘สำนักงานกฎหมายและบัญชีกฤษฎางค์ นุตจรัส’

 

พ่อเป็นทนายมานานตั้งแต่เรียนจบนิติศาสตร์ปี 2521 เขาเลยใช้ชื่อนี้มาตลอด แต่เป็นที่รู้จักเพราะทำมานาน จึงฝึกเด็กมาเยอะ กลายเป็นชื่อสำนักงานที่หลายคนเคยผ่านการทำงานมา 

 

พ่อเคยคิดจะเปลี่ยนชื่ออื่น ให้มีชื่อทรายร่วมด้วย แต่ทรายมองว่าไม่เปลี่ยนดีกว่า 

 

ทราย-กุณฑิกา นุตจรัส

 

ทรายเป็นทนายความมากี่ปี จัดประเภทคดีอย่างไร 

 

ทรายเป็นทนายนับแต่ปี 2558 ตอนนี้ครบ 8 ปีแล้ว ที่สำนักงานจัดประเภทคดีทุกปี ปีนี้ก็เพิ่งจัด แบ่งออกมาเป็น 4 กลุ่ม

 

  1. คดีส่วนตัว

 

  1. คดีอาสา ไม่ได้ทำเพื่อเป็นรายได้เลี้ยงตัวเอง ส่วนหนึ่งเป็นคดีที่รับจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เนื่องจากตั้งแต่ปี 2563 คดีเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกมีเยอะ และก่อนหน้านั้นสำนักงานก็ทำคดีเกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชนด้วย เช่น คดีชาวบ้านบ่อนอก

 

  1. คดี Consult เราเป็นที่ปรึกษาประจำอยู่แล้วของสำนักงาน แล้วตอนนี้ทรายมาทำเอง มีคดีเพิ่มคือเพื่อนมาจ้าง เช่น ให้ดูแลลูกจ้างเขา 

 

  1. คดีดูแลสัญญา ตอนนี้เรามีทนายที่พูดภาษาอังกฤษกับเยอรมันได้ด้วย เราจะทำเรื่องแปล และแนะนำสัญญา เช่น ดูว่าความเสียหายในอนาคตมีประมาณเท่าไร เพราะเงิน 1 บาทวันนี้ กับเงิน 1 บาทในอนาคตไม่เท่ากัน 

 

การที่สำนักงานอยู่ได้นานขนาดนี้ เราทำคดีแพ่งเยอะอยู่แล้ว เพียงแต่มามีชื่อเสียงหรือมีคนรู้จักผ่านสื่อมวลชนในคดีอาสาหรือคดีการเมืองมากกว่า ซึ่งความจริงทำคดีอื่นมานานหลายสิบปี 

 

ทราย-กุณฑิกา นุตจรัส

 

มาทราบตอนไหนว่าคุณพ่อเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 

 

ทรายมารู้เรื่อง 6 ตุลา จริงๆ ณ วันที่เป็นเด็กธรรมศาสตร์ ในฐานะเด็กธรรมศาสตร์ 

ก่อนหน้านั้นรู้จัก 6 ตุลา 19 ในฐานะลูกของคนรอดตาย ตอนพ่อเลี้ยงดูเรา พ่อก็ยุ่งแต่กับการเลี้ยงลูก ไม่ได้ทำอะไรเกี่ยวกับการเมืองเยอะขนาดปัจจุบัน 

 

แต่เห็นมาตลอดอยู่แล้วว่าพ่อทุ่มเทกับเรื่องนี้ เพราะที่บ้านในสมัยยังไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีกูเกิล สมัยนั้นพ่อมีหนังสือ 6 ตุลา 19 เยอะที่สุด

 

ในขณะที่เพื่อนบางคนของพ่อเขาไม่พูดเรื่องนี้ แต่พ่อพูดเรื่องนี้ทุกวัน ซึ่งตอนนั้นเราไม่รู้สึกอะไร เพราะเรารู้สึกว่าเป็นความทรงจำของพ่อ ไม่ใช่ความทรงจำของเรา

