ย้อนกลับไปประมาณปี 2566 THE STANDARD POP ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ฮูพ-ปาฏลี ประเสริฐธีระชัย หนึ่งในสมาชิก BNK48 รุ่นที่ 3 มาแล้วครั้งหนึ่ง ณ เวลานั้นเธอมาในบทบาทของกัปตัน Team BIII ที่มาพร้อมกับความมุ่งมั่นตั้งใจที่อยากผลักดันวงและเมมเบอร์ทุกคนให้เติบโตขึ้นอย่างแข็งแรงต่อไป
หนึ่งปีผ่านไปเราได้มีโอกาสเปิดบ้านต้อนรับฮูพอีกครั้ง แต่คราวนี้เธอกลับมาเยี่ยมเยือนเราในบทบาทใหม่กับการก้าวขึ้นมารับตำแหน่งกัปตันวง BNK48 คนล่าสุด ซึ่งในการพูดคุยครั้งนี้ก็ทำให้เราได้รู้จักและมองเห็นการเติบโตของเธอในหลากหลายแง่มุมมากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ยัง ‘เหมือนเดิม’ เห็นจะเป็นความมุ่งมั่นตั้งใจของเธอที่ไม่ลดน้อยลงไปเลย (และอาจเป็นความมุ่งมั่นที่แรงกล้ามากขึ้นกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ)
วันนี้เราจึงถือโอกาสชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับฮูพให้มากยิ่งขึ้น ผ่านหลากหลายช่วงเวลาสำคัญในชีวิตที่ทำให้เธอได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์และประกอบร่างจนเป็นตัวเธอในปัจจุบัน ตั้งแต่การเป็นเด็กกิจกรรมสุดโลดโผนที่อยากเอาชนะและกล้าลองทำอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ การปลดล็อกสกิลใหม่จากการทำคอนเสิร์ตเดี่ยวของรุ่นที่ 3 เป้าหมายที่อยากทำให้สำเร็จในฐานะกัปตันวง ไปจนถึงความรักจากแฟนคลับและครอบครัวที่ทำให้เธอได้ค้นพบ ‘ความสุข’ ของตัวเองอย่างแท้จริง
เท่าที่จำความได้ฮูพในวัยเด็กเป็นแบบไหน
แสบ ซน อยู่ไม่นิ่งค่ะ ความแสบของหนูจะขึ้นชื่อในโรงเรียนอยู่แล้วค่ะ เป็นโรงเรียนใกล้ๆ บ้านที่หนูเรียนอยู่ที่ชลบุรีช่วงประถมจนถึงมัธยมต้น อาจารย์ที่โรงเรียนทุกคนรู้อยู่แล้วถึงความแสบความซนของหนู หนูจะเป็นคนที่ก๋ากั่น เป็นหัวโจกของเพื่อนๆ เป็นเด็กหลังห้องที่จะซ่อนขนมไว้ใต้โต๊ะ แล้วก็จะยื่นต่อให้เพื่อนตั้งแต่เด็กๆ เลยค่ะ
ณ ตอนนั้นถ้ามีครูหรือผู้ใหญ่ถามว่าความฝันวัยเด็กของฮูพคืออะไร ฮูพจะตอบว่า
ลอกเพื่อนข้างๆ ค่ะ คือตอนเด็กๆ เขาจะให้กระดาษมาแล้วให้เขียนว่าอาชีพในฝันคืออะไร แล้วหนูไม่รู้ เพราะตั้งแต่เด็กๆ จนถึงทุกวันนี้ ถ้าไม่ได้มาเป็น BNK48 ก็คงคิดแค่ว่าเรียนให้จบเท่าที่แม่อยากให้เรียน แล้วก็ออกมาช่วยแม่ทำธุรกิจที่บ้าน แค่นี้เลยค่ะ ชีวิตหนูธรรมดามาก แล้วตอนเด็กๆ เพราะไม่รู้อะไรเลยก็เห็นเพื่อนสนิทหนูนั่งอยู่ข้างๆ เห็นเพื่อนเขียนว่าอยากเป็นเชฟ หนูก็เลยเขียนว่าอยากเป็นเชฟตามเพื่อน
เราเป็นเด็กเรียนเก่งหรือเด็กกิจกรรมมากกว่ากัน
เรียนเก่งเท่ากับศูนย์ค่ะ เกรดเฉลี่ยหนูน่าจะประมาณ 1.49 มาตลอดทุกปี ตั้งแต่ช่วงประถมถึงมัธยมต้น หนูจะเป็นเด็กกิจกรรมมากกว่า หนูเคยเป็นเชียร์ลีดเดอร์โรงเรียน หนูเคยถือพาน แล้วหนูก็จะชอบวิ่งเล่นที่สนามเด็กเล่นตลอด จะเป็นเจ้าของสนามเด็กเล่นตั้งแต่เช้าเลยค่ะ ถึงโรงเรียนก็จะไปเล่นก่อนแล้วค่อยไปเรียน แล้วกลับมาก็เล่นต่อจนถึงมืด เพราะว่าแม่กับป๊าทำงาน กว่าเขาจะมารับก็ประมาณ 6 โมงทุ่มหนึ่งตลอด หนูก็จะวิ่งเล่นของหนูไปเรื่อยๆ
มีครั้งหนึ่งหนูเคยไม่ให้เพื่อนกลับบ้านค่ะ ต้องอยู่เล่นกับหนูจนกว่าแม่หนูจะมารับ แล้วแม่เพื่อนก็โทรมาฟ้องญาติหนูว่าทำไมหลานเธอถึงไม่ปล่อยลูกฉันกลับบ้าน ด้วยความที่หนูจะเป็นหัวโจก เพื่อนเชื่อฟัง หนูก็จะอ้อนว่าอยู่เล่นเป็นเพื่อนก่อนได้ไหม ซึ่งเพื่อนก็โอเค
เราทราบมาว่าฮูพเคยขับรถดริฟต์ด้วย ที่มาที่ไปของการขับรถดริฟต์เป็นอย่างไรบ้าง
มาจากคุณพ่อค่ะ คุณพ่อชอบรถมาตั้งนานแล้ว แต่ว่าคุณพ่อก็เพิ่งได้มาเรียนดริฟต์รถค่ะ แล้วพอคุณพ่อได้เรียนปุ๊บ หนูก็ไปวิ่งเล่นอยู่ตามสนามที่คุณพ่อไปขับ จนวันหนึ่งคุณพ่อก็บอกให้หนูลองไปนั่งดูบ้าง เขาอยากให้ฝึกเพราะมันถึงช่วงอายุ 18 ปีที่ต้องขับรถแล้ว ถ้าเกิดอุบัติเหตุอะไรพ่อก็อยากให้เรารู้วิธีการควบคุมรถ ถ้ารถหมุนเราจะได้รู้วิธีการควบคุม พ่อก็เลยให้ฝึกดริฟต์ค่ะ แล้วหนูเป็นคนชอบอะไรผาดโผนอยู่แล้วเลยยอมที่จะฝึก
นอกจากการดริฟต์รถ มีกิจกรรมอื่นๆ ที่ฮูพได้ทำอีกไหม
เล่นเปียโนค่ะ น่าจะตั้งแต่ตอน 7 ขวบค่ะ คุณแม่ส่งไปเรียนเพราะว่าคุณแม่อยากให้เรียนบัลเลต์ แต่หนูต่อรองเพราะว่าหนูไม่อยากเรียนบัลเลต์ เพราะตอนเด็กๆ หนูเกิดมากับการเล่นเตะบอลกับญาติๆ ไม่เล่นตุ๊กตา ต่อกันดั้มกับพี่ชาย ดู Death Note เรียนเทควันโด หนูเติบโตมาแบบนั้น ก็เลยไม่ได้รู้สึกว่าอยากเรียนบัลเลต์ คุณแม่ก็เลยเสนอว่าถ้าไม่เรียนบัลเลต์ก็ไปเรียนเปียโน หนูเลยยอมไปเรียนมาเรื่อยๆ จนน่าจะประมาณช่วงมัธยมต้นถึงเลิกค่ะ เพราะตอนนั้นคุณแม่จะให้หนูย้ายไปอยู่โรงเรียนนานาชาติที่ต้องพูดอังกฤษล้วนแล้วหนูไม่อยากไป เพราะหนูติดเพื่อนมาก ยื้อไม่ไปมาเรื่อยๆ ประมาณปีหนึ่งได้ จนแม่ยื่นข้อเสนอว่าทำยังไงถึงจะไป หนูก็บอกว่าขอเลิกเรียนเปียโนแล้วหนูจะไป แม่ก็โอเคให้เลิกเรียนเปียโน หนูก็ได้ย้ายไปโรงเรียนใหม่
นอกจากนี้ก็เคยเป็นนักกีฬาวอลเลย์บอลค่ะ ไปฝึกเป็นนักกีฬาวอลเลย์บอลแล้วก็เคยได้ไปแข่งอยู่ประมาณ 2-3 ครั้ง หลังจากนั้นหนูก็ย้ายโรงเรียนเลยไม่ได้เล่นต่อ พอมาอยู่ที่โรงเรียนใหม่ปุ๊บ โรงเรียนใหม่หนูค่อนข้างสนับสนุนเรื่องกิจกรรมมาก หนูได้ไปแข่งวอลเลย์บอลอีกประมาณ 2 ครั้งที่โรงเรียนใหม่ ตอนนั้นหนูชอบเล่นเบสบอลด้วยค่ะ แล้วหนูจำได้ว่าตอนนั้นหนูว่ายน้ำไม่เก่ง แต่กีฬาสีของโรงเรียนมีแข่งว่ายน้ำ หนูก็ไปเรียนว่ายน้ำเพิ่มเพื่อไปแข่งเพราะไม่อยากให้สีตัวเองแพ้
แล้วตอนที่เรียนไฮสคูลจะมีวิชาศิลปะกับวิชา DT เป็นเหมือนวิชาที่ให้เราได้เชื่อมเหล็ก ให้ต่อเป็นโครงสร้างอะไรแบบนี้ค่ะ แล้วก็มีเรียนแอ็กติ้งด้วย ตอนนั้นอายุประมาณ 15-17 เองค่ะ แล้วที่บ้านอาม่าหนูเป็นโรงทำอิฐใช่ไหมค่ะ ตอนเด็กๆ หนูก็เล่นกับแก๊งพี่ชาย เราเล่นปั้นลูกแก้วจากดินเหนียวแล้วก็เอาไปเผา และเอามาเล่นเป็นลูกแก้วด้วย
ขอย้อนกลับไปเรื่องความฝันวัยเด็ก จากที่เราได้ลองทำกิจกรรมหลายๆ อย่างมา มีกิจกรรมอะไรที่ทำให้เรารู้สึกว่านี่แหละความฝันของฉันบ้างไหม
ไม่มีเลยค่ะ แค่รู้สึกว่าทำแล้วสนุก ได้เอ็นจอยกับทุกๆ โมเมนต์ที่ทำ หนูเป็นคนที่ไหลตามคนอื่นง่ายมาก อย่างตอนมัธยมที่หนูต้องเลือกเรียนมหาวิทยาลัย หนูเลือกเรียนเกี่ยวกับกราฟิกดีไซน์ เพราะที่ไฮสคูลเราจะเลือกวิชาเรียนได้อิสระว่าอยากเรียนวิชาอะไรบ้าง แล้วตอนนั้นหนูเลือกเรียนอาร์ต เพราะว่าก่อนหน้านี้โรงเรียนมีบังคับเรียนอาร์ต แล้วหนูให้เพื่อนทำการบ้านให้ เขาจะให้วาดนาฬิกาทรายเป็นการบ้านแล้วหนูทำไม่ทัน หนูเลยให้เพื่อนทำให้แล้วไปส่งอาจารย์ แล้วดันได้คะแนน A+ หนูเลยแบบแย่แล้วถ้าหนูทำครั้งต่อไปไม่ดีแปลว่าอาจารย์จะจับได้แน่นอนว่าหนูให้เพื่อนทำการบ้านให้
หลังจากนั้นหนูก็เลยทำเองจนได้ A มาตลอด อาจารย์เลยแนะนำว่าวิชาเลือกให้เลือกเป็นอาร์ตสิ หนูก็เลือกค่ะ พอเลือกเสร็จปุ๊บก็เรียนมาจนทำพอร์ตโฟลิโอเสร็จเรียบร้อย ตอนนั้นหนูยังไม่รู้เลยนะคะว่ามหาวิทยาลัยอยากเข้าคณะอะไร ไม่รู้เลยจริงๆ ไม่มีแพลนเลย แล้วอาจารย์ก็เดินมาบอกว่าอาจารย์เชียร์ให้เรียนสายอาร์ตนะ หนูก็เลยเรียนเพราะว่าอาจารย์บอกค่ะ ซึ่งจริงๆ ตอนแรกอาจารย์เชียร์ให้ไปเรียนที่อังกฤษด้วย แล้วหนูก็มีสมัครไปเรียนที่อังกฤษเรียบร้อยแล้วด้วย
เราได้พัฒนาอะไรในตัวเองจากการเป็นเด็กกิจกรรมบ้างไหม
รู้สึกว่าหนูกลายเป็นคนที่กล้าเสี่ยง กล้าลองทำอะไรใหม่ๆ ค่ะ จะเป็นตายร้ายดียังไงก็ช่างมัน อย่างน้อยก็ได้ลอง
เราเป็นคนที่อยากเอาชนะไหม
มากค่ะ หนูว่าหนูเป็นมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วค่ะ ตั้งแต่ให้เพื่อนทำการบ้านให้แล้วเพื่อนได้ A หนูก็จะรู้สึกว่าฉันต้องทำยังไงก็ได้ให้ได้ A ตลอด เพื่อพิสูจน์ว่าฉันทำเองนะ รู้สึกว่าทุกวันนี้ก็เป็นค่ะ ถ้าเกิดอะไรที่ไม่ได้ดั่งใจเรา เราจะพยายามทำจนกว่าเราจะได้ หรือสมมติว่าถ้าใครมาพูดสบประมาทเรา เราก็จะแบบว่าได้ คุณพูดแบบนั้นใช่ไหม เดี๋ยวรอดูเลย