 

ก่อนเข้าธรรมศาสตร์ทรายรู้ว่าพ่อมีสำนึกทางการเมืองสูง เพราะนอกจากพ่อให้ความสำคัญกับ 6 ตุลา 19 อย่างจริงจังแล้ว พ่อฟังประชุมรัฐสภาตั้งแต่ยุคที่การอภิปรายน่าเบื่อมาก เช่น ฟัง ‘ชวน หลีกภัย’ อะไรแบบนี้ นอกจากนั้น พ่อก็ไปช่วยชาวบ้านบ่อนอก และเราเห็นมาตลอดว่าพ่อช่วยชาวบ้านที่ยากจน ทำให้รู้ว่าพ่อมีสำนึกทางการเมืองสูง

 

กระทั่งเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 แล้วเราเป็นเลขาประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนั้นก็ไปช่วยคนยกฟูก จัดเต็นท์ให้ชาวบ้านอยู่ เจอทั้งเพื่อน เจอทั้งอาจารย์ที่รู้จักพ่อ ก็เลยเริ่มรู้ว่าพ่อรู้จักอาจารย์หลายคน รวมถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องแบบนี้ก็เพิ่งมารู้ทีหลัง

 

มารู้เกี่ยวกับพ่อเยอะตอนอยู่ธรรมศาสตร์ ได้ยินโน่นนี่นั่น แม้แต่ทรายโดดเรียนไปทำกิจกรรมก็มีอาจารย์โทรไปบอกพ่อว่าลูกไม่มาเรียน แล้วตอนนั้นเราก็อยู่หอพักไม่ได้อยู่บ้าน แต่พอพ่อรู้ก็ไม่ได้ต่อว่าอะไร พ่อบอกก็เรียนให้จบละกัน เพราะพ่อก็เป็นคนไม่เข้าเรียนเหมือนกัน

 

ทราย-กุณฑิกา นุตจรัส

 

คุณพ่อกับทรายในวัยเด็ก

 

ได้รับการสอนโดยพ่อไม่ได้ตั้งใจสอน เราจะรู้เองมากกว่า เวลาพ่อไปกินข้าวกับเพื่อน เรานั่งอยู่ด้วยเราก็จะได้ยิน เช่น ในขณะหนังสือเรียนของเด็กบอกว่า พระเจ้าตากเป็นบ้า แต่ประมาณปี 2534-2547 เพื่อนของพ่อที่ทำนิตยสารศิลปวัฒนธรรมก็พูดตลอดว่าพระเจ้าตากไม่ได้เป็นบ้า แล้วเรื่องนี้พ่อก็เห็นด้วยกับเพื่อนว่า ประวัติศาสตร์เขียนโดยผู้ชนะ 

 

เคยมีครั้งหนึ่งทรายกำลังจะไปสอบชั้นประถมศึกษา วิชาสังคม พ่อขับรถไปส่งที่โรงเรียน เรากำลังท่องหนังสือเพื่อจะไปสอบ ป.4 แล้วตอนนั้นตามหนังสือบอกว่า พระเจ้าตากเป็นบ้า 

 

พ่อก็สอนบอกว่าไม่ใช่แบบนั้นนะ เราก็บอกพ่อว่าอย่าเพิ่งพูดตอนนี้ เพราะถ้าเราเขียนตอบข้อสอบแบบนั้นเดี๋ยวก็คงสอบตก 

 

นอกจากนั้น เราก็รู้เองจากหนังสือของพ่อ เช่น ร.ศ.130 เป็นกบฏที่ดีมาก แม้ทำไม่สำเร็จแต่รักชาติ แล้วก็มีเหตุการณ์ 2475 เราก็ได้ศึกษาอดีตมากขึ้นโดยที่พ่อไม่ได้พยายาม แต่ที่บ้านมีข้อมูลอยู่รอบตัวเรา

 

มาสนิทกับพ่อมากขึ้นตอนเรียนธรรมศาสตร์ ได้เห็นพ่อผ่านธรรมศาสตร์ วันที่เราสอบเข้าธรรมศาสตร์ได้พ่อก็ตื่นเต้น คิดว่าพ่อก็คงภูมิใจ แต่พูดแบบนี้ในสมัยนี้บางคนอาจจะดูถูก เพราะคนไทยตอนนี้อาจจะรู้สึกไม่ควรมองมหาวิทยาลัยแบบ ‘สถาบันนิยม’ ซึ่งในทางหนึ่งก็จริง แต่ในฐานะที่เป็นพ่อลูกกัน ตอนลูกชายพ่อได้เข้าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเขาก็ดีใจ เช่นเดียวกับเมื่อเราเป็นรุ่นน้องเขาในมหาวิทยาลัยเดียวกับเขา เขาก็ดีใจ เรื่องรับน้องก็เป็นเรื่องแรกๆ ที่คุยกัน พ่อบอกว่ารุ่นป๊าไม่มีรับน้อง พอเราทำกิจกรรมต่อต้านเรื่องรับน้องด้วยก็ทำให้สนิทกับพ่อ เพราะมีเรื่องได้คุยกันมากขึ้น

 

ทราย-กุณฑิกา นุตจรัส

 

ก่อนเรียนนิติศาสตร์ มีจุดที่ต้องตัดสินใจเลือกเรียนอย่างอื่นไหม 

 

มีๆ สมัยนั้นตอนทรายจบเตรียมอุดมศึกษา สายวิทย์ จำได้ตอนยังไม่แน่ใจว่าจะเรียนอะไร ทรายถามพ่อ พ่อบอกว่าอยากให้เรียนวิศวะ ส่วนทางแม่มีญาติเป็นหมอเยอะ แล้วแม่อยากให้เราเป็นหมอมากกว่า แม่ไม่ได้อยากให้เราทำงานแบบที่พ่อทำ ซึ่งสำหรับเด็กอายุยังไม่ถึง 20 ปี ถ้าผู้ใหญ่พูดอะไรตอนนั้นจะรู้สึกมาก แต่เราก็เห็นความเจ็บปวดของญาติที่ไม่ได้เรียนในสิ่งที่เขาอยากเรียน 

 

สุดท้ายเราโชคดี เพราะเด็กเตรียมอุดมฯ มักจะมีความคิดเป็นของตัวเอง เรามีเพื่อนสายวิทย์มากมายที่เลือกเรียนสถาปัตย์ สุดท้ายเราตัดสินใจเรียนนิติศาสตร์ แล้วก็ดีใจที่เลือกนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นการเลือกที่ถูกต้อง เพราะตอนนี้มีความสุขมากกับการทำงาน 

 

ไปเรียนปริญญาโทที่เยอรมนี ก็ทำงานในสายกฎหมายแต่ไม่ใช่ทนายความ ถ้านับเฉพาะเวลาทำงานนี้ก็นับเป็น 3 ปี 1 เดือน รู้สึกคิดถูกแล้วที่เรียนมาทางนี้ ดีที่เลือกอย่างที่ตัวเองเลือก 

 

เด็กไทยสมัยก่อนรวมถึงรุ่นทราย มีบางคนก็เคยเรียนหมอมาแล้ว 2 ปี แต่เปลี่ยนมาเรียนนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็นเพื่อนทราย ถ้าเราต้องเรียนสิ่งที่ไม่ได้เลือกเองอาจจะไม่มีความสุขกับงานที่ตัวเองทำ 

 

ทราย-กุณฑิกา นุตจรัส

 

เลือกเรียนนิติศาสตร์ ทั้งที่คุณพ่อพูดถึงคณะวิศวะ

 

ใช่ แล้ววันที่ไปเรียนนิติศาสตร์ไม่ได้เลือกเพราะอยากเป็นแบบพ่อ ตอนนั้นยังไม่ทราบว่างานของพ่อจะเป็นอย่างไร แม้รู้ว่าเป็นทนาย แต่ก็ไม่ได้ตามเขาไปศาล ไม่เคยเห็นการทำงาน 