ฮูพเคยให้สัมภาษณ์ว่าจุดเริ่มต้นในการเข้ามาเป็น BNK48 มาจากคุณพ่อที่ชื่นชอบเฌอปราง (เฌอปราง อารีย์กุล ชิไฮนินหรือผู้จัดการวง BNK48) อยากให้เราเก่งและมีความรับผิดชอบแบบเขา เลยแนะนำให้เราสมัคร BNK48 พอได้เข้ามาเป็นหนึ่งใน BNK48 รุ่นที่ 3 แล้ว ได้มาเจอกับเฌอปรางตัวจริงเป็นอย่างไรบ้าง
ตอนนั้นหนูไม่ค่อยได้คุยกับพี่เฌอเท่าไรค่ะ แต่เขาก็เป็นคนน่ารักอยู่แล้ว เขาทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย เขาเหมือนเป็นแม่คนหนึ่ง กับรุ่น 3 เขาเหมือนคอยโอบกอดรุ่น 3 เพราะรุ่น 3 เป็นรุ่นที่กลัวรุ่นพี่มาก จะไม่ค่อยกล้าคุยกับรุ่นพี่ มีแค่แพนเค้ก (แพนเค้ก-พิทยาภรณ์ เกียรติฐิตินันท์ สมาชิกรุ่นที่ 3) ที่ชอบวิ่งไปหารุ่นพี่ ส่วนคนอื่นถ้าชอบก็จะอยู่นิ่งๆ จะไม่พูด ก็จะมีพี่เฌอที่คอยบอกว่าเข้าไปคุยกับพี่ๆ เร็ว อะไรแบบนี้ค่ะ
ส่วนได้เจอเพื่อนๆ รุ่น 3 ก็สนุกมากค่ะ ช่วงแรกๆ เป็นช่วงโควิดเลยทำให้เราไม่ได้เจอหน้ากันเท่าไร พวกหนูก็จะตั้งกลุ่มวิดีโอคอลกันเกือบทุกวันค่ะ คือช่วงนั้นหนูสนิทกับเอิร์ธ (เอิร์ธ-นภสรณ์ ศิริปาณี สมาชิกรุ่นที่ 3) ค่ะ แต่เหมือนตอนนั้นจะไม่ค่อยได้คุยกับเอิร์ธเท่าไร จะได้คุยกับน้องปาเอญ่า (ปาเอญ่า-นิพพิชฌาน์ พิพิธเดชา สมาชิกรุ่นที่ 3) มากกว่า ซึ่งอายุหนูก็ต่างกันแต่พวกหนูวิดีโอคอลกันทุกวัน ผลัดกันหาคอนเทนต์ทำ ช่วยกันฝึกแต่งหน้า ทำผม ทำนู่นทำนี่ไปด้วยกันเรื่อยๆ เลยรู้สึกสนุกค่ะ พอได้เข้ามาอยู่หอด้วยกันก็นอนห้องเดียวกัน ชอบ K-Pop เหมือนกัน อยู่ด้วยกันมาเรื่อยๆ โชคดีที่ยุคหนูได้อยู่หอกันเยอะ ได้ทำกิจกรรมที่หอกันเยอะมากๆ เหมือนได้ไปอยู่หอพัก ซึ่งตอนไฮสคูลจะมีหอพักให้แต่แม่ไม่ให้อยู่ แต่หนูอยากอยู่มาก มันเลยเป็นความฝันของหนูที่จะได้อยู่หอพัก พอได้มาอยู่ก็รู้สึกสนุกมากค่ะ
พอเราได้เป็นไอดอล มีแฟนคลับที่มาติดตามครั้งแรกๆ รู้สึกอย่างไรบ้าง
ตื่นเต้นไปหมดเลยค่ะ ตอนนั้นตื่นเต้นแล้วก็ดีใจที่คนชอบเรา คนรักเรามากๆ ตอนนั้นหนูก็ไม่ได้อะไรเลย แค่รู้สึกว่าอยากทรีตเขาให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ช่วงแรกๆ เราไม่ได้กดดันเท่าไร จนมาถึงช่วงเดบิวต์ที่เหมือนจะเริ่มมีความรู้สึกเข้ามาว่าแฟนๆ เราลดลงหรือเปล่า หรือแฟนคลับเลิกตามเราเยอะหรือเปล่าอะไรแบบนี้
วันที่ BNK48 รุ่นที่ 3 เดบิวต์อย่างเป็นทางการ ความรู้สึกของเราตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
ตอนนั้นรู้สึกไม่เป็นตัวเองค่ะ เพราะเป็นช่วงเดบิวต์ใหม่ๆ ที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวตนเราเป็นแบบไหน มันคือช่วงที่เราพยายามอยากเป็นไอดอลให้ได้มากที่สุดเพื่อให้คนชอบเรา บวกกับคนจะชอบพูดว่าชอบเพอร์ฟอร์แมนซ์ของพี่มิวสิค (มิวสิค-แพรวา สุธรรมพงษ์ อดีตสมาชิก BNK48 รุ่นที่ 1) จังเลย พอเราไปดูพี่มิวสิคแล้วแบบโห ไอดอลมาก เราก็ต้องทำยังไงก็ได้ให้เราเป็นไอดอลแบบนั้น เลยรู้สึกว่าเป็นช่วงที่ไม่ได้เป็นตัวเองขนาดนั้น
ฮูพมีวิธีการในการค้นหาตัวเอง ณ ช่วงเวลานั้นอย่างไรบ้าง
ตอนนั้นหนูได้พี่ปัญ (ปัญ-ปัญสิกรณ์ ติยะกร อดีตสมาชิก BNK48 รุ่นที่ 1) ที่เป็นคนมาบอกค่ะ เพราะว่าตอนได้มาขึ้นแสดงเธียเตอร์ในสเตจ Team BIII แรกๆ หนูจะไม่กล้าเต้นแรง ไม่กล้าเต้นเป็นตัวของตัวเองขนาดนั้น เพราะกลัวว่าถ้าเราเต้นเป็นตัวของตัวเองแล้วรุ่นพี่จะไม่ชอบเราหรือเปล่า เราก็จะเต้นน้อยๆ เต้นเบาๆ ไม่กล้าแสดงสีหน้า เพราะตัวหนูเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเองขนาดนั้น กลัวว่ารุ่นพี่จะไม่ชอบ จนพี่ปัญเดินเข้ามาบอกว่าทำไมตอนซ้อมถึงทำได้ดีจัง เพราะตอนซ้อมกับเพื่อนรุ่น 3 กันเองหนูจะกล้าใส่สุด ปล่อยจอย ซึ่งตอนที่พี่ปัญมาดูสอบเขาบอกเขาชอบมาก ทำไมตอนขึ้นสเตจถึงไม่ทำ หนูก็เลยบอกเขาว่าหนูไม่กล้า หนูกลัวว่าจะเกินพี่ๆ เขาหรือเปล่า พี่ปัญก็บอกว่าทำมาเลย เป็นตัวของตัวเองให้เต็มที่เลย