 

ตอนเลือก เลือกนิติศาสตร์เพราะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เราทำได้ เรารู้แล้วว่าไม่อยากเป็นอะไร เช่น ไม่อยากเป็นหมอ ไม่อยากเป็นพยาบาล ไม่อยากเป็นครู เราสามารถตัดสิ่งที่ไม่อยากทำออกไปได้

 

แล้วช่วงนั้นปี 2552 คณะนิติศาสตร์ กับ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เป็นคณะท็อป คนอยากเข้าเรียน จึงเป็นคณะที่เราเห็นอนาคต

 

ทราย-กุณฑิกา นุตจรัส

 

เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 กับ คุณพ่อ ในมุมของทราย 

 

สมัยก่อนจะมีคนเอาหนังสือมาขายทั้งที่ท่าพระจันทร์และสนามหลวง เวลาไปเดินธรรมศาสตร์ ถ้าพ่อเจอหนังสือพ่อก็จะซื้อ เราก็เห็น ไม่เฉพาะเดือนตุลา

 

ตั้งแต่สมัยครบรอบ 20 ปี 6 ตุลา 19 พ่อก็ใช้ออฟฟิศเป็นสถานที่ทำเรื่องครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ทำให้มีหนังสือเยอะ นอกจากนั้นแล้วหลายครั้งทรายรู้สึกเองว่า ทุกครั้งที่ใกล้เดือนตุลาพ่อก็จะรู้สึกมากเป็นพิเศษเวลาพ่อพูดเรื่องเดือนตุลา ยิ่งเมื่อเราโตมาแล้วพ่อคุยกับเราเหมือนเพื่อน 

 

ตอนเราไปเรียนเมืองนอกได้คุยกับพ่อมากขึ้น เขาจะโทรมาเวลามีเรื่องอยากคุย แล้วเขาจะเล่าว่าฝัน ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่าพ่อคิดเรื่อง 6 ตุลาตลอด ฝันที่พ่อฝันบ่อยคือ ตัวเองตายไปแล้วในวันที่ 6 ตุลา 19 แล้วลูกเมียกับชีวิตตัวเองที่มีอยู่ทุกวันนี้ เป็นฝันหลังความตายที่ท่าพระจันทร์

 

ความฝันเรื่องนี้จะได้ฟังบ่อยตั้งแต่เราเรียนธรรมศาสตร์ปี 2552 รายละเอียดบางอย่างเป็นเรื่องที่พ่อไม่ค่อยเล่าให้คนอื่นฟังเท่าไร ไม่ใช่พ่อไม่อยากให้คนรู้เรื่อง 6 ตุลา แต่คงเพราะเป็นช่วงเวลาที่ยังไม่พร้อมที่จะเล่า 

 

ทรายอ่านคำให้สัมภาษณ์ของพ่อในตอนจัดทำชำระประวัติศาสตร์ครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 พ่อเล่าแบบยังไม่ลงรายละเอียด แต่เวลาเล่าให้ทรายฟัง พ่อเล่าในฐานะพ่อ มีรายละเอียดจำนวนมาก

 

ตอนจัดทำชำระประวัติศาสตร์ 20 ปี คนยังไม่พร้อมจะพูดเท่าปีนี้ จุดเปลี่ยนคือนับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา คนพร้อมที่จะพูดมากขึ้น ประเด็นนี้อยู่ในวิทยานิพนธ์ของทรายด้วย คือความทรงจำของคนเปลี่ยนไปตามเวลา เพราะ ‘เวลา’ ทำให้คนทั้งลืมและรับได้ ความทรงจำของมนุษย์ทำงานในรูปแบบที่แปลกประหลาด เพื่อที่จะทำให้เรามีชีวิตอยู่กับความทรงจำต่อไปได้

 

ทราย-กุณฑิกา นุตจรัส

 

คุณพ่อว่าความให้ ‘14 นักศึกษา’ เช่น รังสิมันต์ โรม, ไผ่ ดาวดิน หลังนักเคลื่อนไหวกลุ่มนี้ต้านรัฐประหารปี 2557 เป็นช่วงที่ทรายไปเรียนปริญญาโทที่เยอรมนีปี 2558

 

ตอนที่ทรายเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ ก็ทำกิจกรรมอยู่กลุ่มเดียวกับ ‘14 นักศึกษา’ กลุ่มนี้ 

 

พอปี 2558 ตอนนั้นได้ตั๋วทนายแล้ว ทรายเพิ่งเป็นทนาย น้องๆ ก็อยากให้เราทำคดีนี้ให้เขา 

 

แต่ในระหว่างนั้นต้องไปเรียนปริญญาโท คนที่ต้องทำต่อจากทรายจึงเป็นพ่อ พ่อจึงได้ก้าวเข้ามาเป็นทนายให้นักกิจกรรมรุ่นนี้ ต้องขอบคุณพ่อ เพราะต่อมาเห็นแล้วว่าพ่อเป็นคนที่เหมาะที่จะทำเรื่องนี้ 

 

แล้วเราก็ภูมิใจ เพราะพ่อทำแล้วดี เป็นแบบอย่างให้ทนายรุ่นหลังได้ดูว่าจะทำอย่างไรในคดีสิทธิมนุษยชน พ่อทำถูก เราควรจะมีทนายที่ ‘ทำงานเป็น’ เข้ามาทำงานให้ดีแบบนี้

 

ตั้งแต่วันนั้นถึงปัจจุบัน เราเห็นทนายหน้าใหม่เต็มไปหมดเลย ทนายที่มีความสามารถ คดีที่ว่าความให้จำเลยแล้วมีการยกฟ้องไปก็หลายคดี 

 

ขณะที่พ่อมาทำเรื่องเหล่านี้ก็ทำได้ดี โดยเฉพาะในวัยเกษียณ จึงทำให้คนคิดว่าทรายมาทำตามพ่อ 

 

พอทรายกลับมาจากเมืองนอก คนไม่เรียกทรายว่า ‘พี่ทราย’ แต่เรียกทรายว่า ‘ลูกทนายด่าง’ ตัวตนเราก็หายไปซึ่งเป็นเรื่องที่โอเค เพียงแต่ต้องกลับมาสู้ใหม่

อยากบอกทุกคนว่า ทรายกับพ่อไม่ได้เป็นทนายแบบเดียวกัน 

 

ทรายยังเรียนรู้จากพ่อ แต่ไม่ได้เป็นทนายที่มีทุกอย่างแบบเดียวกัน ถ้าจะมีอะไรที่พ่อมีส่วนอยู่เบื้องหลังในการที่ทำให้ทรายมาทำกิจกรรมการเมือง หรือเป็นทนายคดีการเมือง อาจจะเป็นเรื่องการเลี้ยงดูสมัยอายุ 1-15 ปีมากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับความยุติธรรม แต่เราก็ไม่ใช่คนแบบเดียวกัน เรามีความแตกต่างกัน 

 

ทราย-กุณฑิกา นุตจรัส

 

ที่บอกว่าเป็น ‘ลูกทนายด่าง’ ยิ่งเป็นความยากลำบาก ความยากนั้นคืออะไร ต้องพิสูจน์ตัวเองหรืออย่างไร 

 

คิดว่าเป็น ‘บททดสอบ’ ไม่ได้คิดว่าต้องพิสูจน์ตัวเอง เพราะคำว่า ‘พิสูจน์ตัวเอง’ เหมือนเริ่มจากคิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่าจึงต้องพิสูจน์ตัวเอง ขณะที่ทรายเชื่อมั่นในคุณค่าของตัวเอง ไม่ได้หมายว่ารู้สึกถูกลดคุณค่าในการทำงานลง เช่น ทรายยังเขียนสัญญาได้ดีแบบเดิม ให้คำปรึกษาได้ดีแบบเดิม จะเป็นลูกใครก็ต้องชนะผ่านบททดสอบทั้งนั้น 