หลังจากนั้นหนูก็เลยกล้าที่จะเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น สบายใจในการเป็นตัวเองมากขึ้น สบายกาย สบายใจ รู้สึกสนุกกับมันอีกครั้งหลังจากตอนแรกๆ ที่ไม่ได้รู้สึกสนุกขนาดนั้น ก็เริ่มกลับมารู้สึกสนุกอีกครั้ง อยากขึ้นเธียเตอร์บ่อยๆ จะได้โชว์อะไรใหม่ๆ ให้ทุกคนดู
ส่วนเรื่องความกดดันก็ไม่ค่อยมีเท่าไร จริงๆ ทุกครั้งที่มาสัมภาษณ์ซิงเกิลแล้วถามว่ากดดันไหม จริงๆ หนูไม่รู้สึกกดดันอะไรขนาดนั้น อาจจะรู้สึกกดดันช่วงแรกๆ แต่ไม่นานก็หายแล้ว
เพลงเดบิวต์ของรุ่นที่ 3 มีชื่อว่า First Rabbit ความรู้สึกของฮูพที่ได้ฟังเพลงนี้ครั้งแรก กับการกลับมาฟังเพลงนี้อีกครั้งในปัจจุบันแตกต่างกันไหม
ตอนฟังเพลง First Rabbit ช่วงนั้นรู้สึกฮึกเหิมค่ะ รู้สึกว่าฉันต้องสู้ พอมาฟังตอนนี้ก็รู้สึกว่า First Rabbit เป็นเพลงที่เศร้ามาก เป็นความเศร้าที่คิดถึงเพื่อนๆ รู้สึกว่าผ่านอะไรกับเพื่อนมาเยอะมากๆ แต่ว่ามันก็มาถึงวันที่เราต้องปล่อยเพื่อนไปทีละคนแล้ว เพื่อนจะออกจากฝูงไปทีละคนแล้ว มันก็เลยรู้สึกเศร้า
วันที่รู้ว่าเพื่อนของเราตัดสินใจประกาศจบการศึกษาครั้งแรกเป็นอย่างไรบ้าง
ร้องไห้หนักมากค่ะ ตอนนั้นน่าจะเป็นพิม (พิม-ณิชารีย์ วชิรลาภไพฑูรย์ อดีตสมาชิกรุ่นที่ 3) ที่ออกก่อน ตอนนั้นรู้สึกแย่มากเพราะว่าเราผูกพันกับเขามากๆ น้องคือคนที่เราเอ็นดูมาก แต่กลายเป็นว่าวันหนึ่งเราจะไม่ได้ยินเสียงน้องพิมพูดในห้องซ้อมแล้ว หนูก็เศร้าค่ะ พอพิมออกปุ๊บ แพม (แพมแพม-สาริศา วรสุนทร อดีตสมาชิกรุ่นที่ 3) ก็ออกตามเลย ก็ยิ่งเศร้าไปกว่าเดิมที่ต้องปล่อยเพื่อนไปแล้ว
ในคอนเสิร์ตเดี่ยวของรุ่นที่ 3 เราได้พาอดีตเมมเบอร์รุ่น 3 กลับมาแสดงด้วยกันอีกครั้งในโชว์ First Rabbit วันนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
หนูเป็นคนคิดมาค่ะ เหมือนพอรู้ว่าเราจะได้ทำคอนเสิร์ตรุ่น 3 หนูก็พูดกับพี่เฌอเลยว่าหนูขอพิมกับแพมกลับมาได้ไหม หลังจากนั้นหนูก็ไปล็อกตารางน้องสองคนเลยว่าเคลียร์ตารางตัวเองมาให้หน่อย แล้วก็เริ่มจัด Position ต่างๆ เขียนบล็อกกิ้งใหม่ เพราะด้วยความที่หนูกับปาเอญ่าเป็นดับเบิลเซ็นเตอร์ด้วยกัน แต่หนูอยากให้ 2 คนนั้นได้เฉิดฉายบ้าง เลยเปลี่ยนมาให้สองคนนี้ได้อยู่ Position ที่ทุกคนเห็นได้ชัด เหมือนกับตอนสเตจจบการศึกษาของน้องแพม หนูก็สละ Position เซ็นเตอร์ตัวเองให้น้องแพมได้มายืนแทน เพราะว่าอยากให้น้องได้เปล่งประกายในเพลงนี้
แล้วตอนนั้นเป็นการเต้น First Rabbit ครบ 18 คนครั้งแรกด้วย เพราะวันคอนเสิร์ต BNK48 & CGM48 Request Hour 2022 จะเป็นวันที่ได้เต้น First Rabbit ครบ 18 คน แต่หนูติดโควิดก็เลยไม่ได้เต้น เป็นเรื่องที่เศร้ามากที่ติดอยู่ในใจหนูมาโดยตลอด จนวันนั้นมันได้ปลดล็อกที่เราได้เต้น 18 คนแล้ว
บรรยากาศของเพื่อนๆ หลังจากคอนเสิร์ตจบเป็นอย่างไรบ้าง
ทุกคนแฮปปี้แล้วก็เอ็นจอยกับคอนเสิร์ตมากค่ะ มีหนูที่ร้องไห้ เพราะเป็นครั้งแรกของหนูที่ทำงานใหญ่ขนาดนี้ด้วย เพราะว่าหนูลงมือทำคอนเสิร์ตเองด้วย ทั้งประสานงาน เขียนบล็อกกิ้ง จัดการชุด ดูสเตจ ดูไฟ เป็นคนบรีฟว่าวิชวลข้างหลังอยากได้เป็นธีมไหน เพลงนี้อยากได้สีอะไร เอฟเฟกต์ต่างๆ คือหนูเข้าประชุมตลอด ต้องซ้อมด้วย ซ้อมอยู่ก็ต้องแก้บล็อกกิ้งไปด้วย มันก็เลยเหมือนเป็นผลงานชิ้นใหญ่ของเราที่เรารู้สึกกดดันมากๆ และต้องทำมันออกมาให้ดี