 

แต่ที่ทรายบอกว่ามีความยากลำบาก เพราะเวลาคนมองว่าเป็นลูกพ่อ คนจะมีความคาดหวังแบบหนึ่ง ซึ่งทำให้การทำงานของทรายยาก เพราะทรายไม่ได้มีวิธีการทำงานแบบเดียวกับพ่อ คือคนอาจจะมีความคาดหวังว่าลูกทนายด่างต้องทำงานแบบนี้ หรือเก่งในเรื่องเดียวกับพ่อ ขณะที่จุดโดดเด่นของทรายอาจจะเป็นจุดอื่น เช่น อาจจะมีความสามารถแบบอื่นที่ทรายไปเรียนไปเห็นมา เพราะแต่ละคนเติบโตมาต่างกัน

 

การทำงานในฐานะทนายความ นอกจากว่าความเก่งแล้ว ลูกความต้องเชื่อถือเราด้วย ถ้าลูกความเชื่อถือพ่อเรามากกว่าเชื่อถือในตัวเรานี่ก็เป็นเรื่องยากแล้ว เพราะเขาจะไม่ฟังเรา การทำงานทนายมีราคาในตัวเอง ในสายวิชาชีพเราไม่สามารถเป็นใครก็ไม่รู้อยู่ในฐานะลูกของคนคนหนึ่งตลอดไป 

 

เช่น เคยมีคดีหนึ่งเป็นงานของทราย พ่อไม่ได้มีส่วนร่วมนอกจากให้กำลังใจ แต่ทรายเจอเหตุการณ์ตอนจบ ญาติของลูกความลุกขึ้นมาบอกว่า ‘ขอบคุณทนายด่าง’ ทั้งที่คดีนี้เป็นงานของเรา ถ้าเป็นไปได้เราอยากได้ยินคำ ‘ขอบคุณทนายทราย’ เพราะแม้แต่การพูดว่าขอบคุณ ‘ลูกทนายด่าง’ เรายังไม่ดีใจเลย (หัวเราะ) อันนี้ก็เป็นเรื่องยากเล็กน้อย แต่ก็เป็นความท้าทายหนึ่ง ซึ่งไม่เคยมีแบบนี้เพราะสมัยเรียนนิติศาสตร์ ทุกคนก็รู้จักทรายในฐานะทราย เป็นตัวตนของเรา แต่ถ้าคนมองเราเป็นลูกพ่อตลอดเวลา ก็ทำให้ตัวตนของเราหายไปจากสังคม อย่างไรก็ตามยืนยันไม่ได้มองว่าต้องพิสูจน์ตัวเอง เพียงแต่มองว่าเป็นบททดสอบใหม่ในชีวิต 

 

เชื่อว่าลูกทุกคนที่มีพ่อแม่ทำงานเก่งในสายงานที่เขาทำ คงต้องเจอเรื่องนี้ทุกคน แต่ถ้าให้เลือกได้ เราก็อยากมีพ่อเก่งในสายงานที่เราทำ ซึ่งมีอยู่แล้วและเป็นเรื่องดี เพียงแต่ความยากลำบากตรงนี้ ก็เป็นบททดสอบของรุ่นลูกที่ต้องทำ 

 

ทราย-กุณฑิกา นุตจรัส

 

ทรายกับพ่อ เป็นคู่แข่งกัน 

 

บททดสอบคือ ทรายกับพ่อจริงๆ แล้วเป็นคู่แข่งกัน ซึ่งพ่อก็รู้ ทรายกับพ่อเป็นคู่แข่งกัน เช่นเดียวกับทรายกับทนายคนอื่นๆ ที่เริ่มงานมาพร้อมกัน ถ้าเขาสืบพยานเก่งขึ้นดีขึ้น คุณภาพของพ่อหรือทนายคนใดก็ตามเป็นสิ่งที่เราต้องแข่งขัน ต้องทำให้ดีกว่า ทั้งการว่าความหรือการเขียนสัญญา ดังนั้น เวลาทรายมองพ่อก็เหมือนมองคู่แข่งคนหนึ่ง เราสู้กัน 