แล้วตอนนั้นบัตรขายไม่หมดด้วย เลยทำให้หนูรู้สึกว่าทำยังไงก็ได้ให้คนที่ไม่ได้ซื้อบัตรเสียดายที่ไม่ได้มาดูคอนเสิร์ตนี้ หนูก็ลงทุนทำทุกอย่าง อะไรเปลี่ยนได้ก็เปลี่ยน อะไรที่ลงทุนเองได้ก็ลงทุน อะไรที่ทำให้ดีขึ้นได้ก็ทำ หนูให้ใจแล้วก็ให้แรงกายทุกอย่างกับคอนเสิร์ตรุ่น 3 มากๆ เพราะหนูรู้สึกว่าคอนเสิร์ตรุ่น 3 มีแค่ครั้งเดียว อีกครั้งหนึ่งมันก็คงเป็นคอนเสิร์ตจบการศึกษาแล้ว ซึ่งหนูไม่อยากให้คอนเสิร์ตนี้มันออกมาไม่ดี หนูก็เลยลุยเต็มที่ทุกอย่าง ตอนบูมก่อนขึ้นหนูก็พูดกับเพื่อนว่าวันนี้ทำให้เต็มที่ที่สุดนะ ทำยังไงก็ได้ให้คนที่ไม่มาดูเราเขาเสียดายที่ไม่ได้มาดู แล้วทุกคนก็คือมีแรงฮึดสู้กันหมดเลย
เป็นคอนเสิร์ตที่รู้สึกประทับใจมากค่ะ ระหว่างทางหนูร้องไห้บ่อยมาก หนูรู้เลยว่าตอนนั้นหนูเครียดและเคร่งกับเพื่อนๆ มาก เพราะอยากให้โชว์มันออกมาดีที่สุด ตอนที่จบคอนเสิร์ตพอเดินลงบันไดปุ๊บหนูร้องไห้หนักมากค่ะ แต่ว่าโชคดีที่ตอนนั้นมีพี่มิโอริ (มิโอริ โอคุโบะ อดีตสมาชิก BNK48 รุ่นที่ 1) ยืนรอรับอยู่ข้างล่าง เหมือนเขารู้ว่าหนูไม่ไหวแล้วแน่ๆ เขาเลยมายืนรอรับข้างล่างบันได แล้วพอได้ยินแฟนๆ บอกว่าคอนเสิร์ตรุ่น 3 เป็นหนึ่งในคอนเสิร์ตของ BNK48 ที่ยอดเยี่ยมมาก หนูก็ภูมิใจและแฮปปี้มากๆ
ตลอดการทำงานตั้งแต่วันแรกจนถึงวันคอนเสิร์ตจบ มีภาพไหนที่เรายังจดจำได้ดีจนถึงตอนนี้บ้างไหม
เป็นตอนที่อยู่ดีๆ ทุกช่วงเวลาของชีวิตหนูคือการเขียนบล็อกกิ้งค่ะ หนูกินข้าวอยู่ที่บ้านก็เขียนบล็อกกิ้ง เดินอยู่ในออฟฟิศก็เขียนบล็อกกิ้ง ยืนซ้อมอยู่ก็เขียนบล็อกกิ้ง เป็นช่วงเวลาที่โคตรจะจดจำว่าชีวิตหนึ่งเราสู้กับสิ่งนี้มากๆ
ซึ่งมันทำให้หนูได้ปลดล็อกสกิลหลายๆ อย่างเยอะนะคะ หนูกลายเป็นคนที่จัดสรรเวลาตัวเองได้ดีขึ้นค่ะ แล้วก็ไม่ได้ปล่อยให้เวลาของตัวเองมันสูญเปล่าไป กับอีกอันหนึ่งคือสกิลการควบคุมงานหน้างาน รวมถึงวิธีการรับมือกับตัวเองด้วย
กระโดดข้ามมาที่ปัจจุบัน ฮูพได้มารับตำแหน่งกัปตันวงคนใหม่ของ BNK48 รู้สึกอย่างไรบ้างกับการรับตำแหน่งนี้
ค่อนข้างแปลกใจค่ะ เพราะเหมือนหนูเคยรู้มาว่าตอนที่จะเป็นกัปตัน Team BIII พี่ๆ แก๊งกัปตันคือไปไฟต์เพื่อให้หนูได้เป็น ก็เลยรู้สึกแปลกใจว่าผู้ใหญ่เขาเชื่อใจเราขนาดนี้เลยเหรอที่ให้เรามาทำตำแหน่งนี้ เหมือนพี่เฌอก็เคยเกริ่นๆ มาก่อนหน้านี้ แต่ก็ไม่รู้ว่ามันคือเรื่องจริงหรือไม่จริง หนูก็เลยไม่ได้มีช่วงเวลาที่รู้สึกตื่นเต้นเท่าไร แต่รู้สึกเหมือนว่าตอนนี้ยังฝันอยู่
จำได้ว่ารู้ก่อนประกาศจริงประมาณ 4 เดือนได้ค่ะ แล้วก่อนหน้านั้นก็น่าจะมีพี่เฌอที่คอยพูดมาก่อนแล้วว่าตอนแรกอาจจะไม่มีกัปตันวง แล้วพี่เฌอก็เคยมาพูดว่าอยากให้หนูมาเป็นกัปตันวง หนูเลยคิดว่าก็คงไม่มีกัปตันวงหรอก เพราะว่ายังไงก็มีพี่เฌออยู่แล้ว ก็เลยเป็นความรู้สึกที่ไม่ได้เซอร์ไพรส์ แล้วมันก็ไม่ได้คาดหวังไว้ค่ะ
ในช่วง 4 เดือนนั้นฮูพได้รับการเตรียมความพร้อมเพื่อมารับตำแหน่งกัปตันวงบ้างไหม
รู้สึกว่าพี่เฌอคอยเตือนหนูมาโดยตลอดค่ะ แล้วก็คอยป้อนงานให้หนูทำ ให้หนูได้ลองทำอะไรใหม่ๆ มาตลอด อย่างคอนเสิร์ตรุ่น 3 เองก็เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ของเขาเหมือนกัน แล้วก่อนที่เขาจะคอยมอบหมายตำแหน่งให้ใครทุกครั้งเขาจะลองโยนปัญหาให้ทุกคนลองแก้ก่อน นิสัยเขาจะเป็นแบบนี้ ก็เลยคิดว่าเราได้เรียนรู้มาจากสิ่งที่เขาปูให้เราทำมาเรื่อยๆ ถ้ามานั่งนึกย้อนคิดว่าตั้งแต่เทรนนี่สเตจของรุ่น 3 ด้วยซ้ำที่เขาคอยให้เราดูแลเพื่อนๆ
หน้าที่หลักๆ ของกัปตันวงต้องทำอะไรบ้าง
ไม่มีขอบเขตค่ะ โอเคอาจจะมีเป็น Job Description มาให้ว่าเราต้องทำอะไรบ้าง แต่มันก็มีดีเทลอื่นๆ ที่ไม่ได้เขียนอยู่ในนั้นที่เราต้องทำ ส่วนมากก็จะดูแลน้องๆ ดูแลสภาพจิตใจว่าน้องๆ เป็นยังไงบ้าง คอยจัดตารางงาน คอยจัดตารางซ้อม ถ้ามีอีเวนต์มาพี่เฌอก็จะส่งมาให้ว่าเดี๋ยวมีอีเวนต์นี้นะ จัดตารางซ้อมให้น้องหน่อย อยากให้น้องซ้อมกี่วัน อยากให้น้องซ้อมเมื่อไร เวลาไหน ตารางอัดเสียง ตารางทำนู่นนี่นั่น พอครูเช็กชื่อขาดลามาสายเราก็ต้องรวบรวมว่าคนนี้เป็นยังไงบ้าง ความประพฤติของแต่ละคนเป็นยังไงบ้าง สกิลใครพัฒนาขึ้นบ้าง ใครตอนนี้ที่โดดเด่นขึ้นมาบ้าง
อารมณ์เหมือนเป็นหัวหน้าห้องค่ะ แต่ว่าทำงานเบื้องหลังด้วย อย่างเช่นเข้าประชุมว่าสถานการณ์เป็นยังไงบ้าง อยากเพิ่มเพอร์ฟอร์แมนซ์ตรงไหน หรือว่ามีงานตรงนี้เกิดขึ้น เราต้องคอยไปดูแบ็กสเตจว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง สมมติว่าหนูพาเพื่อนมาออกเดินสาย ก็ต้องคอยนำเพื่อนๆ ออกสื่อ คอยบอกเพื่อนๆ ว่าเรามีอะไรที่ต้องอัปเดต พรุ่งนี้มีอะไรบ้าง ประมาณนี้
แล้วตอนนี้หนูก็ทำเทรนนี่สเตจของรุ่น 4 อยู่ค่ะ โดยมีพี่แพนด้า (แพนด้า-จิดาภา แช่มช้อย อดีตสมาชิกรุ่นที่ 2) เป็นโปรดิวเซอร์ที่ทำพื้นฐานมาให้ก่อน แล้วหนูที่เป็นสเตจไดเรกเตอร์ก็มาปรับเปลี่ยน เลือกคน เลือกตำแหน่ง มาเขียนบล็อกกิ้ง อันไหนลดคนก็เปลี่ยน จัดตารางซ้อม เข้าไปดูซ้อม ประเมินว่าใครควรได้ขึ้นไหม เรื่องชุดด้วยว่าอยากได้ชุดแบบไหน ส่วนรุ่น 5 หนูก็ช่วยดูด้วยแต่จะมีพี่เฌอที่คอยดูแลเป็นหลักค่ะ
ด้วยความที่เรามีประสบการณ์จากการทำคอนเสิร์ตรุ่น 3 มาก่อนด้วยไหม เลยทำให้เราสามารถจัดการงานต่างๆ ได้ดีขึ้น
หนูว่าครั้งแรกที่หนูได้ทำคือสเตจ Team BIII ค่ะ ตอนที่พี่ปัญกำลังจะจบการศึกษา เขาก็รีบส่งงานต่อให้หนูได้ลองทำตอนที่เขายังอยู่ค่ะ เพื่อที่จะได้ลองสนามจริงว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง อะไรที่ต้องรับผิดชอบบ้าง อย่างเช่นตอนแรกหนูไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากัปตัน Team ต้องเป็นคนกำหนดว่าเลขไมค์คือเลขอะไร ต้องกำหนดด้วยว่าใครขึ้น MC ท่อนนี้ ใครกำลังจะลง ใครจะอยู่บนเวทีต่อกี่นาที หนูไม่เคยรู้มาก่อนว่าต้องทำ รู้แค่ว่าจัดการเพื่อนเสร็จก็โอเคที่เหลือให้เขาดูแล ยิ่งตอนไปแสดงที่เชียงใหม่ หนูต้องเป็นคนไปคอยดูไฟเองว่าขอไฟแบบนี้ ให้เขามิกซ์ไฟให้ดูว่าไฟสองสีนี้ผสมกันเอาประมาณไหนดี คือดูเยอะขนาดนั้นเลย
และเราได้คำแนะนำจากพี่ปัญมาด้วย เราได้ทำเองด้วย แล้วตอนนั้นมีพี่มิโอริที่คอยเป็นแบ็กอัปเราที่ดีมากๆ ด้วย เลยกลายเป็นว่าหนูได้สกิลจากประสบการณ์ตรงนั้นมาเยอะค่ะ พอทำคอนเสิร์ตรุ่น 3 เราก็ยิ่งเข้าใจในเชิงวิชวล ต้องมาคุยกับลูกค้า คอยคุยกับซัพพลายเออร์ว่าเราต้องการแบบนี้นะ เพลงนี้เป็นแบบนี้ นาทีที่เท่านี้ขอมีอันนี้ขึ้นมา นาทีที่เท่านี้ขอแบ็กเอาต์อะไรอย่างนี้ค่ะ มันเลยทำให้หนูเข้าใจมากขึ้น แล้วพอได้มาทำสเตจของรุ่น 4 เราจะยิ่งรู้มากขึ้นว่างานของหนูจะต้องทำอะไรบ้างถึงจะออกมาเป็นสเตจที่สมบูรณ์แบบ
ในมุมของฮูพเมมเบอร์รุ่นที่ 4 เป็นอย่างไรบ้าง
จริงๆ รุ่น 4 มาทางสายไอดอลค่อนข้างเยอะพอสมควรค่ะ ตอนที่เข้ามาแรกๆ Team BIII กับ Team NV เขาก็จะเกร็งๆ กันอยู่ว่าคาแรกเตอร์ของใครจะเหมาะกับ Team ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น NV หลายคนมากๆ แต่ว่ามาตอนนี้น้องๆ ก็ได้โชว์หลายๆ ด้านมากขึ้น ทำให้เรารู้สึกว่าน้องเราสามารถไปได้ทั้งเวย์เท่ๆ ขรึมๆ หรือสดใสไอดอลก็ไปได้ รู้สึกว่าน้องมีความสู้และความฮึดในตัวเยอะมากๆ น้องอาจจะไม่ได้หัวไว แต่ว่าน้องเลือกที่จะอยู่ซ้อมต่อจนกว่าตัวเองจะได้ ให้ครูอยู่ช่วยโฟกัสน้องให้ ช่วยติวเข้มให้น้องเพิ่มค่ะ
ซึ่งหนูก็รู้สึกประทับใจในรุ่น 4 มากๆ เหมือนกัน จริงๆ หลังๆ มานี้หนูก็ไม่ค่อยห่วงค่ะ เพราะรู้ว่าถ้าอันไหนน้องทำไม่ได้น้องจะฝึกมา น้องจะไปให้ครูช่วย อย่างหนูเองก็จะคุยกับครูตลอดเหมือนกันว่าซ้อมเป็นยังไงบ้าง ซ้อมไปถึงไหนแล้ว คิดว่าทันไหม ถ้าไม่ทันเราเพิ่มวันซ้อมไหม เราเจาะใครเพิ่มดีไหม ครูก็จะส่งเป็นคลิปมาให้ดูตลอดทุกวันที่มีซ้อมค่ะ หนูก็จะคอยเช็กตลอด
สลับมาที่เพื่อนๆ รุ่น 3 กันบ้าง ฮูพมองเห็นการเติบโตของเพื่อนๆ ที่เดบิวต์มาพร้อมกันอย่างไรบ้าง
รู้สึกว่าทุกคนหาตัวเองเจอกันหมดแล้ว ทุกคนอยู่ในจุดที่รู้แล้วว่าอะไรคือเสน่ห์ของเรา เราจะทำอย่างไรถึงจะดึงเสน่ห์ของเราออกมาได้ ทุกคนรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ หรือตัวเองชอบด้านไหน อย่างเฟม (เฟม-นันทภัค กิตติรัตนวิวัฒน์ สมาชิกรุ่นที่ 3) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนมากๆ ว่าพัฒนามาไกลมากๆ ค่ะ จากน้องที่เต้นไม่ได้แข็งแรงขนาดนั้น แล้วก็จัดระเบียบร่างกายไม่ได้ดีขนาดนั้น แต่ตอนนี้น้องก็ทำยูนิต QUADLIPS (โปรเจกต์พิเศษที่รวบรวม 4 สมาชิกจากวงน้องสาวของ AKB48 ได้แก่ SKE48, JKT48, MNL48 และ BNK48 มาฟอร์มวงเป็นยูนิตพิเศษ) ออกมาได้ดีมากๆ ซึ่งหนูโคตรภูมิใจ
ส่วนเพื่อนๆ คนอื่นหนูรู้สึกว่ามันถึงยุคของเราแล้ว หนูเองก็เคยไปกระซิบกับพี่เฌอเหมือนกันว่าพี่มันถึงยุคของรุ่น 3 แล้ว หาอะไรให้รุ่น 3 ทำหน่อยไหม เพราะเราก็อยากให้เพื่อนๆ ได้รับโอกาสหลายๆ อย่าง ด้วยความที่เราอยู่กับความรู้สึกผิดมาตลอดว่าเราได้รับโอกาสเยอะมาก แต่เพื่อนไม่ค่อยได้รับโอกาสเลย เลยรู้สึกว่าเรามาถึงจุดที่ได้มาเป็นกัปตันวงแล้ว อาจจะไม่ได้ตัดสินใจได้ แต่ก็สามารถเป็นกระบอกเสียงได้แล้ว เลยเป็นจุดที่หนูอยากให้ทุกคนได้รับรู้ว่าเพื่อนหนูก็มีสกิลนะ อยากให้ทุกคนได้เห็นเพื่อนหนูทำอะไรอย่างอื่นมากขึ้น อย่างล่าสุดที่พีค (พีค-ภูษิตา วัฒนากรแก้ว สมาชิกรุ่นที่ 3) กับอีฟ (อีฟ-อิสรีย์ ทวีกุลพาณิชย์ สมาชิกรุ่นที่ 3) ได้ไปเดินแบบ หนูก็แบบนี่แหละๆ ซึ่งทุกครั้งที่เพื่อนได้ไปออกงานหรือว่าได้รับโอกาสหนูก็ดีใจทุกครั้ง แล้วก็แฮปปี้มาก อยากให้เพื่อนได้ออกไปทำงาน ได้ไปทำนู่นนี่นั่นบ้างค่ะ
ตลอดระยะเวลา 4 ปีเศษๆ ที่ฮูพได้เข้ามาเป็น BNK48 ฮูพคิดว่าวงเติบโตหรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
หลายคนอาจจะมองว่าวงไม่ได้เติบโตขึ้นขนาดนั้น แต่สำหรับหนูรู้สึกว่ารากฐานมันแข็งแรงขึ้น ในเชิงที่ทุกคนมีที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง มีห้องซ้อมที่ดี มีทรัพยากรทั้งหมดที่ดี มีทีมงานที่ดี เป็นช่วงที่มันกำลังจะไปได้ดี มีคอนเน็กชันที่ดีด้วย ได้ไปจับมือกับบริษัทอื่นๆ แล้วก็ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ในช่วงที่ TikTok กำลังมาด้วย ก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นช่วงเวลาที่เราสามารถเติบโตได้ไกลมากกว่านี้ ต้องรอติดตามดูค่ะว่าจะเป็นยังไงต่อไป
เป้าหมายของฮูพที่อยากทำให้สำเร็จในฐานะกัปตันวงคืออะไร
อยากให้คนรู้จักหนูว่าหนูเป็น BNK48 และกัปตันวง BNK48 ค่ะ อย่างปกติจะเป็นพี่เฌอที่เป็นโลโก้ของวง ก็อยากพยายามผลักดันตัวเองยังไงก็ได้ให้ไปอยู่ตรงจุดนั้น เพราะมีคนเคยพูดว่ากัปตันวงใครๆ ก็เป็นได้ เราเลยรู้สึกว่าได้ เดี๋ยวเราจะทำให้ดูว่ามันไม่ใช่ใครก็เป็นได้
ฮูพเคยเล่าว่าแพสชันในการเป็น BNK48 ของเราในตอนนี้คือ “เพราะเราอยู่ที่นี่แล้วมีความสุขจริงๆ เราจึงอยู่ต่อ” ในช่วงแรกๆ ของการเป็น BNK48 แพสชันของฮูพคืออะไร
หนูเคยอยากไปต่างประเทศในนาม BNK48 มาก่อนค่ะ เพราะเคยมีบางคนชอบบอกว่าที่บ้านมีฐานะก็ให้ที่บ้านมาจ่ายสิ ซึ่งหนูไม่ชอบเลย เพราะในมุมของหนู หนูอยากพิสูจน์ให้เห็นว่าหนูสามารถเติบโตด้วยตัวเองได้ ด้วยความที่คุณพ่อหนูก็เป็นคนแบบนั้น คุณพ่อหนูเลือกที่จะไม่ทำธุรกิจของที่บ้านต่อ เขาก้าวข้ามเซฟโซนของตัวเองออกมาเพื่อมาทำธุรกิจของตัวเอง เพราะเขาอยากพิสูจน์ว่าเขาทำได้ ซึ่งหนูเองก็อยากทำแบบนั้นให้ได้เหมือนกัน แล้วทุกครั้งที่มีการโหวตเกิดขึ้นก็จะมีคนบอกว่าถ้าอยากไปก็ให้ที่บ้านมาจ่ายสิ ซึ่งจริงๆ หนูไม่ได้อยากให้เขามาทำอะไรให้หนู แต่หนูอยากจะพิสูจน์ด้วยตัวเอง เราอยากพิสูจน์ให้เห็นว่าเราสามารถพัฒนาได้ด้วยตัวเองนะ
พอจำได้ไหมว่าแพสชันของเราเปลี่ยนแปลงไปตอนไหน
หลังงานจับมือค่ะ เคยมีช่วงหนึ่งที่หนูไม่มีความสุขมาก่อน ไม่มั่นใจในตัวเองมาก่อน คือช่วงซิงเกิล Kibouteki Refrain เป็นช่วงที่หนูได้ทำงานกับคนที่หนูรักมากคือน้องคนิ้ง CGM48 (คนิ้ง-วิทิตา สระศรีสม) ที่เป็นดับเบิลเซ็นเตอร์ด้วยกัน โดยคนิ้งเป็นตัวแทน CGM48 ส่วนหนูเป็นตัวแทน BNK48 แต่หนูกลับไม่มีความสุขเลย เพราะมันเป็นเพลงที่น่ารักมากๆ แต่หนูรู้สึกว่าหนูไม่สามารถทำพาร์ตไอดอลได้ดีขนาดนั้น ก็เลยเป็นซิงเกิลที่เปลี่ยนชีวิตหนูหลายเรื่องเลยค่ะ อย่างแรกคือตอนนั้นหนูไม่ความสุขเลย จนทำให้หนูไม่อยากเป็นเซ็นเตอร์อีกต่อไปแล้ว จริงๆ หนูเคยพูดกับพี่ทีมงานและพี่เฌอแล้วด้วยว่าหนูขอไม่เป็นเซ็นเตอร์อีกแล้ว เพราะยิ่งมาซิงเกิล Kiss Me! ก็ยิ่งพิสูจน์ว่าหนูไม่ได้เหมาะกับการยืนตำแหน่งเซ็นเตอร์
อีกอย่างหนึ่งที่ปลดล็อกก็คือ สุดท้ายแล้วเราก็น่ารักในเวย์ของเรานี่แหละ เพราะหนูได้แฟนคลับมาให้กำลังใจหนูเยอะมากๆ ในงานจับมือ เหมือนตอนซิงเกิล Kibouteki Refrain หนูโดนหลายเรื่องมาก เรื่องเซ็นเตอร์เงาอีก ทำไมเซ็นเตอร์ไม่เป็นคนนี้ ซึ่งหนูรู้สึกแย่มาก กลายเป็นว่าคนไม่ได้ดีใจด้วยซ้ำที่เราได้เป็นเซ็นเตอร์ ยิ่งพอตอนเพลงออกก็กลายเป็นว่าคนไม่ได้พูดถึงเราว่าทำได้ดี เลยเป็นซิงเกิลที่ทำให้เราท้อมากๆ ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงที่เขาเสนอตำแหน่งกัปตันวงมาพอดีค่ะ แต่ตอนนั้นเรารู้สึกว่าไม่เป็นดีกว่า เพราะรู้สึกว่าคนก็ไม่ได้ดูภูมิใจในความสำเร็จของเรา หรือไม่ได้เห็นในความพยายามของเราสักเท่าไร
แต่พอมาถึงงานจับมือแฟนๆ ก็เข้ามาให้กำลังใจเยอะมากๆ ในรอบพิเศษ ก็เลยทำให้หนูเห็นว่ามันยังมีคนที่อยู่ข้างเราจริงๆ นะ ตอนนั้นหนูเคยถามแฟนคลับหลายคนมากที่เข้ามาว่าถ้าหนูอยู่ต่ออีก 10 ปีพี่จะยังอยู่กับหนูไหม หนูไม่รู้ว่าเขาโม้หรือเปล่านะ แต่เขาก็บอกว่าไม่ว่าหนูจะอยู่อีกนานแค่ไหนพี่ก็จะอยู่ ก็เลยทำให้เรารู้ว่าสุดท้ายแล้ววันที่เราไม่เหลือใคร เราก็ยังมีเขานะ เรายังมีพ่อกับแม่เราที่ยังคอยซัพพอร์ตเราตลอด หลังจากนั้นหนูเลยรู้สึกว่าการที่หนูได้เจอแฟนๆ ในงานจับมือมันคือความสุขของหนู แล้วถ้าเกิดว่าวันหนึ่งหนูไม่มีความสุขแล้ว แปลว่าหนูก็ไม่ควรอยู่ตรงนี้แล้ว
ความสุขอีกอย่างหนึ่งของหนูในการเป็น BNK48 คือการทำงานเบื้องหลังค่ะ หนูชอบทำงาน ไม่ชอบอยู่นิ่งๆ พอมันเป็นช่วงที่ได้ทำงานเยอะๆ ก็เลยรู้สึกสนุกค่ะ รู้สึกว่าชีวิตมันมีอะไรให้ทำ เพราะหนูถือคติกับตัวเองว่าถ้าชีวิตเราไม่มีปัญหา ไม่มีอุปสรรคต้องแก้ ไม่มีอะไรต้องทำ ตื่นมากินข้าว เที่ยวเล่น แล้วก็จบ มันเป็นชีวิตที่น่าเบื่อ แต่ถ้าชีวิตมันมีอุปสรรคให้มาแก้ เจอปัญหา เจออะไรมารุมเร้าเยอะๆ ทำให้เราไม่อยู่นิ่ง รู้สึกว่าเราใช้ชีวิตคุ้มแล้ว
หนูว่าทั้งชีวิตตั้งแต่ก่อนเข้าวงหรือเข้าวงมาช่วงแรกๆ หนูยังไม่เจอความสุขของหนูจริงๆ เลย เพราะว่าตอนที่หนูเรียนอาร์ตหนูก็เรียนตามที่ครูบอก พอเข้ามหาวิทยาลัยแล้วกลับกลายเป็นว่าหนูไม่ชอบ หนูไม่ชอบเรียนหรือทำงานจริงจังกับสิ่งที่เราชอบ เราอยากตั้งมันไว้ว่าเป็นงานอดิเรกมากกว่า แต่พอเข้ามาอยู่ในนี้แล้วมันกลายเป็นว่าการทำอะไรแบบนี้มันคือสิ่งที่หนูชอบมากๆ โดยที่หนูไม่สามารถพูดเป็นนามธรรมหรือพูดเป็นคำได้ว่ามันคือทำอะไร
สมมติว่า ณ ตอนนี้มีฮูพอีกคนหนึ่งกำลังนั่งอยู่ข้างๆ มีเรื่องอะไรบ้างที่ฮูพอยากบอกกับตัวเองที่เดินทางมาจนถึงวันนี้บ้าง
อยากขอบคุณฮูพวันนั้นที่ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ เยอะมากๆ ขอบคุณฮูพวันนั้นที่กล้าซน ที่กล้าเล่นทุกอย่าง ที่ไม่กลัวตาย เพราะวันนี้ฮูพกลัวตายมาก ขอบคุณที่ใช้ชีวิตในวัยเด็กมาได้คุ้มค่ามากๆ ค่ะ เพราะทำให้หนูไม่รู้สึกเสียดายชีวิตในช่วงวัยรุ่นเลย อย่างบางคนที่เข้าวงมาก็อาจจะรู้สึกเสียดายช่วงเวลาวัยรุ่นของตัวเองว่าเหมือนยังไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า แต่สำหรับหนู หนูรู้สึกว่าหนูไม่เสียดายเลยที่ตัวเองเข้ามาอยู่ในนี้แล้วหนูขาดช่วงเวลาวัยรุ่นไป เพราะว่าตอนเด็กๆ หนูใช้เกินกว่าคุ้มค่าแล้ว