 

ตอนเรียนเยอรมนี จบปริญญาโทด้านกฎหมายการว่าความระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชน ส่วนงานระหว่างนั้น ทำงานด้านการให้คำปรึกษา เป็นงานที่รัฐบาลจัดเงินมาให้ ทำงานกับคนต่างชาติที่ไม่รู้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในเยอรมนี คล้ายๆ นักสังคมสงเคราะห์ แต่ไม่ใช่ เพราะเราต้องอยู่กับตัวความ พาเขาไปพบทนาย พาเขาไปพบเจ้าหน้าที่รัฐ พาเขาไปผ่านกระบวนการต่างๆ ของรัฐ แปลภาษาตามที่รัฐสื่อสาร เราไม่ได้แปลให้เขาฟังในฐานะลูกความ แต่ถ้าเขาไม่เข้าใจอะไรทางกฎหมายเราก็ต้องสามารถอธิบายให้เขาฟัง เพราะกฎหมายเยอรมนีค่อนข้างซับซ้อน ทำงานนี้อยู่ 3 ปี 1 เดือน

 

เราหงุดหงิดใจ ถ้าคนจะมองเราแค่ว่านี่คือ ‘ลูกทนายด่าง’ ขณะเรามองพ่อเป็นคู่แข่ง เพราะบรรดาทนายที่เคยทำงานร่วมกันมา เขาเป็นคนที่ทำให้ทรายรู้สึก ‘ว้าว’ ที่สุด ด้านสติปัญญาความคิด วิธีการมอง วิธีการวางแผนคดี แต่ทรายไม่ได้อยากจะก๊อบปี้เขาทุกอย่าง

 

ใครจะอยากไปทำงานในฐานะตัวเองเป็นลูกใคร เขาคือเขา เราเป็นเรา วิธีการพูดก็ไม่เหมือนกัน ถ้าเราไปเลียนแบบเขา เราก็สูญเสียราคาในตัวเอง ดังนั้นพ่อไม่ใช่แม่พิมพ์หรือต้นแบบ แต่พ่อเป็นคู่แข่ง แล้วพ่อเป็นคนหนึ่งในวิชาชีพที่เก่ง 

 

ดังนั้นเรามองเพื่อเรียนรู้ แต่คิดกับตัวเองตลอดว่าอย่าไปคิดแบบเขา เราต้องคิดแบบตัวเอง แล้วค่อยมาถกเถียงกัน หลายครั้งเสนอไอเดียไปเขาก็พอใจที่เราคิดด้วยตัวเอง เราก็ยกระดับตัวเองด้วย แล้วปรึกษากัน

 

หลังๆ พ่อโทรมาบอกว่า ‘ขอปรึกษาหน่อย’ คำพูดนี้แปลว่า เราไม่ใช่เด็กน้อยที่ต้องตามเขาอย่างเดียว

 

แต่ก็อยากบอกเด็กทุกคนที่พ่อแม่ทำงานในสายวิชาชีพเดียวกับตัวเอง แล้วพ่อแม่ประสบความสำเร็จกว่า โดยส่วนตัวก็อยากให้มองบวก เพราะมีพ่อแม่เก่งในสายงานที่เราทำ ก็ดีกว่าไม่มี อาจจะฟังดูไม่ยุติธรรมกับคนอื่น แต่เราก็เลือกเกิดไม่ได้ แค่อยากให้คนอื่นเข้าใจว่า ในความโชคดีก็มีความอึดอัด และยืนยันภูมิใจเสมอที่พ่อแม่ประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกันเมื่อเราได้ดีพ่อแม่ก็ภูมิใจ อย่าสูญเสียตัวเอง

 

ทราย-กุณฑิกา นุตจรัส

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising